เปรียบเทียบร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ

พาน

เปรียบเทียบร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ กับรัฐธรรมนูญปี 2540 ปี 2550 และข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย : 8 ประเด็น ลุ่มๆดอนๆกับอนาคตการปฏิรูปด้านแรงงาน มองผ่านมาตรา 41, 42, 44, 47, 48, 74,133,178

บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์ ฝ่ายวิชาการ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย

นับตั้งแต่วันที่ 6 กันยายน 2558 ที่สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ นำโดย ศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ และคณะที่ได้ยกร่างขึ้นมา หลังจากนั้นทางคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติจึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธานเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ทั้งหมดอีกครั้งหนึ่ง และเผยแพร่ต่อสาธารณะครั้งแรกเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2559 และได้นำความคิดเห็นที่ได้มาปรับปรุงจนกลายเป็นร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ ที่ได้เผยแพร่เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2559 และคณะกรรมการการเลือกตั้งได้กำหนดให้มีการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 ที่จะถึงนี้

จากการทบทวนสาระสำคัญที่ปรากฏในร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติ เมื่อเปรียบเทียบกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปี 2540 ฉบับปี 2550 และข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2559 ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับประเด็น “แรงงาน” เท่านั้น พบว่า รัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติมีประเด็นที่แตกต่างจากรัฐธรรมนูญปี 2540 ปี 2550 และข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.)  รวม 8 ประเด็น ซึ่งพบในมาตรา 41, 42, 44, 47, 48, 74,133 และ178 ดังนี้

(ประเด็นที่ 1) มาตรา 41 ระบุว่า

บุคคลและชุมชนย่อมมีสิทธิ

(1) ได้รับทราบและเข้าถึงข้อมูลหรือข่าวสารสาธารณะในครอบครองของหน่วยงานของรัฐตามที่กฎหมายบัญญัติ

(2) เสนอเรื่องราวร้องทุกข์ต่อหน่วยงานของรัฐและได้รับแจ้งผลการพิจารณาโดยรวดเร็ว

(3) ฟ้องหน่วยงานของรัฐให้รับผิดเนื่องจากการกระทำหรือการละเว้นการกระทำของข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐ

ข้อสังเกตต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติในมาตรา 41 พบว่า มีความแตกต่างจากรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 และปี 2550 ที่การเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร การเสนอเรื่องราวร้องทุกข์ และการฟ้องหน่วยงานของรัฐ ได้ครอบคลุมถึงการที่ “บุคคลย่อมมีสิทธิมีส่วนร่วมในกระบวนการพิจารณาของเจ้าหน้าที่ของรัฐในการปฏิบัติราชการทางปกครอง อันมีผลหรืออาจมีผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของตน” ซึ่งในร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติได้ตัดถ้อยคำในส่วนนี้ออกไป ซึ่งถือว่าเป็นส่วนสำคัญในการที่ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจะสามารถเข้าถึงกระบวนการพิจารณาอย่างเป็นธรรมได้ โดยไม่ใช่เป็นเพียงผู้รอรับผลการชี้แจงจากหน่วยงานรัฐเพียงเท่านั้น เช่น กรณีที่คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ได้ฟ้องร้องศาลปกครองกรณีสำนักงานประกันสังคมไม่ทำหน้าที่ตามเจตนารมณ์ตามที่ พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ได้กำหนดไว้ จำเป็นอย่างยิ่งที่ทางผู้ร้องต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการพิจารณาของเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อจะได้ข้อมูลอย่างรอบด้านและเป็นธรรม

(ดูตารางเปรียบเทียบ..คลิกที่นี่ รัฐธรรมนูญฉบับ 2540(1) รัฐธรรมนูญฉบับ 2550 และข้อเสนอคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย)

 (ประเด็นที่ 2) มาตรา 42 ระบุว่า

บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการรวมกันเป็นสมาคม สหกรณ์ สหภาพ องค์กรชุมชน หรือหมู่คณะอื่น

การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อการป้องกันหรือขจัดการกีดกันหรือการผูกขาด

ข้อสังเกตต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติมาตรา 42 พบว่า ได้มีการตัดคำว่า “สหพันธ์” “กลุ่มเกษตรกร” “องค์การภาคเอกชน” และ “องค์การภาคประชาสังคม” ออกไป ทั้งๆที่คำว่า “สหพันธ์” มีปรากฏชัดเจนใน พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ส่วนคำว่า “กลุ่มเกษตรกร” ก็ปรากฏในพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยกลุ่มเกษตรกร พ.ศ. 2547 คำว่า “องค์การภาคเอกชน” ก็ปรากฏในพระราชบัญญัติส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมพ.ศ. 2546 และคำว่า “องค์การภาคประชาสังคม” ก็ถูกระบุอยู่ในระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาองค์กรภาคประชาสังคม พ.ศ.2558 กล่าวได้ว่ากฎหมายลำดับรองได้มีการระบุคำนี้ไว้ แต่กฎหมายรัฐธรรมนูญกลับไม่มีเหล่านี้อาจจะส่งผลต่อการรวมตัวของผู้ใช้แรงงานกรณีของกลุ่มบุคคลที่รวมตัวในนามของสหพันธ์ ,สมาพันธ์ , คณะกรรมการ เช่น คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.), สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.), สมาพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (CILT), สมาพันธ์แรงงานเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเลคทรอนิคส์ ยานยนต์และโลหะแห่งประเทศไทย (TEAM) , สหพันธ์แรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย (TAW) , สหพันธ์แรงงานเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเลคทรอนิคส์แห่งประเทศไทย (TEEF) หรือกลุ่มผู้ใช้แรงงานย่านอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น กลุ่มอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ เป็นต้น ทั้งๆที่เป็นการรวมตัวของภาคแรงงานในฐานะที่เป็นภาคประชาสังคม เพื่อเป็นหุ้นส่วนในการพัฒนาประเทศควบคู่ไปกับภาครัฐ เพราะอาจไม่ถือว่าเป็นองค์กรที่เกิดขึ้นจากการรวมตัวของบุคคลต่างๆตามความหมายของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ อีกทั้งคำว่า “หมู่คณะอื่น” ก็ยังไม่ชัดเจนว่าหมายถึงกลุ่มใดบ้าง เฉพาะกลุ่มที่เป็นนิติบุคคลหรือไม่ อย่างไร ที่จักต้องมีการตีความต่อไป

นอกจากนั้นแล้วร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติยังได้ตัดเรื่องเสรีภาพในการรวมกลุ่มของข้าราชการและพนักงานของรัฐออกไป ทั้งๆที่มีการระบุเรื่องดังกล่าวนี้ไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 และในข้อเสนอของ
คสรท.

นี้ไม่นับว่าในข้อเสนอ คสรท. ยังระบุเพิ่มเติมอีกว่า “การรวมตัวในรูปแบบต่างๆนั้นต้องได้รับการส่งเสริมสนับสนุนและได้รับการคุ้มครองจากรัฐ และต้องไม่ถูกคุกคามทุกรูปแบบ” 

20160501_114331

(คลิกดูตารางเปรียบเทียบ รัฐธรรมนูญฉบับ 2540 (2) รัฐธรรมนูญฉบับ 2550 และข้อเสนอคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย )

          (ประเด็นที่ 3) มาตรา 44 ระบุว่า

บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ

การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น

ข้อสังเกตต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติมาตรา 44 พบว่า ได้มีการตัดคำว่า “เฉพาะในกรณีการชุมนุมในที่สาธารณะและเพียงเท่าที่จำเป็น” ออกไป ซึ่งถ้อยคำนี้ถูกระบุไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2550 ทั้งนี้การใช้คำว่า “กฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อการรักษามั่นคงของรัฐ” ย่อมแสดงถึงขอบเขตของอำนาจที่กว้างกว่าที่ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 กำหนดไว้อย่างแน่นอน ยิ่งจะเป็นการจำกัดสิทธิในการเข้าถึงความไม่เป็นธรรมของผู้ใช้แรงงานในการส่งเสียงต่อรัฐที่เป็นผลมาจากการละเมิดสิทธิแรงงานโดยกลไกของรัฐและทุนมากยิ่งขึ้นไปกว่าเดิม

(คลิกดูตารางเปรียบเทียบ รัฐธรรมนูญฉบับ 2540 (3) รัฐธรรมนูญฉบับ 2550 และข้อเสนอคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย)

       (ประเด็นที่ 3) มาตรา 47 ระบุว่า

บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขของรัฐ

บุคคลผู้ยากไร้ย่อมมีสิทธิได้รับบริการสาธารณสุขของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายตามที่กฎหมายบัญญัติ

บุคคลย่อมมีสิทธิได้รับการป้องกันและขจัดโรคติดต่ออันตรายจากรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

ข้อสังเกตต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติมาตรา 47 พบว่า ทำไมต้องมีการระบุให้สิทธิการรักษาพยาบาลในสถานบริการภาครัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเฉพาะในส่วนของบุคคลผู้ยากไร้เท่านั้น ทั้งๆที่ปัจจุบันประเทศไทยมีระบบ “หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” ที่ครอบคลุมประชากรทุกกลุ่มของประเทศอยู่แล้ว การระบุถ้อยคำเช่นนี้ในร่างรัฐธรรมนูญอาจสุ่มเสี่ยงต่อการเข้าบริการของรัฐด้านสุขภาพโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายสำหรับคนยากจนเพียงเท่านั้น รัฐอาจไม่ต้องมีพันธะผูกพันในการจัดบริการรักษาพยาบาลให้กับประชาชนทุกคน และอาจนำไปสู่ให้มีการเรียกเก็บเงินผู้รับบริการในอนาคตได้

(คลิกดูตารางเปรียบเทียบรัฐธรรมนูญฉบับ 2540(4)รัฐธรรมนูญฉบับ 2550 และข้อเสนอคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย)

       (ประเด็นที่ 5) มาตรา 48 วรรคแรก ระบุว่า

สิทธิของมารดาในช่วงระหว่างก่อนและหลังการคลอดบุตรย่อมได้รับความคุ้มครองและช่วยเหลือตามที่กฎหมายบัญญัติ

ข้อสังเกตต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติมาตรา 48 วรรคแรก ถือได้ว่าเป็นบทบัญญัติที่มีความก้าวหน้าในการคุ้มครองแรงงานหญิง เมื่อเปรียบเทียบกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 และ 2550 ที่ไม่ได้มีการระบุเรื่องนี้ไว้ เพราะเป็นที่ทราบดีว่าปัญหาสำคัญในกลุ่มแรงงานหญิงที่ตั้งครรภ์ ไม่ว่าจะเป็น

(1) ต้องสำรองจ่ายเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการฝากครรภ์และคลอดบุตร

(2) กลุ่มลูกจ้างรายวันจะไม่เข้ารับการฝากครรภ์เนื่องจากกลัวสูญเสียรายได้

(3) เนื่องจากการทำงานของแรงงานจำนวนไม่น้อยมีรายได้ไม่เพียงพอ เงินที่ได้รับเป็นเพียงระดับค่าจ้างขั้นต่ำเท่านั้น ต้องอาศัยการทำงานล่วงเวลา (โอที) จึงทำให้ต้องใช้สิทธิ์ลาคลอดไม่ครบ 90 วัน และกลับเข้าไปทำงานก่อนครบกำหนดวันลาคลอดเพราะกลัวสูญเสียรายได้ กลัวถูกไล่ออกจากงาน

มาตรานี้จึงคือการทำให้เด็กเกิดใหม่มีคุณภาพ เนื่องจากแม่มีสิทธิลาคลอดและดูแลบุตรได้อย่างเหมาะสม และมีการจัดสวัสดิการที่เหมาะสมทั้งก่อนและหลังการคลอดบุตร ถือได้ว่าเป็นสิทธิของเด็กในการอยู่รอดและได้รับการพัฒนาที่เหมาะสมกับวัย

12717935_239269949742508_5090303963776113063_n

(คลิกดูตารางเปรียบเทียบรัฐธรรมนูญฉบับ 2540(5) รัฐธรรมนูญฉบับ 2550 และข้อเสนอคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย)

     (ประเด็นที่ 6) มาตรา 74 ระบุว่า

รัฐพึงส่งเสริมให้ประชาชนมีความสามารถในการทำงานอย่างเหมาะสมกับศักยภาพและวัยและให้มีงานทำ และพึงคุ้มครองผู้ใช้แรงงานให้ได้รับความปลอดภัยและมีสุขอนามัยที่ดีในการทำงาน ได้รับรายได้ สวัสดิการ การประกันสังคม และสิทธิประโยชน์อื่นที่เหมาะสมแก่การดำรงชีพและพึงจัดให้มีหรือส่งเสริมการออมเพื่อการดำรงชีพเมื่อพ้นวัยทำงาน

รัฐพึงจัดให้มีระบบแรงงานสัมพันธ์ที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมในการดำเนินการ

ข้อสังเกตต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติมาตรา 74 พบว่า ประเด็นสำคัญในมาตรานี้ คือ ไม่มีระบุเรื่องการคุ้มครองให้ผู้ทำงานที่มีคุณค่าอย่างเดียวกันได้รับค่าตอบแทน สิทธิประโยชน์ และสวัสดิการที่เป็นธรรมโดยไม่เลือกปฏิบัติ โดยเฉพาะไม่มีการระบุเรื่อง “ค่าจ้างที่เป็นธรรม” ไว้

อีกทั้งการใช้คำว่า “ได้รับรายได้ที่เหมาะสมแก่การดำรงชีพ” สุ่มเสี่ยงที่จะตีความได้ว่าการดำรงชีพในแต่ละพื้นที่มีค่าครองชีพที่ไม่เท่ากัน ดังนั้น “อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ” ของผู้ใช้แรงงานแต่ละพื้นที่ก็ควรไม่เท่ากันด้วย ยิ่งจะสร้างความไม่เป็นธรรมให้ผู้ใช้แรงงานมากยิ่งขึ้น เนื่องจากโดยข้อเท็จจริงแล้วราคาสินค้าในทุกพื้นที่มีราคาไม่แตกต่างกัน เช่น สินค้าในร้าน 7-11 สินค้าในห้างสรรพสินค้าต่างๆ เช่น BIG C, LOTUS เป็นต้น ทำให้มูลค่าของค่าจ้างที่ได้รับจึงลดน้อยลงไป

นอกจากนั้นแล้วเมื่อมาพิจารณาที่ประเด็นเรื่อง “ธนาคารแรงงาน และการจัดทำแนวทางในการรวมตัวกันและการเจรจาต่อรองของผู้ใช้แรงงานให้สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ” นี้เป็นประเด็นสำคัญที่ผู้ใช้แรงงานได้ผลักดันมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งผ่านการรณรงค์ให้รัฐบาลไทยรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 87 และ 98 มากว่า 10 ปี เนื่องจาก พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มีจุดอ่อนในการคุ้มครองผู้ใช้แรงงานในการรวมตัวและเจรจาต่อรอง โดยเฉพาะการเลิกจ้างผู้ก่อตั้งและกรรมการสหภาพแรงงาน

ส่วนธนาคารแรงงานก็เป็นไปเพื่อสนับสนุนให้แรงงานรู้จักการออมเพื่อเป็นกองทุนการเงินของผู้ใช้แรงงานโดยตรงนั้นเอง เป็นสถาบันที่เป็นแหล่งเงินทุนเพื่อช่วยเหลือแรงงาน หรือสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตของแรงงานให้พ้นจากความยากจน โดยให้ลูกจ้างสามารถเข้าถึงการกู้ยืมในอัตราดอกเบี้ยต่ำในยามที่ขาดแคลนเงิน

ประเด็นเหล่านี้ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของผู้ใช้แรงงาน ก็ไม่มีการระบุไว้ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติแต่อย่างใด

(คลิกดูตารางเปรียบเทียบ รัฐธรรมนูญฉบับ 2540(6) รัฐธรรมนูญฉบับ 2550 และข้อเสนอคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย)

 (ประเด็นที่ 7) มาตรา 133 ระบุว่า

ร่างพระราชบัญญัติให้เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรก่อน และจะเสนอได้ก็แต่โดย

(1) คณะรัฐมนตรี

(2) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่ายี่สิบคน

(3) ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งหมื่นคนเข้าชื่อเสนอกฎหมายตามหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย หรือหมวด 65 หน้าที่ของรัฐ ทั้งนี้ตามกฎหมายว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย

ในกรณีที่ร่างพระราชบัญญัติซึ่งมีผู้เสนอตาม (2) หรือ (3) เป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน จะเสนอได้ก็ต่อเมื่อมีคารับรองของนายกรัฐมนตรี

ข้อสังเกตต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติมาตรา 133 พบว่า ได้มีการตัดถ้อยคำในส่วนที่เอื้อต่อผู้เสนอกฎหมายออกไป คือ สัดส่วนการเป็นคณะกรรมาธิการในการพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนั้นๆ ทั้งๆที่ในรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ได้ระบุไว้ชัดเจน โดยใช้ถ้อยคำแทนว่า “ตามกฎหมายว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย” ซึ่งข้อสังเกตคือ ไม่มีหลักประกันใดๆว่าถ้อยคำเดิมนี้จะถูกระบุไว้ในกฎหมายเข้าชื่อฯเช่นเดียวกัน

บทเรียนจากการเข้าชื่อเสนอกฎหมายของผู้ใช้แรงงานโดยตรง กรณีการเสนอร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับ 14,264 รายชื่อ และ ร่าง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ ฉบับ 11,567 รายชื่อ พบว่า เมื่อถึงในขั้นตอนการพิจารณาตามกระบวนการนิติบัญญัติรัฐสภา โอกาสที่ร่างกฎหมายของภาคประชาชนจะไม่ได้รับการพิจารณาตั้งแต่ในขั้นตอนการรับหลักการตามวาระที่ 1 ก็มีสูง ซึ่งพบว่าร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับ 14,264 รายชื่อ ถูกรอการพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎรกว่า 3 ปี และสุดท้ายก็ถูกลงมติไม่ให้ผ่านเข้าสู่กระบวนการพิจารณาโดยสภาผู้แทนราษฎรเพียงวันเดียว หรือกรณีร่าง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ ฉบับ 11,567 รายชื่อ ที่ผู้ใช้แรงงานได้เข้าชื่อกันเสนอไปนานแล้วกว่า 2 ปี แต่นายกรัฐมนตรีไม่ยอมลงนามรับรอง ร่างกฎหมายจึงตกไปเมื่อมีการยุบสภา ทำให้โอกาสที่ผู้ใช้แรงงานจะเสนอกฎหมายได้จริงนั้นยังอยู่ห่างไกล

ดังนั้นนี้จึงเป็นความจำเป็นที่ประเด็นเรื่องการที่สภาผู้แทนราษฎรต้องรับร่างกฎหมายของภาคประชาชนที่ผ่านการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย จำเป็นต้องมีการระบุไว้ในกฎหมายรัฐธรรมนูญให้ชัดเจน เพื่อป้องกันไม่ให้ถูกนักการเมืองไม่เห็นชอบในการดำเนินการส่วนนี้

ตลอดจนการระบุเรื่องการที่รัฐสภาต้องพิจารณาร่างกฎหมายที่เสนอโดยผู้มีสิทธิเลือกตั้งภายในระยะเวลาที่ชัดเจนว่ากี่วันนับตั้งแต่วันที่ได้รับร่างกฎหมายนั้น

20160501_113458

 

(คลิกดูตารางเปรียบเทียบ รัฐธรรมนูญฉบับ 2540 (7) รัฐธรรมนูญฉบับ 2550 และข้อเสนอคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย)

(ประเด็นที่ 8) มาตรา 178 ระบุว่า

พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการทำหนังสือสัญญาสันติภาพ สัญญาสงบศึก และสัญญาอื่นกับนานาประเทศหรือกับองค์การระหว่างประเทศ

หนังสือสัญญาใดมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย หรือเขตพื้นที่นอกอาณาเขต ซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตยหรือมีเขตอำนาจตามหนังสือสัญญาหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ หรือจะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามหนังสือสัญญา และหนังสือสัญญาอื่นที่อาจมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคมหรือการค้าหรือการลงทุนของประเทศอย่างกว้างขวาง ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา ในการนี้รัฐสภาต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่อง หากรัฐสภาพิจารณาไม่แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ถือว่ารัฐสภาให้ความเห็นชอบ

หนังสือสัญญาอื่นที่อาจมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม หรือการค้าหรือการลงทุนของประเทศอย่างกว้างขวางตามวรรคสอง ได้แก่ หนังสือสัญญาเกี่ยวกับการค้าเสรีเขตศุลกากรร่วม หรือการให้ใช้ทรัพยากรธรรมชาติ หรือทำให้ประเทศต้องสูญเสียสิทธิในทรัพยากรธรรมชาติทั้งหมดหรือบางส่วน หรือหนังสือสัญญาอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ

ให้มีกฎหมายกำหนดวิธีการที่ประชาชนจะเข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น และได้รับการเยียวยาที่จำเป็นอันเกิดจากผลกระทบของการทำหนังสือสัญญาตามวรรคสามด้วย

เมื่อมีปัญหาว่าหนังสือสัญญาใดเป็นกรณีตามวรรคสองหรือวรรคสามหรือไม่ คณะรัฐมนตรีจะขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก็ได้ ทั้งนี้ศาลรัฐธรรมนูญต้องวินิจฉัยให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับคำขอ

ข้อสังเกตต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติมาตรา 178 พบว่า มีความแตกต่างจากรัฐธรรมนูญปี 2550 อย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะไม่มีการระบุเรื่องที่ให้คณะรัฐมนตรีต้องให้ข้อมูลและจัดให้มีการรับฟังความเห็นของประชาชน และต้องชี้แจงสาระสำคัญของหนังสือสัญญานั้นต่อรัฐสภาตั้งแต่ในขั้นการจัดทำกรอบการเจรจา ข้อบัญญัติที่เคยมีอยู่ดังกล่าว ซึ่งเป็นการสร้างความไม่โปร่งใส ขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ทั้งนี้อนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) หลายฉบับเกี่ยวข้องโดยตรงกับผู้ใช้แรงงาน เช่น อนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 เป็นต้น

(คลิกดูตารางเปรียบเทียบ รัฐธรรมนูญฉบับ 2540 (8) รัฐธรรมนูญฉบับ 2550 และข้อเสนอคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย)

เหล่านี้ทั้งหมดคือประเด็นแรงงานในร่างรัฐธรรมนูญฉบับลงประชามติที่หายไป ซึ่งสะท้อนถึงการที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ยังเข้าใจยังไม่ถ่องแท้และลึกซึ้งพอในการเข้าใจบริบทแวดล้อมชีวิตผู้ใช้แรงงานในประเทศไทยที่ไปไกลกว่า “เพียงพอต่อการดำรงชีพ” แต่คือเรื่อง “ศักดิ์ศรีแรงงานที่หมายถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่จักต้องได้รับการเคารพ ยืนยัน ตระหนัก และคุ้มครองจากรัฐอย่างถึงที่สุด”

/////////////////////////////////