นอกระบบเตรียมเคลื่อน ดันรัฐให้สัตยาบันอนุสัญญาILO 87 และ 98

20130902_105241

แรงงานนอกระบบ รุกจัดประชุมปฏิบัติการอนุสัญญาILO 87 และ98 เตรียมความพร้อมดันรัฐให้สัตยาบันทั้ง 2 ฉบับ ฉลอง “วันงานที่มีคุณค่า”

เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2556 ศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบร่วมกับคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.)จัดเวทีประชุมเชิงปฏิบัติการ “การขับเคลื่อนและรณรงค์ของแรงงานในระดับพื้นที่ต่อการผลักดันองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 87 และฉบับที่ 98” ที่ห้องประชุมชั้น 7 คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ถนนราชเวที อนุสารีย์ชัยสมรภูมิ กรุงเทพมหานคร

นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่า คำว่าแรงงานนอกระบบ โดยความหมายว่าไม่มีนายจ้าง จึงไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงาน ซึ่งเดิมนั้นแรงงานนอกระบบกับแรงงานในระบบก็เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มีการรวมตัวกันต่อรองกับภาครัฐเรื่องสิทธิ สวัสดิการ มาตั้งแต่อดีต วันนี้เราถูกแยกออกด้วยกฎหมายซึ่งเป็นชนชั้นปกครอง ทำให้ขบวนการแรงงานอ่อนแอลง แรงงานมีทั้งหมดราว 37-38 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานนอกระบบ แรงงานในระบบมีเพียง 10 กว่าล้านคนเท่านั้น

20130902_105626P9020339

การมีแรงงานนอกระบบเป็นการเลี่ยงความคุ้มครองตามกฎหมายแรงงาน รัฐบอกว่าแรงงานนอกระบบไม่มีนายจ้าง ซึ่งเราก็พบว่าแรงงานที่รับงานไปทำที่บ้าน แรงงานคนทำงานบ้านก็มีนายจ้าง คนขับรถแท็กซี่ มีนายจ้างหรือไม่ น่าคิด คนขับแท็กซี่ ที่ไม่มีรถของตนเองเช่ารถจากเถ้าแก่มาขับ จะมีผู้โดยสารหรือไม่ก็ต้องจ่ายค่าเช่า เติมก๊าซ ล้างรถเอง หากรถแท็กซี่ไม่มีคนขับ เถ้าแก่ต้องไปหาคนมาขับรถก็จอดอยู่ไม่เกิดรายได้ ก็ต้องจ้างคนมาขับใช่หรือไม่ วันนี้หากคนขับแท็กวี่รวมตัวกันแล้วเจรจาต่อรองกับเถ่าแก่จะได้หรือไม่เป็นเรื่องที่พี่น้องแรงงานนอกระบบต้องคิด อนุสัญญาILO ฉบับที่ 87 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวจัดตั้ง ซึ่งเป็นองค์กรในรูปแบบไหนก็ได้ วันนี้รวมเป็นเครือข่ายหลวมก็ได้ แต่หากต้องการที่จะรวมตัวกันให้เกิดความเข้มแข็งก็ต้องจัดตั้งให้มีรูปแบบองค์กรมีการจ่ายค่าบำรุงเพื่อให้เกิดกองทุนเข้มแข็งจากตัวเราเองไม่ต้องพึ่งทุนจากข้างนอกก็ได้ อนุสัญญาILOฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการเจรจาต่อรองร่วม ซึ่งหากเราเดินไปขอคุยกับผู้มีอำนาจเช่นรัฐบาลคนเดียวคงไม่เกิดผล เมื่อเรารวมตัวกันไปยื่นหนังสือ หรือขอคุยด้วย ยิ่งเข้มแข็งมีสมาชิกมากก็จะได้รับการยอมรับและเจรจากับเราใช่หรือไม่ นั้นคืออำนาจในการนั่งโต๊ะเจรจาต่อรองร่วม

การที่รัฐบาลไทยไม่รับรองอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับเป็นเพราะกลัวการรวมตัวของแรงงานทั้งแรงงานในระบบ แรงงานนอกระบบ และแรงงานข้ามชาติ รวมถึงการรวมตัวของข้าราชการ ตำรวจ ทหาร โดยอ้างเรื่องความมั่นคง โดยที่รัฐบาลไม่มองความจริงว่าวันนี้ข้าราชการ หมอ พยาบาล ลูกจ้างภาครัฐมีการรวมกลุ่มกันแล้วในรูปแบบต่างๆ หากรัฐยังไม่ยอมรับรองอนุสัญญาการรวมกลุ่มกันแบบไม่เปิดเผยจะประทุและเกิดการเรียกร้องรัฐมากขึ้น ในการจัดงานรณรงค์ต่อรัฐในวันที่ 7 ตุลาคม 2556 ปีนี้ เราจะช่วยกันผลักดันให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับด้วยการรณรงค์ยืดเยื้อในรูปแบบไหนก็ขึ้นอยู่กับพี่น้องแรงงานว่าจะทำอย่างไรหากเห็นความสำคัญของสิทธิการรวมตัว และตั้งคำถามต่อรัฐบาลว่าประเทศไทยเป็นผู้ร่วมก่อตั้งองค์การแรงงานระหว่างประเทศ แต่ทำไมประเทศไทยยังไม่รับรองอนุสัญญาที่เกี่ยวข้อง และคุ้มครองสิทธิแรงงาน

นางสุจิน รุ่งสว่าง ประธานศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบ กทม.กล่าวว่า การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่องอนุสัญญาองค์กรแรงงานระหว่างประเทศให้กับแรงงานนอกระบบเป็นเรื่องที่ใหม่มาก แรงงานนอกระบบยังไม่เข้าใจว่าเกี่ยวข้องกับเราอย่างไร วันนี้ทำให้ชัดเจนมากขึ้นถึงการเขาถึงสิทธิการรวมตัว การเจรจาต่อรอง เดิมเข้าใจว่าการรวมตัวมีเพียงรูปแบบสหภาพแรงงาน การรวมตัวของนอกระบบจะเป็นแบบหลวมๆไม่มีระบบการจัดเก็บค่าบำรุงสมาชิก การรวมตัวตามสิทธิรัฐธรรมนูญ ซึ่งหากรัฐบาลรับรองอนุสัญญาILOฉบับที่ 87 และ 98 คิดว่าการรวมตัวและเจรจาต่องรองของแรงงานก็จะได้รับการรับรอง คุ้มครองด้านสิทธิ มากขึ้น และเห็นด้วยกับการที่จะขับเคลื่อนผลักดันให้สำเร็จในปีนี้

20130902_10530220130902_105222

นายบุญบัญชร บุญนาม กลุ่มแท็กซี่กล่าวว่า คนขับแท็กซี่นั้นส่วนใหญ่มองว่าทำงานอิสระไม่มีนายจ้างวันนี้ชัดเจนขึ้นมาก การที่เช่ารถเถ่าแก่มาขับกันหากไม่มีผู้โดยสารก็ไม่มีรายได้ แต่มีรายจ่ายทั้งค่าเช่ารถ 600-700 บาท ค่าก๊าซ ค่ากินอยู่ ฯลฯ ที่จำเป็นต้องจ่ายทุกวัน คนขับแท็กซี่ไม่มีหลักประกันทางรายได้ หรือสวัสดิการเลย หากเดินไปบอกเถ่าแก่ว่าวันนี้ผมขับรถโดยไม่ผู้โดยสารเลยเถ่าแก่ก็คงบอกว่าไม่เกี่ยวกับเถ่าแก่อย่างไรต้องจ่ายค่าเช่า หากมีการรวมกลุ่มต่อรองได้ก็คงเห็นประโยชน์ การประกาศขึ้นราคาก๊าซ ของรัฐบาลก็กังวนกันอยู่เพราะนั้นคือผลกระทบของรายได้ด้วย เราเคยรวมกลุ่มกันแค่ชั่วครั้งชั่วคราวเฉพาะกิจที่ต้องเรียกร้องไม่มีการรวมกันแบบมีรูปแบบ ตอนนี้ก็รวมเป็นสหกรณ์เชิงผลประโยชน์กันมีการทำกิจกรรมบ้าง แต่หากเรารวมตัวกันแบบสหภาพอย่างที่แรงงานทำกันก็คิดว่าจะเข้มแข็ง และมีพลัง

นางศศิธร กะลีวัง กลุ่มหาบเร่แผงลอย เล่าว่า ความรู้วันนี้คือสิทธิการรวมกลุ่มตามอนุสัญญาILO ฉบับที่ 87 และ 98 การเจรจาต่อรองร่วม ซึ่งแม่ค้าเองคิดว่าก็ต้องรวมตัวกัน เพราะบางครั้งจะเจอกับอำนาจรัฐท้องถิ่นที่เข้ามาแบบผิดๆกับพวกแม่ค้า ซึ่งหากใครไม่ทำตามที่เขาบอกก็จะไม่สามารถค้าขายได้อำนาจมืดก็เยอะ เราก็เคยรวมตัวกันไปต่อรองกับเขตบ้าง แต่ต่อไปจะต้องคุยกันในกลุ่มเพื่อนที่ค้าขายร่วมกันว่าต้องรวมตัวแบบมีรูปแบบได้ เพื่อให้เกิดความเข้มแข็ง และคงต้องร่วมกันเรียกร้องให้รัฐรับรองอนุสัญญาเพราะมีประโยชน์ในการให้สิทธิการรวมตัวและต่อรองร่วม

P9020329P9020332

นักสื่อสารแรงงาน รายงาน