ย้อนรอยสหพันธ์แรงงานยานยนต์จากอดีตจนถึงปัจจุบัน 

ย้อนรอยสหพันธ์แรงงานยานยนต์จากอดีตจนถึงปัจจุบัน อดีตผู้นำ นักวิชาการ ต่างเสนอให้สร้างความเข้มแข็งให้ขบวนการแรงงานยานยนต์ รวมตัวเป็นสหภาพแรงงานอุตสาหกรรม 

วันที่ 27 พฤษภาคม 2560 สหพันธ์แรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย ได้จัดเวทีเสวนา “ย้อนรอยสหพันธ์แรงงานยานยนต์จากอดีตจนถึงปัจจุบัน” พร้อมจัดประชุมใหญ่สามัญประจำปี ครั้งที่ 19/2559   ที่ศูนย์ฝึกอบรมเพื่อคนทำงาน (TEAM) จังหวัดฉะเชิงเทรา

นายปรุง ดีสี ที่ปรึกษาสมาพันธ์แรงงานเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็คทรอนิคส์ยานยนต์และโลหะแห่งประเทศไทย (TEAM) กล่าวว่า ปี 2523 ได้มีการก่อตั้งสหพันธ์แรงงานยานยนต์และอะไหล่แห่งประเทศไทย โดยตนได้นั่งเป็นรองประธานสหพันธ์ฯ โดยดำเนินการส่งเสริมการจัดตั้งสหภาพแรงงาน และเริ่มก่อการจัดตั้งสหภาพแรงงานโตโยต้า สหภาพแรงงานมิตซูบิชิ รถยนต์นิสัน ซึ่งวัตถุประสงค์แรกคือการก่อตั้งสหภาพแรงงานแบบอุตสาหกรรม และมุมมองว่าการก่อตั้งสหภาพเพื่อให้เกิดความเป็นหนึ่งเดียว

ย้อนหลังปี 2519 ช่วงนั้นได้มีการประสานงานกับสหพันธ์แรงงานโลหะระหว่างประเทศ (IMF) ตอนนั้นทำงานอยู่ฟอร์ดแห่งประเทศไทย หรือสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมรถยนต์แห่งประเทศไทย และเริ่มคุยกันเพื่อรวมตัวกลุ่มคนงานโลหะ แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่สงบของประเทศจึงหยุดชะงักไป แล้วจึงมารวมกันอีกครั้งโดยมีคุณปรีชา ศรีมีทรัพย์ และคุณสมาน สีทอง และอีกหลายท่านตั้งเป็นสหพันธ์ฯ ซึ่งการทำงานใกล้ชิดกับทางสหภาพแรงงานเอ็น เอช เค สปริงแห่งประเทศไทย ที่ช่วงนั้นเป็นเลขาธิการสหภาพแรงงาน และได้เข้าเป็นรองประธานสหพันธ์ฯด้วย การทำงานภายใต้แนวคิดการรวมตัวของ 4 เสาเท่านั้น คือ รถยนต์ ไฟฟ้า แร่ เหล็ก ภายใต้การสนับสนุนของ IMF เมื่อมีการรับสมาชิกสหภาพแรงงานอื่นที่ไม่ได้อยู่ใน 4 เสา จึงมีความขัดแย้งและแยกออกมาด้วย ช่วงนั้นสหพันธ์แรงงานยานยนต์และอะไหล่ ก็เริ่มคิดตั้งสภาองค์การลูกจ้างเอกชนแห่งประเทศไทย

นับแล้วผ่านมา 40 ปี การทำงานแรงงานมาตลอดแม้ว่า จะไม่ได้ทำงานในสหภาพแต่ว่ายังคงทำหน้าที่ประสานงาน การอบรมให้กับสมาชิกสหพันธ์แรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย หลังมีการตั้งขึ้นมา หากมองขบวนแรงงานยานยนต์ กับองค์กรนายจ้างในอุตสาหกรรมยานยนต์ เห็นว่า ขบวนแรงงานยานยนต์ยังอยู่ที่เดิม คือยังไม่รวมกันเป็นหนึ่งเดียวภายใต้แนวคิดการจัดตั้งสหภาพแรงงานในอดีตว่า ต้องการให้เป็นสหภาพแรงงานอุตสาหกรรม แล้วปรับตัวเป็นสหพันธ์แรงงาน วันนี้ก็มีการแยกกันออกไปไม่เข้มแข็ง ต่างองค์กรทุนมีการพัฒนามากขี้น เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีส่วนในการพัฒนาประเทศ เป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งความต้องการที่อยากเติบโตของแรงงานยานยนต์ได้รับการยกย่องเทียบเท่ากับนายทุน จึงอยากเรีบกร้องให้แรงงานมีความสามัคคีกันเพื่อพัฒนาขบวนการแรงงานให้ก้าวหน้า

นายยงยุทธ เม่นตะเภา ประธานสมาพันธ์แรงงานเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็คทรอนิคส์ยานยนต์และโลหะแห่งประเทศไทย (TEAM) กล่าวว่า ก่อนนั้นปี 2523 การตั้งสหพันธ์แรงงานยานยนต์และอะไหล่แห่งประเทศไทย ซึ่งเดิมนั้นช่วงสหภาพแรงงาน เอ็น เอช เค สปริงแห่งประเทศไทย และติดอยู่กับบริษัทฮอนด้าประเทศไทย ซึ่งเป็นสมาชิกสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานแห่งประเทศไทย ซึ่งหลังปี 2535 ก็เริ่มมีการชวนสหภาพแรงงานเด็นโซ่ประเทศไทย สหภาพแรงงานโตโยต้าประเทศไทย สหภาพแรงงานอุตสาหกรรมรถยนต์ไทยฮีโน่ และสหภาพแรงงานเอ็น เอช เค สปริงฯ โดยมีการจับมือคุยกัน เรื่องฟื้นฟูสหพันธ์แรงงานยานยนต์ แต่ว่าสหพันธ์แรงงานเดิมมีการตั้งเป็นสภาแล้ว และเห็นว่าไม่ค่อยมีการดำเนินกิจกรรม  จึงมีการรวมกันในส่วนของ 4 สหภาพ เป็นชมรม 4 สหภาพ ภายใต้IMF-TC เป็นสมาพันธ์แรงงานยานยนต์และอะไหล่

ปี2539 รถยนต์ขายดีมากก่อนวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง และมีแนวคิดในการรวมกันเป็นทางการคือ สหพันธ์แรงงานยานยนต์ เพราะสหพันธ์แรงงานเดิมเริ่มเป็นมีการตั้งกันเป็นสภาองค์การลูกจ้างแรงงานเอกชน ซึ่งการก่อตั้งสหพันธ์แรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย ตอนนั้นมีหลายสหภาพแรงงานที่เข้ามาร่วมกันก่อตั้งในปี 2540 แต่ก็มีบางสหภาพอย่างสหภาพแรงงานมิตซูบิชิ ที่เริ่มแนวคิดด้วยกันแต่ว่า ก็ไม่ได้ร่วมก่อตั้ง การตั้งขึ้นของสหพันธ์แรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย แม้แต่เรื่องชื่อก็มีการคิดร่วมกันว่าจะมีการเติมว่าอะไหล่ด้วยหรือไม่ ซึ่งก็ตกลงร่วมกันว่าไม่ต้องใส่คำว่า อะไหล่ ด้วยเห็นว่า เป็นกิจการยานยนต์เหมือนกัน การก่อตั้งสหพันธ์ฯครบรอบ 25 ปี และมีการรวมตัวกันเป็นTEAM และเป็นกำลังหลักในคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย เพื่อการขับเคลื่อนประเด็นนโยบายแรงงาน และร่วมผลักดันแก้ไขปัญหาแรงงานร่วมกันกับหลายองค์กร

นายทรงพันธ์ พจนาภิรักษ์กุล อดีตผู้ก่อตั้งสหพันธ์แรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย อดีตประธานกรรมการสหภาพแรงงานมิตซูบิชิ ประเทศไทย กล่าวว่า ช่วงนั้นเองสหภาพแรงงานมิตซูบิชิมีความขัดแย้งทางนโยบายภายในกันเอง เดิมการก่อตั้งสหภาพแรงงานเริ่มจาก นายจ้างมีการแทรกแซงจัดตั้งและการบริหารจัดการสหภาพแรงงานและยุคที่ตนบริหารได้มีการออกมาภายนอกเพื่อการรวมตัวแลกเปลี่ยนกับภายนอก ได้เข้าร่วมก่อตั้งชมรม 4 สหภาพ และร่วมก่อตั้งสหพันธ์แรงงานแต่ว่า ยังมีปัญหาภายในจึงไม่ได้อยู่ในกรรมการก่อตั้งชุดแรก แต่ต่อมาก็เข้าร่วมเป็นสมาชิกสหพันธ์ ซึ่งก็ดีขึ้น และอยากเห็นการรวมตัวที่เข้มแข็งเป็นหนึ่งเดียวของแรงงาน

นายมงคล ธนกัญญา อดีตประธานสหพันธ์แรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า การทำงานจัดตั้งสหภาพแรงงานในอดีตไม่ได้ราบรื่น การจัดตั้งสมัยนั้นคือ ปัญหามีร่วมกันคือการไม่ได้รับสวัสดิการ ไม่ได้เงินโบนัส และเห็นกลุ่มสหภาพแรงงานรอบๆในกิจการยานยนต์ อย่างสหภาพแรงงาน เอ็น เอช เค สปริงฯ โตโยต้า เด็นโซ ที่มีสวัสดิการดี คนงานอีซูซุ ก็มีแนวคิดการรวมตัวกันก่อตั้งสหภาพแรงงาน แต่ก็มึการล้มสหภาพแรงงานมาตลอด จนมาถึงรุ่นตนเองก็มีการตั้งสหภาพแรงงานอีซูซุ ขึ้นจนได้ และยืนยันว่า การตั้งสหภาพแรงงานขึ้นแบบไม่เกเร ให้บริษัทเห็นว่า อยู่ร่วมกันได้ และสหภาพแรงงานอีซูซุก็เข้าเป็นสมาชิกสหพันธ์แรงงาน ได้รับการเลือกตั้งเป็นกรรมการฝ่ายจัดตั้ง และเข้าไปตั้งสหภาพแรงงานฟอร์ด มาสด้าขึ้น ทั้งที่อีเทรินซีบอร์ดถูกนำเสนอเป็นนิคมอุตสาหกรรมที่ปลอดสหภาพแรงงาน แม้ว่า การจัดตั้งสหภาพแรงงานจะไม่ราบรื่นแต่ สหพันธ์แรงงานก็ทำหน้าที่ในการร่วมกันแก้ปัญหาจนตั้งสหภาพแรงงานสำเร็จ และเกิดสหภาพแรงงานตามมาจำนวนมาก การที่สหพันธ์แรงงานรวมตัวกันแรกๆไม่มีเงินจัดการศึกษาก็เลยมีการของบประมาณองค์กรพัฒนาเอกชนอย่างเช่น มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท (FES) และอาฟฟี่ หรือSolidarity center (SC) ปัจจุบันเพื่อการจัดการศึกษา แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นในการแยกกันออกไปจากสหพันธ์ เพราะมีการตั้งสภาองค์การลูกจ้างแรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทยขึ้น ด้วยมุมมองที่แตกต่างกันบ้างทางความคิด ซึ่งก็มึการก่อตั้งขึ้นมาตามที่มีการตกลงเห็นร่วมกันในช่วงแรก ของหลายสหภาพ ส่วนตนเอง ตอนนี้ไม่ได้ทำงานด้านสหภาพแรงงาน และคิดว่า การวางมือเพื่อให้กับคนรุ่นใหม่เข้ามาทำงานองค์กรแทน ซึ่งก็อยากเห็นความแข็งแกร่งของสหพันธ์แรงงานยานยนต์ฯ และเห็นการสร้างคนรุ่นใหม่ๆมาทำงานเพื่อที่จะเข้มแข็งทำงานร่วมกันอีกครั้ง

นายวิวัฒน์ พันธ์สระ  อดีตประธานสหพันธ์แรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย กล่าาว่า กรณีสหภาพแรงงานฟอร์ดและมาสด้าประเทศไทย ที่มีการจัดตั้งขึ้นช่วงแรกผู้ก่อการโดนไล่ออกจากงาน มีการดำเนินคดีกับลูกจ้าง แต่ว่าด้วยคำว่า แรงงานคือพี่น้องกัน สิ่งที่คิดและถือเป็นแนวปฏิบัติทำงานร่วมกันช่วงนั้น คือ ทำอย่างไรให้คนในบ้านอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข จึงใช้แนวการสร้างการทำงานแบบทวิภาคีที่ยั่งยืน และได้ประสานงานกันเอซิล ประสานงานฟอร์ดอเมริกา IMF มาสด้า ญี่ปุ่น และอีกหลายองค์กรรวมทั้งประธานบริษัทฟอร์ด ญี่ปุ่น อเมริกามาร่วมเจรจาเห็นผลว่า ทำไมฟ้องร้องกัน สหพันธ์แรงงานยานยนต์มีมุมมองว่า จะสร้างทวีภาคีในการทำงาน และ IMF ก็ขายความคิดว่า ต้องโตไปด้วยกัน และทำให้ยุติข้อขัดแย้งกันได้ และแนวคิดแรงงาน นายจ้างคือคนในครอบครัว และไม่ควรเอาคนนอกมาตัดสิน ถือว่า นี่คือนโยบายและ ปณิธานของสหพันธ์ฯ แต่จะต้องไม่เอาเปรียบกัน การทำงานตั้งเป็นแบบทวิภาคีที่ยั่งยืน

การเข้าร่วมในคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) เพื่อขับเคลื่อนประเด็นการจ้างงานเหมาค่าแรงร่วมกันกับองค์กรอื่นๆ ซึ่งสหพันธ์แรงงานยานยนต์มีปัญหาเรื่องการจ้างงาน และตอนนั้นมีการร่างกฎหมายคุ้มครองแรงงานฉบับใหม่ จึงมีการผลักดันให้มีการแก้ไขการจ้างงานเหมาค่าแรง หลังที่กฎหมายคุ้มครองแรงงานออกมา ทางสหพันธ์แรงงานก็มีแนวคิดแก้ปัญหาภายในโดยสหภาพแรงงานเจรจาต่อรองกับบริษัทมีการกำหนดสัดส่วนการจ้างงานเหมาค่าแรง ให้มีได้แต่ต้องจ้างเพียงร้อยละ 30 เพื่อการดูแลแรงงานให้ไม่ถูกเอาเปรียบด้านการจ้างงานและสวัสดิการ แม้กฎหมายจะยังไม่คุ้มครองดูแลก็ตาม ซึ่งหลายสหภาพแรงงานมีการเรียกร้องได้แต่ก็ยังมีหลายสหภาพที่สหพันธ์ต้องดูแลกันต่อไป

นายศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา นักวิชาการแรงงาน กล่าวว่า อยากให้มีการเก็บประวัติศาสตร์ ของแต่ละองค์กรไว้ ด้วยประเทศไทยไม่มีการพูดถึงหรือยกย่องผู้ใช้แรงงาน การบันทึกประวัติศาสตร์แรงงานเพื่อทำให้แรงงานมีประวัติศาสตร์ ซึ่งพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยมีการบันทึกประวัติศาสตร์ภาพรวม แต่ระดับองค์กรก็ต้องมีการรวบรวมและบันทึกด้วยเช่นกัน

แรกที่จะมีการตั้งกลุ่มสหพันธ์แรงงาน และFES นั้นทำงานเชิงนโยบาย ซึ่งตอนนั้นก็มีสหพันธ์แรงงานยานยนต์ และอะไหล่ฯอยู่ก่อนแล้ว โดยมีคุณสมาน สีทอง ซึ่งตรงนั้นมีการตั้งสภาองค์การลูกจ้างเอกชนเมื่อคุณยงยุทธ เม่นตะเภา มาปรึกษาเรื่องตั้งสหพันธ์ฯจึงไม่เห็นด้วย แต่คุณยงยุทธ ก็มีการเอาจริงเอาจังในการที่จะรวมตัวกัน และมีการเชื่อมร้อยกับทางแรงงานในเยอรมัน คือ IMF ซึ่งตอนนั้นเองก็มีปัญหาองค์กรแรงงานที่มีการคอรัปชั่นโดยมีการตรวจสอบกันอยู่องค์กรแรงงานในต่างประเทศก็ไม่ค่อยไว้วางใจในการทำงานร่วม แต่การตายของคำปุ่น วงศ์ขัน ก็เชื่อว่ามีความเกี่ยวข้องกับการคอรัปชั่น ซึ่งการรวมตัวมีหลายฝ่ายมีการแบ่งโครงสร้างกันใหม่ ในส่วนของ IMF แต่การรวมตัวของสหพันธ์แรงงานยานยนต์ฯโดยการทำงานที่โดดเด่นจึงได้รับการสนับสนุน แม้ว่า จะมีการแยกกันไปตั้งเป็นสภาฯ และประเทศไทยก็มีแนวการรวมตัวแบบใหม่อย่างคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย และสหพันธ์แรงงานอื่นๆก็มาร่วมกันมีการทำงานมากขึ้น และมีการรวมตัวกันเป็น TEAM ด้วย การทำงานของแรงงานที่อยากเห็นในแนวคิดคือการเป็นสหภาพเดียวภายใต้อุตสาหกรรม เรียกว่าสหภาพแรงงานอุตสาหกรรม และหวังว่าสหพันธ์แรงงานยานยนต์ จะเป็นสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมที่เข้มแข็งรวมพี่น้องแรงงานในอุตสาหกรรมเดียวกันเข้ามาในอนาคต

จากนั้นได้มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปี ครั้งที่ 19/2559 สหพันธ์แรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย เพื่อรายงานผลการดำเนินกิจกรรมประจำปี

นักสื่อสารแรงงาน รายงาน