ปัญหา อุปสรรค และแนวทางการจัดตั้งแรงงาน

DSCN9611

รายงานสรุป
ปัญหา อุปสรรค และแนวทางการจัดตั้งแรงงานแต่ละภาคส่วน
วันอังคารที่ 26 มิถุนายน 2556
ณ ห้องประชุมศุภชัย ศรีสติ พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย มักกะสัน กทม.
โดย บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์

สถานการณ์ปัญหาการทำงานจัดตั้งแรงงานแต่ละกลุ่ม

(1.1) กลุ่มแรงงานในระบบ
– ผลจากการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาท และการเตรียมการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 รวมถึงความร่วมมือระหว่างรัฐทั้งระดับชาติและท้องถิ่น นายทุน การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ตำรวจ ทหาร ผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น และศาล อีกทั้งการเข้ามาทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้นายจ้างของกลุ่มเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานที่เกษียณอายุจากการทำงานแล้วหรือยังทำงานอยู่ในปัจจุบัน สถานการณ์เหล่านี้ส่งผลต่อการรวมตัวและการใช้สิทธิของสหภาพแรงงานอย่างต่อเนื่อง
– สถานประกอบการมีการปรับโครงสร้างให้บริษัทมีขนาดเล็กลง แยกย่อยเป็นบริษัทเล็กๆหลายบริษัท ที่แต่ละบริษัทอ้างว่าเป็นคนละนายจ้าง เพื่อหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบในการคุ้มครองแรงงาน เช่น กรณีบริษัทโตโยต้า ทรานสปอร์ต ไทยแลนด์ เป็นต้น อีกทั้งยังมีรูปแบบการจ้างงานหลายลักษณะ มีสวัสดิการที่แตกต่างกัน ยิ่งทำให้การรวมตัวของแรงงานในกิจการเดียวกันมีความยากลำบากขึ้น อำนาจต่อรองน้อยลง
ผู้ก่อตั้งสหภาพแรงงานถูกเลิกจ้างหรือถูกแทรกแซงมากยิ่งขึ้น
– มีการนำรหัสอุตสาหกรรม (ตัวเลขที่กำหนดขึ้นภายใต้โครงสร้างและหลักเกณฑ์ของการจัดประเภทมาตรฐานอุตสาหกรรม) มาจำแนกประเภทการผลิต ส่งผลให้การรวมตัวของแรงงานคนละประเภทมีความยากลำบากมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ในหมวดการผลิต หมวดที่ 34 เป็นเรื่องเกี่ยวกับการผลิตยานยนต์ รถพ่วงและรถกึ่งรถพ่วง ส่วนหมวดที่ 35 เป็นเรื่องการผลิตเครื่องอุปกรณ์การขนส่งอื่นๆ เป็นต้น
– ข้อจำกัดของ พรบ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ที่กำหนดไว้ว่า สหภาพแรงงานในประเทศไทย มีเพียง 2 ประเภทเท่านั้น คือ (1) สหภาพแรงงานที่ผู้จัดตั้งและสมาชิกเป็นลูกจ้างของนายจ้างคนเดียวกัน (House Union) (2) สหภาพแรงงานที่ผู้จัดตั้งและสมาชิกเป็นลูกจ้างซึ่งทำงานในกิจการประเภทเดียวกัน ไม่ว่าจะมีนายจ้างกี่คน (Industrial Union)
– ข้อจำกัดของผู้นำที่ขาดการปรับตัวให้เท่าทัน พร้อมรับกับสถานการณ์ปัญหาที่รุกเร้า-รุมเร้า และมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เช่น ขาดความยืดหยุ่นในการประสานงาน เชื่อมั่นในตนเองสูง ขาดการรับฟังความคิดเห็นจากคนรอบข้าง เป็นต้น แม้ว่าสหภาพแรงงานแห่งนั้นจะมีความเข้มแข็งแต่บทบาทผู้นำจะเอื้อให้เกิดการบ่อนเซาะทำลายสหภาพให้อ่อนแอได้ง่ายขึ้น
(1.2) กลุ่มแรงงานนอกระบบ
– กลุ่มแรงงานนอกระบบ เป็นแรงงานประเภทกลุ่มอาชีพ เช่น กลุ่มแท็กซี่ มอเตอร์ไซด์รับจ้าง รถตู้ หาบเร่แผงลอย เกษตรพันธสัญญา ผู้รับงานไปทำที่บ้าน เป็นต้น
– ปัญหาหลักของกลุ่มแรงงานนอกระบบ คือ ปัญหาที่ส่งผลต่อการประกอบอาชีพและทำให้ขาดรายได้หรือไม่ได้รับการคุ้มครองด้านรายได้ เช่น
 กลุ่มมอเตอร์ไซด์รับจ้างและคนขับแท็กซี่ พบว่า ปัญหาหลักมาจากการถูกตำรวจจับกุมรีดไถ และเมื่อมีการปรับหรือส่งฟ้องศาลจะต้องเสียค่าปรับค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับรายได้ที่ได้รับในแต่ละวัน บางสถานที่ เช่น โรงพยาบาล ต้องจ่ายค่าเข้าไปรับผู้โดยสาร ขั้นต่ำ 10 บาท ถึง 50 บาท
 กลุ่มรถตู้ พบปัญหาเรื่องการจ่ายส่วยให้ตำรวจและหัวหน้าคุมคิวรถตู้
 กลุ่มหาบเร่แผงลอย พบปัญหาเรื่องค่าเช่าแผงหน้าร้านในราคาที่สูง เช่น บริเวณซอยทองหล่อ สุขุมวิท 55 กรุงเทพฯ ต้องเสียค่าเช่าสูงถึงเดือนละ 45,000 บาท เป็นต้น อีกทั้งถ้ามีการตั้งร้านเลยออกมายังบริเวณริมฟุตบาทจะต้องเสียค่าเช่าเพิ่มเติมให้กับเทศกิจ บางแห่งเฉลี่ยสูงถึงวันละ 500 บาท เป็นต้น
 ผู้รับงานไปทำที่บ้าน ยังเข้าไม่ถึงการคุ้มครองตามพรบ.คุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ.2553 เนื่องจากกระทรวงแรงงานยังไม่มีการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการปฏิบัติตามพรบ. เช่น ไม่สามารถบังคับให้นายจ้างต้องปฏิบัติตามกฎหมายในเรื่องการจ่ายค่าจ้างตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ เป็นต้น
– ในช่วงที่ผ่านมา กลุ่มแรงงานนอกระบบได้มีการรวมตัวกันเองเป็น “ศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบระดับชาติ” มีนางสุจิน รุ่งสว่าง นายสมคิด ด้วงเงิน และพี่น้องแรงงานนอกระบบจากภูมิภาคร่วมเป็นกรรมการ ลักษณะการทำงานเน้นการทำงานผลักดันระดับนโยบายหรือฝ่ายการเมือง เพื่อให้มีนโยบาย / แนวทาง หรือกลไกที่เอื้อต่อการประกอบอาชีพแต่ละกลุ่ม แต่พบปัญหาสำคัญในการรวมตัว คือ
(1) การรวมตัวของกลุ่มที่มีความหลากหลายอาชีพและต้องมาขับเคลื่อนนโยบายร่วมกัน จำเป็นต้องมีฐานข้อมูลสมาชิกและสภาพปัญหาแต่ละกลุ่มที่ชัดเจน รวมถึงข้อเสนอที่คมชัด ซึ่งยังเป็นข้อจำกัดในการดำเนินการของกลุ่มอยู่
(2) การรวมกลุ่มก็ยังได้ในเรื่องกลุ่มสวัสดิการเฉพาะกลุ่ม ยังไม่สามารถยกระดับเป็นภาพรวมสวัสดิการแรงงานนอกระบบที่สามารถตอบปัญหาการเข้าไม่ถึงสวัสดิการของแรงงานนอกระบบทุกกลุ่มอาชีพได้จริง มองเห็นเฉพาะปัญหาที่เกิดขึ้นกับกลุ่มอาชีพตนเองเท่านั้น
(3) แม้ว่าที่ผ่านมาได้รับการสนับสนุนงบประมาณการดำเนินการจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) แต่ก็ยังเป็นลักษณะการทำงานที่แหล่งทุนลงมากำกับทิศทางการดำเนินงานมากกว่าการเข้าใจปัญหาและมุ่งแก้ไขปัญหากลุ่มแรงงานนอกระบบจริงๆอย่างต่อเนื่อง ระยะยาว
(4) นายจ้างใช้ช่องว่างเรื่องรายได้ มาเป็นตัวแปรในการทำให้แรงงานนอกระบบไม่สามารถรวมกลุ่มเจรจาต่อรองได้อย่างจริงจัง เพราะกังวลเรื่องการไม่มีงานทำ
(1.3) กลุ่มแรงงานข้ามชาติ
– ข้อจำกัดของ พรบ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ทำให้แรงงานข้ามชาติไม่สามารถจัดตั้งสหภาพแรงงานเป็นของกลุ่มตนเองได้โดยตรง นอกจากการเข้าร่วมเป็นสมาชิกกับกลุ่มแรงงานในระบบ แต่ถ้าพื้นใดไม่มีแรงงานในระบบก็พบข้อจำกัดในการรวมกลุ่มตามกฎหมาย
– ในพื้นที่อำเภอรอบนอกหรืออำเภอแถบชายแดนของจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดตาก มีแรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะกลุ่มไทใหญ่และกลุ่มกะเหรี่ยงที่ทำงานในภาคเกษตรกรรมกว่า 90 % เช่น ไร่สตอร์วเบอรี่ ไร่ส้ม ไร่กุหลาบ ไร่มันสำปะหลัง เป็นต้น แต่พบว่าแรงงานในกิจการจ้างงานประเภทนี้เข้าไม่ถึงการคุ้มครองโดยเฉพาะมีสภาพการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรม ค่าจ้างต่ำกว่าขั้นต่ำมาก เช่น 80-150 บาท ร่างกายต้องอยู่กับสารเคมีตลอดเวลาแต่ขาดการดูแลป้องกัน รวมทั้งระยะเวลาในการทำงานที่ยาวนาน เช่น 10-12 ชั่วโมงต่อวัน แม้ว่าแรงงานกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มที่นักพัฒนาองค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) ควรให้ความสำคัญในการทำงาน แต่กลับพบว่า มีความยากลำบากในการเข้าถึงคนงานเพราะเป็นพื้นที่ปิด ต้องขออนุญาตนายจ้าง และนายจ้างมักห้ามในการพูดคุยเรื่องสิทธิ เน้นได้เฉพาะเรื่องสุขภาพเท่านั้น
– บางครั้งพบปัญหาจากผู้บังคับใช้กฎหมายที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย เช่น ในกรณีพื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก เวลาแรงงานข้ามชาติที่ถูกกฎหมาย(มี passport)จะออกนอกพื้นที่ต้องขออนุญาตเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่ก่อน ทั้งๆที่โดยข้อเท็จจริงแรงงานสามารถเดินทางได้อย่างอิสระแต่กลับไม่ได้รับอนุญาตให้สามารถเดินทางได้
– ในเชิงนโยบาย พบปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายในการพิสูจน์สัญชาติที่มีรายจ่ายในการดำเนินงานสูง บางกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่ไม่สามารถสื่อสารภาษาไทยได้ก็ต้อพึ่งพาบริษัทนายหน้า ทำให้เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนหลักหลายหมื่น
– สำหรับตัวแรงงานข้ามชาติเอง พบข้อจำกัดในการสื่อสารภาษาไทย การไม่เข้าใจสิทธิที่ตนเองพึงได้รับในเรื่องต่างๆ ทำให้ทั้งถูกละเมิดสิทธิและเข้าไม่ถึงสิทธิ
– บางครั้งกลุ่มแรงงานข้ามชาติ มีความทับซ้อนกับกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง ซึ่งโดยข้อเท็จจริงใช้กฎหมายคนละฉบับ และการเข้าถึงการคุ้มครองในเรื่องต่างๆที่มีความแตกต่างกัน เช่น กรณีสุขภาพ กลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง ที่เลขบัตรประชาชนนำหน้าด้วยเลข 6 หรือ 7 จะใช้มติคณะรัฐมนตรี 23 มีนาคม 2553 ขึ้นกับกระทรวงสาธารณสุขในการเข้าถึง กลุ่มแรงงานข้ามชาติที่พิสูจน์สัญชาติผ่านแล้วจะใช้ระบบประกันสังคม ขึ้นกับกระทรวงแรงงาน ส่วนกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่ยังพิสูจน์สัญชาติไม่ผ่าน จะใช้หลักประกันสุขภาพแรงงานข้ามชาติและผู้ติดตาม ขึ้นกับกระทรวงสาธารณสุข เป็นต้น
– ใน จ.เชียงใหม่ มีการรวมกลุ่มของแรงงานไทใหญ่เป็นกลุ่มแรงงานสามัคคี Worker Solidarity Association (W.S.A.) ก่อตั้งเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2550 เป็นการรวมตัวเพื่อการเข้าถึงสิทธิแรงงานที่เท่าเทียมและต่อต้านความไม่ยุติธรรมที่มีต่อแรงงานข้ามชาติ ปัจจุบันกลุ่มแรงงานสามัคคีมีสมาชิกประมาณ 200 คน มีการเก็บค่าสมาชิก จำนวน 200 บาท/ปี/คน เพื่อใช้เป็นค่าใช้จ่ายในการทำกิจกรรมรณรงค์ต่างๆ ใช้ในการจัดอบรมเรื่องสิทธิแรงงานให้แก่สมาชิก และกิจกรรมเพื่อชุมชนสังคมต่างๆ
(1.4) กลุ่มแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ
– ปัญหาสำคัญในกลุ่มแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ คือ การถูกเอารัดเอาเปรียบโดยเฉพาะในกระบวนการจัดส่งแรงงานของบริษัทจัดหางานเอกชน รวมทั้งการถูกลอยแพเมื่อประสบปัญหาต่างๆ เช่น ปัญหาสุขภาพในการทำงาน สารเคมีในไร่ การไม่ได้รับรายได้ตามสัญญาจ้าง จึงทำให้ไม่มีเงินใช้หนี้ที่ไปกู้ยืมจำนวนมาก และทำให้เป็นแรงผลักให้ต้องไปทำงานต่างประเทศต่อไป
– มีความพยายามในการทำงานรวมกลุ่มแรงงานในจังหวัดอุดรธานี ซึ่งเป็นจังหวัดอันดับหนึ่งที่มีการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศมากที่สุด เป็น “สหภาพช่วยคนทำงานต่างประเทศ” ตั้งอยู่ที่บ้านหนองขาม ต. หนองไผ่ อ.หนองหาน จ. อุดรธานี มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อต้องการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการไปทำงานต่างประเทศตั้งแต่ต้นทางจนถึงประเทศปลายทางและเมื่อเจอปัญหาแล้วกลับมาภูมิลำเนา รวมถึงการป้องกันปัญหาการถูกหลอกลวงก่อนตัดสินใจไปทำงานต่างประเทศ
(1.5) กลุ่มแรงงานภาครัฐวิสาหกิจ
– แรงงานภาครัฐวิสาหกิจ มีพรบ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 บังคับใช้ สำหรับในเรื่องการจัดตั้งให้เกิดสหภาพแรงงานขึ้นมานี้ไม่ใช่ปัญหาหลัก เนื่องจากกฎหมายได้ระบุไว้ว่า 1 รัฐวิสาหกิจ สามารถจัดตั้งสหภาพแรงงานได้ 1 แห่ง โดยตรงอยู่แล้ว
-ปัญหาสำคัญของการรวมตัวของแรงงานกลุ่มนี้คือ การขยายจำนวนสมาชิก รัฐวิสาหกิจบางแห่งที่สมาชิกมีสวัสดิการดีแล้วไม่เห็นความสำคัญของการมีสหภาพแรงงาน , บางอาชีพมีการรวมตัวยาก เช่น แอร์โฮสเตส นักบิน เพราะสภาพการทำงานมีระยะเวลายาวนาน ข้ามประเทศ ไม่ได้อยู่ติดพื้นที่ , การถูกขัดขวางจากผู้บริหารระดับสูงที่ไม่เห็นความสำคัญของการมีสหภาพแรงงาน , การถูกแทรกแซงจากรัฐหรือนักการเมืองที่เข้ามาเป็นคณะกรรมการ , ประธานสหภาพแรงงานมักถูกกลั่นแกล้ง กดดัน การโยกย้ายตำแหน่งหน้าที่การงาน กระทั่งการให้ออกเพราะถูกกล่าวอ้างเรื่องทุจริตต่อหน้าที่ เป็นต้น
– เมื่อมาพิจารณาในกลุ่มแรงงานรัฐวิสาหกิจ กิจการขนส่งโดยตรง พบว่า กิจการขนส่งครอบคลุม
8 สาขา ได้แก่ เรือเดินทะเล ท่าเรือ รถไฟ การขนส่งสินค้าและการคมนาคมทางบก การคมนาคมขนส่งทางน้ำ การประมง การท่องเที่ยว และการบินพลเรือน ทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ อีกทั้ง 8 สาขามีความแตกต่างทั้งในระดับรายได้ และรูปแบบการจ้างงานที่มีหลายรูปแบบ ทั้งแรงงานในระบบ แรงงานนอกระบบ และแรงงานข้ามชาติ รวมถึงแรงงานเหมาค่าแรง
– บางครั้งในกิจการเดียวกัน เสมือนว่าเป็นอุตสาหกรรมประเภทเดียวกัน แต่พบว่าก็ยังสามารถจำแนกประเภทได้แตกต่างกัน เช่น งานประเภทขนถ่ายกับงานประเภทขนส่ง ก็เป็นคนละประเภทงานอุตสาหกรรม ทำให้ไม่สามารถจัดตั้งเป็นสหภาพแรงงานเดียวกันได้ หรือกิจการรถโดยสารเป็นกิจการประเภทขนส่ง แต่พนักงานเก็บค่าโดยสารถือว่าเป็นงานบริการ เป็นต้น ซึ่งเป็นผลมาจากปัญหาจากการใช้รหัสอุตสาหกรรมที่มีการจำแนกแยกย่อยต่างกัน
– ในรูปแบบการจ้างงานแบบรัฐวิสาหกิจ พบว่า มีการจ้างงานแบบภาคเอกชนรวมอยู่ด้วย ทำให้แรงงานเวลาจะรวมกลุ่มต้องไปใช้ พรบ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 แทน เพราะถือว่าเป็นแรงงานภาคเอกชน ไม่ใช่ภาครัฐวิสาหกิจ เช่น กรณีบริษัทการบินไทยได้จัดตั้ง “บริษัท วิงสแปน เซอร์วิสเซส” (WingSpan Services Company Limited) ขึ้นมาเป็นบริษัทในเครือ โดยระบุชัดเจนว่าเป็นงานที่ต้องการจ้างในระยะเวลาสั้น มีอัตราการจ่ายค่าตอบแทนไม่เป็นไปตามโครงสร้างเงินเดือนของบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) เป็นต้น
– กิจการขนส่งแรงงานระหว่างประเทศ มีการรวมตัวเป็นสหพันธ์แรงงานขนส่งระหว่างประเทศINTERNATIONAL TRANSPORT WORKERS’ FEDERATION (ITF) สำหรับในประเทศไทยมีเฉพาะภาครัฐวิสาหกิจเป็นสมาชิกเท่านั้น ยังไม่มีภาคเอกชน แต่พบว่าจำนวนสมาชิกลงลงและมีความยากลำบากในการจัดตั้งมากยิ่งขึ้น ทำให้สหภาพแรงงานแต่ละแห่งมีความอ่อนแอและขาดการหนุนช่วยระหว่างกัน
(1.6) กลุ่มข้าราชการและคนทำงานภาครัฐ
– การรวมตัวของข้าราชการและคนทำงานภาครัฐ ที่ผ่านมาไม่มีกฎหมายรองรับในการจัดตั้งและรวมกลุ่มของคนทำงานในภาคราชการโดยตรง หรือรวมทั้งตัวกฎหมาย คือ พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 ก็เป็นปัญหาในการทำให้ไม่สามารถรวมตัวได้ ทั้งๆที่ในงานภาคราชการมีรูปแบบการจ้างงานที่มีการคุ้มครองและเข้าถึงสวัสดิการที่แตกต่างกันมากหลายระดับ ทั้งกลุ่มข้าราชการ กลุ่มพนักงานของรัฐ และกลุ่มลูกจ้างชั่วคราว
– ตัวอย่างเช่นในกลุ่มลูกจ้างชั่วคราว ซึ่งในความเป็นความจริงมีสถานะเป็น “ลูกจ้างของส่วนราชการ” ก็ยังมีการแบ่งแยกย่อยเป็น ชั่วคราวแบบจ้างเหมา , ชั่วคราวแบบประจำรายวัน , ชั่วคราวแบบประจำรายเดือน ซึ่งลูกจ้างกลุ่มนี้จะประสบปัญหามากที่สุด คือ ค่าตอบแทนไม่เป็นธรรม สถานะไม่มั่นคง ไม่มีเงินเก็บออมในอนาคต ถ้าขาด-ลา-มาสาย-เจ็บป่วย-ลาคลอดบุตร จะไม่ได้รับรายได้ในวันดังกล่าวที่ขาดงาน ไม่สามารถเข้าสู่การคุ้มครองตามระบบประกันสังคม เป็นต้น ตัวอย่างเช่นในกระทรวงแรงงานมีการจ้างพนักงานแบบจ้างเหมามากถึง 3,000 คน แต่แรงงานกลุ่มนี้ไม่ได้รับการคุ้มครองใดๆทั้งสิ้น
– ปัญหาสำคัญในการทำงานของข้าราชการ คือ การถูกแทรกแซงจากฝ่ายการเมืองในการทำงาน และถ้ามีการรวมตัวก็จะถูกผู้บริหารมีมาตรการในการขัดขวางรูปแบบต่างๆ ดังนั้นรูปแบบการรวมตัวจึงอาศัยเทคโนโลยีในการสื่อสารและติดตามสถานการณ์ร่วมกัน

ข้อเสนอต่อการลดอุปสรรคการทำงานจัดตั้งแรงงานแต่ละกลุ่ม

ภายหลังจากที่ได้มีการหารือถึงสถานการณ์ปัญหาการทำงานจัดตั้งแรงงานแต่ละกลุ่มเรียบร้อยแล้ว ผู้เข้าร่วมประชุมได้ร่วมกันระดมความคิดเห็นถึงข้อเสนอต่อการลดอุปสรรคการทำงานจัดตั้งแรงงานแต่ละกลุ่ม สามารถสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
ข้อเสนอเชิงนโยบาย : เพื่อไม่ให้กฎหมายแต่ละฉบับมาเป็นอุปสรรคและข้อจำกัดในการรวมตัว ดังนั้นมีความจำเป็นต้องมีการรณรงค์ขับเคลื่อนและผลักดันให้รัฐบาลไทยรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ในเร็ววัน กับการพัฒนาการรวมตัวของแรงงานให้สามารถกลายเป็นรูปแบบพรรคการเมืองในอนาคต ที่คำนึงถึงผลประโยชน์ชนชั้นผู้ใช้แรงงานเป็นสำคัญ
ข้อเสนอเชิงปฏิบัติการ : การใช้ยุทธศาสตร์สู่ทศวรรษใหม่ ขบวนการแรงงานไทย 2556-2565 เป็นเครื่องมือในการทำงานรวมกลุ่มแรงงานกลุ่มต่างๆร่วมกัน โดยเฉพาะในยุทธศาสตร์ที่ 3 เรื่องการสร้างความเข้มแข็งเชิงปริมาณ ที่เร่งขยายการจัดตั้งแรงงานทุกภาคส่วน ที่มุ่งหวังว่าภายใน 2 ปีแรก คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยจะมีการกำหนดยุทธศาสตร์ว่าด้วยรูปแบบองค์กรและแนวทางในการจัดตั้งองค์กรแรงงานที่เหมาะสมแก่แรงงานแต่ละกลุ่ม รวมถึงมีการฝึกอบรมเพื่อสร้างนักจัดตั้งประจำในพื้นที่อุตสาหกรรมอย่างน้อยพื้นที่ละ 1 คน กล่าวได้ว่าเป็นการสร้างสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการจัดตั้ง
ข้อเสนอต่อกลุ่มแรงงานในระบบ : การจัดตั้งในรูปแบบสหภาพแรงงานแบบอุตสาหกรรม สามารถทำให้ขบวนการแรงงานสามารถอยู่รอดได้จริง ตัวอย่างรูปธรรม เช่น สหภาพแรงงานชิ้นส่วนยานยนต์และโลหะแห่งประเทศไทย (TAM) ที่สามารถรวมตัวจนเป็นผลสำเร็จได้จริง เป็นต้น
ข้อเสนอต่อกลุ่มแรงงานนอกระบบ แรงงานข้ามชาติ แรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ แรงงานภาครัฐวิสาหกิจ และกลุ่มข้าราชการและคนทำงานภาครัฐ : การมีพื้นที่การรวมตัวที่เป็นอิสระ ไม่ถูกครอบงำหรือกดดันจากข้อจำกัดของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับแรงงานแต่ละกลุ่ม โดยในเบื้องต้นเสนอให้คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ทำหน้าที่ในการเชื่อมร้อยแรงงานกลุ่มต่างๆเข้ามาทำงาน เพื่อขับเคลื่อนผลักดันให้เกิดข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อการแก้ไขปัญหาการเข้าไม่ถึงการคุ้มครองแรงงานร่วมกัน รวมทั้งยังเป็นเวทีในการจัดการศึกษา แลกเปลี่ยนความรู้ สถานการณ์ปัญหา ประสบการณ์การทำงานของแรงงานแต่ละกลุ่มที่มีความแตกต่างกัน ให้เท่าทันข้อมูลเพื่อการสนับสนุนการทำงานร่วมกัน ทั้งนี้อาจมีการเชิญกลุ่มที่มีการรวมตัวอยู่แล้ว แต่แรงงานไม่รู้จัก มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับแรงงาน เช่น แพทย์ ครู เป็นต้น
ข้อเสนอต่อคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย : รูปแบบการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรมในหลากหลายรูปแบบ เป็นประเด็นร่วมสำคัญที่แรงงานทุกกลุ่มเผชิญ ทำให้แรงงานเกิดความไม่มั่นคงในการจ้างงาน เข้าไม่ถึงการคุ้มครองตามสิทธิที่พึงได้รับ ไม่กล้ารวมเป็นกลุ่มหรือเป็นสหภาพแรงงาน ดังนั้นคณะ กรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย มีความจำเป็นต้องจัดทำข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวออกมาสื่อสารต่อสาธารณชน ที่มีการแสดงตัวเลขผู้ได้รับผลกระทบ และสภาพปัญหาของแรงงานแต่ละกลุ่มที่คมชัด มีการเปรียบเทียบให้เห็นช่องว่างความเหลื่อมล้ำที่ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมในระบบการจ้างงานของประเทศไทยในปัจจุบัน กลุ่มคนที่ได้เปรียบ กลุ่มคนที่เสียเปรียบ และข้อเสนอเพื่อปลดล็อคความไม่เป็นธรรมดังกล่าว ทั้งข้อเสนอเชิงนโยบายและเชิงปฏิบัติการ อาจมีการยกตัวอย่างการคุ้มครองแรงงานที่ยังไม่ได้รับการคุ้มครอง เช่น กลุ่มเหมาช่วง เหมาค่าแรง ในต่างประเทศที่มีกฎหมายคุ้มครอง เพื่อแสดงตัวอย่างประกอบ