บ.มาสเตอร์พีซ เลิกจ้างคนงานอ้างย้ายฐานการผลิต

เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2556  พนักงานของบริษัทมาสเตอร์พีซ  การ์เม้นท์  แอนด์  เท็กซ์ไทล์  จำกัด  ผลิตชุดกีฬาเด็กยี่ห้อดัง   อยู่ในชอยวัดคลองอ้อมใหญ่  อ.สามพราน  จ.นครปฐม  มีพนักงานประมาณ  98  คน นัดชุมนุมหน้าโรงงานเนื่องจากถูกนายจ้างปิดประตูอาคารโรงงานไม่ยอมให้ลูกจ้างเข้าไปทำงาน ซึ่งนายจ้างไม่มีการชี้แจงเหตุผลใดๆ และยังไม่มีการปิดประกาศเลิกจ้างลูกจ้าง   

นางสาววิไลวรรณ  แช่เตีย  รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย  และเป็นฝ่ายรับเรื่องร้องทุกข์ในกลุ่มสหภาพแรงงานอ้อมน้อย – อ้อมใหญ่  เขตพื้นที่จังหวัดนครปฐม  ได้เดินทางไปยังที่ชุมนุมในเวลา  17.00  น. ได้ให้กำลังใจคนงานพร้อมชี้แจงข้อกฎหมายและสิทธิที่ลูกจ้างต้องได้รับตามกฎหมายเมื่อถูกเลิกจ้าง  รวมถึงช่องทางการต่อสู้หากลูกจ้างโดนลอยแพ 
  
จากการสอบถามคนงานทราบว่า  ลูกจ้างมีอายุการทำงานสูงสุด  4  ปี  3 เดือน  เมื่อวันที่  3  มกราคม  2556  คนงานมาทำงานในวันแรกของปีใหม่ตามปกติ   แต่ไม่สามารถเข้าบริษัทได้เพราะนายจ้างปิดประตูโดยไม่มีการแจ้งเหตุผลให้คนทราบ  ปัญหาที่ผ่านมาคือบริษัทได้มีการเลื่อนการจ่ายค่าจ้างมาตั้งแต่เดือนเมษายน  2555  เงินค่าจ้างออกไม่ตรงกำหนด  มีการหักเงินสมทบประกันสังคมของลูกจ้างโดยตลอด  แต่บริษัทไม่ได้นำส่งเข้ากองทุนประกันสังคมมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม  2555  เมื่อลูกจ้างเจ็บป่วยต้องเสียเงินค่ารักษาเอง  และเมื่อวันที่  28  ธันวาคม  2555  เวลา  15.00  น. บริษัทถูกตัดน้ำตัดไฟ เนื่องจากไม่ได้ชำระค่าไฟฟ้า ทำให้บริษัทไม่สามารถดำเนินงานต่อได้ และทำให้คนงานที่อยู่หอพักได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก
 
นางสาววิไลวรรณ กล่าวต่อว่าล่าสุด เมื่อวันที่ 4  มกราคม 2556  หัวหน้าพนักงานได้ติดประกาศและแจ้งให้ลูกจ้างทราบว่าทางบริษัทไม่ได้เลิกจ้างแต่จะย้ายลูกจ้างไปอยู่ที่สำนักงานใหญ่ ที่แสมดำ ซึ่งมีลูกจ้าง 700-800 คน ถ้าคนงานไม่ประสงค์จะไปให้แจ้งชื่อกับทางบริษัท ซึ่งจะนัดหมายพูดคุยในวันที่ 8 มกราคมนี้

ต่อมาในวันที่ 5 มกราคม 2556 ผู้แทนลูกจ้างได้เขาร่วมประชุมกับผู้แทนบริษัทได้รับแจ้งข้อเสนอจากบริษัทว่าทางบริษัทเสนอจ่ายค่าชดเชย 50%  แต่ลูกจ้างไม่ยอมและจะหารือกับเพื่อนพนักงานใหม่อีกครั้ง เพื่อหาข้อสรุปแก้ปัญหาต่อไป และในวันที่   8  มกราคม  2556   ทางบริษัทนัดหมายกับลูกจ้างเพื่อหาข้อสรุปอีกครั่ง  นางสาววิไลวรรณ  ได้กล่าวว่าอยากเห็นหน่วยงานรัฐเอาจิรงในการบังคับใช้กฎหมายให้ลูกจ้างเข้าถึงสิทธิจริงเช่นค่าชดเชยค่าไม่บอกข่าวล่วงหน้าหรือแรงงานหญิงท้องใกล้คลอดต้องจ่ายค่าคลอดให้ด้วย  45 วัน  ตามกฎหมาย

รายงานโดย  นักสื่อสารศูนย์สื่อสารแรงงานอ้อมน้อย – อ้อมใหญ่