เครือข่ายพนักงานแบงก์ พบหม่อมเต่าหวั่นตกงานหลังควบรวมธนชาติกับTMB

เครือข่ายสหภาพแรงงานBFUN หวั่นตกงาน 5,000 คนหลังการควบรวม 2 ธนาคาร เสนอรมว.แรงงาน หาทางแก้ แนะการโอนย้ายงานต้องทำตามมาตรา 13 กฎหมายคุ้มครองแรงงาน ทั้งสิทธิ สวัสดิการ และงานต้องเหมือนเดิม

วันที่ 27 กันยายน 2562 เครือข่ายสหภาพแรงงานธนาคารและสถาบันการเงิน (BFUN) ได้เข้าพบหม่อมราชวงศ์จตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน(หม่อมเต่า รมว.แรงงาน) เพื่อให้ช่วยดูแลพนักงานธนาคารธนชาติ และธนาคารทหารไทย (TMB) หลังการควบรวมของทั้ง 2 ธนาคาร

นายไวทิต ศิริสุวรรณ ประธานเครือข่ายสหภาพแรงงานและสถาบันการเงิน (BFUN) ได้กล่าวว่า การเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานครั้งนี้นั้นเพื่อให้ทางกระทรวงแรงงานเข้ามาดูแลเรื่องการควบรวบแบงก์ TMB กับธนชาติ ด้วยยังไม่มีความชัดเจนเรื่องการควบรวมคนว่าจะมีทิศทางแนวทางอย่างไร เนื่องจากจะกระทบกับพนักงานจำนวนมากที่อาจตกงาน ซึ่งการควบรวมนั้นยังไม่มีการกล่าวถึงความเป็นอยู่ของพนักงานทั้ง 2 แบงก์ว่าจะอยู่อย่างไรหลังมีการควบรวม โดยจะมีแรงงานที่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากทางกระทรวงการคลังยังไม่มีความชัดเจนในการดูแลเรื่องของคนงาน เขาเน้นเรื่องการควบรวมเพียงอย่างเดียวและบรรลุความต้องการ เมื่อสมประสงค์แล้ว สิ่งที่เห็นคือพนักงานทั้ง 2 ธนาคารไม่ได้รับการดูแลด้วยไม่ใช่เป้าหมายหลักในการควบรวม ไม่ได้ให้ความสำคัญกับพนักงานเลย แม้ว่าจะแจ้งว่าไม่มีการลดคนแน่นอนแต่ในทางรูปธรรมยังไม่ชัดเจน ซึ่งการมาครั้งนี้พนักงานมีข้อเสนอว่าให้มีการทำตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน มาตรา 13 ที่ระบุไว้ว่า “หากมีการเปลี่ยนแปลงตัวนายจ้าง หรือในกรณีที่นายจ้างเป็นนิติบุคคล และมีการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลง โอน หรือควบกับนิติบุคคลใด หากมีผลทำให้ลูกจ้างคนหนึ่งคนใดไปเป็นลูกจ้างของนายจ้างใหม่ การไปเป็นลูกจ้างของนายจ้างใหม่ดังกล่าวต้องได้รับความยินยอมจาก ลูกจ้างคนนั้นด้วย และให้สิทธิต่าง ๆ ที่ลูกจ้างมีอยู่ต่อนายจ้างเดิมคงมีสิทธิต่อไป โดยนายจ้างใหม่ ต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่อันเกี่ยวกับลูกจ้างนั้นทุกประการ”

“การควบรวมครั้งนี้มาจากมาตรการ 14 สิงหาคม2541 ที่กระทรวงการคลังเข้าไปถือหุ่นส่วนไว้เมื่อช่วงวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 ฉะนั้นวันนี้ที่จะมีการควบรวมเหตุผลหลักคือกระทรวงการคลังต้องการเงินคืนโดยไม่ได้สนใจว่าการควบรวมจะส่งกระทบต่อพนักงานทั้ง 2 แบงค์อย่างไร ซึ่งขณะนี้ทุนต่างประเทศที่ถือหุ้นกับแบงค์ธนชาติก็ทยอยในการขายหุ้นอีกทำให้พนักงานเกิดความกังวลเรื่องความมั่นคงในการทำงาน” นายไวทิตกล่าว

นายไวทิต ยังกล่าวอีกว่า แม้ว่าทางกระทรวงการคลังจะยังไม่แจ้งว่าจะมีการเลิกจ้างพนักงานหรือไม่ แต่ข้อกังวลใจของคนทำงานนั้นมีแน่นอนด้วยเมื่อควบรวบสาขาแล้วพนักงานที่เกินจะทำอย่างไรตรงนี้ยังไม่ชัด ซึ่งประเด็นการเลิกจ้างแน่นอนคิดว่าทางธนาคารหรือกระทรวงการคลังจะทำตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานคือจ่ายค่าชดเชยให้ตามอายุงาน แต่อยากให้การเลิกจ้าง หรือลดพนักงานเป็นมาตรการสุดท้าย อยากให้มองว่าการที่พนักงานหนึ่งคนตกงานจะกระทบทั้งเศรษฐกิจ และครอบครัว เนื่องจากคนหนึ่งคนต้องดูแลอีกหลายคนในครอบครัว จึงอยากให้กระทรวงแรงงานมาดูเรื่องการปรับเปลี่ยนตรงนี้

ด้านนายศุภาชัย ภัทรพิศุทธนา ประธานสหภาพแรงงานธนชาติ กล่าวถึงสภาพปัญหาหากเกิดการควบรวมสาขาของทั้ง 2 แบงก์ว่า จะกระทบกับพนักงานเป็นอย่างน้อย โดยพนักงานของธนาคารTMB จำนวน 8,000 กว่าคน ธนาคารธนชาติมีถึง 12,000 กว่าคน ในภาพรวมของธุรกิจจะอยู่ที่ 15,000 คนเท่านั้นเท่ากับว่าจะมีพนักงานหายไป 5,000 กว่าคนซึ่งตรงนี้ยังไม่มีมาตรการอะไรที่จะมารองรับ แน่นอนว่า ซึ่งแม้ว่าจะบอกว่าจะกระทำตามกฎหมายแต่ต้องเข้าใจว่านั้นคือมาตรฐานขั้นต่ำ ด้วยพนักงานส่วนใหญ่มีอายุราว 40 ปีขึ้นไป หากมีการเลิกจ้างก็ไม่สามารถที่จะหางานใหม่ได้ รัฐหรือกระทรวงแรงงานต้องหามาตรการพิเศษมารองรับ โดยเชื่อว่า การปรับเปลี่ยนด้านเทคโนโลยีใหม่จะเกิดการดิสรัปชั่น การปรับเปลี่ยนเรื่องการจ้างงาน และทำให้เกิดการตกงานจำนวนมากซึ่งเริ่มด้วยประเภทกิจการธนาคาร ซึ่งเกิดมาตลอดและมีผลกระทบมหาศาลกับเศรษฐกิจในอนาคต อยากให้กระทรวงแรงงานเข้ามาดูแลปัญหานี้แต่ต้น

ส่วนหม่อมหลวงจตุมงคล โสณกุล รมว.แรงงาน กล่าวว่า ทราบปัญหานี้ผ่านสื่อมวลชนแล้วและได้ติดตามเรื่องการควบรวมโดยได้มีการสอบถามทางกระทรวงการคลัง ได้รับคำตอบว่าจะไม่มีการเลิกจ้างพนักงาน โดยในส่วนพนักงานที่เกินจะโอนย้ายไปทำด้านอื่น ซึ่งเป็นการรายงานมาให้ทราบ แต่อย่างไรก็ขอรับไว้เพื่อติดตามต่อ โดยหน้าที่หากบริษัทเอกชน หรือองค์กรต่างๆหากทำตามกฎหมายแล้ว ข้าราชการก็ไม่สามารถที่จะบังคับให้ทำนอกเหนือกฎหมายที่ไม่มีคงไปบริหารจัดการให้ไม่ได้

จากนั้นทางเครือข่ายBFUN และสหภาพแรงงานธนชาติได้ยื่นหนังสือต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

นักสื่อสารแรงงาน รายงาน