ค้าน!เมนู3 ประกันสังคม ม.40 ไม่ตอบโจทย์บำนาญนอกระบบ

Untitled-1

จากการที่คณะรัฐมนตรี(ครม.)มีมติเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2556 อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกา(พ.ร.ฎ.)กำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายเงินสมทบประเภทของประโยชน์ทดแทน ตลอดจนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขแห่งสิทธิในการรับประโยชน์ทดแทนของบุคคลซึ่งสมัครเป็นผู้ประกันตน ทำให้จะมีการขยายสิทธิประโยชน์ประกันสังคมมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 เพิ่มเป็นทางเลือกที่ 3 ในการให้สิทธิเงินบำนาญชราภาพแก่ผู้ประกันตนซึ่งเป็นแรงงานนอกระบบ นอกเหนือไปจากทางเลือกที่ 1 ที่ผู้ประกันตนจ่ายเดือนละ 70 บาท รัฐบาลสมทบให้ 30 บาทได้สิทธิประโยชน์ 3 กรณี คือ เงินทดแทนการขาดรายได้กรณีเจ็บป่วย ทุพพลภาพ และกรณีเสียชีวิต ส่วนทางเลือกที่ 2 ผู้ประกันตนจ่ายเดือนละ 100 บาท รัฐบาลสมทบ 50 บาท ได้สิทธิประโยชน์เช่นเดียวกับทางเลือกที่ 1 และได้เพิ่มกรณีบำเหน็จชราภาพ โดยทางเลือกที่ 3 ที่เกิดขึ้นใหม่นี้ ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบเดือนละ 100 บาท รัฐบาลสมทบให้ 100 บาท ได้สิทธิประโยชน์เฉพาะกรณีชราภาพเท่านั้น และจะดำเนินการรับสมัครผู้ประกันตนภายใน 45 วันนับแต่ พ.ร.ฎ.มีผลบังคับใช้ โดยสำนักงานประกันสังคม(สปส.)เป็นหน่วยงานหลักในการรับขึ้นทะเบียน ร่วมด้วยธนาคารในกำกับของกระทรวงการคลัง และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)

ทั้งนี้ ผู้ที่สามารถสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 คือผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระเป็นแรงงานนอกระบบ มีอายุตั้งแต่ 15-60 ปีบริบูรณ์ และมีบทเฉพาะกาลให้ผู้ที่มีอายุเกิน 60 ปีสมัครเป็นผู้ประกันตนได้ โดยจ่ายเงินสมทบย้อนหลังได้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2555 ผู้ประกันตนสามารถเลือกเฉพาะชุดที่ 1 , 2 หรือ 3 หรือเลือกชุดที่ 1 และ 3 หรือ ชุดที่ 2 และ 3 ก็ได้ ส่วนการจ่ายเงินสมทบจะใช้ช่องทางของ สปส.เป็นหลัก ร่วมกับเครือข่ายอื่นได้แก่ ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ห้างเทสโก้โลตัส และกระทรวงแรงงานยังได้ขอความร่วมมือให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมด้วย

กิตติรัตน์4ปฎิรูปปกส

จากกรณีที่รัฐบาลได้รวมเอาเรื่องบำนาญชราภาพของแรงงานนอกระบบเข้าไปไว้ในระบบประกันสังคม ม.40 แทนที่จะบังคับใช้ พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ 2554 หรือ กอช.อย่างจริงจังนั้น ทำให้หลายฝ่ายต่างแสดงความเห็นในงานเสวนาเรื่อง “สภาพปัญหาและอุปสรรคในการบังคับใช้ พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ 2554” จัดโดย สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา เมื่อวันที่ 10 ก.ค.2556 วิพากษ์วิจารณ์นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ไม่ยอมลงนามในกฎกระทรวงและระเบียบต่างๆเพื่อการดำเนินการ กอช. ทั้งที่กฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้มาแล้ว2 ปี ทำให้ขณะนี้ ยังไม่สามารถรับสมัครสมาชิก กอช.ได้ ทำให้ประชาชนเสียประโยชน์

โดยนายแพทย์บรรลุ ศิริพานิช ประธานมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย กล่าวว่า การผลักดันให้เกิด กอช.ขึ้นก็เพื่อช่วยเหลือผู้สูงอายุในอนาคตที่จะมีลูกหลานดูแลน้อยลง เงินผู้สูงอายุจากรัฐบาลเดือนละ 6-700 ก็เหมือนให้ทานไม่มีศักดิ์ศรี แล้วก็ไม่เพียงพอด้วย ปัจจุบัน สำนักเศรษฐกิจการคลังเตรียมกฎหมายลูกของ กอช. ไว้พร้อมแล้ว แต่ รมว.คลัง กลับยังไม่ยอมลงนาม และโยกให้ไปอยู่ในกฎหมายประกันสังคมแทน ทั้งที่ประกันสังคมไม่เป็นอิสระ แต่ กอช.เป็นองค์กรอิสระ

ฝ่ายนักวิชาการด้านประชากรศาสตร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิยาลัย รศ.ดร.วรเวศม์ สุวรรณระดา กล่าวถึงกฎหมาย กอช.ว่า ตอบโจทย์ภาวะสังคมผู้สูงอายุของประเทศไทยในอนาคตได้แน่นอน เพราะออกแบบมาให้ครอบคลุมคนที่ไม่อยู่ในระบบบำนาญ มีความยืดหยุ่นเหมาะกับสภาพของแรงงานนอกระบบที่รายได้ไม่แน่นอน พร้อมจ่ายเงินออมเมื่อใดค่อยจ่ายไม่ถูกให้ออกจากสมาชิก และการให้แต่บำนาญแม้จะได้น้อยแต่ก็มั่นคงมีหลักประกันว่าจะมีเงินใช้จนกว่าจะสิ้นอายุ ดีกว่าบำเหน็จที่ได้เป็นเงินก้อนแต่ไม่ยั่งยืน และยังมีจุดเด่นเรื่องธรรมภิบาลในการบริหารจัดการ มีโครงสร้างที่ชัดเจนโปร่งใส เจ้าของเงินมีส่วนร่วม ส่วนการออมผ่านทางเลือกที่ 3 ของประกันสังคมมาตรา 40 นั้น เห็นว่าเป็นการทำให้ซ้ำซ้อน ทั้งยังเป็นการบริหารงานที่ผิดฝาผิดตัว เพราะเงินออมส่วนนี้เป็นของแรงงานนอกระบบ แต่ประกันสังคมเป็นการบริหารแบบไตรภาคีโดยตัวแทนรัฐ ลูกจ้างและนายจ้าง ซึ่งเป็นระบบของแรงงานในสถานประกอบการ

และยังกล่าวถึงการที่ผู้มีอำนาจรับผิดชอบไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย กอช.ว่า ไม่เพียงแต่ทำให้คนที่อายุใกล้ 60 ปีเท่านั้นที่จะเสียสิทธิ แต่คนที่อายุ 15 ปีก็เสียโอกาสในการเริ่มการออมด้วย เงินบำนาญในอนาคตก็จะหายไป

ด้าน น.ส.อรุณี ศรีโต ประธานเครือข่ายบำนาญภาคประชาชน กล่าวถึง กอช. กับกองทุนประกันสังคมว่าวัตถุประสงค์ต่างกัน และว่าการเกิดความล่าช้าในการบังคับใช้ กอช.ทำให้ประชาชนสมัครสมาชิก กอช.ไม่ได้ ทั้งที่มีการเข้าพบเพื่อเร่งรัดนายกิตติรัตน์มาตลอดแต่ก็ไม่มีอะไรคืบหน้า จึงคิดว่าอาจจะต้องฟ้องนายกิตติรัตน์ และเห็นว่ารัฐบาลพรรคเพื่อไทยก็ต้องรับผิดชอบด้วย ซึ่งต่อไปก็อาจต้องรณรงค์ไม่ให้เลือกพรรคเพื่อไทยเพราะไม่เห็นความสำคัญของการออมของแรงงานนอกระบบ

( เรียบเรียงจากข่าว – ไทยรัฐ, ประชาชาติธุรกิจออนไลน์, www.hfocus.org, www.facebook.com/pages/Homenet-Thailand จากโพสต์ของ สุรพงษ์ กองจันทึก )