10 ทศวรรษ สตรีสากล เปิดสถานการณ์แรงงานหญิง ข้อเสนอต่อรัฐบาล

โดย  บัณฑิต แป้นวิเศษ หัวหน้าฝ่ายป้องกันการค้ามนุษย์และแรงงานข้ามชาติ มูลนิธิเพื่อนหญิง
 
จากตัวเลขของสำนักงานสถิติแห่งชาติ เมื่อปี 2551 รายงานว่า “ประเทศไทยมีแรงงานสตรีอยู่ในระบบจำนวน 6.33 ล้านคน และมีแรงงานสตรีอยู่นอกระบบอีก 11.09 ล้านคน โดยในจำนวนนี้เป็นแรงงานสตรีที่อยู่ในความคุ้มครองดูแลของกระทรวงแรงงานประมาณ 3.8 แสนคนเท่านั้น  อีกทั้งปัจจุบันสตรีกับสถานภาพการทำงานยังอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ แม้ว่าจะได้รับการศึกษาสูงและบางคนประสบความสำเร็จในการทำงาน แต่สตรีที่เป็นแรงงานอีกจำนวนมากก็ยังคงต้องทำงานหนัก ค่าตอบแทนและประเภทของงานไม่ได้รับการยอมรับให้มีสถานะเท่าเทียมชาย ลักษณะงานของแรงงานสตรี ยังเป็นแบบเก่าที่สืบเนื่องทักษะมาจากงานภาคเกษตร เป็นงานละเอียดอ่อนใช้ทักษะมือ ทำงานซ้ำ ๆ ในลักษณะเดิมแบบสายพานการผลิต ไม่ต้องมีการวางแผนหรือใช้ระบบคิด” ในขณะที่รัฐบาลบอกว่าเศรษฐกิจ และการจ้างงานกำลังขยายตัวในเชิงภาพรวม แต่แรงงานสตรี ซึ่งเป็นกำลังการผลิตทั้งใน และนอกระบบที่มีมากถึง 17.42 ล้านคน กำลังเผชิญปัญหาสำคัญในหลายประการ กล่าวคือ

ประการที่หนึ่ง ปัญหาสุขภาพความปลอดภัยในสถานประกอบการ

มีคนงานที่เจ็บป่วยเป็นโรคจากการทำงานเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะคนงานหญิงที่ทำงานในโรงงานทอผ้า ตัดเย็บเสื้อผ้า เซรามิกส์ กิจการเครื่องประดับและอิเล็กทรอนิกส์ โรคสำคัญที่แรงงานไทยเผชิญอยู่ เช่น โรคปอดอักเสบจากฝุ่นฝ้ายหรือโรคบิสสิโนซิส (Byssinosis) โรคปอดอักเสบจากใยหิน โรคจากพิษสารตะกั่ว ปัจจุบันการตรวจรักษาโรคจากการทำงานยังเป็นปัญหา เนื่องจากขาดแพทย์ที่เชี่ยวชาญด้านอาชีวเวชศาสตร์ อีกทั้งยังมีการฟ้องร้องของนายจ้างว่าคนงานไม่ได้เจ็บป่วยจากการทำงานจริง บางรายต้องเดือดร้อนไปกู้ยืมเงินดอกเบี้ยสูงมารักษาตัว เนื่องจากกองทุนเงินทดแทนให้จ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลไปก่อน ขณะที่บางรายมีอายุมากทนไม่ไหว ลาออกจากงานพร้อมกับโรคที่เกิดจากการทำงานติดตัวมา นายจ้างก็ไม่จ่ายค่าชดเชยให้ เมื่อออกมาอยู่บ้าน ลูกหลานก็ไม่เหลียวแลตกอยู่ในสภาพย่ำแย่ ไม่มีอาชีพที่แน่นอน ไร้ทางออก แม้ว่าจะมีการเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งออกกฎหมายจัดตั้งสถาบันคุ้มครองสุขภาพความปลอดภัย หรือมีคลินิกอาชีวเวชศาสตร์ จำนวน 42 แห่งทั่วประเทศ แต่การประชาสัมพันธ์ หรือการสำรวจย้อนหลังแรงงานที่เจ็บป่วยจากการทำงานในช่วงขาดสิทธิไปเนื่องจาคไม่รู้ว่ามีคลินิก และสิทธิในการรักษาที่นายจ้างต้องรับผิดชอบนั้นยังไม่มีการดำเนินการแต่อย่างใด จากการรวบรวมข้อมูลในหนังสือพิมพ์ มูลนิธิเพื่อนหญิง พบว่ากรณีไม่ปลอดภัยในการทำงานยังคงมีพบอยู่หลายกรณี เช่น การก่อสร้างอาคารที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งใน จ.ชลบุรี ถล่มมีแรงงานข้ามชาติได้รับบาดเจ็บ และเสียชีวิต โรงงานฟอกยีนส์ใน จ.สมุทรปราการ หม้อน้ำระเบิดทำให้มีคนงานตายและบาดเจ็บจำนวนหลายราย  หรือมีผู้ประกอบอาชีพตัดเย็บเสื้อผ้ากลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นแรงงานนอกระบบ กล่าวว่าคนงานหญิงส่วนใหญ่จะเป็นโรคจากการทำงานตั้งแต่ 2 โรคขึ้นไป โดยเฉพาะโรคทางสายตา ปวดกล้ามเนื้อหลัง เอว หรือการปวดประจำเดือนอย่างรุนแรง เมื่อเจ็บป่วยมักไม่หยุดงาน

ประการที่สอง การบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรม และการละเมิดสิทธิแรงงาน

การอาศัยช่องว่างของกฎหมายคุ้มครองแรงงาน เช่น กรณีนายจ้างใช้มาตรา 75 ในกฎหมายคุ้มครองแรงงาน อ้างวิกฤติเศรษฐกิจสั่งคนงานหยุดงานชั่วคราวและจ่ายเงินให้ครึ่งหนึ่งของค่าจ้างรายวันที่ได้รับ นานวันเข้าคนงานทนไม่ไหวกับรายได้ที่ไม่พอยังชีพก็ลาออกไปเองโดยไม่ได้รับค่าชดเชยแต่อย่างใด นับว่าเป็นการลดต้นทุนการผลิตและลดคนงานลงได้อย่างแยบยลที่สุดวิธีหนึ่ง ขณะเดียวกันก็สามารถทำลายอำนาจการต่อรองของสหภาพแรงงานและลูกจ้างไปโดยปริยาย  หรือสถานการณ์การจากการเปิดนโยบาย กรมส่งเสริมการลงทุน (BOI.) ในการขอโควต้านำแรงงานข้ามชาติเข้ามาใช้ทำงานแทนแรงงานไทย ทั้งที่อยู่ในระหว่างพิพาทแรงงานกับสหภาพแรงงาน เป็นที่น่าสนใจว่าแรงงานข้ามชาติส่วนหนึ่งเป็นแรงงานเข้าเมืองแบบผิดกฎหมายที่นายจ้างฉวยโอกาสปะปนเข้ามา เพื่อลดต้นทุนการผลิตและสามารถกดขี่แรงงานได้อย่างเต็มที่ เช่นกรณีของบริษัทแม็กซีสต์ ที่มีแรงงานหลายพันคน จากภาคตะวันออกที่กำลังเรียกร้องความเป็นธรรมกับรัฐบาล ให้เข้ามาช่วยเหลือเจรจายุติข้อพิพาทแรงงานและนำคนงานกลับเข้าทำงานทั้งหมด

การใช้กฎหมายแรงงานสัมพันธ์แก้ไขปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจนั้นนับเป็นความล้มเหลวเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากนายจ้างอาศัยอำนาจทางกฎหมายเข้าแทรกแซงการดำเนินงานของสหภาพแรงงานโดยใช้วิธีการเลิกจ้างผู้นำแรงงานหญิง ใช้ความรุนแรงกับคนงาน และอำนาจรัฐเข้าแก้ไขปัญหา มีการเลือกปฏิบัติในการเจรจาต่อรองที่นายจ้างไม่เคารพในการทำสัญญาข้อตกลง การยื่นข้อเรียกร้องสวนเรียกสวัสดิการคืนจากลูกจ้างทั้งหมด ทำให้คนงานต้องต่อสู้ และใช้การดำเนินการพิพาทแรงงานตามขั้นตอนของกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ หรือไม่ก็อาศัยการฟ้องศาลแรงงานกลาง เช่นกรณีการปิดกิจการของบริษัทเวิลเวลย์ จ.นครปฐม ที่ไม่ยอมจ่ายค่าชดเชยให้กับลูกจ้าง กรณีบริษัทแม็กซีสต์  จ.ระยอง ที่ปิดงานและยื่นข้อเรียกร้องสวนขอสวัสดิการจากลูกจ้างคืนทั้งหมด ทำให้เกิดการพิพาทแรงงาน  ทั้งสองบริษัทนี้มีจำนวนลูกจ้างหญิงมากกว่าร้อยละ50 ของจำนวนแรงงานทั้งหมดที่อาจต้องเผชิญชะตากรรมการถูกเลิกจ้าง ตกงาน จากการไม่เคารพกฎหมายของนายจ้าง และความไร้น้ำยาในการบังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรม

การล่วงละเมิดทางเพศ แม้นจะไม่มีรายงานการล่วงละเมิดทางเพศในแรงงานหญิงไทยออกมามากนัก เนื่องเพราะเรื่องนี้ยังเป็นปัญหาในเชิงทัศนะคติ การไม่ยอมรับจากทางครอบครัว และสังคม โดยเฉพาะกับความมั่นคงในการทำงาน แต่ก็มีข่าวประปรายโดยเฉพาะล่าสุดการออกมาเรียกร้องของพนักงานหญิงการบินไทย เรื่องไม่เห็นด้วยกับการที่บริษัทฯกำหนดให้แอร์โฮสเตสต้องมีรอบเอวไม่เกิน 32 นิ้ว ที่ทางสหภาพแรงงานการบินไทย กำลังดำเนินเรื่องปกป้องสมาชิกสหภาพแรงงานหญิงอยู่ในขณะนี้

การเข้าถึงประกันสังคมของแรงงานที่ถูกเลิกจ้างและคนตกงานซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานหญิง และเข้าส่งเงินสมทบประกันสังคมต่อในมาตรา 39 นั้น คนงานที่ถูกเลิกจ้าง ตกงานได้รวมกันเป็นเครือข่าย และเรียกร้องให้รัฐบาลโดยสำนักงานประกันสังคม เร่งแก้ไขกฎหมายมาตรา 39 อย่างเร่งด่วนเนื่องจากผู้ประกันตนในมาตรานี้ไม่สามารถหารายได้ที่จะส่งเงินสมทบ 2 ส่วน (นายจ้างและลูกจ้าง) จึงขอให้แก้กฎหมายโดยขอส่งเงินสมทบเพียง 1 ส่วนเท่านั้น ซึ่งประเด็นนี้ถือว่าได้รับการสนับสนุนจากสาธารณชน เพราะแรงงานในส่วนนี้มีรายได้และงานที่ไม่มั่นคงอยู่แล้ว ดังนั้นรัฐบาลน่าจะเป็นผู้ช่วยออกการส่งเงินสมทบแทนส่วนที่เป็นของนายจ้าง

ส่วนการคุ้มครองหญิงบริการให้เข้ากฎหมายประกันสังคมโดยมีการรณรงค์เคลื่อนไหวทั้งจากภาคแรงงานหญิงบริการ และองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานเกี่ยวข้องนั้น ยังอยู่ระหว่างการทำประชาพิจารณ์เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการขยายการคุ้มครองประกันสังคมไปสู่แรงงานนอกระบบ ซึ่งขาดโอกาสด้านสวัสดิการจากรัฐ  มูลนิธิส่งเสริมโอกาสผู้หญิง (เอ็มพาวเวอร์) ได้กล่าวว่า “ผู้หญิงที่ประกอบอาชีพบริการต้องต่อสู้ให้ได้สิทธิในระบบประกันสังคมมามากกว่า 5 ปี แต่ไม่เคยสำเร็จ แต่เวลารัฐเก็บภาษีกลับขูดรีดเอากับเจ้าของสถานประกอบการซึ่งก็มาหักหัวคิวกับหญิงภาคบริการอีกทีหนึ่ง จึงไม่เข้าใจว่าทำไมถูกเลือกปฏิบัติทั้งที่เสียภาษี พวกเราจึงอยากเข้าประกันสังคมเหมือนอาชีพอื่น ๆ เหมือนกัน”

ประการที่สาม ความไม่มั่นคงในการทำงาน กับการใช้รูปแบบการจ้างงานที่หลากหลาย

ปัจจุบันคงปฏิเสธไม่ได้ว่ารูปแบบการจ้างงานนั้นนับวันจะมีความซับซ้อนหลากหลายมากยิ่งขึ้น แรงงานหญิงกลายเป็นคนกลุ่มแรกที่ได้รับผลกระทบและถูกมองว่าเป็นแรงงานสำรองขึ้นอยู่กับความต้องการของตลาดแรงงาน  แรงงานหญิงจำนวนมากที่ถูกเลิกจ้างส่วนใหญ่มีอายุมาก ไม่มีฝีมือแรงงาน โอกาสเลือกงานจึงเป็นไปได้น้อย ทำให้แรงงานหญิงเหล่านี้ถูกผลักดันเข้าสู่การจ้างงานแบบนอกระบบ แบบเหมาช่วงการผลิต (Subcontracting) ระบบแบบเหมาค่าแรง ระบบเหมารายชิ้น หรือระบบการทำงานโดยผ่านหัวหน้างานหรือบริษัทนายหน้า ได้รับค่าจ้างต่ำ ขาดสวัสดิการ มีงานทำไม่แน่นอน รับค่าจ้างรายวันหรือเหมาจ่าย ต้องอยู่ในภาวะความเครียดทั้งเรื่องรายได้และสุขภาพความปลอดภัย เนื่องจากต้องใช้ตึกหรือบ้านเป็นสถานที่ทำงานมีลักษณะแออัดไม่ปลอดภัย โดยเฉพาะคนงานอาชีพทำงานบ้านงานที่เกฎหมายคุ้มครองแรงงานยังยกเว้นการคุ้มครองทำให้ไม่ได้รับสิทธิใดๆเลยจากกฎหมาย ส่วนสภาพการจ้างงานชั่วคราวซึ่งถูกใช้กับแรงงานในระบบนั้นนับเป็นยุทธศาสตร์ที่นายจ้างพยายามอาศัยช่องว่างทางกฎหมายโดยอาศัยรูปแบบของการทดลองงาน 120 วัน ให้คนงานลาออกแล้วมาสมัครใหม่ คนงานที่ได้รับการจ้างงานแบบนี้จะไม่ได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายแรงงาน ไม่มีสวัสดิการและถูกเลือกปฏิบัติเหมือนพลเมืองชั้นสอง  ที่หนักไปกว่านั้นก็คือคนงานเหล่านี้จะมีชีวิตที่เปลี่ยนงานไปเรื่อย ๆ ไม่มีหลักแหล่งของสถานประกอบการและที่อยู่อาศัยแน่นอน ขาดอำนาจการต่อรอง ไม่กล้าเข้าร่วมกับสหภาพแรงงานเนื่องจากกลัวว่านายจ้างจะไม่จ้างงานต่อทำให้ขาดหลักประกันของความมั่นคง

ประการที่สี่ แรงงานข้ามชาติหญิง กับการเข้าไม่ถึงสิทธิแรงงาน และระบบบริการของรัฐ

จากกระแสการแข่งขันทางการค้าและกระบวนการผลิตที่ขาดมาตรฐาน นายจ้างมักนิยมใช้แรงงานราคาถูก ไม่มีข้อต่อรอง ไม่มีการรวมตัว จึงมีการเคลื่อนย้ายถิ่นในการทำงานและหลอกลวงแรงงานเข้ามาทำงานโดยเฉพาะบริเวณตามตะเข็บชายแดนไทย และโรงงานบางประเภทที่ต้องการหลบเลี่ยงกฎหมาย ทำให้เกิดการจ้างงานโดยแรงงานไม่ได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายแรงงานและหลักสิทธิมนุษยชนนำมาสู่การใช้แรงงานเยี่ยงทาส ทารุณกรรม โดยเฉพาะแรงงานหญิงข้ามชาติ ที่มักถูกใช้ความรุนแรง คุกคามทางเพศ หรือไม่ก็ถูกบังคับค้าประเวณี สิ่งสำคัญคือการที่ พระราชบัญญัติคนทำงานของคนต่างด้าว 2551 ไม่คุ้มครองผู้ติดตาม และครอบครัวคนทำงานต่างด้าว หรือการให้มีการตรวจค้นเมื่อมีการแจ้งว่ามีการใช้แรงงานข้ามชาติผิดกฎหมายได้ทุกเวลา โดยไม่ต้องขออนุญาตศาล ซึ่งอาจส่งผลต่อความไม่ปลอดภัยของลูกจ้างหญิง หรือกรณีแนวความคิดกการควบคุมประชากรที่เป็นแรงงานข้ามชาติหญิงในการส่งลูกจ้างหญิงกลับประเทศต้นทางถ้ารู้ว่ามีการตั้งครรภ์ เป็นต้น                                        

ประการที่ห้า ปัญหาคุณภาพชีวิตของแรงงานหญิง

แม่และลูกของผู้ใช้แรงงานยังขาดหลักประกันด้านการเลี้ยงดูและส่งเสริมมาตรฐานด้านการศึกษา ขาดความอบอุ่นไม่ได้อยู่พร้อมหน้าพ่อแม่ลูก เพราะภาวะเศรษฐกิจบีบบังคับให้ต้องส่งลูกไปให้ญาติต่างจังหวัดเลี้ยงดู ส่งผลต่อพื้นฐานด้านสังคม ครอบครัว จิตใจ และความไม่มั่นคงในการทำงาน นำมาสู่สภาพครอบครัวสังคมที่แตกร้าว เช่น คนงานหญิงต้องรับผิดชอบครอบครัวส่งเงินให้ลูกเรียนหนังสือ หรือที่ไม่มีเงินก็ต้องให้ลูกออกจากโรงเรียน ปัญหาการหย่าร้าง  คนงานหญิงถูกทุบตีใช้ความรุนแรง และการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์  กระทั่งคนงานหญิงบางรายใช้วิธีเแก้ปัญหา โดยผันตนเองไปทำอาชีพไม่สุจริต ติดยาเสพติด ค้าบริการทางเพศ มีชีวิตที่เลวร้ายเป็นปัญหาและภาระของครอบครัว ชุมชน และสังคม

จากสถานการณ์ และสภาพปัญหาของแรงงานหญิงทั้งห้าประการที่กล่าวมาแล้วนั้น รัฐบาลน่าจะใช้โอกาส ครบรอบ10 ทศวรรษ สตรีสากล เร่งปฏิบัติ การออกกฎหมาย และการกำหนดนโยบายการแก้ไขปัญหาของแรงงานหญิง ดังข้อเสนอ 6ประการกล่าวคือหนึ่ง รัฐบาลต้องเร่งออกพระราชกฤษฎีกาการตั้งองค์กรอิสระสถาบันคุ้มครองสุขภาพความปลอดภัยฉบับที่องค์กรแรงงาน สมัชชาคนจน ร่วมร่างกับกระทรวงแรงงานฯเสนอ  เพื่อให้คนงานมีสุขภาพที่ดี มีแพทย์เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน มีการฟื้นฟูบำบัดรักษาแบบครบวงจร อีกทั้งเพื่อเป็นการป้องกันปัญหาจากโรคและความไม่ปลอดภัยในการพัฒนาอุตสาหกรรม มากกว่าการตั้งรับปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต สอง ให้รัฐบาลต้องกำหนดนโยบาย มาตรการ และปรับปรุงกฎหมายต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือ ดูแล คุ้มครองอย่างเร่งด่วนต่อคนงานนอกระบบ เช่น การออกแนวปฏิบัติ ในกฎหมายคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน โดยจะต้องให้แรงงานนอกระบบ และผู้เชี่ยวชาญ เข้าไปเป็นคณะกรรมการร่วมร่างแนวปฏิบัติด้วย เพื่อให้กฎหมายและการบังคับใช้สามารถทำงานได้จริงมีประสิทธิภาพต่อแรงงานนอกระบบ 24 ล้านคน  รวมถึงการแก้ไขกฎหมายให้คุมครองแรงงานเหมาช่วงการผลิต แรงงานเหมาค่าแรง เหมารายชิ้น รายโหล แรงงานหญิงบริการ แรงงานข้ามชาติ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงที่ถูกผลักดันให้ออกมาทำงานนอกโรงงานจำนวนมาก แต่ไม่ได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ประกันสังคม  สามให้รัฐบาลมีนโยบายที่ชัดเจนในการจัดสรรงบประมาณช่วยเหลือและพัฒนาอาชีพให้กับคนตกงาน รวมทั้งจัดสรรที่อยู่อาศัยให้กับคนตกงานหรือผู้มีรายได้น้อยสามารถผ่อนซื้อระยะยาว เช่น บ้านชุด ห้องชุด และต้องมีการช่วยเหลือด้านการศึกษาให้กับลูกคนตกงานหรือผู้มีรายได้น้อยให้ได้รับสวัสดิการหรือไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียน รวมทั้งต้องแก้ไข มาตรา 39 ในประกันสังคม โดยให้สมาชิกผู้ประกันตนในมาตรานี้ส่งเงินสมทบเพียง 1 ส่วนเท่านั้น  สี่ ให้รัฐบาลยกเลิกกฎหมายคุ้มครองแรงงานมาตรา 75 รวมทั้งเร่งปรับปรุงกฎหมายพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ให้คุ้มครองผู้ก่อตั้งสหภาพแรงงาน และให้นายจ้างเคารพ และปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเป็นธรรม รวมถึงการเร่งออกประกาศกฎกระทรวงคุ้มครองคนทำงานบ้าน  ไม่เลือกปฏิบัติและออกกฎหมาย หรือระเบียบที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน  เช่น แรงงานหญิงข้ามชาติ และครอบครัว  ห้า ให้รัฐบาลมีนโยบายและออกกฎหมายเร่งดำเนินการจัดสรรงบประมาณเพื่อส่งเสริมการจัดตั้งศูนย์เลี้ยงเด็กก่อนวัยเรียนในพื้นที่ย่านอุตสาหกรรมและชุมชน เพื่อบริการครอบครัวคนยากจน ผู้มีรายได้ต่ำ โดยองค์กรแรงงานและชุมชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ  หก รัฐบาลจะต้องเร่งออกกฎหมายประกันสังคม ฉบับผู้ใช้แรงงานที่มีเนื้อหาการเป็นองค์กรอิสระ กรรมการบริหารต้องมาจากการเลือกตั้งของสมาชิก มีการบริหารจัดการที่โปร่งใสตรวจสอบได้
 

/////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////////