Just Transition – การเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม: ลดโลกร้อน ลดผลกระทบการจ้างงาน

“Just Transition หรือ การเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม เป็นกรอบที่ได้รับการพัฒนาโดยขบวนการสหภาพแรงงานสากล เพื่อให้ครอบคลุมการแทรกแซงทางสังคมที่จำเป็น เพื่อรักษาตำแหน่งงานและวิถีชีวิตของแรงงาน เมื่อเศรษฐกิจกำลังขยับตัวไปสู่การผลิตที่ยั่งยืน ที่หลีกเลี่ยงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพและความท้าทายอื่น ๆ”

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาจเป็นวิกฤตใหญ่ที่โลกกำลังเผชิญอยู่ และนำมาซึ่งความท้าทายมากมายด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ แรงงาน และการเมือง ตามที่ทราบกันบ้างแล้วว่า ผู้นำจากหลายประเทศทั่วโลกต่างเห็นพ้องกันว่า จะต้องช่วยกันแก้ไขปัญหาวิกฤตโลกร้อนดังกล่าว โดยได้กำหนดไว้ใน“เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ ปี 2558 และ “ข้อตกลงปารีสว่า ด้วยสภาพภูมิอากาศ” ปี 2558 ที่เปรียบดั่งหมุดหมายสำคัญของความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในระดับนานาชาติ ภายใต้เป้าหมายร่วมคือ จำกัดอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มสูงขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียสจากก่อนยุคอุตสาหกรรม และจะพยายามป้องกันไม่ให้อุณหภูมิโลกเพิ่มสูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส เพื่อลดความเสี่ยงและผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งในส่วนของประเทศไทยได้ให้การสนับสนุนข้อตกลงทั้งสอง และให้ความสำคัญต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งเน้นกลยุทธ์การสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Growth) หรือเศรษฐกิจสีเขียว(Green Economy)นับตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 8 (2540-44) จนถึงปัจจุบัน

องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ได้รับการรับรองจากนานาชาติซึ่งสรุปเกี่ยวกับเรื่องนี้ในปี 2556 และกำหนดแนวทางการปฏิรูปไตรภาคี สำหรับทุกคนในปี 2558 ส่วนข้อตกลงด้านสภาพภูมิอากาศในกรุงปารีสยังมีการอ้างถึงการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม ซึ่งรัฐบาลให้ความมั่นใจว่าการเปลี่ยนผ่านจะสร้างโอกาสในการทำงานที่มีคุณค่า ตามหลักการที่ว่าทุกคนควรแบ่งปันค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนสู่เศรษฐกิจที่ยั่งยืนมากขึ้น แต่คนงานที่อาจสูญเสียงาน จะมีการฝึกอบรมเพื่อชดเชยโอกาสในการทำงานหรือหางานใหม่และการสนับสนุนอื่นๆที่ภาครัฐจัดให้ ซึ่งคนงานควรมีส่วนร่วมในการตัดสินใจต่อสิ่งที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของพวกเขาด้วย

ในการพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมนั้น มีการประเมินว่าจะส่งผลกระทบต่อตลาดแรงงานและการจ้างงาน ทั้งด้านบวกและด้านลบ กล่าวคือ การพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ที่ใช้คาร์บอนต่ำ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น จะทำให้เกิดตลาดแรงงานใหม่ๆและเป็นโอกาสสำหรับการจ้างงาน แต่ในอีกด้าน ปัจจุบันยังมีอุตสาหกรรมจำนวนมากที่ใช้เทคโนโลยีคาร์บอนเข้มข้น และเป็นแหล่งจ้างงานของแรงงานจำนวนมากถึงร้อยละ 38 ของแรงงานทั่วโลก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานไร้ฝีมือ และมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบ เช่น ว่างงานหรือมีรายได้น้อยลง เกิดความยากจน และมีผลกระทบถึงสภาพเศรษฐกิจโดยรวม

ในนสถานการณ์ดังกล่าวนี้ ขบวนการแรงงานในระดับสากลตระหนักถึงความสำคัญของการแก้ไขปัญหาโลกร้อน แต่ก็กังวลว่า การปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงในการจ้างงาน จึงได้ร่วมกันพัฒนากรอบแนวคิด “การเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมต่อแรงงาน” หรือ just transition และประสบความสำเร็จเบื้องต้นในการรณรงค์ให้ “ข้อตกลงปารีสว่าด้วยสภาพภูมิอากาศ” ยอมรับว่าจะต้องคำนึงถึงประเด็นนี้ รวมทั้งการสร้าง “งานที่มีคุณค่า” และงานที่มีคุณภาพ เยอรมนีเป็นประเทศที่อยู่ในลำดับต้นๆในการจัดอันดับความเป็นเศรษฐกิจสีเขียวระดับโลก มีเส้นทางการพัฒนาที่ยาวนานและผ่านการถกเถียงที่เข้มข้นก่อนจะมาถึง ณ ปัจจุบัน ในกระบวนการนี้ ขบวนการแรงงานเยอรมันเป็นตัวแสดงที่สำคัญและทำงานเคียงคู่กับภาคส่วนอื่นๆมาโดยตลอด สมาพันธ์แรงงานเยอรมัน ซึ่งเป็นองค์กรแรงงานระดับชาติขนาดใหญ่ที่สุด มีหน่วยงานวิชาการเฉพาะด้านเพื่อทำหน้าที่รณรงค์ผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจที่เน้นการเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพ คำนึงถึงสภาพการจ้างงานที่ดี เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสิทธิของผู้บริโภค

คำถามคือ ประเทศไทยควรจะมีการเปลี่ยนผ่านอย่างไร เมื่อมีการกำหนดยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่จะพัฒนาไปข้างหน้า สู่ “ไทยแลนด์ 4.0” ซึ่งสิ่งที่ต้องการคือ สร้างความมั่นคงให้กับประเทศ ทั้งด้านเศรษฐกิจ ด้านสิ่งแวดล้อม โดยมีการกล่าวถึงเศรษฐกิจสีเขียว ที่ต้องมีความมั่งคั่งยั่งยืน คนมีรายได้สูง คุณภาพชีวิตดี เศรษฐกิจเติบโตอย่างต่อเนื่อง ผลิตภาพของแรงงานก็ต้องเพิ่มขึ้น ตอบสนองแนวแนวคิดในการพัฒนาเพื่อก้าวพ้นประเทศที่มีรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูง เหมือนประเทศที่พัฒนาแล้ว มีการจ้างงานเต็มศักยภาพที่มีปัญหาคนว่างงานลดน้อยลง รวมถึงแรงงานมีสุขภาพความปลอดภัย อาชีวอนามัยดี มีการคุ้มครองแรงงานที่มีประสิทธิภาพ มีสวัสดิการสังคม

เรื่อง Just Transition หรือการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม ที่เกี่ยวโยง ทั้งเรื่องแรงงาน ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และการดูแลสิ่งแวดล้อมนั้นมีความสำคัญ แต่การเปลี่ยนผ่านครั้งนี้จะอยู่ในรูปแบบใด หรือจะให้เป็นไปในทิศทางใดคงต้องสร้างกระบวนการการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายขึ้นก่อนหรือไม่