วันสตรีสากล “ผู้หญิงต้องกำหนดอนาคตตนเอง”

เครือข่ายผู้หญิง นำโดยกลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี ยื่น 11 ข้อเรียกร้องถึงนายกรัฐมนตรี เรื่องลาคลอด 180 วัน เงินอุดหนุนเด็ก 0-6 ปี การจ้างงานที่ไม่มั่นคง ความเสมอภาคเท่าเทียม ฯลฯ

วันที่ 8 มีนาคม 2562 กลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี พร้อมด้วยเครือข่ายแรงงาน และเครือข่ายสตรีกลุ่มต่างๆ ได้ร่วมกันเดินรณรงค์ เนื่องในวันสตรีสากล จากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ทำเนียบรัฐบาล ประตู 5 โดยชูคำขวัญว่า “ผู้หญิงต้องกำหนดอนาคตตนเอง” เพื่อยื่นหนังสือข้อเรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธิ์ จันทร์โอชา ซึ่งมี พล.อ.สกล ชื่นตระกูล ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีมารับหนังสือแทน โดย นางสาวนิไลมล มนตรีกานนท์ ประธานกลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี ได้เป็นผู้แทนในการยื่นข้อเรียกร้อง และประกาศเจตนารมณ์ ซึ่งมีเนื้อหาดังนี้ วันสตรีสากล 8 มีนาคม 2562 กว่า 109 ปี “วันสตรีสากล” ซึ่งตรงกับวันที่ 8 มีนาคมของทุกปี ขบวนผู้หญิงทั่วโลกได้ร่วมรำลึกเฉลิมฉลองวันที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์นี้มาอย่างยาวนานจนถึงปัจจุบัน สำหรับปี 2562 นี้ กลุ่มบูรณาการแรงงานสตรีร่วมกับองค์กรเครือข่ายหลากหลายภาคส่วน จัดกิจกรรมวันสตรีสากล เพื่อรำลึกถึงประวัติศาสตร์อันมีพลังสืบทอดเจตนารมณ์แห่งการต่อสู้เพื่อสิทธิของคนงานหญิง และเพื่อขับเคลื่อนการต่อสู้ในยุคสมัยปัจจุบันไปสู่ความเสมอภาคระหว่างเพศและคุณภาพชีวิตที่ดีที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

วันสตรีสากล ก่อกำเนิดมาจากการเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมของคนงานหญิงในโรงงานสิ่งทอ ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา จากสภาพการทำงานที่เลวร้าย จึงได้ลุกขึ้นมาต่อสู้เรียกร้องให้นายจ้างเพิ่มค่าจ้างและปรับปรุงสภาพการทำงานรวมทั้งลดเวลาทำงานให้เหลือวันละ 8 ชั่วโมง หรือระบบสามแปด การประท้วงหลายครั้งจบลงด้วยการใช้ความรุนแรงต่อคนงานหญิง

อย่างไรก็ตาม การเรียกร้องได้ขยายตัวและได้รับการสนับสนุนจากทั่วโลก ในเวทีการประชุมสมัชชานักสังคมนิยมหญิงนานาชาติ “คลารา เซทคิน” ซึ่งเป็นผู้นำในการต่อสู้และผู้นำคนหนึ่งของสมัชชาฯ จึงได้เสนอให้ วันที่ 8 มีนาคม เป็น “วันสตรีสากล” เพื่อรำลึกถึงการต่อสู้ดังกล่าว และได้รับการสนับสนุนจากที่ประชุมอย่างเป็นเอกฉันท์ ซึ่งต่อมาสหประชาชาติได้รับรองวันสตรีสากลนี้

ผู้หญิงแทบทุกประเทศทั่วโลก ต่างใช้วันสตรีสากลเป็นสัญลักษณ์ เพื่อเฉลิมฉลองความสำเร็จในการต่อสู้ และแสดงความมุ่งมั่นที่จะขจัดอุปสรรคที่ยังมีอยู่  ซึ่งในประเทศไทยได้ขยายตัวเป็นพลังของขบวนหญิงชาย และทุกเพศสภาพ ที่ยืนหยัดต่อสู้เพื่อศักดิ์ศรีความเป็นคน  พลังกว้างขวางเพิ่มจากแรงงานในระบบอุตสาหกรรม ไปสู่คนทำงานหญิงหลากหลายสาขาอาชีพ และชาวไร่ ชาวนา เกษตรกร นำมาสู่การเรียกร้องสิทธิประชาธิปไตยที่มีส่วนร่วมของหญิงชาย สิทธิมนุษยชน และคุณภาพชีวิตของทุกคน

วันนี้เรามารวมพลังกันเพื่อส่งเสียงความทุกข์ยาก ความเดือดร้อนของพี่น้องผู้หญิงทุกภาคส่วนที่ถูกกระทำถูกละเมิดสิทธิ เพื่อย้ำเตือนถึงพลังแห่งความต้องการการเปลี่ยนแปลง เสียงของเราจะไปถึงพี่น้องของเราถึงประชาชนทุกภาคส่วนในสังคมไทย และถึงผู้มีอำนาจในบ้านเมือง นั่นก็คือรัฐบาล เสียงของผู้หญิงทุกกลุ่ม ทุกภาค ทุกสาขาอาชีพ เพื่อนำเสนอคุณภาพชีวิตคนทำงานหญิงต้องยั่งยืน และมีความเสมอภาคระหว่างเพศ

ปัจจุบันประเทศไทยมีประชากรหญิง 33.7 ล้านคน และชาย 32.4 ล้านคน ซึ่งเป็นหญิงมากกว่าประชากรชายกว่า 1.2 ล้านคน การออกแบบแนวทางการปฏิรูปประเทศ ตลอดจนระบอบการเมืองและการบริหารประเทศย่อมส่งผลต่อประชากรหญิงจึงสำคัญอย่างยิ่ง ผู้หญิงไม่เพียงแต่ต้องเผชิญปัญหาที่เกิดจากความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมร่วมกับผู้ชาย เช่น ความยากจน การไม่มีที่ดินทำกิน ปัญหาการถูกแย่งชิงฐานทรัพยากรจากนโยบายของรัฐ  การถูกลิดรอนสิทธิชุมชน การไม่มีส่วนร่วมในการจัดการและการตัดสินใจ การเข้าไม่ถึงสิทธิในกระบวนการยุติธรรม และความไม่ปลอดภัยจากความรุนแรงในสถานการณ์สามจังหวัดภาคใต้

ขณะเดียวกันผู้หญิงยังต้องเผชิญกับปัญหาเฉพาะ เช่น ความรุนแรงในครอบครัว ความรุนแรงทางเพศ การค้ามนุษย์ ที่มีสาเหตุจากอคติทางเพศ และการปิดกั้นโอกาสที่เท่าเทียมบนหลักการความเสมอภาคระหว่างเพศ ทั้งยังขาดมาตรการที่ปฏิบัติได้จริงในการส่งเสริมโอกาสให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมในการตัดสินใจทุกมิติทุกระดับในทางการเมืองการบริหาร และการกำหนดนโยบายการพัฒนาประเทศ เราต้องการให้สังคมตระหนักว่า ยังมีปัญหาการละเมิดสิทธิอย่างรุนแรงต่อผู้ใช้แรงงานในระบบ นอกระบบ ทั้งภาคเอกชน และรัฐวิสาหกิจ หน่วยงานของรัฐ แรงงานข้ามชาติ กลุ่มผู้ป่วยจากการทำงาน กลุ่มที่ต่อสู้เพื่อสิทธิในการจัดการฐานทรัพยากร ป่าไม้ ที่ดิน เหมืองแร่ น้ำ ในขอบเขตทั่วประเทศ ผู้หญิงที่เข้าไม่ถึงกระบวนการยุติธรรม ครอบครัวที่ถูกอุ้มหายจากการต่อสู้ ผู้หญิง ผู้พิการ กลุ่มผู้หญิงชนเผ่า กลุ่มผู้หญิง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เสี่ยงภัยความรุนแรง กลุ่มผู้หญิงชาวไร่ ชาวนา กลุ่มผู้หญิงคนจนเมืองคนสลัม กลุ่มผู้หญิงเยาวชน กลุ่มความหลากหลายทางเพศ รวมถึงปัญหาของเด็ก ลูกหลานครอบครัวของเรา

การนำเสนอข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลครั้งแล้วครั้งเล่า รัฐบาลทุกยุคทุกสมัยไม่มีความจริงใจในการแก้ไขปัญหาของเรา แต่เราไม่เคยท้อถอย รัฐบาลต้องฟังเสียงประชาชน ต้องฟังเสียงผู้หญิงและทุกเพศสภาพ  พวกเราเชื่อมั่นว่า ข้อเสนอของเราที่ต้องเน้นหลักการเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี ความยั่งยืนของผู้หญิงทำงาน และต้องมีความเสมอภาคระหว่างเพศ เป็นข้อเสนอที่ชัดเจน ชอบธรรม และเป็นประโยชน์ต่อทุกคน และต่อการพัฒนาประเทศ

พี่น้องหญิงชายทุกเพศสภาพทั้งหลาย ผู้ที่เป็นแม่ เป็นเมีย เป็นลูก พี่น้องทุกคนของเรา เราจะไม่ยอมจำนนต่อการกระทำของกลุ่มที่เอาแต่ผลประโยชน์ ไม่ว่ากลุ่มทุน กลุ่มนักการเมือง ข้าราชการหรืออำนาจพิเศษใด ๆ เราจะต้องปกป้องสิทธิความชอบธรรมของตนเอง เราต้องกำหนดอนาคตของเราเอง

สำหรับข้อเรียกร้องวันสตรีสากล ประจำปี  2562 ได้แก่

  1. รัฐต้องมีการบังคับใช้กฎหมายการคุ้มครองความเป็นมารดาให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและรัฐต้องรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 183 ว่าด้วยสิทธิการคุ้มครองความเป็นมารดา
  2. รัฐต้องจัดให้มีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กก่อนวัยเรียนอย่างทั่วถึง มีคุณภาพและปรับเปลี่ยนเวลาเปิด – ปิดศูนย์ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตคนทำงาน
  3. รัฐต้องให้เงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า 0 – 6 ปี
  4. รัฐต้องกำหนดสัดส่วนผู้หญิงในการตัดสินใจของคณะกรรมการทุกมิติและทุกระดับอย่างน้อย1ใน3
  5. รัฐต้องให้คนพิการเข้าถึงสิทธิและการบริการเท่าเทียมกับคนทั่วไป
  6. รัฐต้องจัดให้มีพื้นที่ปลอดภัยให้กับผู้หญิงและเด็กใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และในพื้นที่สาธารณะ
  7. รัฐต้องเคารพสิทธิการพัฒนาของประชาชนและผู้หญิงต้องมีส่วนร่วมในการจัดการฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
  1. รัฐต้องสร้างความมั่นคงในการทำงานและค่าตอบแทนที่เป็นธรรม
  2. รัฐต้องคุ้มครองผู้หญิงนักต่อสู้ด้านสิทธิแรงงานและสิทธิชุมชน
  3. รัฐต้องกำหนดความเสมอภาคหญิงชายและทุกเพศสภาพให้เป็นวาระแห่งชาติ
  4. รัฐต้องกำหนดวันสตรีสากล 8 มีนาคม ของทุกปีเป็นวันหยุดตามประเพณี

ทุกอย่างไม่ได้มาด้วยการร้องขอ แต่ต้องได้มาจากการรวมพลังต่อสู้ผลักดัน สามัคคีกัน แสดงความกล้าหาญ ในการลุกขึ้นต่อสู้ให้พวกที่กดขี่ ขูดรีดเอาเปรียบเรา ได้รับรู้ว่า เราเป็นคนมีศักดิ์ศรี เราต้องมีสิทธิเสรีภาพ และเราต้องได้รับความเป็นธรรมในทุก ๆ ด้าน  ต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดีและยั่งยืน

ทั้งนี้บนเวทีได้มีการนำเสนอปัญหาของผู้แทนกลุ่มต่างๆ โดยสรุปได้ดังนี้

คุณจันทนา เอกเอื้อมมณี ผู้แทนแรงงานนอกระบบ กล่าวถึงสภาพปัญหาแรงงานนอกระบบที่ไม่ได้รับการคุ้มครอง แม้ว่าจะมีกฎหมายคุ้มครองอย่างกรณีลูกจ้างคนทำงานบ้าน ที่มีนายจ้างชัดเจน แต่กฎหมายประกันสังคมยังไม่ได้ให้การคุ้มครอง หรือกระทั้งกฎหมายคุ้มครองคนทำงานบ้านเองก็ไม่ได้ให้การบังคับใช้อย่างชั่วโมงการทำงาน ค่าจ้างขั้นต่ำ หรือวันหยุดเป็นต้น กฎหมายหลายฉบับยังไม่ได้ให้การดูแลแรงงานทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียมกัน

คุณสุธาสินี แก้วเหล็กไหล ผู้แทนแรงงานข้ามชาติกล่าวว่า ปัญหาของแรงงานข้ามชาติ คนอาจมองว่ารัฐบาลมีการออกกฎหมายมาดูแลแรงงานข้ามชาติ หลายฉบับดูสวยหรู ก็เพื่อที่จะปลดล๊อกเทียร์3 ใบเหลือง ใบแดง แต่ว่าในความเป็นจริงชีวิตของแรงงานข้ามชาติยังไม่ได้รับการดูแลที่ดีขึ้นเลย ยังไม่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมาย อาจมีบางแห่งดูแล ประกันสังคมก็ยังเข้าไม่ถึงไม่ได้รับการคุ้มครองการคลอดบุตรต้องใช้บัตรประกันสุขภาพ คลอดบุตรยังไม่ได้ใบเกิด หากนายจ้างไม่ยอมที่จะเซ็นต์รับรองให้แม้จะส่งลูกกลับประเทศก็ถูกตรวจสอบว่ามีการขโมยลูกใครมาหรือไม่ วันนี้แรงงานข้ามชาติยังไม่ได้รับการคุ้มครองตามหลักสิทธิมนุษยชน หรือกฎหมายด้านสิทธิพื้นฐานด้านการคุ้มครองแรงงานเลย

ผู้แทนกลุ่มสตรีคนพิการ กล่าวว่า ผู้พิการมีสิทธิในเนื้อตัวร่างกาย มีอัตลักษณ์ในตัวเองที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ แต่อยากให้สังคม และรัฐบาล ให้โอกาสสตรีพิการ หรือคนพิการ ได้มีโอกาสทำงานในระบบ ไม่ใช่งานนอกระบบ ให้มีการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกให้ผู้พิการสามารถไปทำงานได้ เพราะว่าทุกวันนี้คนพิการเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวก แม้ว่าได้ทำงานจริงรายได้ก็จะหมดไปกับการเดินทาง ต้องขอฝากว่าคนพิการต้องการสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับสตรีคนพิการ และไม่ละเมิดสิทธิในสถานที่ทำงาน หรือว่าสถานที่ในบ้าน ให้คนพิการได้แสดงทักษะความสามารถให้สังคมได้รับรู้

คุณเรืองรุ่ง วิเชียรพงศ์ ผู้แทนแรงงานในระบบ กล่าวว่า รัฐบาลหลายยุคหลายสมัยยังไม่มีการให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO)ฉบับที่ 183 ว่าด้วยการคุ้มครองการเป็นมารดา ไม่ได้ว่าด้วยเรื่องความมั่นคง ในวันสตรีสากลรวม 9 ปีแล้วที่คนท้องรองสิทธิการลาคลอด 180 วัน เดิมที่มีการขับเคลื่อนลาคลอด 120 วัน แต่มองแล้วว่ายังไม่เพียงพอที่จะเลี้ยงดูบุตร คิดว่าผู้หญิงต้องลาคลอดดูแลให้นมบุตรอย่างน้อย 6 เดือน และปัญหาเรื่องความมั่นคง สถานการณ์แรงงานภาคตะวันออกตอนนี้ คนท้องที่เป็นแรงงานเหมาค่าแรง ถูกให้ออกจากงานหรือคืนบริษัทรับเหมา ซึ่งแรงงานหญิงเหล่านี้มีทั้งลูกจ้างสัญญาจ้างชั่วคราวไม่มีความมั่นคงในการทำงานอยู่แล้ว แต่นายจ้างยังเลือกที่จะเลิกจ้างอีก เป็นการจ้างงานที่ไม่มั่นคงกับชีวิตแรงงาน ต้องการให้ยกเลิกการจ้างงานแบบนี้เพราะทำให้ชีวิตคนงานต่ำลง เป็นการจ้างงานที่เอื้อให้นายทุน ทำให้ผู้ใช้แรงงานเสียเปรียบ สุดท้ายเรื่องความเท่าเทียมระหว่างเพศ ต้องการให้ผู้ชายมีสิทธิลาหยุดเพื่อดูแลลูกและภรรยาขณะลาคลอดอย่างน้อย 30 วันด้วย ปัญหาการที่แรงงานหญิงถูกนายจ้างปิดงานไม่จ่ายค่าจ้างอยู่อยากให้รัฐบาลมาดูแล้วแก้ไขปัญหาด้วย

คุณอารยา แก้วประดับ ผู้แทนแรงงานรัฐวิสาหกิจ กล่าวว่า ในส่วนของรัฐวิสาหกิจ 50 กว่าแห่งยังมีการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรมจำนวนมาก มีการจ้างงานแบบสัญญาจ้าง ซึ่งแรงงานเหล่านี้จะไม่ได้รับสิทธิเหมือนลูกจ้างรัฐวิสาหกิจองค์กรนั้นๆ การจ้างงานแบบนี้เหมือนลูกจ้างชั้นสอง ซึ่งไม่ว่าจะเป็นแรงงานภาคไหน ไม่ว่าจะเป็นแรงงานในระบบ แรงงานนอกระบบ แรงงานข้ามชาติ ชีวิตไม่แตกต่างกัน รูปแบบการจ้างงานของรัฐวิสาหกิจต่อลูกจ้างแบบสัญญาจ้าง ซึ่งเขาไม่ได้รับสิทธิและสวัสดิการใดเทียบเท่าพนักงานรัฐวิสาหกิจ และเขายังถูกตัดสิทธิในการรับสิทธิสวัสดิการโดยรัฐอย่าง เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด เขาไม่ได้อยู่ในประชาชนที่จะได้รับสิทธิ เพราะเขาเป็นลูกจ้างในรัฐวิสาหกิจ ซึ่งเป็นความไม่เป็นธรรม ซึ่งเรามองว่า การจ้างงานแบบนี้เป็นการจ้างงานแบบไร้คุณค่า ทำให้สิทธิความเป็นมนุษย์ไม่เท่าเทียมกัน ในวันสตรีสากลจึงอยากให้มีการกล่าวถึงการจ้างงานที่กดขี่แรงงาน และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์อยากให้ยกเลิก และยุติการจ้างงานแบบสัญญาจ้างแบบปีต่อปีซึ่งมีการต่อสัญญาไปเรื่อยบางคนเป็น10- 20 ปี ก็มี

คุณวิภาวรรณ บุญอรัญ ผู้แทนกลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิต และใกล้เคียง กล่าวว่า ต้องการให้วันสตรีสากลเป็นวันหยุดนักขัตฤกษ์ ผู้หญิงต้องทำงานหนัก 8 ชั่วโมงในโรงงาน และออกมาทำงานในบ้านเพื่อดูแลครอบครัว แถบไม่ได้พักผ่อน อยากให้ข้อเรียกร้องวันสตรีสากลเป็นจริง

คุณสิรินทร์ พิมพา ผู้แทนกลุ่มสหภาพแรงงานอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ กล่าวว่า ได้มีการเดินขบวนเนื่องวันสตรีสากล และร่วมกันยื่นหนังสือข้อเรียกร้องนับไม่ท่วม ไม่มีรัฐบาลไหนสนใจแก้ไขปัญหาเลย เหมือนปัญหาถูกทิ้งไม่ได้รับการเหลียวแล อยากฝากให้รัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีตอนนี้ยังเป็นรัฐบาล ทราบเรื่องแรงงานข้ามชาติ แรงงานในระบบหรือไม่ว่ามีปัญหา ทำงานไม่มีวันหยุด ค่าจ้างไม่ได้ตามกฎหมาย เงินไม่ออกค่าแรงต่ำ ที่จะมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเพียง 2-10 บาท ถามว่าเป็นธรรมหรือไม่ ฝากรัฐบาลที่จะขึ้นมาต้องดูแลแรงงาน วันนี้หาเสียงเลือกตั้งบอกสัญญาไว้มากมาย เวลาได้มาเป็นรัฐบาลก็บอกชีวิตติดหล่ม ตกหลุมสำหรับแรงงานตลอดเวลา

คุณสวรรยา ผดาวัลย์ ผู้แทนกลุ่มผู้ใช้แรงงานสระบุรีและใกล้เคียง กล่าวว่า ทุกปีได้มีการร่วมกันรณรงค์ แต่ปีนี้จะมีการยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล ซึ่งอยากให้รัฐบาลนำข้อเรียกร้องของกลุ่มไปพิจารณาด้วย ซึ่งผู้ใช้แรงงานมีปัญหาทั้งด้านค่าจ้าง ความมั่นคงในการทำงาน ปัญหาด้านความไม่ปลอดภัยในการทำงานซึงยังเป็นปัญหาที่รอให้มีการแก้ไข

คุณสมาน พรประชาธรรม ผู้แทนกลุ่มอุตสาหกรรมยาง กล่าวว่า เดิมการจ้างงานในอุตสาหกรรมยางจะเป็นผู้ชาย แต่ปัจจุบันนี้มีการจ้างผู้หญิงเข้ามาทำงานมากขึ้น และมีการเปิดโรงงานผลิตยางใหม่ๆ ซึ่งตนก็ได้รับการร้องเรียนว่ามีนายจ้าง หัวหน้างานละเมิดสิทธิแรงงานหญิง มีการล่วงละเมิดทางเพศอีกด้วย มีการลวนลามแรงงานหญิง ไม่ว่าจะเป็นอย่างไรการมารวมกันในวันที่ 8 มีนาคม วันสตรีสากล เพื่อให้รัฐบาลรับรู้ปัญหา และนำไปสู่การแก้ไขด้วย

คุณสุนี ไชยรส เครือข่ายWeMove กล่าวว่า ในนามผู้แทนชนเผ่า และสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และเรื่องฐานทรัพยากร ข้อเรียกร้องของกลุ่มทั้ง 11 ข้อสำคัญหมด เมื่อวานนี้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ผ่านพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ ที่เกี่ยวข้องกับป่า กับคน ซึ่งส่งผลกระทบต้องพี่น้องชนเผ่าที่ต่อสู้มาหลาย 10 ปี ที่ส่งผลให้ถูกจับ การที่กฎหมายอุทยานแห่งชาติออกมาแย่กว่าเดิม โดยพี่น้อง และนักศึกษามาประชุมที่รัฐสภา และถูกอุ้มออกมาหมดและสนช.ได้ผ่านกฎหมายดังกล่าว 3 วาระแล้ว แต่ก็ยังมีกฎหมายที่จะกระทบกับพี่น้องอีกหลายฉบับที่สนช.ยังไม่ถอนออก มีเขตเศรษฐกิจพิเศษอีกที่มีแรงงานภาคตะวันออกเข้าไปร่วมต่อสู้ ซึ่งจะมีผลกระทบกับชุมชน แรงงานด้วยด้านการจ้างงาน และผู้หญิงมุสลิมฝากว่า ปัญหาของความปลอดภัยใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่กระทบต่อผู้หญิง ทำให้ผู้หญิงต้องการเป็นหม้ายจำนวนมาก ส่งผลกระทบต่อครอบครัว การที่รัฐคิดแก้ไขปัญหาต้องสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมด้วยไม่ใช่คิดเอาเองทั้งหมด โดยเฉพาะต้องฟังเสียงผู้หญิงด้วย

พล.อ.สกล ชื่นตระกูล ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้มาร่วมเฉลิมฉลอง และต้อนรับสตรีทุกคน และรับข้อเรียกร้องของสตรี ซึ่งวันนี้ยื่นมา 11 ข้อ เท่ากับปีที่ผ่านมา ซึ่งทางรัฐบาลได้มีการแก้ไขปัญหาไปบ้างแล้ว 2-3 ข้อ และข้อเรียกร้องปีนี้รัฐบาลจะทำการแก้ไขตามที่เรียกร้องมา พร้อมกับส่งต่อให้กับรัฐบาลหน้าต่อไปด้วย

นักสื่อสารแรงงาน รายงาน