“ กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี กองทุนนี้เพื่อใคร “

บัณฑิต  แป้นวิเศษ มูลนิธิเพื่อนหญิง

หลังจากที่รัฐบาลภายใต้พรรคเพื่อไทย นำโดยนายกรัฐมนตรีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้มีการแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี ต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2554 เรื่องการสนับสนุนบทบาทของสตรีไทยในการมีส่วนร่วม และนโยบายความมั่นคงของชีวิต ซึ่งนโยบายดังกล่าวได้ระบุชัดเจนว่าด้วยเรื่องการตั้ง”กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีไทย”โดยเน้นไปที่การพัฒนาประเทศอย่างเสมอภาค ปกป้องสิทธิสตรี ปรับปรุงกฎหมายที่คุ้มครองสตรีที่ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว การดึงศักยภาพสตรีให้มีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การศึกษา และการสาธารณสุข แก่สตรีทั้งในชนบท และเมือง พัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีมีหลักประกันในการดำรงชีวิต จัดตั้งสถานดูแลเด็กในที่ทำงานภาครัฐและเอกชนจนถึงระดับชุมชน การเพิ่มและพัฒนาศูนย์พึ่งได้เพื่อช่วยเหลือเด็กและสตรีที่ประสบปัญหาถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัวตลอด 24 ชั่วโมง ตลอดจนส่งเสริมบทบาทสตรีให้เป็นหลักในการสร้างครอบครัวอบอุ่นมั่นคง รวมถึงจัดตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาบทบาทสตรีไทยให้เท่าทันในโลกยุคใหม่”

จากคำแถลงนโยบายฯของนายกหญิงคนแรกของประเทศไทยที่ดูเหมือนว่าจะทำให้การเรียกร้องของสตรีได้ลืมตาอ้าปาก และเฝ้ารออย่างใจจดใจจ่อว่าเงินงบประมาณ 7.7 พันล้านบาท ที่จะมอบให้จังหวัดละ 100ล้านบาท จะลงไปถึงผู้หญิงและกลุ่มผู้หญิงทุกกลุ่มให้ทั่วถึงได้อย่างไร มีคำถามกับการเข้าถึง และรับรู้ข้อมูลของประชาชนเกี่ยวกับกองทุนพัฒนาสตรี เพียงแค่รัฐบาลจะให้จังหวัดละ 100 ล้านบาท กับกลุ่มสตรี หรือถ้ารู้ลึกไปกว่านั้นก็เป็นกลุ่มสตรีบางคน บางกลุ่มจังหวัดที่สนิทแนบแน่น และเป็นฐานการเมืองให้กับรัฐบาล แต่เอาเข้าจริงในเชิงโครงสร้างการบริหารจัดการทางนโยบายข้างบนก็ไม่ได้รับรู้อย่างแท้จริง ทำให้ ณ วันนี้มีคำถามและข้อกังวลใจเกิดขึ้นมากมาย เช่น การดูแลของหน่วยงานรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย หรือสำนักนายกรัฐมนตรี ใครจะเป็นหน่วยงานหลักในการบริหารจัดการ ลงงบประมาณสู่พื้นที่จังหวัด มีรูปแบบกระบวนการขั้นตอนการเข้าถึงอย่างไรที่เป็นธรรมกับทุกกลุ่มสตรีไม่มีสี ไม่มีสองมาตรฐาน  และที่สำคัญคือรัฐบาลจะทำให้สถานะกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีเป็นเพียงนโยบายที่มาจากการหาเสียง แล้วรอเก็บไว้หาเสียงใหม่อีก 4 ปี หรือจะพัฒนาเป็นกฎหมายที่มีสถานะความยั่งยืน แม้นรัฐบาลพรรคเพื่อไทยล้มหายตายจากไป แต่ผลงานก็ยังคงอยู่ประจักษ์กับสายตาประชาชน เพราะขณะนี้ถ้าว่ากันไปแล้วก็มีการยกร่างพระราชบัญญัติกองทุนส่งเสริมการพัฒนาบทบาทและคุณภาพชีวิตสตรีแห่งชาติ พ.ศ. … โดยคณะอนุกรรมาธิการด้านสตรีในคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมและกิจการเด็ก สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส วุฒิสภา และสมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ซึ่งผ่านการนำเสนอและรับฟังความคิดเห็นจากเครือข่ายองค์กรด้านสตรี มาแล้วในเดือนสิงหาคม และกันยายน 2554 แม้จะมีความคืบหน้าให้เห็นอยู่บ้างจากนายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมฯที่ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า ในวันที่ 8 มีนาคม 2555 ซึ่งเป็นวันสตรีสากล นายกรัฐมนตรี จะเป็นประธานส่งจ่ายเงินจากกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี แต่ก็ต้องรีบออกมาทำความเข้าใจกับกลุ่มสตรีของประเทศที่มีมากถึง 33.6 ล้านคน จากจำนวนประชากรทั้งประเทศ 65.9 ล้านคน ดังคำถามและข้อสงสัยที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น และเพื่อเป็นการส่งสัญญาณไปถึงนายกยิ่งลักษณ์ และรัฐบาล ว่าต้องฟังเสียงประชาชนที่เป็นผู้หญิง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเจ้าของเงินงบประมาณ และเป็นเสียงการเลือกตั้งที่ร่วมกำหนดอนาคตของประเทศการเริ่มขยับขับเคลื่อน โดยเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2555 ที่ผ่านมาเครือข่ายองค์กรด้านสตรี ร่วมกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) สำนักงานปฏิรูป(สปร.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) กว่า 300คน ได้จัดเวทีสาธารณะ”เสียงผู้หญิงต่อ กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี” ซึ่งพวกเธอมีข้อเสนอการจัดตั้งกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีที่รัฐบาลประกาศเป็นนโยบายของคณะรัฐมนตรี เสนอต่อรัฐสภา ดังต่อไปนี้ หนึ่ง การจัดตั้งกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีต้องให้ความสำคัญช่วยเหลือสตรีที่อยู่ในภาวะยากลำบากและขาดโอกาส ให้ได้รับการส่งเสริมศักยภาพพัฒนาบทบาทและคุณภาพชีวิตเพื่อให้ได้รับโอกาสทัดเทียมกับเพื่อนผู้หญิงในสังคม สอง กองทุนฯนี้จะต้องมีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมโอกาสและบทบาทของสตรีเพื่อความเสมอภาคและเป็นธรรมเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของสตรี ไม่ควรใช้ประโยชน์จากกองทุนฯในการหาเสียงหวังผลทางการเมือง หรือเป็นไปเพื่อการปล่อยกู้ หรือเพื่อส่งเสริมนโยบายประชานิยม สาม การบริหารจัดการกองทุนฯจะต้องมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ มีกลไกการกำกับดูแลที่มีธรรมาภิบาล โดยให้มีคณะกรรมการบริหารกองทุนฯต้องมาจากการเลือกตั้งหรือสรรหามาจากทุกภาคส่วน ประกอบด้วย เครือข่ายองค์กรสตรีภาคประชาชน เครือข่ายองค์กรประชาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นักวิชาการที่มีความรู้ในด้านกองทุน และมีแนวคิดด้านการพัฒนาสตรี สื่อมวลชน และองค์กรภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาบทบาทสตรี และความเสมอภาคหญิง-ชาย โดยให้มีสัดส่วนที่สมดุลกัน และสี่ รัฐบาลต้องสนับสนุนให้นโยบายกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีไทย เป็นกฎหมายที่ยั่งยืนโดยเร่งผลักดันร่าง พรบ.กองทุนส่งเสริมการพัฒนาบทบาทและคุณภาพชีวิตสตรีแห่งชาติ พ.ศ. …ภายใน90 วัน ให้เป็นกฎหมาย นับแต่เมื่อรัฐบาลประกาศจัดตั้งกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีไทยแล้ว อีกทั้งเร่งผลักดันร่าง พรบ.ส่งเสริมโอกาส และความเสมอภาคระหว่างเพศ(ฉบับประชาชน)

นับแต่นี้ไปคำถามที่รัฐบาลจะต้องเผชิญถูกทดสอบแบบเสียงดังดัง ภายใต้การขับเคลื่อนของเครือข่ายสตรีที่ต้องการความโปร่งใส เป็นธรรม และเข้าถึงทุกระดับ พวกเธอต้องคาดหวังที่สูงมากต่อท่านนายกที่เป็นผู้หญิงคนแรกของประเทศไทยเป็นธรรมดา ว่าจะที่นำเงินกองทุนพัฒนาสตรีจังหวัดละ 100 ล้านบาท มาเป็นกองทุนพัฒนาสตรีต้นแบบ เป็นกลุ่มสตรีเพื่อความยั่งยืนต้นแบบในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเอง ครอบครัว และชุมชน อย่าให้พวกเธอต้องผิดหวัง และอย่าให้พวกเธอต้องหวาดระแวงว่า “กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี กองทุนนี้ทำเพื่อพรรคเพื่อไทย หรือเพื่อใครกันแน่ “