คนทำงาน แถลงล่าลายมือชื่อ ได้แล้ว 1.3 หมื่นคน พร้อมเสนอร่าง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์เข้าสภาผู้แทนราษฎร

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) จัดแถลงข่าวผลการล่าลายมือชื่อ 13,000 คนแล้ว ชวนประชาชนร่วมกันลงลายมือชื่อให้มากที่สุด รับพร้อมเสนอร่างพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ ฉบับบูรณาการแรงงาน ต่อสภาผู้แทนราษฏรในเดือนสิงหาคมนี้ หวังสร้างแรงงานสัมพันธ์ บนฐานความเท่าเทียม ส่งเสริมสิทธิในการรวมตัว เจรจาต่ออรง เพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างสมศักดิ์ศรีคนทำงาน  

เมื่อ 29 มิถุนายน 2555 ณ โรงแรมเจ้าพระยา ปาร์ค   คณะทำงานขับเคลื่อนพ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ โดย คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย   และองค์กรสมาชิกรวม 30 องค์กร ได้แถลงข่าวการลงชื่อเสนอกฎหมายพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ….(ฉบับขบวนการแรงงาน) 
นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย แถลงว่า เวลากล่าวคำว่า “คุณภาพชีวิตแรงงาน”  ผู้ใช้แรงงานทั้งผองไม่ได้หมายถึงเพียงเรื่องของ “การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ” หรือการเข้าถึง “สวัสดิการแรงงาน” เท่านั้น แต่หมายรวมถึง การลดทอนความเหลื่อมล้ำทางรายได้ การสร้างสิทธิ โอกาส อำนาจ และศักดิ์ศรี เป็นสำคัญ ที่ผ่านมาความยากจนของพี่น้องแรงงานถูกสร้างและกำหนดจากนโยบายรัฐที่เลือกปฏิบัติและโครงสร้างสังคมที่อยุติธรรม เอารัดเอาเปรียบ และให้อำนาจรัฐและทุนเสมอมา วันนี้แรงงานจำนวนมากต้องเผชิญกับรายได้ต่ำ ไร้สิทธิ ไร้โอกาส ไร้อำนาจ และไร้ศักดิศรีความเป็นมนุษย์มากขึ้นทุกวัน ดังนั้นกระบวนการลดทอนความเหลื่อมล้ำและหยุดยั้งความอยุติธรรมที่ถั่งโถมสู่ผู้ใช้แรงงานทั้งในระบบ นอกระบบ เกษตรพันธสัญญา ข้ามชาติ แรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ จึงมิใช่เพียงการขึ้นอัตราค่าจ้างหรือเข้าถึงสวัสดิการเท่านั้น 
 
มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐต้องปรับเปลี่ยนหรือยุตินโยบายที่เอื้อประโยชน์แก่นายจ้าง ต้องมีการปฏิรูปโครงสร้างและระบบแรงงานด้วยการสร้างความคุ้มครองทางสังคมและความมั่นคงของแรงงาน ทั้งในด้านของการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการรวมกลุ่ม การเจรจาต่อรอง การยึดหลักการทำงานที่มีคุณค่า (decent work) มาเป็นหลักการสำคัญในการกำหนดนโยบาย กฎหมาย แผนงาน และมาตรการต่างๆของรัฐ เหล่านี้จึงจะสามารถสร้างความเป็นธรรมขึ้นในสังคมไทยได้จริง 
 
อย่างไรก็ตามกระบวนการที่ฝากความหวังไว้กับการเปลี่ยนแปลงโดยรัฐเพียงฝ่ายเดียวก็ดูจะเป็นเพียงเรื่องการร้องขอ มากกว่าการกำหนดอนาคตชีวิตผู้ใช้แรงงานด้วยตนเอง ดังนั้นคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย จึงได้ร่วมกับสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ และคณะทำงานผลักดันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87,98 รวมถึงเครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน ร่วมกันยกร่างพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. ….(ฉบับบูรณาการแรงงาน) ขึ้นมา 
ด้วยความมุ่งหวังว่าการมีกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ฉบับใหม่ จะเป็นการเปิดประตูสิทธิการรวมตัวโดยสมัครใจอย่างกว้างขวางของแรงงานทุกกลุ่ม โดยไม่ถูกเลือกปฏิบัติเพราะเหตุความแตกต่าง เป็นปัจจัยพื้นฐานสู่การพัฒนาเสริมสร้างการทำงานที่มีคุณค่าอย่างยั่งยืน โดยแรงงานมีโอกาสได้รับการปกป้องคุ้มครองเสรีภาพในการสมาคมและการเจรจาต่อรองอย่างชัดเจน  ทั้งเป็นปัจจัยเสริมหนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจในกระแสที่ประชาคมโลกยอมรับมาตรฐานสิทธิมนุษยชนและสิทธิด้านแรงงาน ที่เชื่อมโยงสัมพันธ์กับการแข่งขันทางธุรกิจที่ต้องมีความรับผิดชอบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์  คุณภาพสังคมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น 
 
สถานการณ์ปัจจุบันขณะนี้อยู่ในระหว่างการเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายต่อรัฐสภา ซึ่ง ณ วันที่ 28 มิถุนายน 2555 คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยได้รวบรวมรายชื่อได้ทั้งสิ้น 13,000 รายชื่อเรียบร้อยแล้ว  
นายสาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ แถลงว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้มีประเด็นสำคัญ 20 เรื่อง กล่าวคือ
 
1. เป็นกฎหมายแรงงานที่ผู้ใช้แรงงานเป็นผู้ยกร่างและร่วมกันเข้าชื่อเพื่อนำเสนอสู่การพิจารณาของรัฐสภา จึงเป็นกฎหมายที่จะตอบสนองผลประโยชน์และสอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้แรงงาน
 
2. มีเนื้อหาที่สอดคล้องกับหลักการอนุสัญญาองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 และ 98 เพื่อสร้างหลักประกันในสิทธิเสรีภาพในการรวมตัวและเจรจาต่อรอง
 
3. สอดคล้องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 64 ว่าด้วย “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการรวมกันเป็นสมาคม สหภาพ สหพันธ์ สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร องค์การเอกชน องค์การพัฒนาเอกชน หรือหมู่คณะอื่น…”
 
4. คนทำงานไม่ว่าอาชีพใดหรือประกอบกิจการใด มีสิทธิและเสรีภาพอย่างเต็มที่ในการรวมตัวเพื่อจัดตั้งหรือเข้าเป็นสมาชิกองค์กร ลักษณะหรือรูปแบบใดก็ได้ ทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ สิทธิและเสรีภาพดังกล่าวได้รับการปกป้องคุ้มครองอย่างเต็มที่จะละเมิดมิได้
 
5. จำกัดบทบาทมิให้รัฐเข้ามาแทรกแซง ควบคุม กำหนดกฎเกณฑ์อันเป็นอุปสรรคต่อการรวมตัวเพื่อจัดตั้งหรือเข้าเป็นสมาชิกองค์กรของคนทำงาน 
 
6. ผู้จ้างงานต้องส่งเสริมและอำนวยความสะดวกในการจัดตั้งองค์การคนทำงาน หรืองดเว้นการกระทำใดๆ ที่เป็นการขัดขวางให้เกิดการรวมตัวของคนทำงาน 
 
7. กฎหมายฉบับนี้ครอบคลุมแรงงานทุกภาคส่วน ทั้งแรงงานในระบบอุตสาหกรรม แรงงานรัฐวิสาหกิจ แรงงานนอกระบบ แรงงานภาคเกษตร แรงงานข้ามชาติ 
 
8. เปลี่ยนนิยามและคำจำกัดความ “นายจ้าง” และ “ลูกจ้าง” เป็น “ผู้จ้างงาน” และ“คนทำงาน”ที่ครอบคลุมการจ้างงานทุกประเภทไม่ว่าอยู่ภายใต้สัญญาจ้างใดๆ 
 
9. เปลี่ยนกรอบคิดแรงงานสัมพันธ์จากเดิมที่เป็นแบบ“นายกับบ่าว” ที่ให้อำนาจแก่ฝ่าย “นายจ้าง”ให้มีเหนือ “ลูกจ้าง”ไปสู่ “หุ้นส่วนสังคมและเศรษฐกิจ” (Social partnership) ที่มองว่า “ผู้จ้างงาน” กับ “คนทำงาน” เป็น “หุ้น
ส่วน” กัน มีความเสมอภาคเท่าเทียมกัน การตัดสินใจที่จะมีผลกระทบกับทั้งสองฝ่ายในการทำงานร่วมกันจึงต้องใช้หลักการตัดสินใจร่วมกัน บนพื้นฐานของความเสมอภาคเท่าเทียมและเป็นธรรม 
 
10. ส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมและการตัดสินใจร่วมกันอย่างแท้จริงระหว่างผู้จ้างงานและคนทำงาน โดยกำหนดให้มีคณะกรรมการการมีส่วนร่วมในสถานประกอบการ และคณะกรรมการคนทำงานในสถานประกอบกิจการ 
 

นายยงยุทธ เม่นตะเภา เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิก ยานยนต์ โลหะ แห่งประเทสไทย แถลงว่า 

1. การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและการเปิดเผยข้อมูลการประกอบการ การจ้างงาน อย่างโปร่งใส โดยผู้จ้างงานมีหน้าที่แสดงข้อมูลแก่คณะกรรมการคนทำงานเมื่อมีการร้องขอ เพื่อเป็นประโยชน์ในการทำหน้าที่ของคณะกรรมการคนทำงาน 
 
2. ส่งเสริมการจ้างงานตามหลักการ “งานที่มีคุณค่า (Decent Work)” ที่เคารพในสิทธิขั้นพื้นฐานในการทำงาน อันได้แก่ การไม่บังคับใช้แรงงาน การคุ้มครองแรงงานเด็ก เสรีภาพในการรวมตัวและการเจรจาต่อรองร่วม และการไม่เลือกปฏิบัติ การพัฒนาศักยภาพในการทำงาน การมีส่วนร่วมเกี่ยวกับการจ้างงานหรือการทำงาน และการคุ้มครองทางสังคม 
 
3. กำหนดให้รัฐต้องสนับสนุนส่งเสริมและพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ การรวมตัวและการบริหารจัดการองค์การคนทำงานให้มีความมั่นคง ยั่งยืน และอย่างเท่าเทียม 
 
4. กำหนดให้มีการจัดตั้งสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ ซึ่งมีคณะกรรมการประกอบด้วยฝ่ายรัฐ ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้จ้างงาน และคนทำงาน โดยคนทำงานเลือกกันเองเป็นผู้แทน มีอำนาจหน้าที่กำหนดงบประมาณเพื่อส่งเสริมและพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ จัดทำแผนแม่บท กำหนดนโยบายและกำกับดูแลการดำเนินงานของสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ 
 
5. การดำเนินงานที่เกี่ยวกับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขต่างๆ การปิดกิจการชั่วคราว การย้ายฐานการผลิต การนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ การยุบแผนก การควบรวม การจ้างเหมาทุกลักษณะงาน จะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการคนทำงาน 
 
6. การแจ้งข้อเรียกร้อง คนทำงานที่เป็นลูกจ้างของผู้รับเหมาค่าแรง มีสิทธิแจ้งข้อเรียกร้องต่อผู้จ้างงาน หรือเข้าร่วมกับคนทำงานซึ่งเป็นลูกจ้างโดยตรงของผู้จ้างงาน 
 
7. ในการเจรจาข้อเรียกร้อง ผู้จ้างงาน คนทำงาน สามารถเพิ่มผู้แทนและที่ปรึกษาในการเจรจาต่อรองร่วมได้เพื่อประโยชน์ในการเจรจาข้อเรียกร้อง   
 
8.   คนทำงานในทุกกิจการมีสิทธินัดหยุดงานได้ ในกรณีที่มีการนัดหยุดงานหรือปิดงาน คนทำงานมีสิทธิชุมนุมในเขตพื้นที่สถานประกอบกิจการ สาธารณูปโภคและสวัสดิการอื่นที่ผู้จ้างงานจัดให้ก่อนนัดหยุดงานหรือปิดงาน
 
9.  เมื่อมีการปิดงานหรือนัดหยุดงาน ผู้จ้างงานไม่สามารถนำแรงงานเข้ามาทำงานในกระบวนการผลิต แทนคนทำงานเดิมระหว่างการใช้สิทธินัดหยุดงานหรือปิดงานได้  เพื่อส่งเสริมให้เกิดแรงงานสัมพันธ์อันดีและนำไปสู่การแก้ไขปัญหาร่วมกัน 
 
10.  คุ้มครองสิทธิในการเจรจาต่อรอง เมื่อองค์การคนทำงานปฏิบัติการเพื่อประโยชน์ของสมาชิกหรือสาธารณะ ต้องไม่ถูกกล่าวหาหรือฟ้องร้องทางอาญาหรือแพ่ง
 
โดยสรุป การเข้าถึงคุณภาพชีวิตที่ดีของแรงงานที่ปัจจุบันจำนวนมหาศาลยังถูกขูดรีด เอารัดเอาเปรียบจากรัฐและทุน ถูกเลือกปฏิบัติจากนโยบายเศรษฐกิจด้านการลงทุนของรัฐ จึงต้องทำมากกว่าการขึ้นอัตราค่าจ้างหรือเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ การเปิดโอกาสให้แรงงานได้รวมตัว-เจรจา-ต่อรอง อย่างเสมอภาค นี้ต่างหากที่จะนำไปสู่การปรับสัมพันธภาพทางอำนาจระหว่างผู้ได้เปรียบกับเสียเปรียบทางสังคม และสุดท้ายจะนำไปสู่การสร้างความเป็นธรรม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำลงได้จริง 
นักสื่อสารแรงงาน รายงาน