คสรท.เรียกร้องรัฐแสดงความจริงใจแก้ปัญหา พร้อมแสดงจุดยืนเคียงข้างเกษตรกรยาง

Untitled-3Untitled-10

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) เรียกร้องให้รัฐบาลต้องแสดงความจริงใจในการแก้ไขปัญหาของพี่น้องเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราในเร็ววัน เพราะการที่รัฐบาลมัวแต่คำนึงถึงฐานเสียงหรือมิใช่ฐานเสียงของรัฐบาล นี้คงมิได้ทำให้ชีวิตเกษตรกรปลูกยางพาราดีขึ้นได้ในระยะยาว เพราะด้วยเหตุปัจจัยทั้งระดับโลกและระดับภายในประเทศที่มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างมาก พร้อมนับสนุนการเคลื่อนไหวและเคียงข้างพี่น้องเกษตรกรผู้ชุมนุมอยู่ในขณะนี้จนถึงที่สุด “เพราะชะตากรรมของเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา คือ ทุกข์ร่วมของพี่น้องแรงงาน” เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2556 คสรท.ได้ออกแถลงการณ์ เรื่อง “จากนโยบายยางพาราเอื้ออาทร ยุคทักษิณ ชินวัตร สู่อนาคตที่กำหนดตนเองไม่ได้ของเกษตรกรปลูกยางพารา ยุคยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2556

สืบเนื่องจากการชุมนุมของพี่น้องเกษตรกรปลูกยางพาราและปาล์มน้ำมันที่บริเวณถนนเอเชียสาย 41 ณ สี่แยกควนหนองหงส์ หมู่ 1 ต.ควนหนองหงส์ อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช ตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม 2556 และนำมาสู่การสลายการชุมนุมโดยใช้ความรุนแรงรูปแบบต่างๆจากกองกำลังตำรวจในพื้นที่ ผ่านคำสั่งของนายวิโรจน์ จิวะรังสรรค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ทั้งการทุบตี การใช้อาวุธปืนข่มขู่คุกคาม รวมถึงการใช้กระแสไฟฟ้าจี้ช็อต จนทำให้มีผู้บาดเจ็บหลายราย

อีกทั้งตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันได้มีการก่อกวนของฝ่ายต่างๆอย่างต่อเนื่อง ดังเช่นเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2556 มีรถกระบะทะเบียน ฌพ 6077 ได้วิ่งเข้ามาในที่ชุมนุมและพุ่งชนเยาวชนที่เข้าร่วมชุมนุมจนได้รับบาดเจ็บ

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ในฐานะองค์กรแรงงานที่มีจุดยืนสนับสนุนและผลักดันการเข้าถึงความเป็นธรรม เพื่อคุ้มครองแรงงานทุกคนในประเทศไทยอย่างไม่มีความเหลื่อมล้ำมาอย่างต่อเนื่อง ขอประณามรัฐบาลนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่นิ่งดูดายและปล่อยให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว โดยไม่มีมาตรการในการจัดการเพื่อยุติความรุนแรงที่เกิดขึ้น ทั้งๆที่นี้คือการรวมตัวของเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาราคายางพาราตกต่ำ เพื่อให้รัฐบาลมีการดำเนินการแก้ไขปัญหาในเร็ววัน

แม้ว่ารัฐบาลจะกล่าวอ้างว่า นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีการเจรจากับเครือข่ายชาวสวนยางพาราแห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2556 เพื่อแก้ไขปัญหาราคายางตกต่ำเรียบร้อยแล้วก็ตาม แต่สถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่กลับมีลักษณะตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง

ทั้งนี้นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร จึงมิสามารถปฏิเสธได้เลยว่า นี้คือผลกระทบสำคัญที่มาจากนโยบายการส่งเสริมการปลูกยางพาราในยุคอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร เมื่อปี 2546 ในโครงการ “ยางพาราเอื้ออาทร” นั้นเอง ซึ่งต้องยอมรับว่าในวันนี้ยางพาราได้กลายเป็นพืชเศรษฐกิจที่เป็นความหวังของเกษตรกรทุกภูมิภาคของประเทศไปแล้ว แต่ผลจากราคายางพาราที่ตกต่ำได้นำมาสู่การประกาศชุมนุมพร้อมกันของเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา 4 ภาคในวันที่ 3 กันยายน 2556 ที่จะถึงนี้

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 เป็นต้นมา รัฐบาลในสมัยนั้นได้มีนโยบายการส่งเสริมการปลูกยางพารา เพื่อแก้ปัญหาความยากจนของเกษตรกร โดยขยายฐานการผลิตจากพื้นที่ทางภาคใต้สู่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ข้อมูลของกรมป่าไม้ระบุชัดเจนว่า ปัจจุบันทั่วประเทศมีพื้นที่ปลูกยางพาราประมาณ 20 ล้านไร่ และมีแนวโน้มพื้นที่ปลูกยางพาราจะเพิ่มขึ้นอีกจากนโยบายของรัฐบาลที่สนับสนุนโครงการปลูกยางพาราในที่แห่งใหม่ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2554-2556) รวมอีกกว่า 800,000 ไร่

ผลกระทบสำคัญที่เกิดขึ้นจากการขยายพื้นที่ปลูกยางพารา โดยที่รัฐบาลไม่ว่าจะยุคสมัยใดก็ตามหลังจากนั้น ต่างก็ขาดการทบทวนถึงผลที่เกิดขึ้นดังกล่าว คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยมีข้อสังเกตสำคัญ ดังนี้

(1) สถานการณ์การปลูกยางพาราไม่ได้เพิ่มสูงขึ้นในประเทศไทยเพียงเท่านั้น แต่ยังเพิ่มสูงขึ้นมากในแถบอินโดจีน ซึ่งรัฐบาลมิสามารถรับประกันความผันผวนของราคาได้อย่างแน่นอน ทั้งๆที่เกษตรกรสวนยางใช้เวลาถึง 7 ปีครึ่ง สำหรับการรอผลผลิตซึ่งนับว่านานมาก อีกทั้งต้นทุนการผลิตยางในปัจจุบันอยู่ที่ 64.19 บาท/กิโลกรัม แต่ราคาซื้อขายกันอยู่ที่กิโลกรัมละ 74.85 บาท ซึ่งถือเป็นราคาที่เกษตรกรอยู่ไม่ได้

ดังนั้นการตัดสินใจเชิงนโยบายของรัฐบาลชุดต่างๆที่ผ่านมาในการขยายพื้นที่ปลูกยางพาราในพื้นที่แห่งใหม่มากขึ้น จึงเป็นปรากฏการณ์ที่สุ่มเสี่ยงอย่างยิ่งต่อความยากจนที่เกษตรกรจะต้องแบกรับในอนาคต เนื่องจากที่ผ่านมาเกษตรกรสวนยางพาราในประเทศไทยเป็นเกษตรกรสวนยางขนาดเล็ก แต่ผลจากนโยบายรัฐบาลในการขยายพื้นที่ปลูกยางพารา ได้ส่งผลให้ที่ดินจำนวนมากหลุดมือเกษตรกร และเปิดโอกาสให้กลุ่มนายทุนที่ดินขนาดใหญ่เข้ามากว้านซื้อที่ดินดังกล่าว

(2) รัฐบาลไม่เคยมีนโยบายหรือแนวทางการพัฒนาที่ตัวเกษตรกรชาวสวนยางโดยตรง เพื่อเป็นแนวทางการเสริมสร้างรายได้และยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรชาวสวนยาง ทั้งนี้ที่ผ่านมารัฐบาลไทยมุ่งให้ความสำคัญเฉพาะเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางเพื่อเพิ่มมูลค่าและลดการพึ่งพาการส่งออกวัตถุดิบยางเพียงเท่านั้น

(3) แม้รัฐบาลจะมีแผนพัฒนายางพาราที่ผ่านมา แต่สังเกตได้ว่ารัฐบาลยังขาดความจริงจังและขาดความต่อเนื่องในการพัฒนาด้านต่างๆ ที่กำหนดไว้ในแผนฯ อีกทั้งงบประมาณที่ตั้งไว้เพื่อนำแผนไปสู่การปฏิบัติก็ไม่เคยเป็นจริง เช่น ยุทธศาสตร์การเป็นศูนย์กลางยางพาราโลกที่ตั้งงบประมาณไว้กว่าหมื่นล้านบาท แต่จัดสรรลงมาจริงเพียงหลักร้อยล้านบาทเท่านั้น กลายเป็นแผนพัฒนาที่ขาดงบประมาณสนับสนุน หรือเป็นเพียงแผนพัฒนาบนแผ่นกระดาษแทน

(4) ตั้งแต่ในอดีตที่ผ่านมา ช่วงที่ราคายางธรรมชาติอยู่ในช่วงขาขึ้น รัฐบาลจะไม่ค่อยกระตือรือร้นในการกระตุ้นให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้นำแผนพัฒนาที่จัดทำไว้ไปสู่การปฏิบัติ ทั้งๆที่เป็นช่วงเวลาที่รัฐบาลมีรายได้จากภาษีเงินสงเคราะห์ในการส่งออกยางสูงมาก แต่รัฐบาลมักจะคิดได้เพียงโครงการขยายพื้นที่เพาะปลูกในพื้นที่แห่งใหม่เพียงเท่านั้น และนำมาสู่ผลที่เกิดขึ้นในข้อ (1) ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว

จากสถานการณ์ดั่งที่กล่าวมาทั้งหมด คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) จึงขอให้รัฐบาลต้องแสดงความจริงใจในการแก้ไขปัญหาของพี่น้องเกษตรกรผู้ปลูกยางพาราในเร็ววัน เพราะการที่รัฐบาลมัวแต่คำนึงถึงฐานเสียงหรือมิใช่ฐานเสียงของรัฐบาล นี้คงมิได้ทำให้ชีวิตเกษตรกรปลูกยางพาราดีขึ้นได้ในระยะยาว เพราะด้วยเหตุปัจจัยทั้งระดับโลกและระดับภายในประเทศที่มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างมาก

โดยเรื่องที่รัฐบาลในขณะนี้ควรตระหนักเป็นอย่างยิ่งมากกว่าการปราบปรามผู้ชุมนุมด้วยความรุนแรงเพียงเท่านั้น คือ การสร้างสถาบันที่ช่วยลดความเสี่ยงจากการปลูกยางพารา รวมถึงการส่งเสริมเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองให้แก่เกษตรกร ทั้งการปฏิรูปที่ดิน การปฏิรูประบบภาษี การสร้างระบบสวัสดิการ การสร้างระบบสหกรณ์ที่เข้มแข็ง แต่สถานการณ์การเมืองปัจจุบันก็ทำให้เห็นว่า อนาคตที่ดีของเกษตรกรไทยคงอยู่อีกยาวไกลเกินความใฝ่ฝันถึงสังคมในวันข้างหน้าที่เท่าเทียมและเสมอภาค

ทั้งนี้คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยขอสนับสนุนการเคลื่อนไหวและเคียงข้างพี่น้องเกษตรกรผู้ชุมนุมอยู่ในขณะนี้จนถึงที่สุด “เพราะชะตากรรมของเกษตรกรผู้ปลูกยางพารา คือ ทุกข์ร่วมของพี่น้องแรงงาน”

ด้วยจิตคารวะและเชื่อมั่นพลังสามัญชน
แถลงโดย นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย
นายยงยุทธ เม่นตะเภา เลขาธิการคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย
เมื่อ 30 สิงหาคม 2556