โครงการพัฒนาศักยภาพนักสื่อสารแรงงานและประชากรกลุ่มเฉพาะเพื่อการขับเคลื่อนสังคม

โครงการพัฒนาศักยภาพนักสื่อสารแรงงานและประชากรกลุ่มเฉพาะเพื่อการขับเคลื่อนสังคม (ส.ค.57-ก.ค.58)

1. หลักการเหตุผล

1.1 ต้นทุนเดิมจาก “โครงการการพัฒนาสื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนขบวนการแรงงาน” (พ.ศ. 2553-2555)

จากผลการศึกษาของ ดร. นภาพร อติวานิชยพงศ์ (2555) เรื่องบทเรียนจาก “โครงการการพัฒนาสื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนขบวนการแรงงาน” ภายใต้แผนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน ซึ่งได้ให้การสนับสนุนมูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยให้ดำเนินงานระหว่างเดือนมิถุนายน 2553  – พฤษภาคม  2555 ที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นลักษณะสำคัญของการพัฒนาสื่อของขบวนการแรงงานขึ้นมาโดยตรง โดยมองเห็นว่าปัจจุบันสื่อกระแสหลักทุกประเภทไม่มีพื้นที่ให้แก่ข่าวที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของแรงงาน นักข่าวสื่อกระแสหลักที่สนใจและเข้าใจความเป็นแรงงานและขบวนการแรงงานมีน้อยมาก จึงเกิดแนวคิดการพัฒนาสื่อของขบวนการแรงงานการพัฒนาคนงานให้เป็นผู้สื่อสารและผลิตสื่อของตนเอง[1]ในขณะเดียวกันคนงานที่สามารถเขียนข่าวหรือผลิตสื่อได้ก็มีจำนวนน้อยเช่นเดียวกัน และจากการที่ขบวนการแรงงานขาดกระบอกเสียงในการสื่อสารปัญหาแรงงาน ทำให้ขบวนการแรงงานประสบปัญหา ทั้งการสื่อสารภายในขบวนการแรงงานและกับสังคม ดังเช่น[2] กรณีในกลุ่มของผู้ใช้แรงงานนอกระบบ   ผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจเป็นเรื่องความไม่รับผิดชอบของภาคธุรกิจในเรื่องสวัสดิการทางสังคม  มีการใช้ระบบการจ้างงานแบบเหมาช่วง (Sub contract)  มีบริษัทมารับจ้างทำงานให้กับโรงงาน  ทำให้แรงงานที่อยู่ในระบบการจ้างงานแบบนี้ไม่มีหลักประกันสังคมใด ๆ  หรือกรณีแรงงานนอกระบบในกลุ่มเกษตรพันธสัญญาที่ประสบปัญหาเรื่องการจ้างงานผ่านสัญญาที่ไม่เป็นธรรม   พบว่าสื่อมวลชนประเภทฟรีทีวียังขาดความเข้าใจในสถานการณ์ที่แรงงานกลุ่มนี้เผชิญ  มักเน้นการรายงานข่าวไปที่นโยบายของรัฐบาลหรือกระทรวงแรงงาน เรื่องนโยบายการจัดสวัสดิการด้านประกันสังคมเพื่อรองรับกลุ่มแรงงานนอกระบบ เช่น การขยายสิทธิประโยชน์ในมาตรา 40 ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533  ระบบบำนาญแห่งชาติ หรือกรณีระบบสวัสดิการชุมชน มากกว่าการให้สำคัญกับปัญหาที่แรงงานนอกระบบต้องแบกรับ  ชีวิตที่ไร้การคุ้มครองซึ่งสื่อมวลชนควรต้องรายงานควบคู่ไปพร้อมกันด้วยแต่ก็ไม่ปรากฏ

เช่นเดียวกับกรณีของกลุ่มแรงงานที่เจ็บป่วยจากการทำงาน  เช่น โรคปอดอักเสบจากฝุ่นฝ้าย ฝุ่นหิน โรคจากสารโลหะหนักเป็นพิษต่อร่างกาย เช่น สารตะกั่ว สารอะลูมินั่ม พบว่าสื่อมวลชนมักให้ความสนใจน้อยมาก จะรายงานข่าวเฉพาะช่วงของสัปดาห์วันปลอดภัยในการทำงานในเดือนสิงหาคมของทุกปี หรือช่วงครบรอบเหตุการณ์เพลิงไหม้โรงงานเคเดอร์จังหวัดนครปฐมในเดือนพฤษภาคมของทุกปีเพียงเท่านั้น  เป็นลักษณะข่าวที่เน้นไปที่การจัดงานพิธีกรรมมากกว่ารายงานถึงสภาพชีวิตผู้ใช้แรงงานที่ได้รับความเจ็บป่วยเหล่านั้นว่าวันนี้ดำเนินชีวิตต่อไปอย่างไร  เพราะในความเป็นจริงแล้วชีวิตแรงงานเหล่านั้นยังขาดการใส่ใจดูแลจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

สำหรับในกลุ่มของแรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้านสามประเทศ คือ เมียนมาร์ ลาว กัมพูชา ซึ่งเป็นผู้ใช้แรงงานแรงงานกลุ่มใหญ่อีกกลุ่มหนึ่งในสังคมไทยซึ่งเป็นแรงงานที่ถูกกฎหมายประมาณ 408,507 คน และแรงงานที่ผิดกฎหมาย แต่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติประมาณ 1,800,000 คน โดยแรงงานกัมพูชามีจำนวนที่ถูกกฎหมายมากสุดกว่า 200,000 คน ขณะที่แรงงานที่ผิดกฎหมายคือแรงงานเมียนมาร์มีจำนวนกว่า 1,600,000 คน[3] พบว่าสื่อยังไม่เข้าใจเรื่องความแตกต่างระหว่างชาติพันธุ์และเชื้อชาติมุ่งไปแต่มิติของชนชั้นและประวัติศาสตร์ทางชนชาติ ความรู้สึกเหยียดหยามและหวาดระแวงกลุ่มแรงงานข้ามชาติ  มากกว่าการมองในฐานะผู้ใช้แรงงานที่มีส่วนอย่างสำคัญต่อเศรษฐกิจของไทยสื่อจึงทำหน้าที่ผลิตซ้ำอคติของสังคมที่ฝังอยู่ในความแตกต่างเพิ่มมากขึ้น ยังไม่นับรวมถึงแรงงานกลุ่มเฉพาะ เช่น แรงงานเด็ก แรงงานหญิง ที่มักได้รับผลกระทบจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศ  การถูกเลือกปฏิบัติ และไม่ได้รับสวัสดิการที่เหมาะสมกับภาวะอนามัยเจริญพันธุ์ในระหว่างทำงาน  ที่สื่อมวลชนก็นำเสนอชีวิตแรงงานกลุ่มนี้น้อยมากเช่นเดียวกัน

สถานการณ์ดังที่กล่าวมานี้เอง เป็นภาพสะท้อนสำคัญที่ชี้ให้เห็นว่า สื่อมวลชนไทยยังขาดความเข้าใจและความละเอียดอ่อนในการรายงานสภาพปัญหาแรงงานกลุ่มต่างๆที่มีวิถีที่แตกต่างกัน หรืออาจกล่าวได้ว่า ยังขาดความเข้าใจในหัวใจของ “คุณค่าความเป็นผู้ใช้แรงงาน” ที่แรงงานเป็นกลุ่มคนที่ต้องได้รับรายได้ที่เหมาะสมกับงานที่ทำ มีความมั่นคงในการทำงาน ไม่ถูกเลือกปฏิบัติ มีการพัฒนาศักยภาพของตนเอง และการมีสิทธิมีเสียงในการเจรจาต่อรองเมื่อตนเองไม่ได้รับความเป็นธรรม รวมถึงการตระหนักว่าแรงงานก็เป็นฟันเฟืองสำคัญหนึ่ง ไม่แตกต่างจากตัวละครอื่นๆ ที่ทำให้ระบบเศรษฐกิจก้าวเดินไปข้างหน้าได้

การรายงานข่าวของสื่อมวลชน ได้ส่งผลสะท้อนกลับมายังตัวผู้ใช้แรงงานเอง ในฐานะที่เป็นผู้บริโภคข้อมูลข่าวสาร ทำให้ขาดความเข้าใจในสภาพชีวิตในมิติแรงงานที่มีหลากหลายสภาพปัญหา ผลกระทบต่างๆของกลุ่มอื่นๆ แรงงานจำนวนมากยังขาดการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารด้านแรงงาน โดยเฉพาะความเคลื่อนไหวต่างๆของขบวนการแรงงาน สิทธิแรงงาน และสิทธิในการได้รับสวัสดิการและการดูแลคุ้มครองด้านต่างๆ อาทิ อาชีวอนามัย ความปลอดภัยในสถานประกอบการ  การใช้สิทธิประกันสังคม กองทุนเงินทดแทน และการขับเคลื่อนปรับแก้กฎหมายทางนโยบายต่างอย่างไม่มีส่วนร่วม ขาดความรู้ความเข้าใจถึงสิทธิและประโยชน์ที่ตนพึงมีพึงได้

ปัญหาสำคัญของขบวนการแรงงานคือการสื่อสาร ทั้งการสื่อสารภายในและการสื่อสารกับสังคม เนื่องจากในปัจจุบันมีนักข่าวกระแสหลักที่สนใจและเข้าใจ “ความเป็นแรงงาน” และ “ขบวนการแรงงาน”น้อยมาก    อย่างไรก็ตาม ถือได้ว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่โลกยุคปัจจุบันมีสื่อทางเลือกประเภทอื่นๆ ที่สามารถทำหน้าที่สื่อสารสังคม เพื่อทำให้สาธารณชนเข้าใจ “คุณค่าความเป็นผู้ใช้แรงงาน” ควบคู่กันไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นทางเว็บไซต์ วิทยุชุมชน หรือจดหมายข่าวออนไลน์   แต่นักแรงงานที่สามารถเขียนข่าวและ/หรือผลิตสื่อต่างๆมีจำนวนน้อยมาก  ส่งผลให้หลายพื้นที่และหลายประเด็นเกี่ยวกับแรงงานและขบวนการแรงงานขาดกระบอกเสียงในการสื่อสาร  แม้ว่ามูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยได้มีการจัดอบรมการผลิตและใช้สื่อต่างๆหลายแขนง ทั้งการผลิตสื่อสิ่งพิมพ์ วีซีดี เว็บไซต์ ฯลฯ ให้กับผู้ใช้แรงงานกลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะแรงงานในระบบ  แต่ด้วยข้อจำกัดด้านทรัพยากรและขาดพื้นที่ในการฝึกปฏิบัติ ทำให้การดำเนินไม่ทันต่อสถานการณ์ด้านแรงงานที่ดำเนินไปอย่างรวดเร็ว

ดังนั้น ขบวนการพัฒนาผู้ใช้แรงงานในระบบที่เป็นกรรมการสหภาพแรงงานในพื้นที่ ประกอบด้วยจังหวัดภูเก็ต ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ สมุทรสาคร นครปฐม ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา และสระบุรี เป็นนักสื่อสารแรงงาน การจัดทำโครงการอบรมนักสื่อสารแรงงานจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะจะทำให้ขบวนการแรงงานมีกระบอกเสียงในการบอกกล่าวข้อมูล ข่าวสาร ข้อคิดเห็น และข้อเสนอต่างๆ ของแรงานกลุ่มต่างๆสู่ขบวนการแรงงานและสังคม

ในช่วงของการเตรียมโครงการฯ เป็นช่วงการกำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะเข้ารับการอบรมเป็นนักสื่อสารแรงงาน เพื่อให้องค์กรแรงงานต่างๆในระดับพื้นที่กลุ่มสหภาพแรงงานในพื้นที่ย่านอุตสาหกรรมมีส่วนร่วม โดยการคัดเลือกผู้แทนองค์กรแรงงานที่จะเข้าอบรม โดย (1) ต้องเป็นผู้มีความสนใจและต้องการทำงานด้านการสื่อสารให้กับองค์กร (2) ต้องเป็นผู้มีความพร้อมที่จะเรียนรู้และ (3) ให้เวลาร่วมฝึกปฏิบัติทุกขั้นตอนของโครงการฯ ซึ่งโครงการฯให้ความสำคัญกับคุณสมบัติข้อแรกเป็นหลักเนื่องจากต้องการให้ผู้เข้าอบรมได้นำความรู้ไปปฏิบัติงานให้องค์กร

กระบวนการจัดอบรมประกอบด้วย การจัดอบรมโดยวิทยากรภายนอกเรื่องการเขียนข่าวเบื้องต้น โดยสื่อมวลชนจาก ThaiPBS บางกอกโพสต์ มติชน แนวหน้า ประชาไท จำนวน 6 ครั้ง มีนักสื่อสารเข้าร่วมอบรมรวม 50 คน มีการคัดเลือกนักสื่อสารแรงงานที่ผ่านการอบรมและเขียนข่าวต่อเนื่องราว 10 กว่าคนที่มีใจ และมีคอมพิวเตอร์ กล้องถ่ายรูปดิจิตอล เข้าสู่กระบวนการอบรมพัฒนากับทีมนักข่าวพลเมืองจาก ThaiPBS และมีการจัดอบรมเสริมโดยวิทยากรของโครงการฯเองเพิ่มอีกทั้งการเขียนข่าวเบื้องต้น และการตัดต่อวิดีโอ เพื่อเสริมความมั่นใจ

ภายหลังการอบรม ได้มีกระบวนการติดตามงานของนักสื่อสารแรงงาน มีเวทีการประชุมของกองบรรณาธิการนักสื่อสารแรงงาน วางแผนงานกำหนดข่าวสารแต่ละพื้นที่เพื่อเผยแพร่ในสื่อส่วนกลางที่จัดทำขึ้น คือเว็บไซต์ voicelabour.org และหนังสือพิมพ์วอยซ์เลเบอร์ โดยนักสื่อสารแรงงานทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงในการบอกเล่าสภาพปัญหาของผู้ใช้แรงงานในฐานะเจ้าของประเด็นที่ไม่ใช่นักข่าว ผลจากการสื่อสารของนักสื่อสารแรงงานในประเด็นต่างๆทั้งการขับเคลื่อนนโยบายด้านแรงงาน เช่นความปลอดภัยในการทำงาน แม้ดูว่าเป็นประเด็นเล็กๆเช่นกรณีผู้ใช้แรงงานที่นวนครได้รับบาดเจ็บจากพัดลมหล่นใส่ศีรษะ แพทย์ไม่ตรวจให้เพียงยาแก้ปวดมาทาน เมื่อมีการสื่อสารออกไปมีเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสถานที่ และทำให้ผู้ใช้แรงงานคนดังกล่าวได้รับสิทธิเงินทดแทนจากกองทุน และได้รับการดูแลรักษา การทำหน้าที่ของนักสื่อสารแรงงานยังได้รับการยอมรับจากสื่อมวลชนกระแสหลักในการใช้ข้อมูล หรือทำหน้าที่สัมภาษณ์แหล่งข่าว เขียนข่าวส่งให้กับสื่อมวลชน นอกจากการจัดทำข่าวทีวี เช่นนักข่าวพลเมือง

1.2 ต่อยอดและขยายผลสู่ “โครงการพัฒนาศักยภาพนักสื่อสารแรงงานและประชากรกลุ่มเฉพาะเพื่อการขับเคลื่อนสังคม”

ด้วยประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมา จึงเกิดแนวคิดพัฒนาโครงการพัฒนาศักยภาพนักสื่อสารแรงงานและประชากรกลุ่มเฉพาะเพื่อการขับเคลื่อนสังคมจึงออกแบบโครงการเพื่อลดข้อจำกัดที่พบ รวมทั้งขยายผลการดำเนินงานเพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนขบวนการแรงงานดังนี้

            (1)  ยกระดับนักสื่อสารแรงงานเดิมจำนวน 10 คนจากพื้นที่จังหวัดชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ สมุทรสาคร นครปฐม ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา และสระบุรี ที่มีศักยภาพด้านการรายงานข่าวและจัดทำวิดีทัศน์ ให้สามารถวิเคราะห์ข่าวเพื่อเขียนสารคดี สารดีเชิงข่าวและทำงานบรรณาธิการข่าว โดยพัฒนาทักษะด้านงานข้อมูล วิชาการและเพิ่มมุมมองด้านสังคม เพื่อให้ผลิตข่าวสารที่ใช้อ้างอิงได้เช่นเดียวกับสื่อกระแสหลักและเพิ่มโอกาสให้งานของนักสื่อสารแรงงานได้รับการเผยแพร่ในสื่อกระแสหลักมากขึ้น

(2)  เพิ่มจำนวนนักสื่อสารแรงงานรุ่นใหม่จำนวน 15 คน ซึ่งเป็นองค์กรแรงงานในระบบเอง องค์กรแรงงานนอกระบบ และองค์กรแรงงานข้ามชาติ เช่น สภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย สภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานแห่งประเทศไทย ศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบกรุงเทพฯ เครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานกับแรงงานข้ามชาติในพื้นที่กรุงเทพฯ เป็นต้น เพื่อทดแทนนักสื่อสารแรงงานเดิมที่ลาออกจากงาน ถูกเลิกจ้าง หรือเปลี่ยนบทบาทหน้าที่เนื่องจากการปรับเปลี่ยนนโยบายขององค์กรแรงงานหรือนายจ้างที่ให้โอกาสในการพัฒนาตนเองหรือทำงานเพื่อสังคม

(3) ขยายวงนักสื่อสารสู่ประชากรกลุ่มเฉพาะอื่นๆ จำนวน 5 คน ซึ่งมาจากเครือข่ายกลุ่มผู้เข้าอบรมในโครงการเสริมสร้างภาวะการนำเพื่อสร้างความเป็นธรรมทางสุขภาพ (นธส.) โดยใช้กระบวนการพัฒนานักสื่อสารเช่นเดียวกับการพัฒนานักสื่อสารแรงงาน ทั้งนี้จากประสบการณ์การเข้าร่วมเรียนรู้ในโครงการนธส.พบว่าประชากรกลุ่มเฉพาะอื่นๆ เช่น ผู้หญิง มุสลิม คนพิการ คนไร้บ้าน ฯลฯ ก็ประสบปัญหาเรื่องการสื่อสารประเด็นและขบวนการทำงานของกลุ่มตนต่อสาธารณะเช่นเดียวกันจึงจำเป็นต้องสร้างนักสื่อสารในกลุ่มเจ้าของปัญหาเอง นอกจากนั้นการมีเพื่อนนักสื่อสารจากหลายหลายกลุ่ม ยังเป็นการเสริมกระบวนการเรียนรู้ให้กลุ่มนักสื่อสารแรงงานเกิดมุมมองที่กว้างกว่ามิติเรื่องแรงงานเพียงอย่างเดียว และเป็นโอกาสในการสร้างเครือข่ายนักสื่อสารเพื่อความเป็นธรรมแบบข้ามกลุ่ม ข้ามประเด็น เพื่อเป็นแนวร่วมในการขับเคลื่อนงานเพื่อความเป็นธรรมร่วมกันโดยสื่อสารให้สังคมเข้าใจตัวตนของประชากรกลุ่มเฉพาะ และเห็นคุณค่าของการทำงานด้านความเป็นธรรมสำหรับประชากรกลุ่มเฉพาะ

(4) ตั้งกองบรรณาธิการร่วมเพื่อเป็นกลไกบริหารยุทธศาสตร์สื่อในขบวนแรงงานโดยมีส่วนร่วมจากทุกกลุ่มแรงงาน และประชากรกลุ่มเฉพาะมากขึ้น ทั้งนี้ใช้กลไกกองบรรณาธิการสำหรับการประเมินติดตามและสนับสนุนกระบวนการทำงานของนักสื่อสารแรงงานอีกด้วย

(5) สร้างพื้นที่ความสัมพันธ์และพื้นที่เรียนรู้ร่วมกันในขบวนการแรงงาน เพื่อสนับสนุนความเข้มแข็งของขบวนผ่านกระบวนการทำงานสื่อสารแรงงานในประเด็นที่ขบวนการแรงงานเห็นความสำคัญร่วมกัน เช่น ประเด็นประกันสังคม อาชีวอนามัย  สวัสดิการสังคม สิทธิและบริการภาครัฐ ความเป็นธรรมในการสร้างอาชีพและรายได้

(6) สร้างพื้นที่ความสัมพันธ์และพื้นที่เรียนรู้ร่วมกันระหว่างองค์กรแรงงาน ประชากรกลุ่มเฉพาะกับสื่อมวลชนผ่านกระบวนการทำงานสื่อสารแรงงาน

2. เป้าหมาย  

การยกระดับคุณภาพชีวิตแรงงานและประชากรกลุ่มเฉพาะผ่านการขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย

3.วิธีการพัฒนาประกอบด้วย

3.1 การพัฒนาอบรมนักสื่อสารจากเจ้าของประเด็นให้เป็นผู้ขับเคลื่อนการสื่อสาร

3.2 พัฒนาสื่อภายในองค์กรให้มีพื้นที่เพื่อการสื่อสารทั้งภายในขบวน และต่อสังคม

3.3 พัฒนาขบวนการสื่อสารและกำหนดทิศทางการสื่อสารของนักสื่อสารร่วมกัน

3.4 ปรับขบวนการสื่อสารในเว็บไซต์ voicelabour.org ให้เป็นพื้นที่กลางเพื่อการสื่อสารต่อส่งคมในประเด็นที่ครอบคลุมมากขึ้น

4. วัตถุประสงค์

4.1 พัฒนาและเสริมศักยภาพนักสื่อสารผ่านประเด็นแรงงานและประเด็นประชากรกลุ่มเฉพาะที่มีพื้นฐานการเป็นผู้นำการทำงานเพื่อความเป็นธรรมทางสังคม

4.2 พัฒนากลไกบริหารจัดการระบบการสื่อสารความเป็นธรรมในประเด็นร่วมของขบวนการแรงงาน เช่นผลกระทบจากความไม่ปลอดภัยในการทำงาน และสิ่งแวดล้อม ประเด็นประกันสังคม เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีในกลุ่มแรงงาน และประชากรกลุ่มเฉพาะ

4.3 เสริมสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ของขบวนการแรงงาน และประชากรกลุ่มเฉพาะผ่านการมีส่วนร่วมในกระบวนการทำงานสื่อสารร่วมกัน

5. กรอบความคิดของโครงการ

กรอบเนื้อหาการสื่อสาร

1.  สิทธิประกันสังคมและขบวนการผลักดันแก้ไขร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม

2.  ความปลอดภัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน

3.  สิทธิในการรวมตัวและเจราจาต่อรองเพื่อการเข้าถึงความเป็นธรรมในการจ้างงาน

4.  การทำงานขับเคลื่อนประเด็นของประชากรกลุ่มเฉพาะ

5.  ประเด็นปัญหา และสถานการณ์เฉพาะของแต่ละกลุ่ม

การยกระดับคุณภาพชีวิต แรงงานในระบบ แรงงานนอกระบบ แรงงานข้ามชาติ

และประชากรกลุ่มเฉพาะ

ผ่านการขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายแรงงาน

ทำงานร่วมกับสื่อมวลชนกระแสหลักสร้าง Key message ร่วมกัน 

ยกระดับแรงงานให้สามารถเป็น “นักสื่อสารแรงงาน”

ผ่านกระบวนอบรมฐานคิด สร้างทักษะ

และเชื่อมไปสู่เครือข่ายนักสื่อสารแรงงาน (การสร้างประเด็นร่วม และการสื่อสารปัญหาจากพื้นที่)

พัฒนารูปแบบการสื่อสารภายในขบวนการแรงงาน และประชากรกลุ่มเฉพาะ
ผลิตสื่อที่สอดคล้องกับงานนโยบายและปัญหาของกลุ่มเป้าหมาย

เผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร

เสริมสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ของขบวนการแรงงาน

และประชากรกลุ่มเฉพาะผ่านกระบวนการทำงานสื่อสารร่วมกัน

6. ผลผลิต 

6.1 นักสื่อสารแรงงานเดิม 10 คน เกิดทักษะต่อยอดที่สามารถวิเคราะห์ข่าวเพื่อเขียนสารคดี สารดีเชิงข่าวและเป็นกองบรรณาธิการข่าว เพื่อสนับสนุนการผลักดันงานเชิงนโยบายของขบวนการแรงงานและนักสื่อสารแรงงานรุ่นใหม่ 15 คน สามารถเป็นกระบอกเสียงเผยแพร่ข่าวสาร ข้อมูล องค์ความรู้เรื่องประกันสังคม สุขภาพและความปลอดภัยในการทำงาน ให้กับองค์กรแรงงาน ข้ามเครือข่าย และเครือข่ายสื่อมวลชน

6.2 กลุ่ม นธส.อย่างน้อย 5 คน เกิดการเรียนรู้และพัฒนาทักษะการสื่อสารเพื่อขับเคลื่อนประเด็นงานของตนเองและประเด็นแรงงานผ่านช่องทางสื่อต่างๆและมีสื่อมวลชนนำผลงานไปสื่อสารต่อสังคม

6.3 กองบรรณาธิการ 1 คณะ ที่มีตัวแทนจากกลุ่มต่างๆ ที่เข้าร่วมโครงการ ทำหน้าที่กำหนด             ประเด็นวางแผนงานการสื่อสารทุกเดือน

6.4 ศูนย์สื่อสารแรงงาน ที่เป็นกลไกในระดับพื้นที่ จำนวน 5 พื้นที่

6.5 การทำงานสื่อสารเพื่อขับเคลื่อนประเด็นร่วมของขบวนการแรงงาน เช่น ประกันสังคมและความปลอดภัยในการทำงาน

6.6 องค์กรแรงงานทั้งองค์กรแรงงานในระบบเอง องค์กรแรงงานนอกระบบ และองค์กรแรงงานข้ามชาติที่เข้าร่วมโครงการเช่น สภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย สภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานแห่งประเทศไทย ศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบกรุงเทพฯ เครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานกับแรงงานข้ามชาติในพื้นที่กรุงเทพฯ เป็นต้น เกิดความเข้าใจและให้การสนับสนุนกระบวนการทำงานสื่อสารเพื่อสนับสนุนขบวนแรงงาน

  1. ตัวชี้วัดผลการดำเนินงาน

7.1 นักสื่อสารแรงงานเดิม 10 คน ให้สามารถวิเคราะห์ข่าวเพื่อเขียนสารคดี สารดีเชิงข่าวและเป็นกองบรรณาธิการข่าว เพื่อสนับสนุนการผลักดันงานเชิงนโยบายของขบวนการแรงงานเรื่องประกันสังคม สุขภาพและความปลอดภัยในการทำงาน ให้กับองค์กรแรงงาน ข้ามเครือข่าย และนักสื่อสารแรงงานรุ่นใหม่ 15 คน สามารถเขียนข่าวและเป็นกระบอกเสียงเผยแพร่ข่าวสาร ข้อมูล องค์ความรู้ ให้กับสังคม และสื่อมวลชนได้ จำนวน 30 ชิ้น และนักสื่อสารแรงงานเดิมอย่างน้อย 3 คน ยกระดับศักยภาพการทำงานสื่อสารขึ้นอย่างชัดเจน โดยมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ และสามารถเข้าร่วมเป็นคณะทำงานพัฒนานักสื่อสารรุ่นใหม่ รวมทั้งเป็นพี่เลี้ยงให้คำปรึกษาระหว่างการพัฒนาศักยภาพควบคู่กับการผลจากการสื่อสารมีผู้รับสารสามารถเข้าถึงข่าวสารด้านแรงงานจำนวน 3,000 คน

7.2 เครือข่ายกลุ่มนธส.อย่างน้อย 5 คน เป็นนักสื่อสารเกิดทักษะการสื่อสารเพื่อขับเคลื่อนประเด็นงานของตนเองและประเด็นแรงงานผ่านช่องทางสื่อต่างๆ และมีสื่อมวลชนนำผลงานไปสื่อสารต่อสังคมจำนวน 5 ชิ้น

7.3 นักสื่อสารแรงงานรุ่นใหม่อย่างน้อย 5 คน สามารถประสานความร่วมมือกับสื่อมวลชนกระแสหลักเพื่อสื่อสารประเด็นแรงงานต่อสังคม

7.4 มีผู้แทนนักสื่อสารแรงงาน และนักสื่อสารประชากรกลุ่มเฉพาะเข้าร่วมกองบรรณาธิการกลางเพื่อประชุมร่วมกันกำหนดวาระการสื่อสารประเด็นต่างๆเพื่อขับเคลื่อนนโยบายเดือนละ 1 ครั้ง

7.5 มีศูนย์การทำงานร่วมกันในระดับพื้นที่อย่างน้อย 5 พื้นที่ เพื่อเป็นกลไกเสริมการสื่อสารจากพื้นที่สู่สังคม

7.6 องค์กรเครือข่ายแรงงานที่เข้าร่วมโครงการสนับสนุนการดำเนินงานของนักสื่อสารแรงงานโดยการสร้างหรือพัฒนาพื้นที่การสื่อสารภายในองค์กร รวมถึงการสนับสนุนงบประมาณเพื่อรองรับการทำงานสื่อของนักสื่อสารจำนวน 3 องค์กร

8. กลุ่มเป้าหมาย

            8.1 กลุ่มนักสื่อสารแรงงาน

8.1.1 นักสื่อสารแรงงานเดิม10 คน

8.1.2 นักสื่อสารแรงงานรุ่นใหม่ 15 คน

8.1.3 นักสื่อสารจากเครือข่าย นธส. 5 คน ที่สนใจเข้าร่วมเรียนรู้และปฏิบัติการตลอดทั้งโครงการ

8.2 กลุ่มผู้รับการสื่อสาร

8.2.1 องค์กรแรงงานในระบบ องค์กรแรงงานนอกระบบ และองค์กรแรงงานข้ามชาติ ได้แก่ กลุ่มผู้ใช้แรงงานสระบุรีและใกล้เคียง กลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก กลุ่มสหภาพแรงงานอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ กลุ่มพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ย่านเวลโกรว์ สภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย สภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานแห่งประเทศไทย ศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบกรุงเทพฯ เครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานกับแรงงานข้ามชาติในพื้นที่กรุงเทพฯ จำนวน 3,000 คน

8.2.2 สื่อมวลชนกระแสหลักจำนวน 10 คน

8.2.3 นักศึกษาและประชาชนทั่วไป จำนวน 100 คน

8.2.4 องค์กร ภาคี เครือข่ายนธส. จำนวน 30 คน

9. รูปแบบและช่องทางที่ใช้ในการสื่อสาร

ข่าว สกู๊ปข่าว วิดีทัศน์ข่าว ที่นำเสนอและส่งผ่านช่องทางสื่ออิเลคทรอนิกส์ เว็บไซต์ อีเมล์เฟซบุ๊ค เพื่อให้นำไปขยายผลการสื่อสารต่อในรูปแบบต่างๆที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายของแต่ละภาคีเครือข่าย

10.  ปัจจัยสนับสนุนความสำเร็จของโครงการ ประกอบด้วย

10.1 บทเรียนจากการทำงานเพื่อสร้างนักสื่อสารแรงงานในช่วงที่ผ่านมา และการวิเคราะห์บทเรียนเพื่อพัฒนาโครงการนี้

10.2 คณะทำงานที่มีประสบการณ์และเกาะติดการทำงานสื่อสารแรงงานอย่างต่อเนื่อง

10.3 กลุ่มนักสื่อสารแรงงานเดิมที่มีความมุ่งมั่นสื่อสารขับเคลื่อนประเด็นแรงงานเพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหา

10.4 พื้นที่สื่อเว็บไซต์ voicelabour.org ถือคณะทำงานดูแลอยู่ ซึ่งเป็นสื่อของขบวนการแรงงานที่ใช้สื่อสารด้านข้อมูลข่าวสารแรงงานต่อสังคม

10.5 กระบวนการติดตามภายในโดยใช้กลไกกองบรรณาธิการเพื่อติดตาม ประเมิน และสนับสนุนการดำเนินงานของนักสื่อสารแรงงาน

11. ผู้รับผิดชอบโครงการ

11.1 คณะทำงานหลัก

(1) ผู้จัดการโครงการ: นางสาววาสนา ลำดี

(2) ผู้สนับสนุนการดำเนินงาน : นายวิชัย นราไพบูลย์ ผู้จัดการมูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย นางสาวสุมาลี ลายลวด ผู้ประสานงาน และนางสาวภัชรี ลายลวด เจ้าหน้าที่บัญชี

11.2 องค์กรสนับสนุนหลัก

มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย

เลขที่ 503/20 ถนนนิคมมักกะสันเขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400

โทรศัพท์/โทรสาร 02-251-3173

อีเมล์ tlm.thailabourmuseum@gmail.com หรือ nokwasana2003@yahoo.com

11.3 คณะที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อ ผู้ให้คำปรึกษาและร่วมพัฒนานักสื่อสารแรงงาน

(1)  นางอรพิน วิมลภูษิต                       ผู้จัดการแผนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน

(2)  น.ส.เพ็ญจันทร์ เจริญสุทธิพันธ์      ผู้สื่อข่าวบางกอกโพสต์

(3)  นายภาสกร จำลองราช                  ผู้สื่อข่าวอิสระ

(4)  นายเอกชัย เอื้อธารพิสิฐ                บรรณาธิการรายการเวทีสาธารณะไทยพีบีเอส

(5)  นายโกวิท โพธิสาร                        เจ้าหน้าที่ส่งเสริมนวัตกรรมและผู้ผลิตภาคประชาชน

สำนักเครือข่ายสื่อพลเมือง ไทยพีบีเอส

12. ระยะเวลาดำเนินงาน

5 สิงหาคม 2557- 31 กรกฎาคม 2558

13. นิยามศัพท์

13.1 นักสื่อสารแรงงาน หมายถึง แรงงานที่ทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงในการบอกเล่าสภาพปัญหาของผู้ใช้แรงงานในฐานะเจ้าของประเด็นที่ไม่ใช่นักข่าวในประเด็นต่างๆ ทั้งการขับเคลื่อนนโยบายด้านแรงงาน เช่น ความปลอดภัยในการทำงาน สิทธิแรงงาน สิทธิประกันสังคม เป็นต้น การทำหน้าที่ของนักสื่อสารแรงงานยังได้รับการยอมรับจากสื่อมวลชนกระแสหลักในการใช้ข้อมูล หรือทำหน้าที่สัมภาษณ์แหล่งข่าว เขียนข่าวส่งให้กับสื่อมวลชน นอกจากการจัดทำข่าวทีวี เช่นนักข่าวพลเมือง

13.2 ประชากรกลุ่มเฉพาะ หมายถึง ประชากรกลุ่มที่มีความเหลื่อมล้ำของคุณภาพชีวิต ถูกเลือกปฏิบัติ ไม่ได้รับโอกาสที่เท่าเทียมในการพัฒนาคุณภาพชีวิตโดยเฉพาะอย่างยิ่งการขาดหลักประกันพื้นฐานทางสังคมที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ ได้แก่ กลุ่มคนพิการ กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มมุสลิม กลุ่มผู้ใช้แรงงาน กลุ่มคนผู้มีปัญหาสถานะบุคคล กลุ่มคนเร่ร่อน/คนไร้บ้าน และกลุ่มผู้ป่วย

[1] นภาพร อติวานิชยพงศ์. 2553. รายผลการศึกษา“บทเรียนจากโครงการการพัฒนาสื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนขบวนการแรงงาน ภายใต้แผนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน”
[2]ข้อมูลฝ่ายวิชาการคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กรณีการจ้างงานไม่เป็นธรรม
[3] เมื่อวันที่16 มิถุนายน 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ( คสช.) แถลงข่าวตัวเลขแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาทำงานในไทยมี 3 สัญชาติ คือ เมียนมาร์ ลาว และ กัมพูชา