“ ภัยพิบัติน้ำท่วม กับเสียงร้องของแรงงาน ”

บัณฑิต แป้นวิเศษ มูลนิธิเพื่อนหญิง

 
ในช่วงวิกฤติการณ์น้ำท่วมที่หลายคนมองว่าเป็นภัยพิบัติร้ายแรง ส่งผลกระทบต่อชีวิตทรัพย์สินมากกว่าครั้งไหนๆที่เกิดขึ้นกับประเทศไทย การออกมาพูดถึงความเสียหายทางเศรษฐกิจ และการพัฒนาอุตสาหกรรม ฐานที่มั่นในการผลิตสินค้าส่งป้อนตลาดระดับโลก ที่เรียกว่านิคมอุตสาหกรรม ซึ่งตั้งอยู่ในที่ลุ่มใกล้แหล่งน้ำได้ถูกทำลายไปหลายแห่ง เช่น นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ นิคมอุตสาหกรรมไฮเทค นิคมอุตสาหกรรมสหัสรัฐ นิคมอุตสาหกรรมนวนคร  และรวมไปถึงเขตอุตสาหกรรมที่มีโรงานขนาดกลาง ขนาดเล็กที่เราเรียกกันว่าแฟคทรอรี่แลนด์ เป็นต้น มีการนำเสนอประเด็นข่าวข้อเรียกร้องของสถานประกอบการ ภายใต้สภาหอการค้า และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเกิดขึ้นอย่างถี่ยิบเพื่อกดดันรัฐบาล ให้ออกมาตอบรับในการเรียกเม็ดเงินภาษี และการกู้หนียืมสินจากต่างประเทศ มาเร่งฟื้นฟูสถานประกอบการที่ประสบภัยหลังน้ำลดอย่างได้ผล อีกทั้งสร้างความเห็นอกเห็นใจจากสาธารณะชนได้เป็นอย่างดี
ขณะที่ภัยพิบัติน้ำท่วมในครั้งนี้ แรงงานไทยกับปัญหาพื้นที่น้ำท่วม และพื้นที่หลังน้ำลด รัฐบาลนายกยิ่งลักษณ์จะต้องเผชิญอย่างแน่นอน คือ หนึ่ง ปัญหาแรงงานกับการจ่ายค่าจ้าง 100 เปอร์เซ็น สองปัญหาเมื่อลูกจ้างต้องหยุดงาน เนื่องจากสถานประกอบการน้ำท่วมไม่สามารถผลิตชิ้นงานได้ นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างร้อยละ75 ตามมาตรา 75 ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน สาม การจ่ายโบนัสให้กับแรงงานเมื่อตกลงกันไปแล้วก่อนจะเกิดปัญหาน้ำท่วม   สี่ การจ่ายเงินชดเชยช่วยเหลือเยียวยาเป็นเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ 2,000 บาท เหมือนช่วงวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งที่ผ่านมาของสำนักงานประกันสังคม ห้า การให้แรงงานสมาชิกประกันสังคมสามารถกู้เพื่อซ่อมแซมบ้านได้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำ หก การพักชำระหนี้ให้กับแรงงานในระบบ นอกระบบ และเจ็ด ปัญหาการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม  
 
ในขณะที่สถานการณ์ของแรงงานข้ามชาติ ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบอย่างมากอีกกลุ่มหนึ่ง จากรายงานของเครือข่ายองค์กรด้านแรงงานข้ามชาติได้เปิดเผยข้อมูลว่ามีแรงงานไม่ต่ำกว่า 200,000  คน ยังไม่รวมแรงงานข้ามชาติที่อยู่ในพื้นที่สมุทรสาคร และนครปฐม ซึ่งขณะนี้มีการรายงานระดับพื้นที่การทำงาน และลงช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติของมูลนิธิร่วมมิตรไทย-พม่า มูลนิธิเพื่อนหญิง แผนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน (สสส.)และคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย พบว่า ปัญหาของแรงงานข้ามชาติที่เผชิญอย่างเด่นชัดที่สุด คือ ปัญหาการเข้าไม่ถึงถุงยังชีพ ขาดอาหาร และน้ำดื่มสะอาด การถูกบังคับให้ทำงาน โดยไม่มีการจัดการด้านขนส่งแรงงานของสถานประกอบการที่โรงงานยังผลิตได้อยู่ การยึดใบอนุญาตทำงาน หรือพาสปอร์ต ไม่อนุญาตให้ลาพัก หรือกลับบ้าน มีแรงงานข้ามชาติคนหนึ่งชื่อวินพยายามเล่าให้ฟังว่า “ตอนนี้มีเพื่อนแรงงานข้ามชาติ และ แรงงานไทยใน 2 โรงงานที่ทำการผลิตกะทิกล่อง และโรงงานผลิตอาหารจำพวกไก่ปรุงสุก ไก่แช่แข็ง ย่านพุทธมณฑลสาย 5 จังหวัดนครปฐม   จำนวน 930 คน ต้องประสบปัญหาในช่วงน้ำท่วมนี้ โดยนายจ้างบังคับให้ไปขุดทราย เก็บขยะที่อยู่ในท่อน้ำที่มีน้ำระดับสูง สกปรก อีกทั้งให้แบกกระสอบทรายทำคันกั้นน้ำ ถ้าไม่ช่วย ก็จะไม่ให้เงินเดือน และไม่ให้ข้าวกิน หลังกั้นพนังเสร็จแล้ว ก็บังคับให้ไปทำงานตอกบัตรตั้งแต่ 8.00 นาฬิกาเป็นต้นไป ไม่มีการจัด รถ เรือรับส่งคนงาน ให้เดินฝ่าน้ำไปทำงานทั้งตัวเปียกๆ มีหลายคนเริ่มเป็นโรคผิวหนัง ที่สำคัญคือมีผู้หญิงได้รับบาดเจ็บจากการเดินทางเป็นลม เห็นมีอาการเลือดไหลออกมากต้องนำส่งโรงพยาบาล “ 
จากการสถานการณ์เชิงพื้นที่ดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้น  ภัยพิบัติน้ำท่วม กับเสียงร้องของคนงานไทย และข้ามชาติ ที่ต้องขอรับการช่วยเหลือเยียวยา อย่างเร่งด่วนที่สุด คือ รัฐบาล โดยกระทรวงแรงงาน และกระทรวงพัฒนาสังคม จะต้องมีการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเชิงสหวิชาชีพแรงงาน และสังคมในระดับพื้นที่เชิงรุก โดยประสานเครือข่ายองค์กรภาครัฐ องค์การบริหารท้องถิ่น หน่วยงานพัฒนาเอกชน ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับแรงงาน และการช่วยเหลือประชาชน เพื่อให้เกิดการบูรณาการ ร่วมเชิงข้อมูลสแกนพื้นที่เดือดร้อน นำถุงยังชีพพร้อมน้ำดื่ม เข้าถึงแรงงานทั้งไทยและข้ามชาติที่ยังมีจำนวนมากทีรอประสานการช่วยเหลือ  อีกทั้งกระทรวงแรงงานจะต้องเร่งประสานงานการให้ข้อมูลเรื่องสิทธิแรงงานที่นายจ้างต้องปฏิบัติ อาทิ การทำโมบายเคลื่อนที่ปฏิบัติการคุ้มครองช่วยเหลือ และให้คำปรึกษาแรงงานเชิงรุกทั้งในพื้นที่น้ำลด น้ำท่วมขัง และพื้นที่น้ำท่วมใหม่ เพื่อการเตรียมทำฐานข้อมูล และรับเรื่องราวร้องทุกข์ในประเด็นการเข้าไม่ถึงสิทธิ หรือถูกละเมิดสิทธิแรงงาน เป็นต้น กานนำเสนอบทรายงานเชิงพื้นที่ต่อประเด็นแรงงานไทย และข้ามชาติ ในครั้งนี้เพียงคาดหวังให้รัฐบาลโดยกระทรวงแรงงาน และกระทรวงพัฒนาสังคมได้เห็นข้อมูล และข้อเสนอที่เป็นกลไกเชิงรุกในการแก้ปัญหาที่กำลังดำเนินอยู่ในปัจจุบัน และปัญหาที่จะตามมาในอนาคต เพราะขณะนี้เครือข่ายแรงงาน เครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชน และเครือข่ายภาคประชาชนในพื้นที่ มีการร่วมด้วยช่วยกันมาระดับหนึ่งแล้ว จนวันนี้พวกเราเริ่มมีเสบียงถุงยังชีพที่ประชาชนร่วมบริจาคมาก็ลดน้อยถอยลงทุกที จึงขอให้รัฐบาลลงมาสนับสนุน และประสานงานเชิงรุกดังที่ได้เสนอไป จะขอบพระคุณรัฐบาลเป็นอย่างยิ่ง
 
หมายเหตุ: ประชาชนสามารถบริจาคสิ่งของเครื่องใช้ ข้าวสารอาหารแห้งได้ที มูลนิธิพิธภัณฑ์แรงงานไทย โทรศัพท์ 02 – 2513170 หรือ มูลนิธิร่วมมิตรไทย – พม่า 081 – 8695193