การปราบปรามอย่างรุนแรงในห้วงวิกฤต

บทความแสดงข้อคิดเห็น: Jackie Pollock, มูลนิธิเพื่อสุขภาพและการเรียนรู้ของแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ (MAP Foundation) พฤศจิกายน 2554

ท่ามกลางห้วงวิกฤตแห่งการช่วยเหลือเพื่อมนุษยธรรม เจ้าหน้าที่ระดับท้องถิ่นในอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ได้ประกาศที่จะตามหาเหล่าแรงงานผิดกฎหมาย  แม่สอดถือเป็นจุดผ่านแดนสู่ประเทศพม่าที่ใกล้ที่สุดสำหรับแรงงานข้ามชาติหลายพันคนที่ประสบอุทกภัยในกรุงเทพมหานครและตอนกลางของประเทศ  เป็นเมืองให้ที่หลบภัยหรืออย่างน้อยก็เคยเป็นที่ปลอดภัย ในฐานะที่แม่สอดเป็นเมืองชายแดนที่มีอัตลักษณ์ของสองวัฒนธรรมและมีชุมชนชาวพม่าขนาดใหญ่ แรงงานข้ามชาติจากพื้นที่อื่นๆของประเทศไทยจึงคาดหวังว่าเพื่อนหรือญาติๆในแม่สอดจะให้ที่พักอยู่อาศัยและจัดหาอาหารการกินในห้วงวิกฤติได้  ด้วยเหตุนี้ชุมชนชาวพม่าในแม่สอดสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการให้ความช่วยเหลือหรือบรรเทาอุทกภัยได้ อีกทั้งยังจะเป็นการแบ่งเบาภาระของรัฐบาลไทยในการดูแลช่วยเหลือกลุ่มแรงงานข้ามชาติบางส่วนได้ในระดับหนึ่ง แต่กลับกลายเป็นว่าการแสวงหาที่พักที่ปลอดภัยกลับนำแรงงานข้ามชาติมาพบเจอกับวิกฤตในรูปแบบใหม่  โดยที่เจ้าหน้าที่ระดับท้องถิ่นซึ่งดูเหมือนว่ากำลังเพิกเฉยต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในอีกหลายส่วนของประเทศ ได้ประกาศที่จะปราบปราบแรงงานข้ามชาติที่ไม่มีบัตรภายหลังการจดทะเบียนประจำปี  ซึ่งผลก็คือความยุ่งเหยิงที่จะตามมา

ในอดีตที่ผ่านมา การปราบปรามแรงงานข้ามชาติส่งผลให้แรงงานหลายร้อยชีวิตตกยู่ในภาวะยากลำบาก แรงงานหญิงต้องคลอดบุตรในท้องไร่ท้องนา เด็กๆต้องทิ้งการเรียนเนื่องจากกลัวว่าจะถูกพรากจากอกพ่อแม่  ยิ่งมีแรงงานหลายร้อยชีวิตหนีอุทกภัยมาอยู่ที่แม่สอดด้วยแล้ว  ผลที่ตามมาจากการปราบปรามจะยิ่งเลวร้ายมากขึ้น  แม้ว่าแรงงานที่มีบัตรจะได้รับอนุญาตเป็นกรณีพิเศษให้เดินทางข้ามจังหวัดได้เพื่อหนีอุทกภัย แต่ว่าหลายคนก็ประสบปัญหาเอกสารสูญหาย บ้างนายจ้างก็ยึดบัตรของลูกจ้างไว้ ซึ่งหากไม่มีเอกสารพวกเขาเหล่านั้นก็มีแนวโน้มที่จะถูกส่งกลับ นอกจากนี้ แรงงานที่ทำงานในพื้นที่อุทกภัยที่ยังไม่มีบัตรจำนวนมากก็เผชิญกับความทุกข์ยากด้วยเช่นกัน  พวกเขาดำรงชีวิตในแต่ละวันด้วยความยากลำบาก

จากเหตุการณ์ไฟไหม้บริเวณที่พักอาศัยของแรงงานข้ามชาติในจังหวัดเชียงใหม่เมื่อไม่นานมานี้  แรงงานคนหนึ่งเล่าว่าเขาต้องกระเหม็ดกระแหม่เพียงใดเพื่อจะซี้อรถจักรยานยนต์ได้สักคัน  ต้องหยอดกระปุกวันละ 30 บาทเป็นเวลากว่าห้าปี ไฟไหม้ทำให้เขาไม่เหลือแม้แต่สตางค์แดงเดียว   เช่นนี้แล้วจะมีแรงงานข้ามชาติที่ประสบอุทกภัยจำนวนมากเพียงใดที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์ในลักษณะเดียวกันนี้   และด้วยความที่ไม่สามารถเข้าถึงการอำนวยความสะดวกทางธนาคารต่างๆแต่อย่างใด แรงงานที่ไม่มีเอกสารจึงทำได้พียงแค่เก็บเงินที่สะสมได้ไว้ที่ไหนสักแห่งใกล้ๆบ้านซึ่งก็อาจถูกกวาดหายไปกับสายน้ำตอนน้ำท่วม ถูกเผาไหม้ไปกับกองเพลิง หรือแม้แต่การสูญหายในระหว่างการบุกจับกุมต่างๆของเจ้าหน้าที่ แรงงานที่ไม่มีบัตรในอำเภอแม่สอดเหล่านั้นไม่ใช่อาชญากร พวกเขาก็ทำงานให้แก่นายจ้างเช่นกัน  อีกทั้งพวกเขาก็กำลังให้ความช่วยเหลือแก่เพื่อนร่วมชาติที่กำลังประสบอุทกภัยอีกด้วย  การบุกจับ การจับกุมและส่งกลับ และโครงสร้างทั้งมวลของการสนับสนุนช่วยเหลือเชิงสังคมในแม่สอดจึงถือได้ว่าไร้ผล

แน่นอนว่า นี่มิใช่เวลาที่เหมาะที่ควรที่จะดำเนินการปราบปรามแรงงาน ไม่ต้องสงสัยเลยว่านี่เป็นช่วงเวลาแห่งความเมตตาเห็นอกเห็นใจและประสานความร่วมมือ  แน่นอนว่านี่เป็นช่วงเวลาที่เจ้าหน้าที่ระดับท้องถิ่นและองค์กรพัฒนาเอกชนจะระดมทรัพยากรเพื่อช่วยเหลือเหล่าผู้ประสบความทุกข์ยากจากอุทกภัย  มิใช่ช่วงเวลาแห่งขับไล่ไสส่งพวกเขาหรือชุมชนที่ช่วยเหลือพวกเขาออกจากประเทศ

แม้จะมีการเปิดสะพานมิตรภาพไทย –พม่า อย่างเอิกเกริก แต่สำหรับแรงงานข้ามชาติแล้วมันคือจุดเริ่มต้นที่เสมือนว่าเป็นเพียงการเปิดทางเพื่อดำเนินการส่งพวกเขาเหล่านั้นกลับ มิใช่การให้ความช่วยเหลือแต่ประการใด

แปลจากจดหมายในเดอะเนชั่นวันนี้คะ  Crackdown amid crisis