คสรท.จับมือกลุ่มสร.อ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ กำหนดยุทธศาสตร์สู่ทศวรรษใหม่

คสรท.จับมือกลุ่มสร.อ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ กำหนดยุทธศาสตร์สู่ทศวรรษใหม่

เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2555  กลุ่มสหภาพแรงงานอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ ร่วมกับคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย จัดประชุมร่วมเพื่อกำหนดยุทธศาสตร์สู่ทศวรรษใหม่ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ณ ห้องประชุมกลุ่มสหภาพแรงงานอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ โดยมีกรรมการกลุ่มเข้าร่วมประมาณ 40 คน จากผู้แทนสหภาพฯ 9 แห่ง ส่วนผู้แทนคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ประกอบด้วย นายยงยุทธ เม่นตะเภา  นายทวีป กาญจนวงศ์ นางสาววิไลวรรณ  แซ่เตีย นางสาวสงวน ขุนทรง นายพุทธิ เนติประวัติ และนายนิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์
  
นางสาววิไลวรรณ  แซ่เตีย รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท) กล่าวว่าการจัดกิจกรรมครั้งนี้เป็นการลงพื้นที่พบปะกลุ่มสมาชิกของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย เพื่อแลกเปลี่ยนและรับฟังความคิดเห็นการทำงาน สภาพปัญหาของแต่ละสหภาพ ซึ่งที่ผ่านมากลุ่มย่านได้ร่วมขับเคลื่อนกับคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยมาตลอด และจากการประชุมกำหนดยุทธศาสตร์ของ คสรท.เมื่อวันที่ 8-9 สิงหาคม 2555 ที่ผ่านมาพบปัญหาการทำงานร่วมของ คสรท.กับสมาชิก คนงานยังไม่เข้าใจว่า คสรท.เป็นใครมีบทบาทอะไร จึงเป็นที่มาในการจัดประชุมในวันนี้ 
 
หลังจากนั้นเป็นการฉายวิดิทัศน์ สู่ทศวรรษใหม่คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย เพื่อให้ผู้เข้าร่วมเห็นความสำคัญการต่อสู้ของขบวนการแรงงานในต่างประเทศ รวมถึงการต่อสู้ของขบวนการแรงงานไทยและบทบาทการทำงานของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย
 
ช่วงแรกเป็นการระดมความคิดเห็น โดยให้แต่ละสหภาพแลกเปลี่ยนด้วยประเด็นภาพรวมการทำงาน สภาพปัญหาและความต้องการภายในองค์กรของผู้เข้าร่วมกิจกรรม เป็นการเชื่อมโยงรูปธรรมปัญหา การแก้ไขปัญหาในระดับพื้นที่ ซึ่งแต่ละสหภาพฯได้สะท้อนออกมาอย่างหลากหลายปัญหา มีหลายสหภาพที่มีปัญหาคล้ายกัน เช่น เรื่อง นายจ้างหักเงินสมทบแล้วแต่ไม่นำส่งสำนักงานประกันสังคม ปัญหากรรมการสหภาพ ไม่ทำงาน ไม่ออกข้างนอกศึกษาหาความรู้และไม่รู้บทบาทหน้าที่ตัวเอง  สมาชิกไม่เห็นความสำคัญของสหภาพ 
  
 
นายยงยุทธ  เม่นตะเภา  กรรมการอำนวยการคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่านับแต่ขบวนการแรงงานถูกทำให้แยกออกจากพนักงานรัฐวิสาหกิจ เป็นเหตุให้ขบวนการแรงงานอ่อนแอไม่มีอำนาจการต่อรองกับรัฐบาล ส่วนองค์กรแรงงานที่จะนำเป็นหัวขบวนในการเรียกร้องก็ไม่มี ไม่ว่าจะเป็นสภาแรงงาน สหพันธ์รแรงงาน จึงมีการรวมตัวขององค์กรแรงงานระดับสหภาพ สหพันธ์ กลุ่มย่านต่างๆ องค์กรพัฒนาเอกชนด้านแรงงาน และสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ก่อตั้งองค์กรซึ่งไม่ได้ขึ้นทะเบียนตามกฎหมาย เมื่อปี 2544 คือคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ปัจจุบัน มีสมาชิก 2 แสนกว่าคน แต่ส่วนใหญ่ยังไม่รู้บทบาทหน้าที่ของสมานฉันท์ฯอย่างแท้จริง ปัจจุบันมีปัญหาเรื่องงบประมาณในการบริหารจัดการ ไม่มีเจ้าหน้าที่หรือคณะกรรมการบริหารเต็มเวลา ที่จะมาทำข้อมูลต่างๆในการขับเคลื่อนปัญหาของแรงงาน ซึ่งที่ผ่านมาคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ทำงานเชิงนโยบาย ได้ขับเคลื่อนผลักดันหลายประเด็นที่โดดเด่น คือเรื่องค่าจ้าง 300 บาท การผลักดันกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์  การรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98  เป็นต้น ซึ่งคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยสามารถผลักดันให้เกิดความก้าวหน้าได้  ทั้งหมดก็เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงานให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เป้าหมายของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย คือจะทำอย่างไรว่าให้ระบบสหภาพแรงงานพึ่งตนเองได้ ทำอย่างไรจะให้มีการจัดเก็บค่าบำรุงแบบก้าวหน้าเก็บเป็นเปอร์เซ็น สหภาพแรงงานอาจจัดตั้งสหกรณ์แรงงาน มีการทำงานกับชุมชนมากขึ้น หาภาคีร่วม ทำให้องค์กรมีน้อยที่สุดโดยการรวมกัน นำไปสู่การตั้งพรรคการเมืองเพื่อเป็นตัวแทนที่แท้จริงของผู้ใช้แรงงาน
  
 
ต่อจากนั้น เป็นการแสดงความเห็นของผู้เข้าร่วมแต่ละสหภาพ โดยสรุปคือทุกสหภาพเห็นด้วยกับแผนงานของ คสรท.ที่วางไว้โดยเฉพาะเรื่องการจ่ายเงินค่าบำรุงให้กับคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ซึ่งจะทำให้เกิดประโยชนต่อผู้ใช้แรงงานโดยรวม  การเก็บเงินค่าบำรุงเป็นเรื่องจำเป็นมากสำหรับการบริหารจัดการขององค์กรซึ่งถือเป็นองค์กรระดับประเทศ  แต่ทุกสหภาพจะต้องทำความเข้าใจกับสมาชิกในการที่จะเก็บเงินค่าบำรุงเพิ่ม แต่ต้องคำนึงถึงเรื่องการจ่ายเงินค่าบำรุงซ้อน เพราะมีบางสหภาพที่เป็นสมาชิกของหลายองค์กร และเนื่องจากสมาชิกระดับล่างส่วนใหญ่ยังไม่รู้จักคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงาน จึงจำเป็นที่จะต้องเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการที่จะสร้างความรู้ความเข้าใจถึงความจำเป็นที่จะต้องมีองค์กรนำของขบวนการแรงงานอย่างแท้จริง เพื่อเป็นปากเป็นเสียงแทนพี่น้องแรงงาน  
 
ส่วนการประชาสัมพันธ์ได้เสนอให้ออกแบบโดยการสร้างแบรนด์ของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ให้ติดตลาดแรงงานให้ได้ เช่น จัดทำแผ่นพับที่มีรูปแบบที่น่าสนใจ ทำสติ๊กเกอร์สัญลักษณ์ของ คสรท.ทำธง จัดทำโครงสร้างของ คสรท.แจกจ่ายให้กับสมาชิกได้รับรู้ว่ามีองค์กรไหนร่วมเป็นสมาชิกบ้าง รวมถึงเสนอให้ คสรท.ลงพื้นที่เวลามีประชุมใหญ่หรือกิจกรรมสำคัญของแต่ละสหภาพฯเพื่อแนะนำทำความรู้จักให้เห็นถึงบทบาทหน้าที่ของ คสรท.โดยให้รวบรวมวันประชุมใหญ่ของแต่ละสหภาพส่งไปที่ส่วนกลางเพื่อวางแผนลงพื้นที่ต่อไป
 
นายยงยุทธ กล่าวต่อว่า ถือเป็นเรื่องที่ต้องวางแผนให้ดี ซึ่งเป็นแผนระยะยาวค่อยเป็นค่อยปรับไปอาจจะใช้เวลาพอสมควร แต่ก็ถือว่าเราได้เริ่มก้าวแล้ว เรื่องที่ในที่ประชุมสะท้อนมาเป็นเรื่องสำคัญมีหลายประเด็นที่ คสรท.จะต้องปรับเปลี่ยนบทบาท ทำอย่างไรจะลงไปพบพี่น้องทุกสหภาพได้ถือเป็นงานหนักทีเดียว 
  
 
นายชาลี ลอยสูง  ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่า ต่อไปนี้สิ่งที่จะมีการพูดคุยกันจะต้องเอาของจริงมาพูด เพราะเวลาไปคุยกับรัฐบาลก็จะได้พูดกันเต็มปากเต็มเสียงว่าคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยมีตัวตนจริงๆ ถึงแม้จะไม่ได้จดทะเบียนก็ตาม จากการวางแผนไว้คือสิ่งที่คิดว่าจะทำสำหรับประกอบการลงพื้นที่นั้นมีหลายอย่างแต่ยังไม่เสร็จ แต่ก็ต้องทำไปก่อนถือว่ากลุ่มอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ เป็นกลุ่มแรกและถือว่าเป็นประวัติศาสตร์ที่เราได้เริ่มต้นในวันนี้ ว่าเราจะสร้างความเข้มแข็งให้กับขบวนการแรงงานได้อย่างไร  คสรท.เปรียบเสมือนเป็นเครื่องมือของพวกท่าน ถ้าเราสามารถทำให้เครื่องมือทันสมัยก็จะสามารถต่อสู้กับอุปสรรคได้ แต่ถ้าเครื่องมือไม่ทันสมัยก็แพ้      คสรท.ยินดีเดินร่วมไปกับทุกท่านขอให้พวกเรามาร่วมมือกันสร้างความเป็นเอกภาพให้กับขบวนการแรงงานไทยร่วมกัน
 
หลังจากจบการประชุมนายชาลี ได้มอบธงคณะกรรมการสมานฉันท์ให้กับกลุ่มสหภาพแรงงานอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ เป็นที่ระลึก และได้มีการนัดหมายเพื่อติดตามความคืบหน้าการหารือในครั้งนี้ โดยกำหนดลงพื้นที่ของคณะกรรมการสมานฉันท์อีกครั้งคือช่วงเดือนตุลาคม 2555 ต่อไป
สมหมาย เนียมงาม  นักสื่อสารแรงงานอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ รายงาน