ประกันสังคมกับแรงงานนอกระบบความเท่าเทียมที่ต้องรอ

โดย บุษยรัตน์ กาญจนดิษย์    ฝ่ายวิชาการคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย

สถานการณ์แรงงานนอกระบบในภาพรวม

เมื่อเดือนมกราคม 2555 สำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) ได้สำรวจจำนวนแรงงานนอกระบบปี 2554 ซึ่งเป็นผู้ทำงานที่ไม่ได้รับความคุ้มครองและไม่มีหลักประกันทางสังคมจากการทำงาน พบว่า มีจำนวนทั้งสิ้น 24.6 ล้านคน จากจำนวนผู้ที่มีงานทำทั้งสิ้น 39.3 ล้านคน เป็นผู้ชาย 13.2 ล้านคน ผู้หญิง 11.4 ล้านคน ทำงานอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากที่สุดถึงร้อยละ 41.5 รองลงมาเป็นภาคเหนือ ร้อยละ 21.4 ภาคกลาง ร้อยละ 18.7 ภาคใต้ ร้อยละ 13.3 ขณะที่กทม.มีเพียงร้อยละ 5.1 เท่านั้น ส่วนใหญ่แรงงานนอกระบบทำงานอยู่ในภาคเกษตรกรรมถึง 15.1 ล้านคน หรือร้อยละ 61.4 รองลงมาทำงานอยู่ในภาคการค้าและการบริการ ร้อยละ 29.7 และภาคการผลิต ร้อยละ 8.9
 
ทั้งนี้จากการสำรวจพบว่า แรงงานนอกระบบส่วนใหญ่ต้องการให้ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยเหลือเรื่องการได้รับค่าตอบแทนที่น้อยกว่าความเป็นจริง โดยมีมากถึงร้อยละ 45.6 รองลงมาเป็นทำงานหนักร้อยละ 22.1 และงานที่ทำแล้วไม่ได้รับการจ้างอย่างต่อเนื่องร้อยละ 19.3 
 
ขณะที่ปัญหาด้านสภาพแวดล้อมในการทำงานที่แรงงานนอกระบบต้องประสบมากที่สุด คือ ไม่ค่อยได้เปลี่ยนท่าทางในการทำงาน ร้อยละ 44.2 ปัญหาเรื่องฝุ่น ควัน กลิ่น ร้อยละ 17.8 และมีแสงสว่างไม่เพียงพอ ร้อยละ 17
 
ส่วนปัญหาด้านความไม่ปลอดภัยในการทำงานส่วนใหญ่ คือ การได้รับสารเคมีเป็นพิษ ร้อยละ 65 เครื่องจักร เครื่องมือ ที่เป็นอันตราย ร้อยละ 21.8 และการได้รับอันตรายต่อระบบหูหรือระบบตา มีประมาณร้อยละ 6.1
 
นอกจากนั้นแล้วแรงงานนอกระบบยังเป็นผู้ทำงานที่ได้รับบาดเจ็บและอุบัติเหตุจากการทำงาน มากถึง 3.7 ล้านคน โดยลักษณะของการเกิดอุบัติเหตุและบาดเจ็บเกิดจากการถูกของมีคมบาดมากที่สุด ร้อยละ 67.3 รองลงมา

เป็นการพลัดตกหกล้มร้อยละ 12.3 การชนและกระแทกร้อยละ 8.7 ไฟไหม้หรือน้ำร้อนลวก ร้อยละ 4.8 อุบัติเหตุจากยานพาหนะร้อยละ 2.9 ไฟฟ้าช็อตร้อยละ 0.6 หรือประมาณวันละ 10,003 คน 
 
โดยสรุปกล่าวได้ว่า แรงงานนอกระบบต้องประสบกับปัญหาที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตหลายประการ อาทิ
 
1. ปัญหาความไม่มั่นคงในการประกอบอาชีพและสวัสดิการสังคม เนื่องจากแรงงานนอกระบบไม่มีการจ้างงานที่ต่อเนื่อง มั่นคง ได้ค่าตอบแทนแรงงานที่ไม่เป็นธรรม ต้องทำงานหนัก ไม่มีวันหยุด มีชั่วโมงการทำงานที่ยาวนานกว่าแรงงานทั่วๆไป ขาดหลักประกันทางสังคม เข้าไม่ถึงระบบประกันทางสังคม และไม่มีสวัสดิการอื่นใด เนื่องมาจากการขาดการคุ้มครองตามกฎหมาย โดยเฉพาะกฎหมายคุ้มครองแรงงานซึ่งเกี่ยวเนื่องและเชื่อมโยงกับสภาพการจ้างงานและสิทธิขั้นพื้นฐานของแรงงาน
 
2 .ปัญหาสุขภาพและสภาพการทำงานที่ไม่ปลอดภัย พบว่า แรงงานนอกระบบได้รับบาดเจ็บหรือประสบอุบัติเหตุจากการทำงานสูงขึ้น อย่างไรก็ตามกลับพบว่าการบริการรักษาพยาบาลตามสิทธิในโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า กลับไม่ครอบคลุมการบริการสาธารณสุขที่มีความเสี่ยงจากการทำงาน หรือความเสี่ยงในด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน ทำให้แรงงานนอกระบบต้องเผชิญกับปัญหาสะสมด้านสุขภาพมาโดยตลอดการคุ้มครองแรงงานนอกระบบ : มีเพียงมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 และหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเท่านั้น นโยบายการคุ้มครองทางสังคมแก่แรงงานนอกระบบที่เห็นชัดเจนในปัจจุบันนี้ มีเพียงการประกันสังคมตามมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 และหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเพียงเท่านั้น
 
การประกันสังคม มาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 เป็นการประกันสังคม สำหรับประชาชนทั่วไปที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์ และไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์ ซึ่งไม่เคยอยู่ในระบบประกันสังคมมาก่อน (ไม่เป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 และมาตรา 39) การประกันสังคมตามมาตรา 40 นี้เป็นรูปแบบการออมโดยสมัครใจ ทั้งนี้นับตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2554 เป็นต้นมา สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน ได้มีการปรับปรุงสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตน มาตรา 40 ในพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 ให้ได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้นเป็น 5 กรณี ได้แก่ กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย กรณีคลอดบุตร กรณีทุพพลภาพ กรณีตาย และกรณีชราภาพ เพื่อให้แรงงานนอกระบบได้รับการคุ้มครองในระบบประกันสังคมเพิ่มมากขึ้น (แต่แรงงานนอกระบบยังคงเป็นผู้จ่ายเงินสมทบเพียงฝ่ายเดียว) โดยผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ต้องส่งเงินสมทบเป็นรายเดือนๆ ละ 280 บาท สามารถจ่ายล่วงหน้าได้ไม่เกิน 12 เดือน แต่ไม่ได้รับอนุญาตให้จ่ายเงินสมทบย้อนหลัง 

ส่วนนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เป็นบัตรประกันสุขภาพที่รัฐบาลออกให้กับประชาชนสัญชาติไทยทุกคนที่มีเลขบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลัก ยกเว้นผู้ที่มีสิทธิตามพระราชบัญญัติประกันสังคมและผู้ที่มีสิทธิอื่นที่รัฐจัดให้ เช่น ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจและครอบครัว โดยผู้ที่มีบัตรประกันสุขภาพสามารถเข้ารับบริการสาธารณสุขจากโรงพยาบาล สถานีอนามัย และสถานพยาบาลต่างๆได้ในยามจำเป็น ตามกฎเกณฑ์ที่รัฐกำหนด
 
หลักประกันทางสังคมที่กล่าวมาข้างต้นเป็นการคุ้มครองทางสังคมในช่วงระหว่างที่แรงงานยังมีกำลังที่สามารถทำงานได้ตามปกติ แต่หากพิจารณาในระยะยาวแล้ว ความมั่นคงในการดำรงชีวิตในบั้นปลายนับว่าเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่ง เพราะแรงงานนอกระบบส่วนใหญ่มักจะทำงานอยู่ในสถานประกอบการขนาดเล็ก มีรายได้น้อย ไม่มีความมั่นคงด้านรายได้ และมีหนี้สินจำนวนมาก ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องผลักดันให้รัฐมีนโยบายสาธารณะระดับชาติที่เอื้อต่อการคุ้มครองแรงงานและสอดคล้องกับบริบทของการเป็นแรงงานนอกระบบที่มีความเสี่ยงและความเปราะบางยิ่งนัก 
 
สถานการณ์ความเติบโตของระบบเศรษฐกิจในทุกวันนี้ เรามิสามารถปฏิเสธได้ว่าต่างเป็นผลมาจากการสร้างสรรค์การผลิตของผู้ใช้แรงงาน ทั้งแรงงานในระบบ แรงงานนอกระบบ และแรงงานข้ามชาติ สำหรับในกลุ่มแรงงานนอกระบบแล้ว ไม่ว่าจะเป็นแรงงานในภาคเกษตร ผู้ผลิตเพื่อขาย ผู้รับงานไปทำที่บ้าน ผู้ใช้แรงงานในภาคบริการต่างๆ หาบเร่แผงลอย และผู้ประกอบอาชีพอิสระอื่นๆ มีจำนวนเกินกว่าครึ่งหนึ่งของกำลังแรงงานทั้งประเทศ แต่พวกเขาและเธอต่างต้องเผชิญกับการถูกละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของแรงงานในหลายประการ ดังนั้นการมีนโยบายหรือรูปแบบการจัดสวัสดิการที่เหมาะสมและครอบคลุมความต้องการของแรงงานนอกระบบ จึงเป็นเรื่องที่ดีและมีคุณค่าอย่างยิ่ง 
 
การขยายประกันสังคมสู่แรงงานนอกระบบตามมาตรา 40 ในพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 กล่าวได้ว่า วิกฤติเศรษฐกิจปลายปี 2551 ถึงปี 2552 ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันได้ทำให้แรงงานนอกระบบขยายตัวและมีแนวโน้มสูงขึ้น แต่ปัญหาคือแรงงานเหล่านี้มีภาวะความไม่มั่นคงในการทำงานมากขึ้น ขาดความต่อเนื่องในการมีงานทำ และได้รับค่าตอบแทนต่ำลง ไม่ได้รับการคุ้มครองและไม่มีหลักประกันทางสังคม 
 

ในช่วงที่ผ่านมา (ก่อนวันที่ 1 พฤษภาคม 2554) การประกันสังคมตามมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 ถือเป็นการคุ้มครองทางสังคมรูปแบบหนึ่ง สำหรับประชาชนทั่วไปที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์ และไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์ ซึ่งไม่เคยอยู่ในระบบประกันสังคมมาก่อน (ไม่เป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 และมาตรา 39) การประกันสังคมตามมาตรา 40 นี้เป็นรูปแบบการออมโดยสมัครใจ โดยผู้ที่สนใจสมัครเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 40 จะต้องนำส่งเงินสมทบเป็นรายปีๆ ละ 3,360 บาท และได้รับความคุ้มครอง 3 กรณีได้แก่ คลอดบุตร ทุพพลภาพ และตาย 
 
1) สถานการณ์ปัญหาการเข้าไม่ถึงการคุ้มครองแรงงานนอกระบบกลับต้องประสบกับปัญหาในการเข้าถึงการคุ้มครองตามมาตรา 40 ในพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 มาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็น
 
(1) งานที่ทำไม่มีความต่อเนื่อง ส่งผลให้มีรายได้ไม่แน่นอน หรืออาจมีรายได้น้อย ได้รับค่าตอบแทนต่ำ เช่น กลุ่มผู้รับงานไปทำที่บ้านได้รับค่าตอบแทนเป็นรายชิ้น/รายเหมา อาทิ เย็บกระโปรงนักเรียนตัวละ 17 บาท ซึ่งเมื่อหักต้นทุน (ค่าอุปกรณ์ ค่าวัตถุดิบ ค่าไฟ) แล้วเหลือเงินเพียงเล็กน้อย หรือผู้ประกอบอาชีพอิสระอื่นๆ เช่น แม่ค้าหาบเร่แผงลอย มอเตอร์ไซค์รับจ้าง แท็กซี่ แม้ว่าแรงงานกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มีรายได้ทุกเดือน แต่ก็เป็นพวกหาเช้ากินค่ำรายได้ที่มีจึงใช้หมดไปในแต่ละวัน เหลือเก็บออมจำนวนน้อย หรือไม่มีเงินเหลือที่จะเก็บออม นอกจากนั้นแล้วแรงงานนอกระบบยังไม่มีผู้สนับสนุนการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุน เนื่องจากไม่มีนายจ้าง ถึงแม้ว่าบางอาชีพจะมีนายจ้าง/ผู้ว่าจ้าง แต่ไม่สามารถระบุนายจ้าง/ผู้ว่าจ้างที่แท้จริงได้ อาทิ กลุ่มที่รับงานไปทำที่บ้านโดยผ่านคนกลาง เป็นต้น ทำให้แรงงานต้องจ่ายเงินเองทั้งหมด ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนเงินที่สูงมากเมื่อเทียบกับรายได้ที่ได้รับ 
 
(2) การได้รับความคุ้มครองเพียง 3 กรณี ได้แก่ กรณีคลอดบุตร กรณีทุพพลภาพและกรณีตาย แต่จะต้องจ่ายเงินสมทบเป็นรายปีถึงปีละ 3,360 บาท ซึ่งถือว่าเป็นสิทธิประโยชน์ที่ไม่จูงใจในการเข้าร่วม
 
(3) สิทธิประโยชน์ไม่จูงใจ เพราะบางกรณีแรงงานนอกระบบก็ไม่มีความจำเป็นต้องใช้ อาทิ กรณีคลอดบุตร หากเป็นแรงงานนอกระบบเพศชายไม่มีความจำเป็นต้องใช้ ส่วนแรงงานนอกระบบหญิงที่มาอยู่นอกระบบส่วนใหญ่เมื่ออายุ 40-49 ปี แล้วมีโอกาสในการคลอดบุตรน้อยลงเป็นต้น จึงทำให้แรงงานนอกระบบไม่สนใจเข้าสู่ระบบประกันสังคมเท่าที่ควรจะเป็น
 
2) การปรับปรุงสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนจาก 3 กรณี เป็น 5 กรณี
จากสถานการณ์ดังกล่าวข้างต้น สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน จึงมีแนวคิดที่จะขยายความคุ้มครองด้านสังคม โดยการยกร่างกฎหมายปรับปรุงสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตน มาตรา 40 ในพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 ให้ได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้นเป็น 5 กรณี เพื่อให้แรงงานนอกระบบได้รับการคุ้มครองประกันสังคมเพิ่มมากขึ้น และสิทธิประโยชน์ดังกล่าวจะเป็นแรงจูงใจให้ประชาชนทั่วไปที่ประกอบอาชีพอิสระเข้าสู่ระบบประกันสังคมมากขึ้น เป็นการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงความมั่นคงในชีวิตของแรงงานที่ยังไม่ได้รับการคุ้มครองได้อีกเป็นจำนวนมาก
 
นับตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2554 เป็นต้นมา สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน ได้มีการปรับปรุงสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตน มาตรา 40 ในพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 ให้ได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้นเป็น 5 กรณี ได้แก่ กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย กรณีคลอดบุตร กรณีทุพพลภาพ กรณีตาย และกรณีชราภาพ เพื่อให้แรงงานนอกระบบได้รับการคุ้มครองในระบบประกันสังคมเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นแรงงานนอกระบบในกลุ่มอาชีพต่างๆที่ไม่เคยได้รับสิทธิประกันสังคมมาก่อน เช่น ชาวนา ชาวไร่ เกษตรกรพันธสัญญา ผู้รับงานไปทำที่บ้าน คนเก็บของเก่า มอเตอร์ไซค์รับจ้าง มัคคุเทศก์ แท็กซี่ เสริมสวย แม่ค้าหาบเร่แผงลอย ฯลฯ ก็สามารถสมัครเป็นสมาชิกประกันสังคมได้ตามมาตรา40 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 
 
ทั้งนี้การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการจ่ายเงินสมทบ ประเภทของประโยชน์ทดแทน ตลอดจนหลักเกณฑ์และเงื่อนไขแห่งสิทธิในการรับประโยชน์ทดแทนของบุคคลซึ่งสมัครเป็นผู้ประกันตน พ.ศ.2554 โดยเป็นการขยายสิทธิการคุ้มครองประกันสังคมสู่แรงงานนอกระบบใน 2 ทางเลือก 
 
โดยทางเลือกแรก คือ จ่ายเงินสมทบ 100 บาทต่อเดือน ประชาชนจ่าย 70 บาท รัฐบาลอุดหนุน 30 บาท ได้รับสิทธิประโยชน์ 3 กรณี คือ เงินชดเชยการขาดรายได้กรณีเจ็บป่วย กรณีทุพพลภาพ และกรณีเสียชีวิต 
 
ทางเลือกที่สอง คือจ่ายเงินสมทบ 150 บาท ประชาชนจ่าย 100 บาท รัฐบาลอุดหนุน 50 บาท ได้รับสิทธิประโยชน์ 4 ด้าน คือ เงินชดเชยการขาดรายได้กรณีเจ็บป่วย กรณีทุพพลภาพ กรณีเสียชีวิต และกรณีบำเหน็จชราภาพ 
 
ส่วนผู้ที่ต้องการได้รับสิทธิประโยชน์ทั้ง 5 กรณี ยังคงต้องจ่ายเงินสมทบอัตรา 3,360 บาทต่อปีเหมือนเดิม ซึ่งที่ผ่านมาจะได้รับสิทธิประโยชน์เพียง 3 กรณี เท่านั้น คือ คลอดบุตร ทุพพลภาพ และเสียชีวิต จึงทำให้มีแรงงานนอกระบบเข้าสู่ระบบประกันสังคมน้อยมาก เพราะไม่มีกำลังที่จะจ่ายเงินสมทบ และไม่สามารถที่จะตอบสนองความต้องการที่แท้จริงในสิทธิประโยชน์ที่สอดคล้องกับลักษณะการจ้างงาน
 
อย่างไรก็ตามจุดอ่อนของมาตรา 40 พบว่าอยู่ตรงที่เรียกเก็บเงินรายเดือน 280 บาท หรือ 3,360 บาทต่อปี จากผู้ประกันตนที่สมัครใจฝ่ายเดียวโดยที่รัฐบาลไม่มีเงินสมทบให้เหมือนกับมาตรา 33 รวมถึงในเรื่องความไม่เข้าใจในสิทธิประโยชน์ทั้ง 5 กรณีดังกล่าว 

จากสถานการณ์ดังกล่าวเครือข่ายแรงงานนอกระบบจึงได้มีการทำงานร่วมกับสำนักงานประกันสังคมอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในเรื่องของการสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้กับกลุ่มแรงงานนอกระบบในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมถึงการประสานงานกับสำนักงานประกันสังคมในจังหวัดอื่นๆที่มีศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบดำเนินการอยู่ เพื่อพัฒนาโครงการรณรงค์การเข้าถึงสิทธิและการสร้างกระบวนการเรียนรู้ สร้างความเข้าใจในสิทธิประโยชน์ต่างๆร่วมด้วย นอกจากนั้นแล้วทางเครือข่ายแรงงานนอกระบบยังได้หารือกับสำนักงานประกันสังคมในประเด็นของการให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามามีบทบาทการทำงานเพื่อทำให้แรงงานนอกระบบ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานในชุมชนอยู่แล้วได้มีโอกาสเข้าถึงสิทธิประโยชน์ตามมาตรา 40 ให้ได้มากที่สุด ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการหารือในรูปแบบแนวทางและความเป็นไปได้ในการดำเนินงานที่ไม่ขัดกับระเบียบ/กฎหมายที่ อปท.บังคับใช้อยู่
 
นอกจากนั้นแล้วเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2554 คณะรัฐมนตรีก็ยังได้มีมติอนุมัติในหลักการแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแรงงานนอกระบบ พ.ศ.2555-2559 ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ พร้อมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบตามแนวทางที่กำหนดไว้ในแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าวต่อไป จากการสำรวจแรงงานนอกระบบปี 2553 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่ามีจำนวนผู้ทำงานทั้งสิ้น 38.7 ล้านคน โดยเป็นผู้ทำงานที่ไม่ได้รับความคุ้มครองและไม่มีหลักประกันทางสังคมจากการทำงานหรือเป็นแรงงานนอกระบบ 24.1 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 62.3 และที่เหลือเป็นแรงงานในระบบ 14.6 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 37.7 
 
ในช่วงเวลา 5 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2548-2552) พบว่าผู้ทำงานที่เป็นแรงงานนอกระบบมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เพื่อให้การส่งเสริมพัฒนาและคุ้มครองแรงงานนอกระบบมีประสิทธิภาพจึงได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์ขึ้นมา โดยแผนยุทธศาสตร์ประกอบด้วย 3 ยุทธศาสตร์ คือ ยุทธศาสตร์ที่ 1 ขยายขอบเขตการคุ้มครองและสร้างหลักประกันความมั่นคง ยุทธศาสตร์ที่ 2 เสริมสร้างองค์ความรู้และพัฒนาสมรรถนะแรงงานนอกระบบเพื่อขยายโอกาสการมีงานทำ และยุทธศาสตร์ที่ 3 เพิ่มสมรรถนะการบริหารจัดการแรงงานนอกระบบ 
 
ทั้งนี้มีวัตถุประสงค์สำคัญของแผนยุทธศาสตร์ฯ คือ (1) เพื่อให้แรงงานนอกระบบทุกกลุ่มอาชีพได้รับการคุ้มครองจากระบบประกันสังคมอย่างเท่าเทียมเป็นธรรมและมีความใกล้เคียงกับสิทธิประโยชน์ที่แรงงานในระบบได้รับ (2) มีกฎหมายคุ้มครองแรงงานนอกระบบภายใต้หลักมาตรฐานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศและงานที่มีคุณค่า (Decent Work) (3) แรงงานนอกระบบมีสมรรถนะตรงกับความต้องการของแรงงานนอกระบบและตลาดแรงงาน
 
(4) แรงงานนอกระบบมีโอกาสเข้าถึงข่าวสารข้อมูลเกี่ยวกับตลาดงาน และแหล่งทุนเพื่อการประกอบอาชีพ (5) มีกลไกการทำงานในลักษณะภาคีและเครือข่ายระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดูแลแรงงานนอกระบบ ชุมชน กลุ่มการเกษตร กลุ่มอาชีพ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานด้านการบริหารจัดการแรงงานนอกระบบให้มีประสิทธิภาพ (6) ให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องรวมถึงแรงงานนอกระบบตระหนักถึงความสำคัญของสุขภาพความปลอดภัยในการทำงาน
 
แน่นอนวันนี้สิทธิประโยชน์ในมาตรา 40 ก็ยังไม่สอดคล้องกับบริบทของแรงงานนอกระบบที่มีความแตกต่างหลากหลาย ซับซ้อน สุดท้ายแล้วก็ควรจะต้องมีการปรับปรุงให้สอดคล้องกับบริบทของแรงงานนอกระบบต่อไป เพราะต้องคำนึงถึงความเสี่ยงที่แรงงานนอกระบบได้รับแตกต่างกันไปในแต่ละอาชีพด้วย เช่น กลุ่มการผลิต อาชีพรับเหมาช่วงงาน (ก่อสร้าง) มีความเสี่ยงต่อการได้รับอุบัติเหตุ มลพิษ (ฝุ่น/ ควัน) กลุ่มการค้า อาชีพที่ไม่มีนายจ้าง ได้แก่ อาชีพเก็บขยะ มีความเสี่ยงต่อการได้รับมลพิษหรือสารเคมีตกค้างจากขยะ กลุ่มการเกษตร อาชีพเกษตรกร มีความเสี่ยงต่อการได้รับอุบัติเหตุจากสัตว์มีพิษต่าง ๆ และสารเคมี อาทิ ยาปราบศัตรูพืช ปุ๋ยเคมี เป็นต้น และกลุ่มบริการ อาชีพอิสระได้แก่ ช่างเสริมสวย มีความเสี่ยงต่อการได้รับสารเคมีจากผลิตภัณฑ์เสริมความงาม อาทิ น้ำยาโกรกผมสเปรย์จัดแต่งทรงผม เป็นต้น ดังนั้นสิทธิประโยชน์โดยเฉพาะการเข้าถึงบริการด้านการรักษาพยาบาล ควรเหมาะสมกับความเสี่ยงในแต่ละกลุ่มอาชีพด้วย  
**********************************