20 ปีของโศกนาฏกรรมเคเดอร์ : ความรุนแรงเชิงโครงสร้าง ปัญหาและทางออก

P5160543

วรวิทย์ เจริญเลิศ ที่ปรึกษาสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยฯ

วันที่ 10 พฤษภาคม 2536 เป็นวันที่สำคัญหนึ่งในประวัติศาสตร์ของขบวนการแรงงาน เป็นวันครบรอบ 20 ปีของโศกนาฏกรรมเคเดอร์ ในวันนั้นได้เกิดเพลิงไหม้ขึ้นในโรงงานผลิตตุ๊กตาของเด็กเล่น โครงสร้างของโรงงานเป็นเหล็กเปลือยที่ถูกนำมาประกอบเป็นอาคาร 4 ชั้น ได้พังทลายลงอย่างรวดเร็วหลังเกิดเหตุเพลิงไหม้จากชั้นล่าง ทำให้คนงานส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงเสียชีวิตทันที 188 คน บาดเจ็บกว่า 350 คนและพิการถาวรอีกจำนวนหนึ่ง นับได้ว่าเป็นโศกนาฏกรรมที่ร้ายแรงในประวัติศาสตร์ของการพัฒนาอุตสาหกรรม บริษัทเคเดอร์อินดัสเตรีลย์ (ประเทศไทย) ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากรัฐบาล เป็นการร่วมลงทุนระหว่างกลุ่มทุนในฮ่องกงกับกลุ่มทุนใหญ่ในประเทศไทย เพื่อเข้ามาใช้ไทยเป็นฐานการผลิต ใช้แรงงานราคาถูกเพื่อผลิตสินค้าตามใบสั่งซื้อสินค้าจากบรรษัทข้ามชาติในสหรัฐฯ คณะกรรมการรณรงค์เพื่อช่วยเหลือคนงานเคเดอร์ได้ถูกจัดตั้งขึ้น 2 วันหลังเหตุการณ์เพลิงไหม้ ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างนักสหภาพแรงงาน องค์กรพัฒนาเอกชนและนักวิชาการเพื่อให้คนงานที่บาดเจ็บและครอบครัวของผู้ที่เสียชีวิตได้เข้าถึงการเยียวยา เข้าถึงสิทธิ เพื่อนำนายจ้างมารับผิดตามกฎหมาย และการชดเชยการสูญเสียชีวิตคนงานอย่างเป็นธรรม 20 ปีนับตั้งแต่โศกนาฏกรรมเคเดอร์ มีคำถามใหญ่ๆอยู่ 3 คำถาม

เราได้เรียนรู้อะไรจากโศกนาฏกรรมเคเดอร์ ซึ่งเป็นความหายนะแห่งมนุษยชาติ ? 20 ปีที่ผ่านมา ขบวนการแรงงานได้ประสบความสำเร็จอย่างไรบ้างในการต่อสู้ด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน และ มีอะไรบ้างที่ยังไม่ได้ทำและจะต้องทำในอนาคตเพื่อไม่เกิดโศกนาฏกรรมฯ เช่นนี้อีก

P5100134P5100184

1) สังคมได้เรียนรู้อะไรจากโศกนาฏกรรมเคเดอร์ ? โศกนาฏกรรมเคเดอร์ ไม่ได้เป็นกรณีหรือ เหตุการณ์เดียวที่ไฟไหม้โรงงาน ทำให้เกิดการสูญเสียชีวิตของคนงานจำนวนมากและก็ไม่ใช่ครั้งสุดท้ายเมื่อคำนึงถึงสถานการณ์ด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงานในประเทศไทย และในหลายๆประเทศในภูมิภาคแถบนี้ 6 เดือนหลังเคเดอร์ เกิดไฟไหม้ที่โรงงานผลิตของเด็กเล่นในเขตเศรษฐกิจพิเศษของจีน ทำให้คนงานเสียชีวิต 62 คน (The Zhili Fire) โรงงานอบแห้งลำไยระเบิดที่สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ คนงานเสียชีวิต 36 คน ฯลฯ ในวันที่ 24 เมษายนที่ผ่านมา ในบังคลาเทศ ตึกที่เป็นที่สถานที่ตั้งของโรงงานทอผ้า 5 บริษัทได้พังถล่มลงมา ทำให้คนงานเสียชีวิตกว่า 900 คนท่ามกลางกองอิฐและฝุ่น เรากำลังเผชิญกับ “ความเสี่ยง” ที่นำมาสู่โศกนาฏกรรมของคนงาน เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นแบบซ้ำซากในสังคมปัจจุบัน มันเป็นความหายนะที่ถูกสร้างขึ้นมาโดยมนุษย์ด้วยกันและไม่ใช่ธรรมชาติ ดังนั้น จึงสามารถป้องกันและหลีกเลี่ยงได้ แต่มันก็ไม่เกิดขึ้นเพราะอะไร ? แต่ผู้ที่รับเคราะห์และผู้ถูกกระทบส่วนใหญ่คือ คนงาน ครอบครัวของเขาและชุมชนที่อาศัยอยู่รอบๆโรงงาน (working poor) เรากำลังเผชิญกับโครงสร้าง ระบบที่มีลักษณะเฉพาะที่กำเนิดขึ้นมาพร้อมๆกับการพัฒนาอุตสาหกรรม ทำการผูกขาดทั้งอำนาจทางการเมืองและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ บางคนอาจนิยามระบบใหม่นี้ว่า “สังคมสมัยใหม่” (สังคมอุตสาหกรรม)  บ้างก็ว่าเป็น “ปาฏิหาริย์แห่งเอเชีย” (เร่งรัดการเติบโต ส่งออก) แต่ส่วนสำคัญของปรากฏการณ์นี้คือ ทุนนิยมและโลกาภิวัตน์ ทุนนิยมเป็นระบบเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนบนตรรกะของการแสวงหากำไรสูงสุดจากการผลิตสินค้า ภายใต้ความสัมพันธ์ที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างนายทุนผู้เป็นเจ้าของทุนกับแรงงานรับจ้างที่ไร้กรรมสิทธิ์และถูกขูดรีด ซึ่งนิยามความเป็นชนชั้น (social classes)

P5160548โรงแรม

นับตั้งแต่ระบบทุนนิยมอุบัติขึ้นมาในโลก ก็มีขอบเขตของความเป็นสากล เป็นระบบเศรษฐกิจของการแข่งขัน เติบโตและขยายตัว ในปัจจุบัน ก็ข้ามชาติ หรือ โลกาภิวัตน์ ในความหมายที่ว่าทุกภาคส่วนของโลกถูกผนวกเข้ากับกระบวนการสะสมทุนในลักษณะ “การเป็นหุ้นส่วน” หรือ ผู้ผลิตหนึ่งในการเพิ่มมูลค่าในระบบ “ห่วงโซ่สินค้า” และผู้บริโภคในสังคมบริโภคนิยม ภายใต้โลกาภิวัตน์ของทุน ทุกประเทศจึงมีโครงสร้าง ระบบและวิธีคิดแบบเดียวกัน แม้ในระบบทุนนิยม เศรษฐกิจจะถูกแยกจากการเมือง เศรษฐกิจเป็นเรื่องของกลไกตลาดแต่ในหลายๆกรณีรัฐกับทุนต่างก็มีผลประโยชน์เดียวกัน ดังนั้น กรณีเคเดอร์ในไทย โรงงาน Zhili ในจีนและโรงงานทอผ้าในบังคลาเทศ ก็เป็นโรงงานผลิตและส่งออกโดยรับใบสั่งซื้อสินค้ามาจากบรรษัทข้ามชาติ ภายใต้ “ระบบห่วงโซ่สินค้า” บรรษัทข้ามชาติได้แปลงตัวเองมาเป็น “ผู้ซื้อสินค้า” (buyer) และไม่ใช่ “นายทุน” (capitalist) ดังนั้น เมื่อเกิดปัญหา จึงไม่สามารถโยงหาความรับผิดชอบหรือความสัมพันธ์เชิงกฎหมายไปสู่ต้นทางของห่วงโซ่สินค้า หรือบรรษัทข้ามชาติได้ อาจจะเอาผิดได้กับ “ผู้รับจ้างผลิต” หรือ นายทุนที่ย้ายฐานการผลิตเข้ามาตั้งโรงงาน แต่เมื่อเกิดปัญหาขึ้น นายทุนต่างชาติเหล่านี้ “จะเก็บกระเป๋าแล้วหนีกลับบ้าน” แม้ว่า การต่อสู้ของผู้ใช้แรงงานและญาติคนงานที่เสียชีวิตจะสามารถสร้างเครือข่ายในระดับภูมิภาคและสากล และกดดันให้บริษัทฯยอมรับที่จะดำเนินการตามข้อเรียกร้องที่ได้มีการเจรจากัน เช่น ค่าชดเชยนอกเหนือกฎหมาย ค่าเล่าเรียนและค่าเลี้ยงดูบุตรระหว่างการศึกษา ฯลฯ ดังเช่น กรณีของเคเดอร์ ซึ่งก็ได้กลายมาเป็นมาตรฐานการชดเชยให้กับกรณีอื่นๆ เช่นกรณีโรงแรมถล่มที่โคราช โรงแรมรอยัลพล่าซ่าไฟไหม้ที่หาดจอมเทียน และกรณีโรงงานลำไยระเบิดที่สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ แต่สิ่งที่ยังขาดหายไปคือ “กฎหมายอาชญากรทางเศรษฐกิจ” ระหว่างประเทศ  ที่จะสามารถนำตัวนายทุนที่กระทำผิดมารับโทษในประเทศได้เพราะการทำให้คนงานต้องเสียชีวิตด้วยความประมาทสามารถถือได้ว่าเป็นการก่ออาชญากรรม สำหรับกองทุนเงินทดแทน จะต้องมีการแก้กฎหมายเพิ่มบทลงโทษนายจ้างที่กระทำการละเมิด เช่น ไม่ทำการจดทะเบียนหรือจ่ายเงินสมทบรวมทั้งการละเลยกฎหมายทางด้านความปลอดภัยให้มีโทษหนักขึ้น เพิ่มสิทธิประโยชน์การชดเชยการสูญเสียรายได้ให้เป็นตลอดชีวิตเพื่อความมั่นคงของครอบครัวคนงานที่เสียชีวิตและขยายเพดานการรักษาพยาบาล ให้คณะกรรมการแพทย์ของกองทุนเงินทดแทนมาจากกระบวนการสรรหา ขณะเดียวกัน กองทุนเงินทดแทนจะต้องมีบทบาทมากขึ้นในการส่งเสริมการทำงานเชิงการป้องกันโดยเฉพาะการจัดสรรเงิน ร้อยละ 30 ของดอกผลที่ได้รับจากเงินฝากเป็นรายปีให้กับสถาบันความปลอดภัยฯที่จะมีการจัดตั้งขึ้นตามพ.ร.บ. ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานเพื่อให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและบรรลุเป้าหมายการทำงานเชิงการป้องกัน รวมทั้งรัฐบาลต้องมีนโยบายระยะยาวในการจัดสวัสดิการเพื่อฟื้นฟูคนงานและครอบครัวผู้ถูกกระทบให้มีความมั่นคงในชีวิต

โคราช

2) ขบวนการแรงงานได้ประสบความสำเร็จอย่างไรบ้างในช่วง 20 ปีหลังโศกนาฏกรรมเคเดอร์?  2 วันหลังจากเหตุการณ์เพลิงไหม้โรงงานเคเดอร์  ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการช่วยเหลือคนงานเคเดอร์ ประกอบด้วยผู้นำแรงงาน องค์กรพัฒนาเอกชนและนักวิชาการ มีการผลักดันให้รัฐบาลจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือคนงานเคเดอร์ขึ้นในพื้นที่ และแต่งตั้งคณะกรรมการเจรจาสิทธิประโยชน์นอกเหนือกฎหมาย ขณะเดียวกัน ก็มีการรวมกลุ่มญาติคนงานที่เสียชีวิตเพื่อทำข้อเรียกร้องในการเจรจากับบริษัทฯ ในเวลาต่อมา ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการรณรงค์สุขภาพความปลอดภัยในการทำงาน ให้รัฐบาลประกาศวันที่ 10 พฤษภาคม  เป็นวันความปลอดภัยแห่งชาติ และให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการความปลอดภัยแห่งชาติ ฯลฯ แต่กรณีเคเดอร์ ไม่ได้นำมาสู่การจัดตั้ง “องค์กรของผู้ถูกกระทบ” (victim group) ดังเช่น กรณีของโรงงานไฟไหม้ที่ประเทศจีน (Zhili Fire) ที่คนงานหญิงที่พิการได้ลุกขึ้นมารวมกลุ่มตั้งเป็น “องค์กรผู้ถูกกระทบ” เรียกร้องความเป็นธรรมเพื่อให้มีการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า การแก้กฎหมายเงินทดแทน การฟื้นฟูและเยียวยา ฯลฯ แต่ภายหลังเคเดอร์

P5100153P5100118

ในประเทศไทย มีการรวมกลุ่มของคนงานที่เจ็บป่วยด้วยโรคฝุ่นฝ้ายจัดตั้งเป็น “องค์กรกลุ่มผู้ป่วย” ภายใต้ชื่อ “สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงาน อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อมแห่งประทศไทย ซึ่งทำงานในเชิงการรวมกลุ่มผู้ป่วยและชุมชนผู้ถูกกระทบจากการพัฒนาเพื่อให้เข้าถึงสิทธิและการวินิจฉัยจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ การสร้างจิตสำนึกด้านความปลอดภัยในการทำงาน การสร้างเครือข่ายด้านสุขภาพ และการผลักดันผ่านสมัชชาคนให้รัฐบาลตั้งคณะกรรมการเพื่อยกร่างกฎหมายที่จะนำมาสู่การจัดตั้งมีสถาบันความปลอดภัยฯ ที่เป็นองค์กรอิสระและการมีส่วนร่วม ทำงานทั้งในเชิงการรณรงค์ การรับเรื่องราวร้องทุกข์ การพัฒนาทางด้านบุคลากรด้านความปลอดภัย การสร้างฐานข้อมูล จัดอบรมและการวิจัย ฯลฯ กล่าวได้ว่า โศกนาฎกรรมเคเดอร์ได้เป็นแรงดลใจให้เกิดขบวนการเคลื่อนไหวของผู้ใช้แรงงานโดยแฉพาะความร่วมมือกันระหว่างสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยฯกับคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยเพื่อผลักดันให้มีการปฏิรูประบบสุขภาพและความปลอดภัยในการทำงานโดยเฉพาะการจัดตั้งสถาบันความปลอดภัยที่เป็นอิสระและมีส่วนร่วมของผู้ใช้แรงงาน

P5160538

3) ภารกิจในอนาคต 20 ปีภายหลังโศกนาฏกรรมเคเดอร์ ประเทศไทยได้มีการตราออกกฎหมายต่างๆเกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงาน เช่น ให้มีการจัดตั้งเจ้าหน้าที่และคณะกรรมการความปลอดภัยในสถานประกอบการ การจัดอบรม การออกพ.ร.บ.ความปลอดภัยเพื่อเป็นกฎหมายแม่บท รวมทั้งให้มีการจัดตั้งสถาบันความปลอดภัยที่มีความเป็นอิสระ ซึ่งก็เป็นความก้าวหน้าในเชิงกฎหมายและการพัฒนาทางสถาบัน แต่ก็ยังคงมีช่องว่างระหว่างกฎหมายกับความเป็นจริงในสังคม ในที่นี้ จะขอกล่าวถึงในบางประเด็น

ประการแรก ถ้าพิจารณาสถิติการประสบอันตรายจากการทำงานภายใต้กองทุนเงินทดแทน พบว่าจำนวนผู้ประสบอันตรายจากการทำงานได้ลดลงจาก 245,616 รายในปี 2539 หรือ ร้อยละ 4.5 ของลูกจ้างทั้งหมด(ช่วงการเร่งรัดการเติบโตเศรษฐกิจ การส่งออก) มาเหลือ 146,511 รายในปี 2553 หรือ ร้อยละ1.79 ของลูกจ้างทั้งหมด แต่ผู้ป่วยด้วยโรคจากการทำงานโดยเฉพาะการทำงานที่สัมผัสกับสารเคมี ฝุ่นฝ้าย ฝุ่นหิน ฯลฯในแต่ละปี มีผู้ป่วยจำนวนน้อยมากที่ได้รับการวินิจฉัยเจ็บป่วยด้วยโรคจากการทำงานและทดแทน  ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะว่าคนงานเองไม่ทราบว่าตัวเองป่วย หรือ คนงานมีอาการเจ็บป่วยแต่ไม่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคจากการทำงาน และถูกส่งไปใช้สิทธิประกันสังคม หรือ ถ้าโรงงานไม่ขึ้นทะเบียนไว้กับประกันสังคม ก็ถูกส่งไปใช้การรักษาภายใต้โครงการ 30 บาท หรือ กรณีที่คนงานได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่าเป็นโรคจากการทำงานแต่กลับไม่ได้รับการรับรองการเจ็บป่วยจากคณะกรรมการแพทย์ของกองทุนเงินทดแทน ฯลฯ อาจเป็นได้ว่า กฎหมายและสถาบันที่ถูกสร้างขึ้นมากลับมาสร้างอุปสรรคให้กับคนงานและคนป่วยในการเข้าถึงสิทธิ

ธีรนาถ

ในปัจจุบัน แม้จะมีความพยายามในส่วนของภาคราชการเพื่อให้เกิดโครงสร้างของการทำงานในเชิงการป้องกัน เช่น ให้มี เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับวิชาชีพ (จป.) และ คณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (คปอ.) ในโรงงาน แต่ก็ไม่ได้ให้อำนาจที่จะเข้าไปจัดการกับความไม่ปลอดภัยในโรงงานอย่างแท้จริง ในส่วนของคณะกรรมการความปลอดภัย ยังคงเปิดโอกาสให้นายจ้างเข้าไปมีบทบาทและอิทธิพลสูงในการกำหนดการทำงานของคณะกรรมการฯโดยเฉพาะในโรงงานที่ไม่มีสหภาพแรงงาน

P5100109สถาบัน

การจัดตั้งสถาบันความปลอดภัย ซึ่งจะเกิดขึ้นโดยมีการกำหนดไว้ในมาตรา 52 ของพ.ร.บ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน ซึ่งในร่างกฎหมายของสถาบันฯ ที่ถูกยกร่างภายใต้การดำเนินการของกระทรวงแรงงานยังคงถูกตั้งคำถามจากผู้ใช้แรงงานเรื่องของความเป็นอิสระในการทำงาน โดยเฉพาะคณะกรรมการบริหารสถาบันที่ไม่ได้มาจากระบวนการการสรรหา การไม่ให้อำนาจกับสถาบันในการเข้าไปในโรงงานเพื่อทำการศึกษา หาข้อมูลความไม่ปลอดภัยในการทำงาน โดยเฉพาะผ่านการรับเรื่องราวร้องทุกข์ และการจัดสรรงบประมาณโดยตรงจากรัฐบาล และกองทุนเงินทดแทนเพื่อให้สถาบันฯสามารถบรรลุภารกิจในการทำงานเชิงการป้องกัน แต่สถาบันความปลอดภัยฯ กลับถูกคาดหวังโดยรัฐบาลให้ทำงานวิจัยและวิชาการ ในปัจจุบัน เราอยู่ในสังคมอุตสาหกรรมหรือทุนในยุคโลกาภิวัตน์  ในสังคมสมัยใหม่ การจัดองค์ความรู้ได้ถูกดึงออกไปจากบริบทและความสัมพันธ์ทางสังคมเพื่อไปอยู่ในมือของผู้เชี่ยวชาญ (experts) เพื่อสร้างระบบ มาตรฐาน และกฎเกณฑ์เพื่อให้ทุกคนปฏิบัติตาม ขณะที่ระบบเศรษฐกิจก็วางอยู่บนการแข่งขัน การลดต้นทุนเพื่อแสวงหากำไรสูงสุด ทำให้เกิดความเสี่ยงและโศกนาฏกรรมแห่งมนุษยชาติ (human disaster) ซึ่งมนุษย์เองเป็นผู้สร้าง สามารถป้องกัน หรือ หลีกเลี่ยงได้แต่ก็ไม่ได้ทำ ขบวนการแรงงานจะฝากความหวัง ความไว้เนื้อเชื่อใจกับระบบและ “ผู้เชี่ยวชาญ” หรือ รัฐที่ล้มเหลว (State failure) ภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ หรือ ขบวนการแรงงาน และองค์กรผู้ป่วยและผู้ถูกกระทบ จะต้องลุกขึ้นมาจับมือกันและผลักดันให้เกิดมิติต่างๆของการมีส่วนร่วมในการจัดการเรื่องสุขภาพและความปลอดภัยในการทำงาน  รวมทั้งการสร้างความเข็มแข็งการทำงานร่วมกับองค์กรและเครือข่ายในระดับภูมิภาคเพื่อสร้างความมั่นคงในชีวิตของทุกคน

*****************