แรงงาน! เดินหน้าผลักดันประกันสังคม

หลังจากเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 54 ร่าง พ.ร.บ. ประกันสังคมฉบับที่นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 14,264 คน เป็นผู้เสนอ ได้เข้าสู่การพิจารณาตามกระบวนการนิติบัญญัติ คือการบรรจุวาระเพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณารับหลักการเห็นชอบในวาระ 1 ในการประชุมสมัยสามัญนิติบัญญัติ สภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 24 ปีที่ 1 ครั้งที่ 1 ในระหว่างวันที่ 21 ธันวาคม 54 – 18 เม.ย. 55

เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน ประกอบด้วย คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย สภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย เครือข่ายแรงงานนอกระบบ เครือข่ายเกษตรกรพันธสัญญา เครือข่ายปฏิบัติการเพื่อแรงงานข้ามชาติ  มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย มูลนิธิเพื่อนหญิง มูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน มูลนิธิร่วมมิตรไทย-พม่า มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและ

อาชีพ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล สมาคมส่งเสริมสิทธิชุมชน ศูนย์ประสานงานเครือข่ายแรงงานนอกระบบกรุงเทพฯ ชมรมเครือข่ายผู้ประกันตน เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ และโครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย จึงได้ร่วมกันขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดการปฏิรูประบบประกันสังคมให้เกิดความถ้วนหน้า เป็นอิสระ และโปร่งใส โดยจัดกิจกรรมรณรงค์ในวันที่ 22 มีนาคม 2555 เคลื่อนขบวนจากลานพระบรมรูปทรงม้า – รัฐสภา   ยื่นหนังสือต่อ ตัวแทนรัฐบาลและฝ่ายค้าน ที่รัฐสภา

นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.) กล่าวว่า โครงสร้างของประกันสังคม ควรที่จะเป็นโครงสร้างขององค์กรอิสระ โดยที่คณะกรรมการบอร์ดจะต้องมาจากการเลือกตั้งของผู้ประกันตนทุกคน  อีกส่วนหนึ่งก็คือเกี่ยวกับเรื่องของการว่างงาน ในกรณีที่มีการปลดเกษียณ ก็สมควรที่จะได้ทั้งว่างงานและชราภาพ และในกรณีสงเคราะห์บุตรควรที่จะมีการขยายอายุของบุตรขึ้นไป จาก 6 ปี เป็น 20 ปี

นายบัณฑิตย์ ธนชัยเศรษฐวุฒิ มูลนิธิอารมณ์พงศ์พงัน กล่าวว่า  ระบบประกันสังคมมีความจำเป็นที่จะต้องปฏิรูปครั้งใหญ่ เพราะมีการบริหารที่เป็นหน่วยราชการรวมศูนย์มานานถึง20 ปีแล้ว ก็ถูกตั้งข้อสงสัยวิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งผู้ประกันตน นายจ้าง สังคม สื่อมวลชน ว่ามีความไม่โปร่งใสในการทำงานขาดการมีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้องอย่างแท้ จริง   องค์กร ในรูปแบบใหม่ที่มีข้อเสนอจากภาคประชาสังคมก็คือ การบริหารในรูปแบบของคณะกรรมการที่มาจากผู้แทนส่วนราชการไม่เกินครึ่ง รวมทั้งมีผู้แทนจากฝ่ายผู้ประกันตน ฝ่ายนายจ้าง และผู้ทรงคุณวุฒิ ที่มาจากการเลือกตั้งและการสรรหาในสัดส่วนที่เท่ากัน ต้องเป็นผู้มีความรู้มีประสบการณ์เชิงประจักษ์เข้ามาบริหาร  มีการวางกฎเกณฑ์ชัดเจนในแง่ของคุณสมบัติการพ้นจากตำแหน่ง การปฏิบัติงานที่โปร่งใสตรวจสอบได้เป็นระยะ  ในเรื่องของสิทธิประโยชน์  ให้ลดข้อยกเว้นของการบริการลง ขยายสิทธิประโยชน์บางอย่างให้ก้าวหน้าขึ้น  ควรจะให้สิทธิเกิดขึ้นทันทีสำหรับผู้ประกันตนที่เป็นลูกจ้าง และได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มสอดคล้องกับระยะเวลาของการเป็นผู้ประกันตนที่มี ความแตกต่างกัน ไม่ควรจะให้เท่ากันทุกคน

รายงานโดยนักสื่อสารแรงงานศูนย์พื้นที่สระบุรี