ค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท: บางบทสนทนาหน้าทำเนียบรัฐบาล

บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์[1]

เปลวแดดที่ร้อนระอุกำลังลามเลียไปทั่วผิวกายและใบหน้าของผู้ใช้แรงงานที่มาจากต่างสารทิศและรวมตัวกันอยู่ ณ ที่แห่งนี้ หลายคนเพิ่งออกจากงานกะดึกมาเมื่อรุ่งสางและมุ่งตรงมาที่นี่ทันที ความอ่อนล้า ความเพลียแดด เหงื่อไคลที่ไหลชะโลมทั่วแผ่นหลัง ผสานกับความง่วงที่เป็นผลมาจากการทำงานหนักมาทั้งคืนแฝงอยู่ทุกอณูของเรือนกาย แต่นั่นเอง! คำว่า “ค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ต้องเท่ากันทั่วประเทศ” ได้สร้างความหวังและกำลังใจให้ผู้ใช้แรงงานอย่าง “เขา” ยิ่งนัก

เสียงเพลงศักดิ์ศรีกรรมกรท่อนหนึ่งที่ถูกร้องบนรถระหว่างเดินทางมาว่า “ทำงานทุกวันขันกล้า ค่าเลี้ยงชีพไม่พอ ลูกและเมียร้องเรียกหาพ่อ หิวข้าวตัวงอระงมไป หากดวงดาวพราวสดใส แม้สอยกินได้จะสอยไว้ให้ลูกกิน” ทำให้เขาน้ำตาแอบรินและสะอื้นอยู่ข้างใน ย้อนนึกถึงเมื่อวันก่อน จูงมือลูกไปที่ตลาดเพื่อหาซื้ออาหารเย็นไปเตรียมไว้ให้ครอบครัวยามที่แม่-ลูกต้องอยู่กันเพียงสองคนในยามค่ำคืน

ข้าวราดแกง 1 อย่าง ราคา 30 บาท (2 อย่าง 35 บาท )

ก๋วยเตี๋ยว 1 ชาม 30 บาท พิเศษ 35 บาท

ข้าวมันไก่/ข้าวหมูแดง/ข้าวหมูกรอบ 1 จาน 30 บาท พิเศษ 35 บาท

อาหารตามสั่งจานละ 30-35 บาท

แค่อาหารเพียง 2 มื้อ สำหรับคน 3 คนในบ้านที่เขาต้องดูแล กับเงินในกระเป๋าที่มีอยู่เพียง 193 บาท ทำให้เขาคิดหนักไม่น้อยเมื่อเห็นราคาอาหารเมื่อเทียบกับค่าแรงที่ได้รับดูเหมือนจะแตกต่างราวฟ้ากับเหว นี้ไม่นับค่าใช้จ่ายอื่นๆอีก ทั้งค่าเช่าบ้าน ค่าเดินทาง ค่าของใช้บ้าน ค่าจิปาถะอื่นๆ นี้ถ้าเขาไม่ทำงานล่วงเวลา (OT) ก็ไม่มีทางทำให้ลูกเมียได้พอกินอย่างแน่นอน

ก่อนมาที่นี่ พี่คนหนึ่งที่มีตำแหน่งเป็นประธานกลุ่มได้เรียกประชุมสมาชิกสหภาพเพื่อให้ความรู้ว่า“ทำไมต้องมีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาท เท่ากันทั่วประเทศ จริงหรือไม่ที่ปรับค่าแรงเป็น 300 บาทแล้ว นายทุนจะย้ายฐานการผลิต ปิดกิจการ และแรงงานอย่างพวกเขาจะถูกเลิกจ้าง” คำพูดประเภทนี้ที่โหมกระหน่ำผ่านหน้าหนังสือพิมพ์ หรือยามฟังวิทยุและโทรทัศน์ หลอกหลอนเขาในฐานะแรงงานที่ยังเป็น “ลูกจ้างรายวัน” ไม่น้อย เพราะดูเหมือนว่าเด็กสมัยนี้ที่เรียนจบปริญญาตรีก็จะได้รับค่าแรงถึง 15,000 บาท หรือในกลุ่มแรงงานภาครัฐวิสาหกิจก็มีการปรับค่าจ้างเป็น 300 บาทไปแล้ว แต่ “แรงงาน” อย่างเขา ยังมีชีวิตแบบลูกผีลูกคนอยู่เลย !

ระหว่างที่นั่งฟังประธานและเลขาธิการกลุ่มให้ความรู้อย่างตั้งใจ เขามองเห็นความหวังรำไรบางอย่างขึ้นมา โดยเฉพาะมุมของนายจ้างที่เขามักจะหาอ่านตามหน้าหนังสือพิมพ์ไม่เจอ ไม่ว่าจะเป็น

(1) รายงานวิจัยขององค์กรทางด้านการเงินระดับชาติแห่งหนึ่งได้เคยประเมินผลกระทบทางตรงของการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ จากสัดส่วนของต้นทุนที่มาจากการใช้แรงงานที่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท พบว่า ผู้ประกอบการโดยรวมได้รับผลกระทบน้อยมาก เนื่องจากโดยเฉลี่ยแล้วต้นทุนแรงงานคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 13.7 ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด ซึ่งการจ่ายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท คิดเป็นเพียงร้อยละ 0.1 ของต้นทุนแรงงาน ถ้าจะมีผลกระทบจริงๆก็เฉพาะอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นเพียงเท่านั้น เช่น อุตสาหกรรมเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม ซึ่งเป็นธุรกิจที่สถานประกอบการพยายามเลือกใช้แรงงานราคาถูกหรือกดค่าจ้างให้ต่ำที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ตลอดมา

ผลการศึกษาวิจัยอีกฉบับหนึ่งของ ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ก็ชี้ชัดเกี่ยวกับการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ ว่าจะส่งผลให้เกิดการยกระดับกำลังซื้อ ทั้งนี้กำลังซื้อภายในไทยร้อยละ 42 มาจากเงินเดือนและค่าจ้าง ทั้งนี้ถ้าพิจารณาในแง่ของต้นทุนการผลิตในกลุ่ม SME ทั่วประเทศ ก็พบว่าจะเพิ่มจากเดิมร้อยละ 17.06 เป็น 23.48 หรือเฉลี่ยเพิ่มร้อยละ 6.42 ส่วนกิจการขนาดใหญ่ ต้นทุนการผลิตจะเพิ่มจากร้อยละ 14.14 เป็น 20.48 หรือเฉลี่ยร้อยละ 6.34 เท่านั้น ซึ่งต้นทุนส่วนนี้ที่เพิ่มเพียง 6% ถือว่าเป็นตัวเลขที่ต่ำ และไม่มีผลถึงขั้นให้หยุดกิจการหรือปิดโรงงานได้จริง

พี่ประธานกลุ่มได้อธิบายด้วยภาษาที่ง่ายขึ้นด้วยการยกตัวอย่างว่า ต้นทุนค่าแรงเป็นเพียงส่วนหนึ่งของต้นทุนการผลิตสินค้า 1 ชิ้น ไม่ใช่ต้นทุนทั้งหมด ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ประกอบการจะทราบดีว่า ต้นทุนค่าแรงเป็นสัดส่วนประมาณ 10-15 เปอร์เซนต์ของต้นทุนทั้งหมดเท่านั้น ต้นทุนส่วนใหญ่อยู่ที่ค่าน้ำมันในการขนส่งสินค้า ค่าวัตถุดิบมากกว่า ดังนั้นการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจาก 215 บาทเป็น 300 บาท จะทำให้ต้นทุนโดยรวมเพิ่มขึ้นประมาณ 5 เปอร์เซนต์เท่านั้น ไม่ใช่ 100 เปอร์เซนต์ ตามที่มักกล่าวอ้างถึง และเมื่อมองผลกระทบด้านอื่นๆ อีก เช่น การยกเลิกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันชั่วคราว การลดภาษีเงินได้จาก 30 เปอร์เซนต์เหลือ 23 เปอร์เซนต์ในปี 2555 และเหลือ 20 เปอร์เซนต์ในปี 2556 ยิ่งจะช่วยให้กำไรสุทธิของบริษัทมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม

(2) วันนั้นมีพี่คนหนึ่งมีตำแหน่งเป็นถึงประธานสหพันธ์แรงงานยานยนต์แห่งประเทศไทย ได้มาเป็นวิทยากรให้ความรู้ด้วย พี่เขาอธิบายให้ฟังว่า แม้จะมีการกล่าวอ้างว่าเมื่อมีการปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท จะส่งผลให้ผู้ประกอบการแบกรับภาระต้นทุนไม่ไหว แล้วจะมีการย้ายฐานการผลิตไปที่ประเทศใกล้เคียงที่ยังมีอัตราค่าจ้างต่ำกว่ามาก จริงๆแล้วการย้ายฐานการผลิตออกนอกประเทศอาจเกิดขึ้นได้ไม่ง่ายนักและไม่สามารถทำได้ทันที โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่มีฐานการผลิตสัดส่วนสูงในไทย อาทิ ยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจาก

(2.1) บริษัทต่างชาติได้ลงทุนไปค่อนข้างมากแล้วจึงมีต้นทุนคงที่ (Fixed cost) ค่อนข้างสูง การย้ายฐานการผลิตจึงมีต้นทุนสูงตามมา ซึ่งอาจทำให้สูญเสียความสามารถในการแข่งขัน

(2.2) ประเทศไทยมีเครือข่ายการผลิต (Supplier network) ที่แข็งแกร่งและมีความพร้อม ทำให้การย้ายฐานการผลิตไปเกิดขึ้นได้ยาก เนื่องจากต้องอาศัยระยะเวลาในการพัฒนาใหม่และใช้เงินลงทุนสูงโดยเฉพาะในกรณีของอุตสาหกรรมยานยนต์ เนื่องจากประเทศไทยมีข้อได้เปรียบจากการกระจุกตัวรวมกันเป็นกลุ่มเครือข่ายธุรกิจ (cluster) ของอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง โดยกลุ่มบริษัทรถยนต์รายใหญ่ของโลกมาตั้งโรงงานประกอบในไทยต้องใช้เวลาในการสร้างเครือข่ายกับบริษัทผลิตชิ้นส่วนหลัก ที่อยู่ในค่ายของผู้ประกอบรถยนต์แต่ละราย (Tier 1) และต้องพึ่งพาชิ้นส่วนรองและชิ้นส่วนย่อยจากผู้ประกอบการไทยอีกต่อหนึ่ง (Tier 2,3) ซึ่งไทยยังมีความเป็นศูนย์กลางด้านวัตถุดิบที่หาได้ง่ายและมีเพียงพอกับความต้องการ ด้วยคุณภาพและระดับราคาที่ยังแข่งขันได้ โดยมีสัดส่วนการผลิตที่ใช้ชิ้นส่วนในประเทศสูงถึงร้อยละ 60 ปกติแล้วต้นทุนแรงงานในการผลิตรถยนต์คันหนึ่งๆ คิดเป็นอัตราต้นทุนทั้งหมดแค่ 2 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น นอกจากนั้นแล้วยังพบว่าการผลิตรถยนต์ในประเทศญี่ปุ่นมีอัตราต้นทุนค่าแรงประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ แต่กลับพบว่าราคารถในญี่ปุ่นขายถูกกว่าในประเทศไทยถึง 30 เปอร์เซ็นต์

(2.3) แรงงานไทยมีความชำนาญและมีฝีมือประณีต ซึ่งอาศัยการฝึกฝนมาเป็นระยะเวลาพอสมควร และเป็นสิ่งที่ต้องการ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งประเทศไทยเป็นฐานการผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่มีส่วนแบ่งการผลิตถึงร้อยละ 41 ของโลก

แม้เป็นประโยคยากๆที่ต้องพยายามทำความเข้าใจหลายๆครั้ง แต่ก็ทำให้ “เขา” มีพลังที่จะทำงานต่อไป

อย่างไรก็ตามการจัดการศึกษาในวันนั้น มีเอกสารฉบับหนึ่งที่แจกให้สมาชิก และเขาสนใจเป็นพิเศษ จริงๆแล้วแง่หนึ่งเขาก็เชื่อว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งคงเอาจริงเอาจังและทำตามสัญญาที่ได้หาเสียงไว้ แต่อีกด้านหนึ่ง ประชาชนผู้เสียภาษีอย่างเขาและเดินทางกลับบ้านเกิดไปเลือกตั้งทุกครั้งไม่เคยขาดตามหน้าที่พลเมืองไทยที่ดี ก็กลับขยาดและหวั่นเกรงกับน้ำคำของนักการเมืองเช่นกัน ทุกวันนี้บ้านเกิดเขาที่ระบุตามทะเบียนบ้านก็ยังคงเป็นถนนลูกรังคละคลุ้งไปด้วยฝุ่นในหน้าลมแล้ง และเฉอะแฉะไปด้วยโคลนดินแดงยามเมฆหมอกลมฝนมาเยือน

 เอกสารฉบับนั้นที่พี่ประธานกลุ่มแจกให้ เขียนไว้ว่า

(1)     จากการวิเคราะห์ของสำนักงานคณะกรรมการค่าจ้าง สำนักเศรษฐกิจการแรงงาน สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน พบว่าเมื่อเปรียบเทียบการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศกับการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อทั้งประเทศ ตั้งแต่ปี 2545 – 2554 พบว่า อัตราเงินเฟ้อทั้งประเทศสะสม 10 ปี มีการปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าการเพิ่มขึ้นของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเฉลี่ยทั้งประเทศสะสมอยู่ร้อยละ 1.9 กล่าวคือ อัตราเงินเฟ้อทั้งประเทศสะสม มีการเพิ่มขึ้นร้อยละ 27.6 ในขณะที่อัตราค่าจ้างขั้นต่ำทั้งประเทศสะสม มีการปรับเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 25.7 นั่นคืออัตราเงินเฟ้อทั้งประเทศ มีการปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าการเพิ่มขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำทั้งประเทศเฉลี่ยต่อปี อยู่ร้อยละ 0.19 กล่าวคือ อัตราเงินเฟ้อมีการเพิ่มขึ้นเฉลี่ยต่อปีร้อยละ 2.76 ในขณะที่อัตราค่าจ้างขั้นต่ำมีการปรับเพิ่มขึ้นเฉลี่ยต่อปีร้อยละ 2.57 ขณะที่อัตราการเจริญเติบโตไม่ได้ถูกนำมาพิจารณาในการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา

 ถ้ามองในเชิงเปรียบเทียบแล้วกล่าวได้ว่าการคิดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำลักษณะนี้ถือได้ว่าเป็นการเอาเปรียบพี่น้องแรงงาน เพราะการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเช่นนี้เกื้อหนุนต่อกำไรของฝ่ายนายจ้างหรือฝ่ายทุน เพราะอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้นในอัตราที่ต่ำกว่าที่ควรจะเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะความไม่สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อ เพราะเมื่อเงินเฟ้อปรับตัวขึ้นเมื่อไหร่ ค่าแรงที่เพิ่มก็เท่ากับไม่ได้เพิ่มอีกต่อไป ดังนั้นค่าจ้างขั้นต่ำที่กำหนดต่ำเช่นนี้จึงส่งผลกดค่าจ้างเฉลี่ยโดยรวมให้ต่ำลงไปอีก โดยเฉพาะในกลุ่มงานที่ไม่ต้องการทักษะ ฝีมือ และการศึกษาสูง เช่น งานในอุตสาหกรรมทอผ้า หรือในอุตสาหกรรมประมงทะเลและประมงทะเลต่อเนื่อง เป็นต้น

ดังจะเห็นได้จากตารางเปรียบเทียบอัตราค่าจ้างขั้นต่ำกับอัตราเงินเฟ้อทั้งประเทศและอัตราการเปลี่ยนแปลงของ GDP 10 ปีย้อนหลัง (ตั้งแต่ปี 2545- 2554)

พ.ศ.

อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ

เฉลี่ยทั้งประเทศ

(บาท)

อัตราการเปลี่ยนแปลง

ของอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ

(ร้อยละ)

อัตราเงินเฟ้อ

(ร้อยละ)

อัตรา

ผลิตภัณฑ์รวม

ณ ราคาปัจจุบัน

2545

137.0

0.2

0.7

6.2

2546

138.3

0.9

1.8

8.6

2547

139.7

1.0

2.7

9.7

2548

148.1

6.0

4.5

9.3

2549

149.4

0.9

4.7

10.6

2550

154.0

3.1

2.3

8.7

2551

162.1

5.3

5.5

6.5

2552

162.1

0.0

-0.9

-0.4

2553

165.3

2.0

3.3

11.8

2554

175.8

6.4

3.0

7.0

รวม
(2545 – 2554)

 

25.7

27.6

78

เฉลี่ยต่อปี

 

2.57

2.76

7.8

(2)     เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศที่เน้นการส่งออกสินค้ามากกว่าการนำเข้า ทำให้ประเทศไทยจึงวางตัวเองในฐานะ “ผู้รับจ้างผลิต” ในเวทีโลก ดังนั้นอุตสาหกรรมต่างๆในประเทศไทยจึงพยายามทำให้ต้นทุนทุกอย่างของการผลิตสินค้าชิ้นหนึ่งๆต่ำที่สุด ในที่นี้รวมถึงต้นทุนเรื่องค่าจ้างแรงงานด้วย เพื่อให้ได้กำไรมากที่สุดจากการส่งออก สำหรับบรรษัทข้ามชาติขนาดใหญ่แล้วการลดข้อจำกัดของต้นทุนการผลิตรูปแบบหนึ่ง คือ การย้ายฐานการผลิตไปยังที่ไหนก็ได้ที่มีแรงงานราคาถูกและทรัพยากรเพียงพอ และประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในนั้น

 รูปแบบหนึ่งของการผลิตและการจ้างงานในลักษณะนี้เพื่อลดต้นทุนการผลิต คือ การจ้างระบบเหมาช่วง เหมาค่าแรง (Outsourcing) ที่ทำให้การจ่ายค่าจ้างต่ำลง จ่ายสวัสดิการต่ำกว่าหรือไม่ต้องจ่ายเลย รวมถึงไม่มีการลงทุนด้านความปลอดภัยในการทำงานแม้แต่น้อย ดังนั้นสภาพการจ้างและเงื่อนไขสำหรับแรงงานจึงเป็นเรื่องที่ไม่ได้รับการเอาใจใส่หรือเกิดความตระหนักในการต้องคุ้มครองในกระบวนการผลิตแบบนี้แม้แต่น้อย

อาจไม่เกินเลยไปนักที่จะกล่าวว่าประเทศไทยทุกวันนี้เป็นประเทศที่อาศัยการใช้แรงงานราคาถูกแบบ 3 L คือ ค่าจ้างแรงงานถูก (Low Wage) ผลิตภาพแรงงานต่ำ (Low Productivity) และชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน (Long Working Hour) ทำให้แรงงานในประเทศไทยจึงมีคุณภาพชีวิตที่ต่ำ ส่วนใหญ่มีรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ ต้องทำงานล่วงเวลา เพื่อให้มีรายได้เพียงพอกับค่าใช้จ่าย ดังนั้นแรงงานจึงขาดความมั่นคงในการทำงานและไม่มีหลักประกันในการรวมตัวต่อรอง โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นสัญญาจ้างเป็นแบบปีต่อปี ระยะสั้น หรือไม่มีแม้แต่สัญญาจ้าง จะไม่มีความก้าวหน้าตามอายุการทำงาน ไม่มีหลักประกันใดๆในการถูกเลิกจ้างได้ตลอดเวลา ไม่สามารถจัดตั้งสหภาพแรงงาน หรือมีอำนาจต่อรองใดๆ และไม่มีส่วนร่วมในการบริหารงานหรือตัดสินใจใดๆในองค์กร รวมถึงบริษัทก็ไม่มีส่วนร่วมรับผิดชอบในค่าจ้างและสวัสดิการของลูกจ้างเหล่านี้ว่าจะมีสภาพเช่นใดด้วย

(3)     ที่ผ่านมาพบว่าการบังคับใช้กฎหมายค่าจ้างขั้นต่ำยังมีค่อนข้างจำกัด โดยข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ (2554) ระบุว่ามีถึง 39 จังหวัดที่มีค่าจ้างเฉลี่ยต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำในจังหวัดนั้นๆ นั่นก็หมายความว่ายังมีลูกจ้างอีกจำนวนมากที่ได้รับค่าจ้างต่อวันต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำรายจังหวัดที่กำหนดไว้ ซึ่งใน 39 จังหวัดนี้เมื่อค่าจ้างขั้นต่ำปรับใหม่มีผลบังคับใช้ แนวโน้มการหลีกเลี่ยงการจ่ายค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ที่ถูกปรับเพิ่มขึ้นก็น่าจะมีมากขึ้นไปอีก เช่น ในจังหวัดพะเยาที่อัตราค่าจ้างขั้นต่ำต่ำที่สุดในประเทศไทย คือ 159 บาท พบว่าได้รับจริงเพียง 111 บาทเท่านั้น ดังนั้นไม่ต้องกล่าวถึงกลุ่มแรงงานนอกระบบที่จะได้รับค่าจ้างต่ำกว่านี้มาก

เมื่อพิจารณาจากโครงสร้างแรงงานไทยปี 2554 มีจำนวนแรงงานทั้งสิ้น 38 ล้านคน ในจำนวนนี้มี 21 ล้านคนที่ประกอบอาชีพอิสระ เช่น ชาวนา พ่อค้า แม่ค้าหาบเร่ ผู้รับงานไปทำที่บ้าน ซึ่งเป็นกลุ่มแรงงานที่ไม่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ แม้ใน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 จะมีบทกำหนดโทษว่าหากนายจ้างจ่ายค่าจ้างน้อยกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่ในความเป็นจริงปรากฏว่ารัฐไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายได้อย่างทั่วถึงและจริงจัง

(4)     ใน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 87 ได้วางหลักเกณฑ์ในการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำว่า “คณะกรรมการค่าจ้างต้องพิจารณาอัตราค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับอยู่ ประกอบกับข้อเท็จจริงอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งดัชนีค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อ มาตรฐานการครองชีพ ต้นทุนการผลิต ราคาของสินค้า ความสามารถของธุรกิจ ผลิตภาพแรงงาน ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ สภาพทางเศรษฐกิจและสังคม” ซึ่งการระบุเช่นนี้เป็นที่น่าสังเกตว่า ข้อมูลที่ให้พิจารณามีลักษณะซ้ำซ้อนกัน รวมทั้งในปัจจุบันข้อมูลเกี่ยวกับค่าครองชีพที่แท้จริงของแต่ละจังหวัดก็ไม่มีตามที่ระบุไว้ ดังนั้นจึงทำให้กระบวนการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ มีลักษณะเป็นการเจรจาต่อรองกัน มากกว่าที่จะเป็นการปรับบนพื้นฐานข้อเท็จจริง เห็นได้ชัดว่าคณะอนุกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำในบางจังหวัด มีปัญหาในเรื่องอำนาจต่อรองระหว่างฝ่ายนายจ้างกับฝ่ายลูกจ้าง เนื่องจากหลายจังหวัดไม่มีสหภาพแรงงาน ทำให้ฝ่ายลูกจ้างจึงมีอำนาจต่อรองน้อยกว่าฝ่ายนายจ้างมาก

อีกประการหนึ่งที่สำคัญ คือ มีการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่ไม่เท่ากันในแต่ละจังหวัด (ปัจจุบันมีถึง 32 อัตรา) ยิ่งสร้างความหวาดหวั่นในใจให้ผู้ใช้แรงงานมากยิ่งขึ้น เช่น จ.ชลบุรี กับ จ.สมุทรปราการ เป็นจังหวัดที่อยู่บนรอยตะเข็บของแผ่นดินต่อกัน แต่กลับพบว่าค่าจ้างขั้นต่ำที่ชลบุรี 196 บาท แต่ที่สมุทรปราการ 215 บาท หรือที่ จ.อยุธยา 190 บาท แต่ จ.ปทุมธานีซึ่งติดกันกลับเป็น 215 บาท เป็นต้น แต่เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันแล้วกลับไม่ได้แตกต่างกัน เห็นได้จากราคาสินค้าในร้าน 7-11 หรือใน Big C, Lotus ก็เป็นราคาเดียวกันทั่วประเทศ

ข้อมูลเหล่านี้ทำให้เขาประหวั่นพรั่นพึงมิใช้น้อยว่าการเดินทางมาที่นี่ อาจจะไม่เป็นผลเหมือนกับทุกๆครั้งที่ผ่านมาก็ได้

กว่า 5 ชั่วโมงแล้ว ที่เขานั่งฝ่าไอแดดร้อนระอุอยู่ “ที่นี่” สถานที่ที่เรียกว่า “ทำเนียบรัฐบาล” แต่เมื่อมองผ่านประตูรั้วเข้าไปด้านในที่คงเย็นฉ่ำ ทำให้เขาแอบอิจฉาคนที่อยู่ข้างในมิใช่น้อย พี่บนเวทีประกาศผ่านเครื่องขยายเสียงว่า “พี่ๆแกนนำกำลังเจรจาอยู่อย่างเคร่งเครียดครับ นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ประชุมอยู่ด้านใน แต่กลับให้รัฐมนตรีแรงงานมาเป็นผู้เจรจาแทน สรุปว่าสุดท้ายให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 22 พ.ย. 54 คือ ปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท ใน 7 จังหวัดเท่านั้น ได้แก่ ภูเก็ต กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และนครปฐม ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.55 ส่วนในจังหวัดที่เหลือ 70 จังหวัด ให้ปรับในวันที่ 1 ม.ค.56 ทั้งนี้ในปี 57-58 จะไม่มีการปรับค่าจ้างเพิ่มทั้งสิ้น”

เมื่อจบประโยคนี้ทำให้ “เขา” เห็นคำตอบที่ชัดเจนของการเดินทางวันนี้

ว่าไปแล้วแรงงานตัวเล็กๆอย่างเขา ไม่ได้หวังอะไรไปมากกว่า “ชีวิตครอบครัวกรรมกรที่มีความสุข” เหมือนกับในหนังสือของ อ.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เรื่องจากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน ที่ตอนหนึ่งเขียนไว้ว่า “….เมื่อออกจากโรงเรียนแล้ว ผมต้องการงานอาชีพที่มีความหมาย ทำให้ได้รับความพอใจว่าตนได้ทำงานเป็นประโยชน์แก่สังคม ในฐานะที่ผมเป็นกรรมกร ผมก็ควรจะมีหุ้นมีส่วนในโรงงาน บริษัท ห้างร้านที่ผมทำอยู่ เรื่องอะไรที่ผมทำเองไม่ได้ หรือได้แต่ไม่ดี ผมก็จะขอความร่วมมือกับเพื่อนฝูงในรูปสหกรณ์ หรือสโมสร หรือสหภาพ จะได้ช่วยซึ่งกันและกัน ผมต้องการโอกาสที่มีส่วนในสังคมรอบตัวผม ต้องการมีส่วนในการวินิจฉัยโชคชะตาทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของชาติ เมียผมก็ต้องการโอกาสต่าง ๆ เช่นเดียวกับผม….”

เขาลุกขึ้นพร้อมกับเพื่อนๆ และมุ่งหน้าไปที่รถเพื่อกลับไปยังโรงงานอีกครั้ง ภารกิจวันนี้เสร็จสิ้นลงแล้ว เสียงเพลงคนทำทางผ่านแว่วมา ท่อนที่ร้องว่า “ประวัติศาสตร์อาจมีในหลายด้าน แต่คนที่ทำงานไม่เคยจะเอ่ยออกนาม คนที่แบกหามลุยน้ำลุยโคลนคนที่สรรสร้าง จากป่าเป็นเมืองรุ่งเรืองงามเพียงเวียงวัง ด้วยเลือดด้วยเนื้อของคนทำทาง ถางทางตั้งต้นให้คนต่อไป”  ทำให้เท้าหยุดชะงักชั่วครู่

300 บาท ค่าจ้างที่ดูเหมือนไกลเอื้อมมือคว้า

อยู่ดีๆใบหน้า “เขา” ก็ชุ่มไปด้วยน้ำบางอย่างที่ไม่รู้ชัดว่านี้คือ “น้ำตา” หรือ “เหงื่อ” กันแน่!



[1] ขอบคุณคุณยงยุทธ เม่นตะเภา และคุณบุญสม ทาวิจิตร เป็นพิเศษ สำหรับแรงบันดาลใจดีๆและข้อมูลที่เกี่ยวข้องในบทความเรื่องนี้ ผู้เขียนเขียนขึ้นมาภายหลังทราบผลการเจรจาระหว่างตัวแทนจากคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยและองค์กรเครือข่าย กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เรื่อง “ค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ต้องเท่ากันทั่วประเทศ” ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2555 (ทั้งๆที่นายกรัฐมนตรีก็อยู่ที่นั่น แต่เธอก็กลับไม่ใส่ใจและเห็นคุณค่าชีวิตแรงงาน) อย่างไรก็ตามรัฐบาลยังคงยืนยันตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 22 พฤศจิกายน 2554 แน่นอนบทความเรื่องนี้ไม่มีอะไรใหม่ ไม่ใช่บทวิเคราะห์ใดๆในเชิงวิชาการทั้งสิ้น  แค่ (แอบ) หวังเพียงความเข้าใจในชีวิตกรรมกรคนๆหนึ่ง ในฐานะ “มนุษย์ที่มีศักดิ์ศรี” ในยามที่ค่าแรง 300 บาท คือเรื่องที่ไกลเอื้อมมือคว้า คำถามสำคัญ คือ เราจะอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุขได้อย่างไรในสังคมไทยที่มีความเหลื่อมล้ำต่ำสูงและให้ “คุณค่ากรรมกร” เช่นนี้ อะไรเล่าคือคำตอบที่จะบอกได้ว่า หลักประกันทางสังคมของการมีชีวิตอย่างเป็นปกติสุขของกรรมกรคนหนึ่ง อยู่ ณ ที่ใด?