นายกยิ่งลักษณ์ ไม่รับรองร่างพ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ฉบับประชาชน อ้างรอความเห็นประกอบ

P8220052

เลขาธิการนายกรัฐมนตรีแจ้ง นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีไม่สามารถให้คำรับรอง ร่างพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. …. ฉบับที่นายชาลี ลอยสูงและประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 12,130 คนเสนอได้ ภายในเวลาตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรพ.ศ. 2551 ข้อ 111 เนื่องจากได้ส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเสนอความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาของนายกรัฐมนตรี อ้างเป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน

นางพรรณิภา เสริมศรี รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ปฏิบัติการราชการแทน เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้ส่งจดหมายตอบความคืบหน้าเรื่อง ร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน โดยมีเนื้อหาดังนี้

P8220019P8220066

ตามที่สำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้ส่งหนังสือถึงนายชาลี ลอยสูง เรื่องร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวกับการเงิน ลงวันที่ 17 เมษายน 2556 พร้อมสำเนาถึงสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ด่วนมาก ที่นร 0404/3794 ลงวันที่ 18 มีนาคม 2556 ตามที่ท่าน (นายชาลี ลอยสูง) และประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 12,130 คน ได้เสนอร่างพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. …. เพื่อให้รัฐสภาพิจารณานั้น ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้พิจารณาวินิจฉัยว่า ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวเป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงินตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาตรา 143 (2) และสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้ส่งร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ไปให้นายกรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาให้คำรับรองแล้วนั้น บัดนี้ได้รับแจ้งจากเลขาธิการนายกรัฐมนตรีว่า ได้รับร่างพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวแล้ว และนายกรัฐมนตรีไม่สามารถให้คำรับรองได้ภายในเวลาตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรพ.ศ. 2551 ข้อ 111 เนื่องจากได้ส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเสนอความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาของนายกรัฐมนตรี

P8220082P8220095

นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า  คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ได้ดำเนินการร่าง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ ฉบับบูรณาการแรงงาน โดยประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งเป็นผู้เสนอกฎหมายตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 163 บัญญัติว่า “ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่าหนึ่งหมื่นคน มีสิทธิเข้าชื่อร้องขอต่อประธานรัฐสภาเพื่อให้รัฐสภาพิจารณาร่างพระราชบัญญัติตามที่กำหนดในหมวด 3 และหมวด 5 แห่งรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2555 ที่อาคารรัฐสภา

กฎหมายพ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ ฉบับบูรณาการแรงงาน มีหลักการและสาระที่สอดรับกับสภาพแวดล้อมทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนไปอย่างมาก เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานและหลักการอันเป็นสากลที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการยอมรับของนานาอารยะประเทศ และเพื่อส่งเสริมให้เกิดระบบแรงงานสัมพันธ์ที่คนทำงานและผู้จ้างงานสามารถทำงานร่วมกันด้วยความพอใจ อย่างสันติสุข และต่างได้รับความเป็นธรรม และที่สำคัญคือสามารถนำสู่การพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน และสร้างสังคมที่เป็นธรรม เสมอภาค

เนื่องจากทางสภาฯได้ตีความว่าร่างดังกล่าวเป็นร่างพ.ร.บ.เกี่ยวกับการเงิน จึงได้ส่งให้มีการตรวจสอบ ซึ่งคงรับรองไม่ทันในสมัยประชุมนี้จึงขอเลื่อน ซึ่งตนก็เข้าใจ และจะติดตามเพื่อมารายงานให้ทราบว่าทางนายกรัฐมนตรีจะมีการลงนามรับรองร่างพ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ ฉบับประชาชนเสนอเมื่อไร

P8220102

หมายเหตุ

สรุปสาระสำคัญ
ร่างพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. …. (ฉบับบูรณาการแรงงาน)

…………………………………………………… 

(1) หลักการจัดทำร่างพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์

(1.1)  เพื่อให้สอดคล้องกับอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัวกันและอนุสัญญาฉบับที่ 98 ว่าด้วยการปฏิบัติตามหลักการของสิทธิในการรวมตัวกันและการเจรจาต่อรองร่วม

(1.2)  กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ฉบับเดียว  ครอบคลุมแรงงานทุกภาคส่วน

(1.3)  เปลี่ยนกรอบคิดแรงงานสัมพันธ์จากความสัมพันธ์แบบ “นายกับบ่าว”  ไปสู่ “หุ้นส่วนทางสังคมและเศรษฐกิจ”

(1.4)  มุ่งส่งเสริม  พัฒนาและคุ้มครองกระบวนการแรงงานสัมพันธ์ที่เป็นธรรม

(2) สาระสำคัญร่างพ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ ฉบับบูรณาการแรงงานจำนวน 13 ข้อ

P8220050P8220076

1. ปรับเปลี่ยนคำนิยาม ให้สอดคล้องกับหลักการใหม่ในการยกร่างกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ฉบับใหม่  เช่น  ยกเลิกคำว่า “นายจ้าง” และ “ลูกจ้าง” ตามสัญญาจ้างแรงงาน  ปรับปรุงความหมายของ “สภาพการจ้าง” และ เพิ่มเติมความหมาย “งานที่มีคุณค่า” เพื่อขยายขอบเขตประเด็นการแจ้งข้อเรียกร้องและการเจรจาต่อรองร่วมให้ครอบคลุมสิทธิประโยชน์เกี่ยวกับคนทำงานได้มากขึ้น คือ

“ผู้จ้างงาน”  หมายความว่า ผู้จ้างงานตามสัญญาจ้างแรงงานหรือตามกฎหมายเกี่ยวด้วยแรงงาน หรือตามสัญญาจ้างทำของหรือสัญญาอื่นใด ที่บุคคลหนึ่งให้บุคคลอีกคนหนึ่งทำงานให้เพื่อรับค่าตอบแทน และให้หมายความรวมถึง

(1) ผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ทำงานแทนผู้จ้างงาน

(2) ในกรณีที่ผู้จ้างงานเป็นนิติบุคคล ให้หมายรวมถึงผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลและผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลให้ทำการแทนด้วย

(3) ผู้ประกอบกิจการที่มอบหมายให้บุคคลหนึ่งบุคคลใด เป็นผู้จัดหาคนมาทำงานอันมิใช่การประกอบธุรกิจจัดหางาน โดยการทำงานนั้นเป็นส่วนหนึ่งส่วนใดในกระบวนการผลิต หรือธุรกิจในความรับผิดชอบของผู้ประกอบกิจการและโดยบุคคลนั้นจะเป็นผู้ควบคุมดูแลการทำงานหรือรับผิดชอบในการจ่ายค่าจ้างหรือค่าตอบแทนให้แก่คนที่มาทำงานนั้นหรือไม่ก็ตาม

“องค์การผู้จ้างงาน”  หมายความว่า สมาคมนายจ้าง สหพันธ์นายจ้าง หรือ สภาองค์การนายจ้างและให้หมายความรวมถึงการรวมตัวของผู้จ้างงานไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไร หรือรวมตัวในรูปแบบใด

“คนทำงาน”  หมายความว่า ลูกจ้างตามสัญญาจ้างแรงงานหรือตามกฎหมายเกี่ยวด้วยแรงงานหรือผู้รับจ้างตามสัญญาจ้างทำของ  หรือ  ผู้ซึ่งตกลงทำงานให้แก่ผู้จ้างงาน เพื่อรับค่าจ้างหรือค่าตอบแทนใดๆ

“องค์การคนทำงาน”  หมายความว่า สหภาพแรงงาน สหพันธ์แรงงาน หรือ สภาองค์การลูกจ้างและให้หมายความรวมถึงการรวมตัวของคนทำงานไม่ว่าจะเรียกชื่อว่าอย่างไร หรือรวมตัวในรูปแบบใด

“สภาพการจ้าง”  หมายความว่า เงื่อนไขอันเกี่ยวกับการจ้างหรือการทำงาน  กำหนดวันเวลาทำงาน ค่าจ้าง สวัสดิการ การเลิกจ้าง หรือประโยชน์อื่นของผู้จ้างงาน หรือคนทำงาน หรือประโยชน์ขององค์การคนทำงานหรือองค์การผู้จ้างงาน รวมถึงงานที่มีคุณค่า

“งานที่มีคุณค่า”  หมายความว่า สิทธิขั้นพื้นฐานในการทำงาน ได้แก่ การไม่บังคับใช้แรงงาน  การคุ้มครองแรงงานเด็ก เสรีภาพในการรวมตัวและการเจรจาต่อรองร่วม และการไม่เลือกปฏิบัติ การพัฒนาศักยภาพในการทำงาน การมีส่วนร่วมเกี่ยวกับการจ้างงานหรือการทำงาน และการคุ้มครองทางสังคม ได้แก่ การคุ้มครองเกี่ยวกับสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคม และกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม

P8220017P8220013

2.  ยกเลิกพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518  และพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543  เพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิพื้นฐานการรวมตัวและเจรจาต่อรองร่วมของแรงงานตามความสมัครใจ  โดยไม่ถูกแทรกแซงจากรัฐและถูกเลือกปฏิบัติด้านอายุ  สัญชาติ  อาชีพสถานภาพการจ้าง  ระดับตำแหน่งหน้าที่ในงานและประเภทกิจการ

3.  เจ้าหน้าที่รัฐมีหน้าที่รับแจ้งการจัดตั้งองค์การคนทำงาน  และองค์การผู้จ้างงาน  เพื่อออกหนังสือรับรองความมีองค์กรนั้นทันทีโดยไม่มีดุลพินิจอนุมัติให้จัดตั้งหรือไม่  ถ้ามีการแจ้งชื่อองค์กร, วัตถุประสงค์, ที่ตั้งสำนักงาน, อัตราค่าสมัคร/ค่าบำรุง  พร้อมทั้งข้อบังคับและชื่อผู้แทนองค์กรแล้ว

4.  สถานประกอบการเดียวกันหรือกิจการเดียวกัน  จะมีองค์การคนทำงาน  จำนวนกี่แห่งก็ได้  และคนทำงานมีสิทธิเข้าเป็นสมาชิกขององค์การกี่แห่งก็ได้ตามความสมัครใจ

5.  คนทำงาน  และผู้จ้างงาน  มีสิทธิรวมตัวกันเป็นองค์การและสมัครเข้าเป็นสมาชิกองค์การฯทั้งภายในประเทศและระดับระหว่างประเทศในทุกรูปแบบ

6.  ผู้จ้างงาน  และ  คนทำงานมีอิสระในการแต่งตั้งที่ปรึกษาในการเจรจาต่อรองข้อเรียกร้องไม่เกินฝ่ายละ 3 คน

7.  องค์การคนทำงานที่ปฏิบัติงานดังต่อไปนี้เพื่อประโยชน์ของสมาชิกหรือคนทำงาน  กรรมการ  อนุกรรมการ และเจ้าหน้าที่ขององค์การฯได้รับการยกเว้นไม่ต้องถูกกล่าวหาหรือฟ้องร้องทางแพ่งและอาญา

7.1 เข้าร่วมเจรจาทำความตกลงกับผู้จ้างงาน  หรือหน่วยงานรัฐ  หรือองค์การเอกชนเพื่อสิทธิประโยชน์ของสมาชิกหรือสาธารณะ

7.2 สนับสนุนช่วยเหลือให้มีการนัดหยุดงาน  หรือจัดให้มีการเข้าร่วมนัดหยุดงาน

7.3 ชี้แจงหรือเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อสมาชิกองค์การคนทำงาน  หรือ ต่อสาธารณะ

P8220018P8220108

8.  คุ้มครองการปฏิบัติงานของกรรมการองค์การคนทำงานอย่างเข้มแข็ง  คือ  ห้ามผู้จ้างงานเลิกจ้าง  โยกย้าย  เปลี่ยนแปลงตำแหน่งเจ้าหน้าที่  ลดค่าจ้าง  ลงโทษ  ขัดขวางการทำงาน หรือ  การทำการใดๆอันอาจเป็นผลให้ไม่สามารถทำงานต่อไปได้  เว้นแต่จะมีคำพิพากษาถึงที่สุดจากศาลแรงงาน

9.  คุ้มครองคนทำงานชัดเจน  โดยห้ามผู้จ้างงานเลิกจ้างเพราะเหตุที่คนทำงานดำเนินการหรือเตรียมจะดำเนินการจัดตั้งองค์การคนทำงาน  รวมทั้ง  ห้ามการกระทำใดๆอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการกระทำใดๆอันเป็นผลให้คนทำงาน  ผู้แทน  กรรมการหรืออนุกรรมการองค์การคนทำงาน  หรือ  กรรมการการมีส่วนร่วมในสถานประกอบกิจการไม่สามารถทำหน้าที่ได้ตามกฎหมาย

10.  ห้ามผู้จ้างงานเลิกจ้างคนทำงานในระหว่างที่มีการดำเนินการแจ้งข้อเรียกร้อง  หรือในระหว่างที่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างหรือคำชี้ขาดมีผลใช้ข้อบังคับ  โดยคุ้มครองคนทำงาน หรือผู้แทน หรือกรรมการซึ่งเกี่ยวกับข้อเรียกร้องนั้นๆ  ยกเว้นกรณีทุจริตอย่างร้ายแรงหรือกระทำผิดอาญาร้ายแรงโดยเจตนาอย่างร้ายแรงและศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว

11.  ไม่มี  บทบัญญัติให้เจ้าหน้าที่รัฐมีอำนาจดำเนินการเรื่องต่อไปนี้  เพื่อเป็นหลักประกันความเป็นอิสระในการดำเนินงานขององค์การคนทำงานและผู้จ้างงาน  ได้แก่

11.1  สั่งให้กรรมการบางคน  หรือทั้งหมดขององค์การฯออกจากตำแหน่งได้

11.2  สั่งให้เลิกองค์การคนทำงาน หรือ องค์การผู้จ้างงานได้

11.3  เข้าไปในสำนักงานขององค์การฯเพื่อตรวจสอบกิจการขององค์การฯ หรือสั่งให้ส่งหรือแสดงเอกสารหรือบัญชีขององค์การฯ

12.  กำหนดให้มีหมวดว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาแรงงานสัมพันธ์  และหมวดว่าด้วยการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในสถานประกอบกิจการ  โดยให้มีกรรมการชุดใหม่ที่กฎหมายเดิมไม่มีคือ

12.1  คณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาแรงงานสัมพันธ์

เป็นคณะกรรมการไตรภาคีฝ่ายละ 5 คนโดยฝ่ายผู้จ้างงานให้ขึ้นทะเบียนเพื่อเลือกกันเอง  ฝ่ายคนทำงานให้ขึ้นทะเบียนเพื่อเลือกกันเองตามสัดส่วนของสมาชิกองค์การคนทำงาน  และผู้ทรงคุณวุฒิให้แต่ละฝ่ายเสนอจากบุคคลที่มีความรู้ประสบการณ์เหมาะสม    คณะกรรมการมีส่วนร่วมในสถานประกอบกิจการ

12.2  คณะกรรมการการมีส่วนร่วมในสถานประกอบกิจการ

เป็นคณะกรรมการทวิภาคีในสถานประกอบกิจการ  มีจำนวนกรรมการอย่างน้อยฝ่ายละ 3-21 คนตามที่กฎหมายกำหนดโดยมาจากผู้แทนคณะกรรมการคนทำงานและฝ่ายบริหารในสถานประกอบการ

12.3  คณะกรรมการคนทำงานในสถานประกอบกิจการ

มีจำนวน 3-21 คน ตามที่กฎหมายกำหนดโดยขึ้นกับจำนวนคนทำงานในแต่ละสถานประกอบกิจการ  ใช้วิธีการแต่งตั้ง  และ  เลือกตั้งตามหลักเกณฑ์การได้มาซึ่งคณะกรรมการลูกจ้างที่เคยมี กล่าวคือองค์การคนทำงานมีอำนาจแต่งตั้งกรรมการคนทำงานได้ทั้งหมดถ้ามีสมาชิกเกินกึ่งหนึ่งของคนทำงานทั้งหมดหรือในสาขา หรือ สำนักงานย่อย  และผู้จ้างงานต้องให้การสนับสนุนค่าใช้จ่าย  และอำนวยความสะดวกในการเลือกตั้งกรรมการคนทำงานด้วย

13.  เพิ่มบทคุ้มครองผู้ทำงานที่ใช้สิทธินัดหยุดงานหรือถูกปิดงาน  ได้แก่

13.1  คนทำงานใช้สิทธินัดหยุดงานได้กว้างขึ้น  ไม่ใช่เฉพาะภายหลังเกิดข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้  แต่รวมถึงเมื่อฝ่ายผู้จ้างงานไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง  หรือ  ไม่ปฏิบัติตามคำชี้ขาดหรือมีข้อขัดแย้งเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่นอกเหนือจากข้อเรียกร้องและการเจรจาต่อรอง

13.2  ผู้จ้างงานใช้สิทธิปิดงานได้เฉพาะข้อพิพาทแรงงานที่ตกลงกันไม่ได้เกี่ยวข้องกับคนทำงานเกินกึ่งหนึ่งในสถานประกอบกิจการ

13.3  คนทำงานมีสิทธิชุมนุมในเขตพื้นที่สถานประกอบกิจการ  ใช้น้ำ  ใช้ไฟฟ้า  ห้องสุขา  หอพักและสวัสดิการอื่นที่ผู้จ้างงานจัดให้ก่อนนัดหยุดงาน หรือ ปิดงาน

13.4  ห้ามผู้จ้างงาน  จ้างผู้อื่นเข้าทำงานแทนหรือทำการจ้างโดยวิธีอื่นในกรณีที่คนทำงานใช้สิทธินัดหยุดงานหรือถูกปิดงาน

13.5  คนทำงานทุกกิจการมีสิทธินัดหยุดงานได้  ยกเว้นกิจการสาธารณูปโภคต้องแจ้งให้ผู้จ้างงานและสาธารณชนทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 3 วันก่อนนัดหยุดงาน

     13.6  รัฐมนตรีไม่มีอำนาจออกคำสั่งยุติการปิดงาน  หรือการนัดหยุดงานที่ดำเนินการไปแล้วและไม่มีอำนาจกำหนด  กิจการที่ห้ามนัดหยุดงานและปิดงาน

นักสื่อสารแรงงาน รายงาน