“300 บาท เปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาสค่าจ้างทั่วประเทศ “

โดย บัณฑิต  แป้นวิเศษ มูลนิธิเพื่อนหญิง
 
ประเด็นทวงสัญญานโยบายคนขายแรงงานในระบบ 14ล้านคน เรื่องการปรับฐานเงินเดือนให้คนจบปริญญาตรีเพิ่มเป็น 15,000 บาท กับค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศ ในเขตกรุงเทพฯจะเพิ่มขึ้น 40 เปอร์เซ็นต์ เป็นวันละ300 บาท มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ต้นปี 2555  นับเป็นเรื่องใหญ่ที่คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่าที่นายกหญิงคนแรกของประเทศ แห่งพรรคเพื่อไทย จะต้องทำให้ได้เพื่อสร้างความเชื่อมั่น ศรัทธา ต่อคะแนนเสียงประชาชนที่ทุ่มเทให้  ณ วันนี้เราเริ่มเห็นแรงกระเพื่อมขององค์กรแรงงานหลังการเลือกตั้งเพียงไม่กี่วัน อาทิ สหพันธ์แรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ที่ออกมาให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนเชิงตรวจสอบกดดัน ว่าเห็นด้วยกับรัฐบาลและต้องเร่งทำให้ได้ในการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ทั่วประเทศ ในขณะเดียวกันก็มีฝ่ายที่เห็นไม่สอดคล้องกับการปรับฐานเงินเดือน และการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำฯทันทีในครั้งนี้ของพรรคเพื่อไทยที่ได้เป็นรัฐบาล   อย่างเช่น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมหอการค้า สภาองค์การนายจ้างฯ และเจ้าของธุรกิจร้านค้าขนาดกลาง ขนาดเล็กต่างๆ ได้ออกมาแถลงข่าว จัดสัมมนาฯ และให้สัมภาษณ์ทั้งช่วงก่อนและหลังการเลือกตั้งฯ โดยอ้างเหตุผลของความไม่เห็นด้วยในเรื่องต้นทุนปัจจัยการผลิต และค่าจ้างแรงงานที่สูงขึ้น ไม่สามารถตั้งหลักได้ในระยะเวลาอันสั้น ทันที ซึ่งอาจจะส่งผลให้ผู้ประกอบการไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปไม่ได้ อาจจำเป็นต้องเคลื่อนย้ายฐานการผลิตไปในประเทศ หรือภูมิภาคอื่น ที่มีค่าจ้างแรงงานต้นทุนราคาถูกกว่าประเทศไทย ซึ่งคุณยิ่งลักษณ์ ออกมาแก้ลำสัมภาษณ์เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนายจ้างว่าการปรับค่าจ้างครั้งนี้ นายจ้างทั้งหลายจะได้ประโยชน์จากการปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคล โดยวางแผนไว้ว่าจะปรับให้ลงมาอยู่ที่ระดับ 23 เปอร์เซ็นต์ จาก 30 เปอร์เซ็นต์ ในปัจจุบัน และจะลดลงจนเหลือ 20 เปอร์เซ็นต์ในปี 2556 ทั้งนี้ช่วงการปรับค่าจ้างในปีแรกอาจจะส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อเพียงเล็กน้อย
 
แต่ความน่าเป็นห่วงจากการประกาศใช้นโยบายขึ้นค่าจ้าง 300 บาท ทันทีที่ได้เป็นรัฐบาล โดยภาพรวมค่อนข้างแน่ที่หลายฝ่ายอาจมองเห็นสถานการณ์ปัญหาที่จะตามมาในสามประการใหญ่คือ ประการที่หนึ่ง นายจ้างต้องหันไปใช้แรงงานนอกระบบ และแรงงานข้ามชาติที่เข้าเมืองแบบผิดกฎหมายจำนวนมาก เนื่องจากที่ผ่านมาแรงงานเหล่านี้มีราคาถูก ขาดอำนาจการต่อรอง ถูกเดียดฉันท์จากสังคมไทย จนเป็นช่องว่างให้เกิดการแสวงประโยชน์จากการค้าแรงงานและการค้ามนุษย์ เป็นเป้าโจมตีของประเทศมหาอำนาจในการจ้องตัดสิทธิประโยชน์ทางการค้าในข้อหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน จนอาจทำให้ประเทศไทยต้องเผชิญปัญหาการเลิกจ้างแรงงานอีกระลอกหนึ่งก็เป็นไปได้ ประการที่สอง การขึ้นราคาของสินค้า แม้นจะบอกว่าการขึ้นค่าแรงที่สูงจะเป็นการกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายในประเทศเพิ่มมากขึ้น กระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศให้คึกคัก แต่นั่นเป็นเพียงกลยุทธทางการตลาด และตัวเลขทางเศรษฐศาสตร์ให้น่าดีใจเท่านั้น สิ่งสำคัญที่รัฐบาลใหม่จะต้องทำให้ได้อย่างเป็นจริงเป็นจังก็คือการควบคุมราคาสินค้า เครื่องอุปโภค บริโภคและน้ำมันไม่ให้สูงไปมากกว่าความเป็นจริง ประการที่สาม รัฐบาลไม่ควรมีการเสนอยุบคณะกรรมการพิจารณาค่าจ้างกลาง โดยใช้อำนาจทางการเมืองเข้ามาจัดการเพียงเพื่อได้มาซึ่งเป้าหมายของตน และพรรคการเมือง เพราะการมีกลไกคณะกรรมการกลางด้านค่าจ้างของไทย ที่ใช้รูปแบบไตรภาคี(นายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐ) เรียกว่าคณะกรรมการค่าจ้างกลาง ในการพิจารณาตัดสินด้านมาตรฐานค่าจ้าง อีกทั้งมีคณะอนุกรรมการค่าจ้างระดับจังหวัด ในการช่วยส่งต่อด้านข้อมูลระดับพื้นที่แรงงาน มาให้คณะกรรมการค่าจ้างกลางพิจารณา ซึ่งถูกระบุไว้ในกฎหมายแรงงาน 
 
สิ่งที่น่าสนใจของรัฐบาลภายใต้คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่จะเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาส และนำปรากฏการณ์การขึ้นค่าจ้างผ่านนโยบายพรรคการเมือง 300 บาททั่วประเทศ มาเป็นจุดแข็งเพื่อปฏิรูปโครงสร้างค่าจ้างทั้งระบบได้อย่างไร  ไม่ว่าพรรคเพื่อไทยจะได้ดูแลกระทรวงแรงงานหรือไม่ แต่สิ่งที่ควรทำอย่างยิ่งในขณะนี้ก็คือ การยกเครื่องเรื่องโครงสร้างและกลไกด้านค่าจ้างแรงงานที่เป็นคำถามคาใจของแรงงานทุกครั้งที่มีการปรับค่าจ้างประจำปี ว่ามาตรฐานการพิจารณาด้านความเป็นธรรมอยู่ตรงไหน ความไม่เท่าทันต่อสถานการณ์ค่าครองชีพของแรงงานในหลายเรื่องมีกรรมการคนไหนรู้อย่างแท้จริง โดยเฉพาะองค์ประกอบ และการได้มาของคณะกรรมการค่าจ้างกลางที่ขึ้นต่อกระทรวงแรงงาน จะต้องมีการยกเครื่องใหม่อย่างไรให้มีความอิสระ โปร่งใส ตรวจสอบได้ และแรงงานต้องมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คณะอนุกรรมการค่าจ้างระดับจังหวัดจำเป็นต้องมีหรือไม่ ถ้าจำเป็นต้องมีอยู่ จะทำให้บทบาทของกลไกอนุกรรมการฯมีอำนาจการตัดสินใจการพิจารณาค่าจ้างมากกว่าเพียงแค่การหาข้อมูลปัญหาการอุปโภค บริโภคในพื้นที่แรงงาน เพื่อนำเสนอการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำระดับจังหวัด ให้กับคณะกรรมการค่าจ้างกลางในการพิจารณา ตัดสินใจ และประกาศออกมาใช้ทั่วประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาก็เป็นข้อเรียกร้องของพี่น้องผู้ใช้แรงงานมาโดยตลอด
 
จากสถานการณ์การปรับค่าจ้างขั้นต่ำ และการปรับฐานเงินเดือนคนจบปริญญาตรีให้ได้สูงขึ้น ผมเห็นด้วยและเป็นเรื่องที่ดีต้องขอบคุณ คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทย ที่ให้โอกาสแบบนี้มาสู่คนขายแรงงาน เป็นเรื่องที่หาได้ยากยิ่งสำหรับคนขายแรงงานที่จะขยับสถานะค่าจ้างได้มากกว่าที่เคยเป็นมา แต่ก็อดห่วงใยต่อสถานการณ์ความจริงดังที่กล่าวไปแล้วว่า การปฏิบัติเชิงนโยบายจะต้องไม่ใช้อำนาจการเมืองมาบีบบังคับเพียงอย่างเดียว เพราะเราก็ย่อมรู้ว่ามันไม่มีความยั่งยืน และอาจจะเกิดช่องว่างของการแสวงประโยชน์ กดขี่แรงงาน ไม่เคารพกฎหมาย และประชาชนจะไม่ได้อะไรเลยนอกจากตัวเลขค่าจ้างกับการครองชีพที่ต้องแบกรับสินค้าราคาแพงที่ทุกครั้งจะขึ้นรอไว้ก่อนแล้วด้วยซ้ำไป นับเป็นบทท้าทายนายกหญิงคนแรกของประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง อย่าทำให้ประชาชนต้องผิดหวัง