บทนำ
นับแต่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้มีประกาศพระบรมราชโองการสร้างทางรถไฟสยาม ตั้งแต่กรุงเทพมหานครถึงเมืองนครราชสีมา ลงวันที่ 1 มีนาคม ร.ศ.109 ซึ่งตรงกับ พุทธศักราช 2433 ต่อมา พระองค์ท่านทรงพระราชทานพระบรมราชานุมัติให้กระทรวงโยธาธิการ (ปัจจุบันคือกระทรวงคมนาคม) ว่าจ้าง มิสเตอร์ จี. มูเรแคมป์เบลล์ สร้างทางรถไฟหลวงจากกรุงเทพฯ ถึงนครราชสีมา เป็นสายแรก เป็นทางขนาดกว้าง 1.435 เมตร และได้เสด็จพระราชดำเนินประกอบพระราชพิธีกระทำพระฤกษ์เริ่มการสร้างทางรถไฟ ณ บริเวณย่านสถานีกรุงเทพ เมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2434 และในปีพ.ศ.2439 การก่อสร้างทางรถไฟสาย กรุงเทพฯ-นครราชสีมาสำเร็จบางส่วนพอที่จะเปิดการเดินรถได้ ดังนั้นในวันที่ 26 มีนาคม พ.ศ.2439 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงเสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบพระราชพิธีเปิดการเดินรถไฟระหว่าง สถานีกรุงเทพ-อยุธยา ระยะทาง 71 กิโลเมตร และเปิดให้ประชาชนเดินทางไปมาระหว่าง กรุงเทพ-อยุธยาได้ตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2439 เป็นต้นไป
ภายหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแทนพระบรมราชชนก ก็ได้ทรงพิจารณาเห็นว่ากิจการของกรมรถไฟสายเหนือและกรมรถไฟสายใต้ซึ่งแยกกันอยู่ไม่สะดวกแก่การบังคับบัญชาและบริหารงาน ตลอดจนไม่เป็นการประหยัดค่าใช้จ่าย ดังนั้นเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ.2460 จึงได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้รวมกิจการรถไฟทั้ง 2 กรม เข้าเป็นกรมเดียวกัน เรียกว่า “กรมรถไฟหลวง”
ในปี พ.ศ.2494 รัฐบาลสมัย จอมพล.ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ได้พิจารณาเห็นสมควรจัดตั้งกิจการรถไฟเป็นเอกเทศ จึงได้เสนอร่างพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ.2494 ต่อรัฐสภา และได้ มีพระบรมราชโองการให้ ตราเป็นพระราช บัญญัติขึ้นไว้ตามที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับลงวันที่ 30มิถุนายน พ.ศ.2494 กรมรถไฟหลวงจึงเปลี่ยนฐานะมาเป็นรัฐวิสาหกิจ ประเภทสาธารณูปการภายใต้ชื่อว่า “การรถไฟแห่งประเทศไทย” ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ.2494 เป็นต้นมา โดยการดำเนิน งานอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.การรถไฟฯ ฉบับ พ.ศ.2494
การสถาปนากิจการรถไฟสยาม กรมรถไฟหลวง และ การรถไฟแห่งประเทศไทย นับตั้งวันแรกที่เริ่มสร้างทางรถไฟจนถึงปัจจุบันเป็นเวลาถึง 124 ปีย่างเข้าสู่ปีที่ 125 (2433 – 2558) การดำเนินงานในช่วงกาลเวลาที่ผ่านมาย่อมมีปัญหาอุปสรรคนานัปการ กว่าจะแก้ปัญหาสำเร็จมาได้ต้องใช้ความสามารถ ความอดทน ความมุ่งมั่นอย่างสูง แต่ด้วยความมุ่งมั่นของบรรพชนรุ่นเก่าก่อนที่มีจิตสำนึก มีอุดมการณ์ ที่จะรังสรรค์สิ่งมีคุณค่าเพื่อบังเกิดความผาสุกของประชาชนในประเทศ ได้ถูกหล่อหลอมบ่มเพาะกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ความเจริญของประเทศชาติเกิดขึ้นเป็นลำดับ การเดินทางไปมาหาสู่กันได้ง่ายมากขึ้นด้วยการคมนาคมหลากหลายรูปแบบโดยมิได้มีข้อจำกัดแต่เพียงรถไฟ ประกอบกับการปฏิวัติพัฒนาอุตสาหกรรม ทำให้เกิดนวัตรกรรมสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ ซึ่งทำให้การเดินทาง การขนส่ง สะดวกรวดเร็วขึ้นเป็นลำดับ อย่างไรก็ตามการเดินทางและการขนส่งทางรถไฟก็ยังคงทำหน้าที่กับการขนส่งด้านอื่นๆควบคู่กันไป เพราะต่างประจักษ์ทั่วกันว่าการขนส่งทางรถไฟทั้งปลอดภัย ประหยัด แต่ละประเทศต่างก็พยายามที่จะพัฒนากิจการรถไฟของตนให้ก้าวล้ำนำสมัยอยู่เสมอ โดยเฉพาะประเทศที่เจริญแล้วและมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี
ในทวีปเอเชีย ประเทศไทยเป็นประเทศแรกๆที่มีการนำเอาการขนส่งทางรถไฟมาใช้ในการพัฒนาประเทศ หลายประเทศได้เคยมาศึกษาดูงานที่ประเทศไทย ที่มีความสามารถในการสร้าง การซ่อมรถไฟ รวมทั้งผลิตอุปกรณ์ต่างๆได้เอง ซึ่งเป็นความยิ่งใหญ่ในอดีตที่ประชาชนชาวไทยภาคภูมิใจ และนานาประเทศต่างชื่นชมถึงความก้าวหน้าและความสำเร็จ
ยุคสมัยเปลี่ยนไป การพัฒนาที่ไม่ได้มุ่งเน้นการสร้างความยั่งยืนบนการพึ่งพาตนเองของผู้มีอำนาจรัฐบาลในยุคต่อมาต่างเย็นชาต่อการพัฒนากิจการรถไฟ ไม่มีนโยบายและการสนับสนุนส่งเสริมที่ดีพอ กิจการรถไฟถูกปล่อยให้อยู่ในสภาวะที่ตกต่ำ ต้องบริหารดำเนินงานภายใต้ทรัพยากรที่จำกัด จนทำให้ศักยภาพของการรถไฟแห่งประเทศไทยอยู่ในสภาวะที่ไม่อาจเป็นกิจการขนส่งหลักของประเทศได้อีกต่อไป การปรับลดงบประมาณทำให้การรถไฟฯ ไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้ ประกอบกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกภายใต้ลัทธิทุนเสรีนิยมยิ่งทำให้การรถไฟฯ ทรุดโทรมลงเร็วกว่าที่คิด ขบวนการหาประโยชน์ของกลุ่มทุน นักการเมือง ขบวนการแปรรูปการถไฟฯเพื่อแปลงสภาพกิจการของรัฐให้ เป็นของกลุ่มทุนเอกชนกระทำกันอย่างเป็นขั้นตอน แม้จะถูกต่อต้านจากสหภาพแรงงานฯ และพนักงาน แต่ขบวนการหาประโยชน์เหล่านี้ก็พยายามหาวิธีการอย่างพลิกแพลง ซ่อนเร้น ยังมิอาจสลัดคราบไคลความสกปรกโสมมของกลุ่มคนหาประโยชน์เหล่านี้ออกไปได้
การพัฒนาอย่างเชี่ยวกรากของลัทธิทุนเสรีนิยมที่สุดแล้ว ต่างก่อให้เกิดปัญหาทั่วทุกด้าน ทั้งเศรษฐกิจสังคม การเมือง วัฒนธรรม และก่อให้เกิดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมอย่างน่ากลัว ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้นับวันจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ทั้งแผ่นดินไหว ภัยแล้ง น้ำท่วม หิมะตก อุณหภูมิโลกเปลี่ยนแปลงผันผวน โรคภัยต่างๆ อันเป็นผลพวงมาจากมลภาวะของมวลอากาศโลกที่ร้อนระอุขึ้น ซึ่งสาเหตุหลักอันสำคัญมาจากการปล่อยสารคาร์บอนไดออกไซด์ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศของโลก และสารที่ว่ามาจากการใช้พลังงานอย่างฟุ่มเฟือย เสรี โดยไม่มีการวางแผน เมื่อเป็นดังนั้นทั่วทั้งโลกต่างใคร่ครวญทบทวนถึงทิศทางการพัฒนาและภาวะความเปลี่ยนแปลงของอากาศโลกและตระหนักถึงธรรมชาติมากขึ้นซึ่งเป็นกระแสทั่วทั้งโลกที่เรียกว่า“กระแสสีเขียว”
การขนส่งก็เช่นเดียวกัน หลังจากที่ตกหลุมดำ หลงทิศผิดทางกับการขนส่งทางถนนจนยวดยานพาหนะวิ่งกันขวักไขว่ สูญเสียพลังงานและปล่อยสารที่มีผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมอย่างมหาศาล มีการค้นคว้า วิจัยออกมาจากนักวิทยาศาสตร์ถึงจุดอวสานพลังงานจากฟอสซิล และภัยพิบัติของโลก จนทำให้เกิดการปฏิวัติของการขนส่งทั่วทั้งโลกโดยเน้นไปที่ “รถไฟ หรือ การขนส่งทางราง” ปัจจุบันและอนาคตคือทิศทางใหม่ ทิศทางใหญ่ประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน ในช่วงระยะเวลาเกือบทศวรรษที่ผ่านมาการขนส่งทางรางคือทิศทางของประเทศ จะเห็นได้จาก รัฐธรรมนูญที่ผ่านมา แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นโยบายของรัฐบาลแต่ละชุดจะเห็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น หลังจากที่หลงผิด ลอกเลียนทิศทางตะวันตกมาอย่างยาวนาน แม้กระทั่งนักวิชาการข้าราชการบางคนก็เช่นกัน ปัจจุบันดูเหมือนว่าจะสำนึกได้และพยายามจะล้างตัวเองให้สะอาดจากคราบไคลตะวันตก คราบไคลแห่งการหลงผิด พยายามเสนอทิศทางใหม่ในการบริหารจัดการขนส่งของประเทศ จะทำได้ดีแค่ไหนคงรอวันพิสูจน์
เมื่อการขนส่งทางรางเป็นทิศทางใหม่ ทิศทางใหญ่ของโลกและประเทศไทย ก็ย่อมเป็นธรรมดาที่นักแสวงหาค้ากำไร เล็งผลเลิศ ของบรรดาพ่อค้า นักธุรกิจ กลุ่มทุนทั้งในชาติและข้ามชาติต่างมองเห็นช่องทางที่จะสร้างความร่ำรวยมั่งคั่งได้ แต่ในช่วงการดำรงอยู่ของกิจการรถไฟของประเทศไทยรายใหญ่ที่กุมทั้งมูลค่าทรัพย์สินและเส้นทางเดินรถไว้มากที่สุดครอบคลุมทั้งประเทศคือ “การรถไฟแห่งประเทศไทย” ดังนั้นการเข้าไปแสวงหาประโยชน์จึงทำได้ไม่ง่ายนัก เพราะอย่างน้อยมีกฎหมาย 2 ฉบับ ที่เป็นปราการด่านหน้าที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง คือ พ.ร.บ. จัดวางรางรถไฟและทางหลวง พ.ศ.2464 ที่บัญญัติถึงกรรมสิทธิ์ การครอบครอง การได้มาซึ่งทรัพย์สินทั้งหลายและห้ามไม่ให้เอกชนเขามาแสวงหา ครอบครองกรรมสิทธิ์ได้โดยง่าย และ พ.ร.บ.การรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ.2494 ที่บัญญัติถึงความสัมพันธ์กับรัฐบาล การบริหารจัดการ และการดำเนินงานขององค์การ รวมทั้งสิทธิประโยชน์ของต่างพนักงาน ดังนั้นการเข้ามาจึงมีขั้นมีตอน มีกระบวนการอย่างน่าสนใจ
หนังสือเล่มนี้เป็นความพยายามอย่างมุ่งมั่น อย่างมีอุดมการณ์ของสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.) ที่จะปกป้องไว้ซึ่งผลประโยชน์ของประเทศชาติ ความผาสุกของประชาชน และความมั่นคงของพนักงาน พยายามศึกษาวิเคราะห์ให้เห็นถึงผลดี ผลเสีย อันจะกระทบต่อผลประโยชน์ร่วมกันของสังคม เพราะ สร.รฟท. ก็เติบโตพัฒนาการ และรับทราบเรื่องราวต่างๆควบคู่กับกิจการรถไฟมาตลอดระยะเวลา เป็นคนในที่รับรู้ข้อมูลและทราบถึงผลกระทบด้านต่างๆที่จะเกิดขึ้นจากทิศทางทางการเปลี่ยนแปลงและมีประสบการณ์จากการแลกเปลี่ยนกับพันธมิตรการขนส่งทั่วโลกในโครงข่ายสมาชิกสหพันธ์แรงงานขนส่งระหว่างประเทศ (InternationTransport workers’ Federation : ITF) และ สหภาพแรงงานรถไฟโลก (International Railway workers’Unions : IRU) ดังนั้น ความเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นกฎเกณฑ์ของสรรพสิ่งทุกสรรพสิ่งไม่อาจหลุดพ้นจากการเปลี่ยนแปลงได้ แต่การเปลี่ยนแปลงนั้นจะส่งผลกระทบด้านดีหรือเกิดความเสียหาย หรือไม่ เพียงใดก็ขึ้นอยู่กับผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ หนังสือเล่มนี้จึงมีคุณค่ายิ่งที่จะศึกษาทำความเข้าใจ เพื่อให้ความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเป็นที่ยอมรับกันได้ อยู่ร่วมกันได้ เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมทั้งในวันนี้และในวันหน้า
ด้วยจิตคารวะ
สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย (สร.รฟท.)
12 กุมภาพันธ์ 2558
คลิกอ่าน >> srut protest
“ทำไม ฅนรถไฟไม่เอากรมราง”
หนังสือปกดำ : จากคนรถไฟ สู่ความจริงที่สังคมต้องรับทราบ