ประกันสังคมถ้วนหน้า เพื่อคนทำงานทุกกลุ่ม อิสระ โปร่งใส และเป็นธรรม

เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2555 คณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงและพัฒนากฎหมายด้านสวัสดิการและสังคม โดยคณะปฏิรูปกฎหมาย ร่วมกับ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเวทีเสวนาทางวิชาการ เรื่อง “ประกันสังคมถ้วนหน้า เพื่อคนทำงานทุกกลุ่ม อิสระ โปร่งใส และเป็นธรรม” ณ ห้องประชุมคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีนักวิชาการ นักกฎหมายด้านแรงงานและองค์กรพัฒนาเอกชนต่างๆ ลูกจ้างจากภาคส่วนต่างๆ เข้าร่วมเพื่อระดมความคิดเห็น จำนวน 80 คน

นางสุนี ไชยรส  รองประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวว่า สิ่งที่ภาคประชาชนได้ยื่นร่างกฎหมายหมื่นกว่ารายชื่อนั้น ไม่ควรจะเป็นการขับเคลื่อนของพี่น้องผู้ใช้แรงงานเท่านั้น แต่ควรจะเป็นการขับเคลื่อนของผู้ใช้บริการผู้ประกันตน ซึ่งส่งเงิน รัฐบาลเองก็ต้องสมทบเงินมาโดยตลอดให้ดีขึ้น ซึ่งเป็นความหวังว่าจะได้นำเสนอร่างกฎหมายนี้เข้าไปในสภาผู้แทนราษฎรนั้นมีจุดมุ่งหมายสำคัญ 2 ข้อ คือ 1.ต้องการความเป็นอิสระในการบริหารกองทุน เพื่อที่จะออกระเบียบให้เป็นประโยชน์แก่ผู้ประกันตนให้มากขึ้น 2. ทำอย่างไรกฎหมายประกันสังคมจะครอบคลุมทุกภาคส่วน เช่น แรงงานนอกระบบยังอยู่กับ ม.40 แรงงานข้ามชาติส่วนหนึ่งถูกหักประกันสังคม ซึ่งยังมีปัญหาอยู่และยังมีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่เข้าสู่กฎหมายประกันสังคม 
      
อาจารย์กิตติพงศ์ กมลธรรมวงศ์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้กล่าวถึงภาพรวมที่ค้นพบในงานวิจัยเรื่องปัญหาที่เกิดขึ้นในสำนักงานประกันสังคมคือข้อจำกัด เรื่องการเป็นศูนย์ราชการที่ไม่สอดคล้องกับภารกิจโดยตรงของสำนักงานประกันสังคม เพราะต้องขึ้นกับหน่วยงานราชการระดับกรมภายใต้กระทรวงแรงงาน ซึ่งการบริหารงานนั้นไม่เป็นอิสระเท่าที่ควร ขาดความก้าวหน้าขององค์กรที่มีจำกัด เรื่องงบประมาณต่างๆที่มีปัญหารวมถึงการเอางบประกันสังคมมาใช้จ่ายภายในสำนักงาน การขาดแคลนบุคลากรที่มีความสามารถ การบริหารการลงทุนต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญแต่เงินเดือนน้อยก็มักจะถูกเอกชนดึงตัวไปทำงาน
 
ที่ผ่านมาได้ผลักดันให้มีการแก้ไข และต้องมองถึงความสำเร็จในอนาคตเรื่องการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ซึ่งมีองค์ประกอบ 6 ส่วนที่มีความสำคัญคือ รัฐบาล กรรมการประกันสังคมชุดใหม่ สำนักงานประกันสังคม ฝ่ายนายจ้าง ผู้ประกันตนและเจ้าหน้าที่สำนักงานประกันสังคม ทั้ง 6 ส่วนต้องทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดและต้องเปลี่ยนแปลงทัศนคติหลายๆ อย่าง ยอมรับในการเปลี่ยนแปลงของการไปสู่การเป็นองค์กรมหาชน ถ้ายังยึดติดกับการบริหารงานระบบราชการเดิมๆ สุดท้ายแล้วองค์กรใหม่ก็ยังเป็นการบริหารแบบเดิมปัญหาเดิมก็จะไม่ได้รับการแก้ไข 
    
นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.)ผู้เสนอร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม(ฉบับที่…) พ.ศ…..ได้นำเสนอประเด็นปัญหาปัญหาที่ถูกแทรกแซงง่ายจากฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในหลายรูปแบบ มีความไม่โปร่งใส สถานประกอบการที่ยังค้างชำระเงินสมทบ 33, 071 ราย คิดเป็นเงิน 4,047 ล้านบาท แบ่งเป็น 3 ส่วน ( 1.) นายจ้างที่ยังเปิดกิจการอยู่แต่ค้างชำระ 18,000 ราย คิดเป็นเงิน 2,240 ล้านบาท (2.) นายจ้างหยุดกิจการแล้ว แต่ทำธุรกิจอื่นๆ 13,000 ราย คิดเป็นเงิน 1,600 ล้านบาท (3.) สถานประกอบการที่ปิดกิจการแล้วและยังเป็นหนี้สูญ 600 ราย คิดเป็นเงิน 78 ล้านบาท ในกรณีที่นายจ้างหักเงินแล้วไม่นำส่งประกันสังคม เมื่อผู้ประกันตนไปรับการรักษาใช้สิทธิประกันสังคม เช่น สงเคราะห์บุตรแต่กลับไม่มีสิทธิในตรงนี้ถึงได้รู้ว่านายจ้างไม่จ่ายประกันสังคม ในอนาคตปี 57 นี้ ถ้านายจ้างไม่นำเงินเข้าสู่ประกันสังคม มันจะเป็นฟันหลอ ทำไมรัฐยังปล่อยปะละเลยในเรื่องนี้ ทำไมไม่มีการบังคับใช้กฎหมาย จะเห็นว่าผู้ที่ได้รับผลกระทบคือผู้ประกันตนที่เกิดขึ้นในระยะสั้นเรื่องสิทธิประโยชน์ของลูกจ้างเฉพาะหน้าคือการรักษาพยาบาล และระยะยาวในการใช้สิทธิชราภาพ ทำให้ลูกจ้างไม่สบายใจวิตกกังวล 
 
      ประเด็นที่ 2. รัฐบาลค้างจ่ายเงินสมทบกองทุนประกันสังคม ตั้งแต่ ปี 2553 – 2555 รวมเป็นเงินที่รัฐบาลจะต้องจ่าย 63,200 ล้านบาท ในกรณีที่นายจ้างไม่จ่ายจะเสียค่าปรับร้อยละ 2 บาท แต่ถ้าลูกจ้างไม่จ่ายเลยผู้ประกันตนในมาตรา 33 ออกจากงานขาดส่งภายใน 6 เดือน  ถูกตัดสิทธิในการเป็นผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม ถ้ามาตรา 39 ไม่ส่งเงินติดต่อกันภายในระยะเวลา 3 เดือน จะถูกตัดสิทธิทันที นี่คือข้อจำกัดในข้อกฎหมายที่ไม่เป็นธรรมกับผู้ประกันตน
 
     ประเด็นที่ 3. โอกาสในการคอร์รัปชั่นมีสูง มีการนำเงินไปใช้จ่ายอย่างผิดวัตถุประสงค์ คณะทำงานไม่มีอำนาจในการตัดสินใจ เจ้าของเงินไม่มีสิทธิในการตัดสินใจ  การทำประชาสัมพันธ์แบบฉาบฉวยใช้งบประมาณสูงเกินเหตุ ไม่เข้าถึงผู้ประกันตน การไปดูงานต่างประเทศแต่กลับไม่มีการเปลี่ยนแปลงที่ดีเพื่อมาพัฒนาปรับปรุงประกันสังคม การเอางบไปทำงานวิจัยที่ไม่เกิดประโยชน์ ทั้งๆที่งานวิจัยเป็นงานที่ดี มีนักวิชาการที่มีความรู้ ความสามารถน่าเชื่อถือของทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ทำขึ้นมา แต่ทางสำนักงานประกันสังคมไม่เคยนำงานวิจัยเหล่านั้นมาเป็นประโยชน์เป็นส่วนที่จะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงสำนักงานประกันสังคมให้ดีขึ้นการจัดจ้างเช่าคอมพิวเตอร์ที่ผิดปกติ นี่คือที่มาในการที่จะให้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงระบบประกันสังคมให้ดีที่สุดสำหรับผู้ประกันตน อยากให้มีการปฏิรูปประกันสังคมอย่างที่พวกเราต้องการ มีความเป็นอิสระ โปร่งใส ตรวจสอบได้
    
นางสุจิน รุ่งสว่าง เครือข่ายแรงงานนอกระบบ ที่ผ่านมาแรงงานนอกระบบที่ได้เข้าถึงสวัสดิการของประกันสังคมลำบากมาก รูปแบบประกันสังคมเดิมมีสิทธิ 3 กรณี คือ คลอดบุตร พิการ และเสียชีวิต ซึ่งต้องส่งเงินสมทบปีละ 3,360 บาท ส่งเป็นรายเดือนไม่ได้ แต่รูปแบบใหม่เราสามารถส่งเป็นรายเดือนได้ แรงงานนอกระบบมีกว่า24 ล้านคน  ในภาคผลิต ภาคบริการ และภาคเกษตร  ซึ่งสิทธิประโยชน์มาตรา 40 มีน้อยมาก ไม่สร้างแรงจูงใจ ทำให้คนเข้ามาน้อย ถ้าประกันสังคมไม่พัฒนาสิทธิประโยชน์ให้ดีคนก็จะถอยออกไปอยู่บริษัทเอกชน เพราะฉะนั้นประกันสังคมฉบับนี้จะสร้างความเท่าเทียมกันทั้งด้านการคุ้มครองและการได้รับสิทธิประโยชน์ และเห็นด้วยกับประกันสังคมที่จะมีความเป็นอิสระในการบริหารจัดการ ครอบคลุมแรงงานทุกภาคส่วน เพราะที่ผ่านมาปัญหาประกันสังคมมีการบริหารจัดการที่ไม่โปร่งใส อยากเห็นประกันสังคมฉบับนี้ได้รับการผลักดันให้สำเร็จ 
 
นายโกวิทย์ บุรพธานนทร์ นักวิชาการด้านแรงงาน กรรมการมูลนิธินิคม จันทรวิทุร  กล่าวว่า ควรมีการผลักดันนโยบายประกันสังคมในลักษณะการทำโครงการให้เป็นระบบและที่ยั่งยืน การลดหย่อนภาษีเพื่อการออมในอนาคต และการจัดตั้งให้เป็นองค์กรอิสระ โปร่งใส ตรวจสอบได้ และผู้ที่จะมาเป็นผู้บริหารจะต้องเป็นอิสระจากภาคการเมืองด้วย ซึ่งการเอาเงินประกันสังคม 10 % ของเงินที่เก็บจากเงินสมทบไปใช้โดยที่คน 9 ล้านคนไม่รู้เรื่องนั้นมันเป็นความเหลื่อมล้ำของ 3 กองทุนในการบริหารและบริการ
 
รศ.มาลี พฤกษ์พงศาวลี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เราต้องทำให้นักการเมืองเข้าใจประกันสังคมให้มากกว่านี้ ต้องมาคิดรูปแบบการรณรงค์รูปแบบใหม่ และรัฐบาลควรที่จะมีความมุ่งมั่นผลักดันกฎหมายด้านนี้เสียใหม่ ทั้งในเรื่องการใช้เงินผิดวัตถุประสงค์อย่างเช่น จะเอาเงิน 15 ล้านไปจัดแอโรบิคแดนซ์ที่สนามเพื่อขึ้นกินเนสบุ๊ค  นี่คืออำนาจทางการเมืองที่เข้าไปกดดันคณะกรรมการและให้มีการอนุมัติเงินออกมาและเอาไปใช้จ่ายในเรื่องที่มันผิดวัตถุประสงค์ ผู้ใช้แรงงานต้องสามัคคีร่วมมือกันอย่างจริงจัง และอยากให้ทางคณะปฏิรูปกฎหมายมีแผนแม่บทในการที่จะผลักดันในเรื่องการเคลื่อนไหว เพื่อแก้ไขกฎหมายนี้ให้เป็นองค์กรอิสระมาบริหารจัดการเงินจำนวนมหาศาลต่อไป
 
สุดท้ายมีข้อเสนอจากผู้เข้าร่วมคือ สนับสนุนให้เป็นองค์กรอิสระในรูปแบบมหาชน ผู้ประกันตนต้องทวงสิทธิที่รัฐและนายจ้างค้างจ่าย ให้บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง สำหรับแรงงานข้ามชาติเสนอให้รัฐปฎิบัติตามกฎหมายให้เหมือนๆกับแรงงานไทยอย่างเท่าเทียม  รวมทั้งให้มีข้อมูลข่าวสารเข้าถึงแรงงานข้ามชาติด้วย ส่วนคนทำงานบ้านตั้งข้อสังเกตว่ามาตรา 40 ถึงยกเว้นคนทำงานบ้าน รวมถึงปัญหาพนักงานภาครัฐที่ไม่มีความมั่นคงเพราะถูกให้ออกจากนอกระบบทำให้เสียสิทธิ
 
ภัชรี ลายลวด นักสื่อสารแรงงาน รายงาน