คสรท.รื้อข้อบังคับปรับตัวสู่ขบวนการทางสังคม

20130606_133406 DSCN8677

จากการที่คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ได้ประกาศ “ยุทธศาสตร์สู่ทศวรรษใหม่ของ คสรท.” ไปเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา พบว่าการทำงานที่ผ่านมามาระยะหนึ่งยังมีอุปสรรคในเรื่องของคนทำงาน ระบบการทำงาน รวมทั้งการระดมปัจจัยด้านเงินทุนที่จะใช้ในการดำเนินงานยังไม่มีประสิทธิภาพ คณะกรรมการอำนวยการ คสรท.จึงได้จัดประชุมเพื่อพิจารณาปรับเปลี่ยนข้อบังคับของ คสรท.เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2556 ที่ห้องประชุมศุภชัย ศรีสติ พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย มักกะสัน กรุงเทพ ทั้งนี้เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ปัจจุบันที่กำลังเดินงานตามแผนยุทธศาสตร์สู่ทศวรรษใหม่ โดยหวังว่าจะทำให้เกิดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ คสรท.เพื่อนำพาขบวนการแรงงานมุ่งสู่ความสำเร็จตามเป้าหมายในแผนการขับเคลื่อนงาน 4 ยุทธศาสตร์ ซึ่งประกอบด้วย

1.ขบวนการแรงงานไทยก้าวสู่การเป็นพลังนำในการสร้างสังคมที่เสมอภาคและเป็นธรรม โดยมีเป้าหมายเสนอและผลักดันทางเลือกการพัฒนาประเทศที่เป็นธรรมกับคนทุกกลุ่ม ด้วยการสร้างอำนาจต่อรองทางการเมืองและเชื่อมโยงกับขบวนการแรงงานสากล

2.ปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมเพื่อเอื้อต่อการสร้างขบวนการแรงงานให้เข้มแข็ง มุ่งไปที่การเปลี่ยนกรอบ กฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ กติกา ที่เป็นข้อจำกัดบั่นทอนอำนาจต่อรองของแรงงาน หวังให้เกิดการยอมรับและส่งเสริมสิทธิในการรวมตัวและเจรจาต่อรองของผู้ใช้แรงงาน

3.เสริมสร้างความเข้มแข็งของขบวนการแรงงานในเชิงปริมาณ มีเป้าหมายในการเร่งขยายการจัดตั้งคนงานทั้งในและนอกระบบ เร่งสร้างนักแรงงานรุ่นใหม่ที่มีจิตสำนึกและความมุ่งมั่นเข้าทำงานให้กับขบวนการแรงงาน สร้างแนวร่วมและพันธมิตรเพื่อก้าวสู่การเป็น “สหภาพแรงงานที่เป็นขบวนการทางสังคม”

4.เสริมสร้างความเข้มแข็งของขบวนการแรงงานในเชิงคุณภาพ เป้าหมายเพื่อการสร้างเอกภาพแนวนอนโดยการควบรวมองค์กรระดับต่าง ๆ เข้าด้วยกัน และสร้างเอกภาพแนวตั้งโดยการเชื่อมร้อยองค์กรแรงงานทุกระดับเข้าด้วยกันอย่างเป็นระบบ รวมทั้งมีการปฏิรูปโครงสร้างองค์กรและระบบการบริหารจัดการขององค์กรทุกระดับชั้นให้มีประสิทธิภาพในการทำงาน พร้อมกับสร้างขบวนการแรงงานที่เป็นอิสระ พึ่งพิงตนเองได้

Untitled-1DSCN8675

โดยสาระสำคัญที่มีการเปลี่ยนแปลงจากข้อบังคับเดิมที่ใช้มากว่า 5 ปีก็มีเช่น

การเปลี่ยนชื่อจากเดิมที่มีคำว่า “คณะกรรมการ..” ให้สื่อถึงความเป็นองค์กรนำระดับชาติได้ โดยอาจใช้คำว่า สมาพันธ์ หรือ สภา นำหน้าคำว่า “สมานฉันท์แรงงานไทย” ที่รู้จักกันทั่วไปอยู่แล้ว

มีการปรับวัตถุประสงค์ให้สอดคล้องกับทั้ง 4 แผนยุทธศาสตร์

ส่วนเรื่องสมาชิกก็จะทำให้เกิดความเท่าเทียมกันในสถานะทั้งสมาชิกที่เป็นองค์กรแรงงานในระบบ นอกระบบ ข้ามชาติ องค์กรพัฒาเอกชน และองค์กรภาคประชาชน โดยจะต้องให้เกิดความชัดเจนในเรื่องการพ้นสภาพการเป็นสมาชิกหากขาดการส่งค่าบำรุงสมาชิกติดต่อกันนาน 6 เดือน

สำหรับการจัดส่งค่าบำรุงสมาชิกให้ คสรท.ซึ่งข้อบังคับเดิมกำหนดให้สมาชิกที่เป็นองค์กรแรงงานในระบบต้องส่งให้จำนวน 25% ของรายได้องค์กรสมาชิก แต่ยังไม่สามารถปฏิบัติได้นั้น ได้แก้ไขใหม่ในบทกาลให้จ่ายอย่างน้อย 10% หรือตามอัตราขั้นต่ำ 400 บาท ให้ คสรท.เป็นเวลา 3 ปี หลังจากนั้นให้ใช้เกณฑ์ตามข้อบังคับในการจ่ายค่าบำรุงสมาชิก อันจะทำให้ คสรท.สามารถพึ่งพิงตัวเองได้จริงจากเงินค่าบำรุงสมาชิก

ในส่วนของคณะกรรมการ ได้ปรับแก้ให้มีคณะกรรมการบริหารอย่างต่ำ 30 คน โดยให้มีการจัดสรรบุคคลไปรับผิดชอบงานฝ่ายต่างๆ ที่มีการเพิ่มฝ่ายกฎหมาย ฝ่ายการศึกษา และฝ่ายเหรัญญิกซึ่งต้องเลือกตั้งจากที่ประชุมใหญ่

ส่วนคณะกรรมการอำนวยการ ปรับแก้ให้มีจำนวนไม่เกิน 15 คน และเพิ่มอำนาจหน้าที่ให้ชัดเจนในเรื่องการออกกฎระเบียบต่างๆของกรรมการและเจ้าหน้าที่

นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้พิจารณาปรับแก้ข้อบังคับเรื่องอื่นๆ เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริหารในการพิจารณารับรองเพื่อการบังคับใช้เป็นกติการร่วมในการทำงานของ คสรท.ต่อไป

นักสื่อสารแรงงาน รายงาน