โครงการกลุ่มศึกษามุมมองใหม่ แรงงานกับการพัฒนาสังคมเศรษฐกิจและการเมือง

โครงการกลุ่มศึกษามุมมองใหม่

แรงงานกับการพัฒนาสังคมเศรษฐกิจและการเมือง

จัดโดย พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย ร่วมกับ มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท (FES)

หลักการและเหตุผล

ตามที่คณะกรรมการมูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยได้จัดสัมมนา 2 ครั้ง เมื่อต้นปี 2557 เพื่อหาแนวทางพัฒนาการดำเนินงานขององค์กรฯให้สอดคล้องกับ สังคม เศรษฐกิจ และการเมืองปัจจุบันที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และได้ข้อสรุปที่สำคัญประการหนึ่ง คือ พิพิธภัณฑ์ฯควรพัฒนาบทบาทหลักในการเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ ทั้งด้านประวัติศาสตร์แรงงานและสถานการณ์แรงงานปัจจุบัน ให้ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะแรงงานและเยาวชน ทั้งนี้เพื่อให้องค์กรสามารถสานต่อภารกิจได้อย่างยั่งยืนตามเจตนารมณ์ในการก่อตั้ง นอกจากนี้ในที่ประชุมประจำเดือนของคณะกรรมการมูลนิธิฯ ก็ได้เห็นชอบให้มีคณะทำงานเพื่อพัฒนาโครงการขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

ทางคณะทำงานพัฒนาโครงการ ได้พิจารณาปัจจัยสถานการณ์ต่างๆแล้ว เห็นว่า ในสถานการณ์สังคมปัจจุบันยุคโลกาภิวัตน์ ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทั้งภายนอกและภายในประเทศ มีการแข่งขันกันอย่างเข้มข้นทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง รวมทั้งมีปัญหาต่างๆเป็นจำนวนมาก ในขณะเดียวกัน ก็มีงานวิชาการใหม่ๆจำนวนมากที่เสนอแนวคิดในการวิเคราะห์และแก้ไขปัญหาเหล่านี้ แต่แรงงานขาดโอกาสในการเข้าถึงงานเหล่านั้น และไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ ทางคณะทำงานจึงเสนอให้จัดกลุ่มศึกษาวิชาการใหม่ๆ เหล่านี้ ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นแรงงาน

วัตถุประสงค์

1. ศึกษาแนวคิด มุมมอง และประสบการณ์ ทางด้านการพัฒนาสังคมเศรษฐกิจและการเมือง ของนักวิชาการรุ่นใหม่ๆ โดยเฉพาะมุมมองใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นสังคมและแรงงาน

2. ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยเฉพาะการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ในการนำแนวคิดและประสบการณ์ใหม่ๆมาประยุกต์ใช้ในบริบทของสังคมไทยปัจจุบัน

3. พัฒนาความรู้ความสามารถของแรงงานในการวิเคราะห์สถานการณ์สังคมเศรษฐกิจและการเมือง

4. บันทึกรวบรวมองค์ความรู้และความคิดเห็นในประเด็นที่ศึกษา แล้วเผยแพร่สู่สาธารณะทางสื่อใหม่

กลุ่มเป้าหมาย

แรงงาน เจ้าหน้าที่องค์กรพัฒนาเอกชน เยาวชน ผู้สนใจ ครั้งละ ประมาณ 20-25 คน

กำหนดเวลา

จัดกลุ่มศึกษาเดือนละครั้ง ตั้งแต่ สิงหาคม – ธันวาคม 2557 รวม 5 ครั้ง

ผลที่ได้

– รายงานสรุปสำหรับเผยแพร่ทางเว็บไซต์ voicelabour.org

-กลุ่มผู้สนใจเข้าร่วมอย่างต่อเนื่องและมีส่วนร่วมพัฒนากิจกรรมต่อไป

– เกิดองค์ความรู้และมุมมองใหม่ๆอันเป็นประโยชน์ในการขับเคลื่อนขององค์กรแรงงาน