คสรท.ประณามสภาฯไม่รับร่างพ.ร.บ.ประกันสังคม นัดชุมนุมใหญ่ 3 เม.ย.

ภายหลังจากการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 21 มีนาคม พ.ศ.2556 ที่ผ่านมา ได้มีการลงมติในวาระที่ 1 ไม่รับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ของนางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย  กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 14,264 คน ทำให้ร่างพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวนี้ตกไป

DSCN3683 DSCN3644

DSCN1924 DSCN3675

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย  นำโดย นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย  ในฐานะผู้เสนอร่างกฎหมายดังกล่าว  จึงจัดแถลงข่าว“ประณามกระบวนการนิติบัญญัติไทย กรณีที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรไม่รับร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม ฉบับ 14,264 รายชื่อ  ในวันที่ 26 มีนาคม 2556  ณ ห้องประชุมศุภชัย  ศรีสติ มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย ถ.นิคมมักกะสัน  กรุงเทพฯ  โดยมีเหตุผลดังต่อไปนี้

ร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม ฉบับ 14,264 รายชื่อ เป็นกฎหมายแรงงานฉบับแรกของประเทศไทยที่เสนอสู่รัฐสภา ภายหลังจากการมีรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 หลักการสำคัญของรัฐธรรมนูญ ในเรื่องประชาธิปไตยทางตรง ที่กำหนดให้ประชาชนมีสิทธิใช้อำนาจอธิปไตยทางตรง คู่ขนานไปกับประชาธิปไตยทางอ้อมที่ใช้อำนาจผ่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แต่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นประชาธิปไตยทางอ้อม กลับใช้อำนาจของตนทำลายอำนาจของประชาชน เท่ากับว่าสิทธิในการเข้าชื่อเสนอกฎหมายของประชาชนตามรัฐธรรมนูญได้ถูกทำลายลงด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เป็นภาพสะท้อนว่า  ถ้ากฎหมายฉบับใดที่ประชาชนร่างขึ้นมา ไม่ถูกใจสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กฎหมายฉบับดังกล่าวก็จะไม่ถูกพิจารณาในรัฐสภาฯโดยทันที  ถือเป็นการกีดขวางการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างยิ่ง

สิทธิการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน  เป็นสิทธิที่ถูกให้ความสำคัญมาโดยตลอด  ทั้งนี้สิทธิการเข้าชื่อเสนอกฎหมายถือเป็นพัฒนาการสำคัญของกระบวนการนิติบัญญัติ  โดยมีเป้าหมายเพื่อชดเชยจุดอ่อนของระบบ“ประชาธิปไตยตัวแทน” ซึ่งในทางหนึ่ง คือ การมอบอำนาจให้แก่ “นักเลือกตั้ง” ซึ่งสัมพันธ์โยงใยกับปัญหาการซื้อสิทธิ์ขายเสียง การคอร์รัปชั่น และความล้มเหลวในการบริหารประเทศจนนำไปสู่วิกฤตการเมืองซ้ำซาก  ดังนั้นกระบวนการเสนอกฎหมายภาคประชาชนถือเป็น “ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม” ที่ถูกนำมาใช้เพื่อถ่วงดุลกับ “ประชาธิปไตยตัวแทน” ซึ่งถูกมองว่าถูกครอบงำโดยอำนาจ “รัฐ” และ “ทุน” แต่ในทางปฏิบัติกลับพบว่า อำนาจรัฐจึงไม่ได้เชื่อมโยงกับประชาชนอย่างแท้จริง การนำเสนอกฎหมายภาคประชาชนกลับถูกสกัดกั้น เพราะขั้นตอนตามกระบวนการนิติบัญญัติที่เปิดโอกาสให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กลายเป็นผู้คัดกรองร่างกฎหมายภาคประชาชนว่าฉบับใดจะสามารถเข้าสู่กระบวนการพิจารณาได้ ถ้าร่างกฎหมายฉบับใดที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่เห็นด้วยหรือไม่ต้องการให้ร่างกฎหมายนั้นๆ ผ่านขั้นตอนไป ก็จะลงมติไม่รับหลักการเพื่อให้ร่างประชาชนไม่ได้รับการพิจารณา

ในทางการเมืองผู้แทนราษฎรถือว่าเป็น “ตัวแทน” หรือ “บ่าว” ของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง แต่ในทางกระบวนการนิติบัญญัติ กลับพบว่า ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งซึ่งเป็นผู้เข้าชื่อเสนอร่างกฎหมาย มีฐานะเสมือนเป็น “บ่าว” ของสภาผู้แทนราษฎร เพราะมีการบัญญัติไว้ว่าร่างพระราชบัญญัติที่เสนอโดยประชาชน จะต้องได้รับความเห็นชอบโดยสภาผู้แทนราษฎร  สภาผู้แทนราษฎรจะเป็นผู้ตัดสินใจในขั้นตอนสุดท้ายอยู่เช่นเดิม  ซึ่งพบว่าสภาผู้แทนราษฎรจะให้ความเห็นชอบเฉพาะร่างกฎหมายที่ใกล้เคียงกับความต้องการของตนมากกว่าความต้องการของประชาชน   ดังนั้น สภาผู้แทนราษฎรก็จะขัดขวางการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติที่ประชาชนเสนอ ดั่งเช่นร่างกฎหมายประกันสังคมฉบับที่เสนอโดยผู้ใช้แรงงานฉบับนี้

การปฏิเสธไม่รับร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม ฉบับ 14,264 รายชื่อ ถือเป็นภาพสะท้อนสำคัญที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนมากยังขาดความรู้ต่อสาระสำคัญของกฎหมาย จึงทำให้ไม่สามารถพิจารณากฎหมายได้อย่างมีประสิทธิผล และมีความสามารถจำกัดในการนำเสนอแนวทางเพื่อเปลี่ยนแปลงแก้ไขร่างกฎหมายที่มีอุปสรรคต่อการเข้าถึงของผู้ประกันตนในปัจจุบัน

ร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม ฉบับ 14,264 รายชื่อ เป็นร่างกฎหมายที่ถูกบรรจุวาระการพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎรมาตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2554 เมื่อเปรียบเทียบกับร่างฉบับคณะรัฐมนตรี และร่างที่เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรโดยตรง ที่เพิ่งบรรจุวาระเมื่อมกราคมและมีนาคมตามลำดับ แสดงถึงการมีเจตนาแอบแฝงในการไม่ให้ความสำคัญกับร่างกฎหมายที่เสนอโดยผู้ใช้แรงงาน  รวมทั้งข้อจำกัดจากรัฐธรรมนูญที่ขาดการบัญญัติว่าร่างกฎหมายที่เสนอโดยภาคประชาชน จะต้องได้รับการพิจารณาจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรตามระยะเวลาที่กำหนด

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม ฉบับ 14,264 รายชื่อ คือ มีความเป็นอิสระของสำนักงานประกันสังคม โดยเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ต้องมาจากการสรรหาจากคณะกรรมการ โดยต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถด้านประกันสังคม มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการสำนักงาน และไม่ใช่เป็นข้าราชการเช่นในปัจจุบัน องค์ประกอบของคณะกรรมการ   ผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นมืออาชีพ มีความเป็นอิสระปราศจากกลุ่มผลประโยชน์    เสนอให้มีการเลือกตัวแทนแรงงาน เข้ามาเป็นตัวแทนของแรงงานได้อย่างแท้จริง และยังครอบคลุมกลุ่มแรงงานทุกกลุ่ม ทั้งในระบบ นอกระบบ ข้ามชาติ ลูกจ้างภาครัฐ ดังนั้นการปฏิเสธร่างกฎหมายฉบับนี้จึงแสดงถึงความไม่เข้าใจความทุกข์ยากของผู้ประกันตนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไม่มีความพยายามในการแก้ไขปัญหาของผู้ประกันตนที่มีมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน

ดังนั้นเพื่อเป็นการใช้ประชาธิปไตยทางตรง เมื่อรัฐสภาไม่เห็นชอบร่างกฎหมายที่ประชาชนเข้าชื่อเสนอ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ร่วมกับคณะทำงาน จึงขอเชิญชวนผู้ใช้แรงงานทุกสาขาอาชีพ เข้าร่วมชุมนุมแสดงประชามติยืนยันสนับสนุนร่างกฎหมายประกันสังคมฉบับ 14,264 รายชื่อ ที่หน้ารัฐสภา ในวันพุธที่ 3 เมษายน 2556 เวลา 09.00 น. เป็นต้นไป และทั้งนี้คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ร่วมกับคณะทำงานจะมีมาตรการเคลื่อนไหวอย่างถึงที่สุด เพื่อแสดงจุดยืนไม่ยอมรับกระบวนการฉ้อฉลทางรัฐสภา ที่ไม่ใส่ใจความทุกข์ยากของพี่น้องประชาชนเช่นนี้

ทั้งนี้ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ได้กำหนดให้มีการชุมนุมใหญ่โดยเชิญชวนผู้ใช้แรงงานทุกสาขาอาชีพ เข้าร่วมชุมนุมเพื่อประชามติยืนยันสนับสนุนร่างกฎหมายประกันสังคมฉบับ 14,264 รายชื่อ ในวันพุธที่ 3 เมษายน 2556 เวลา 09.00-14.00 น ที่หน้ารัฐสภา ถนนอู่ทองใน เขตดุสิต   กทม.

นักสื่อสารแรงงาน  รายงาน