รัฐบาลเมินMOU ขบวนการแรงงาน ยื้อให้สัตยาบันILO

20131008_112648

รัฐบาลเบี้ยวให้สัตยาบันอนุสัญญาILOฉบับที่ 87 และ 98 อ้างรอแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้องก่อน ผู้นำแรงงานอัดไม่จริงใจ กฎหมายประชาชนแต่ละฉบับกว่าจะใช้ได้ แก้เสร็จใช้เวลานับสิบปี ไม่เหมือนกฎหมายนักการเมืองแป๊บเดียวข้ามคืนเสร็จ

นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.)ได้ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายนว่า ผลการยื่นหนังสือเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2556 ที่กระทรวงแรงงาน เพื่อทวงถามเรื่องการให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 และ 98 ว่าด้วยสิทธิในการคุ้มครองการรวมตัว เจรจาต่อรอง ที่รัฐบาลได้ทำข้อตกลงร่วมกันเมื่อวันที่ 7 ตุลาคมว่า จะให้สัตยาบันโดยเร็ว ซึ่งต้องมีการนำเข้าพิจารณาในการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างไรก็ตามจะเสร็จภายใน 60 วัน วันนี้ยังไม่มีความคืบหน้า แม้ว่าทางกระทรวงแรงงานได้มีการถามไปยังสำนักนายกรัฐมนตรีเพื่อให้คณะรัฐมนตรีนำเรื่องการให้สัตยาบันอนุสัญญาทั้งสองฉบับเข้าสู่การพิจารณา ซึ่งได้รับคำตอบว่า ให้กระทรวงแรงงานออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับให้แล้วเสร็จโดยเร็วก่อน

3PA080123

ขบวนการร่างกฎหมายใหม่เราก็รู้อยู่แล้วว่ากว่าจะเสร็จใช้เวลานานมาก ใช้เวลานับสิบปี กฎหมายประชาชนนั้นรู้อยู่ว่าออกมาบังคับใช้ยากมาก ไม่เหมือนกับกฎหมายนักการเมืองที่เผลอหลับข้ามคืนตื่นมาเสร็จแล้ว ที่เรียกว่ากฎหมายชนชั้นใดเขียนก็เพื่อชนชั้นนั้น จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมรัฐบาลเบี้ยวข้อตกลงที่ทำร่วมกันกับขบวนการแรงงาน เป็นความไม่จริงใจ และอาจมองข้ามการแก้ไขปัญหาผู้ใช้แรงงาน

“ผมได้พยายามโทรหาคุณสุภรณ์ อัตถาวงศ์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ถึงความคืบหน้า แต่ไม่เคยรับโทรศัพท์เลย ซึ่งไม่เข้าใจว่าทำไม เพราะช่วงที่คุยกันก้บอกว่าให้สอบถามความคืบหน้าได้ตลอดเวลา จึงเป็นการโกหกคำโตๆ ของนักการเมือง ” นายชาลีกล่าว

นายชาลี ยังกล่าวอีกว่า ทางคสรท.ได้เสนอหลายครั้งแล้วว่า มีกฎหมายลูกของขบวนการแรงงานที่ผ่านการล่าลายมือชื่อเสนอกฎหมายไปแล้ว รอให้พิจารณาอยู่ที่รัฐสภาแล้ว เพียงรัฐบาลทำตามข้อตกลงให้สัตยาบันอนุสัญญา และมาร่วมกันดูร่างกฎหมายที่จ่อเข้าสภาด้วยกัน การกระทำของรัฐบาลที่ฉีกสัญญาข้อตกลงที่ทำร่วมกันทิ้งเป็นความไม่จริงใจ และไม่ได้สนใจเรื่องคุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงานจริง

วันนี้สภาพปัญหาของคนงานที่เกิดข้อพิพาทแรงงานหลายแห่งในกลุ่มภาคตะวันออก มีการผละงานออกมาแบบผิดกฎหมาย เพราะไม่มีองค์กรสหภาพแรงงาน ซึ่งส่อว่าจะมีความรุนแรงมากขึ้น หากวันนี้รัฐบาลมีการให้สัตยาบันอนุสัญญาทั้งสองฉบับแล้วมาร่วมกันดูร่างพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ ฉบับที่ขบวนการแรงงาน ล่าลายมือชื่อเสนอรอพิจารณาอยู่ที่รัฐสภา ซึ่งรายชื่อผ่านการตรวจสอบแล้วกว่าหมื่นลายมือชื่อ ซึ่งรัฐบาลเสียงข้างมากหากต้องการทำะไรให้กับประชาชนคนจน ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศนั้นทำได้ไม่อยาก หากต้องการแก้ปัญหาจริง แต่นี้คงไม่อยากแก้ปัญหามากกว่า

นักสื่อสารแรงงาน รายงาน