เสวนาแรงงาน และสื่อสาธารณะ(ภาคเหนือ)

สรุปงานเสวนา เวทีสานสัมพันธ์ภาคีแรงงาน ชุมชน และสื่อสาธารณะ (ภาคเหนือ) เรื่อง แรงงานกับการทำงานกับสื่อสารสังคม
วันที่  20 ธันวาคม 2553 จัดโดย โครงการการพัฒนาสื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนขบวนการแรงงาน มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย ได้รับการสนับสนุนจากแผนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน ณ. ห้องอาหารห้องประชุมคลาสไอซ์ อ.เมือง จังหวัดลำพูน
———————–
ผู้เข้าร่วมประกอบด้วย แรงงานงานนอกระบบ แรงงานในระบบสื่อมวลชนท้องถิ่นจำนวน 27 คน

คุณวิชัย นราไพบูลย์  ผู้จัดการโครงการการพัฒนาสื่อฯกล่าวว่า ได้มีการจัดเวทีสานสัมพันธ์ระหว่างแรงงานกับการทำงานกับสื่อมวลชน โดยมีสื่อเข้าร่วมจากหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น เว็บไซต์ประชาไท และนักศึกษาที่เข้ามาร่วมเรียนรู้ด้วย ทั้งนี้เป็นการแลกเปลี่ยนเพื่อสร้างความเข้าใจ ประสานความร่วมมือในการทำงานร่วมกัน หากมีประเด็นใดที่ต้องการสื่อต่อสังคม ทั้งภายใน และสื่อสู่ภายนอกก็สามารถที่จะรู้ว่าธรรมชาติสื่อต้องการข่าวแบบไหน วิธีการที่จะสื่อสารออกไปแล้วสร้างแนวร่วม สร้างแรงสะเทือนแรงกระตุ้นให้สังคมได้รับรู้และติดตามต่อไป ขณะนี้มีสื่อใหม่ สื่อทางเลือก และสื่อกระแสหลัก ซึ่งผู้คนขณะนี้กำลังก้าวออกมาจากการที่จะใช้สื่อกระแสหลักในการสื่อสารอย่างเดียว มีการใช้เว็บไซต์ เฟรสบุค ทวิสเตอร์ ฯลฯ เพื่อสื่อประเด็นทางต่างสู่สังคม

คุณอรรคพล  สาตุ้ม ผู้สื่อข่าวประชาไท เล่าว่า การทำงานของสื่อธรรมชาติคือสนใจความสดของข่าว คนที่ต้องการจะสื่อต้องหาความสดมาขายให้น่าสนใจ ด้วยปัญหาแรงงานเป็นเรื่องที่สื่อทั่วไปมองว่าเป็นข่าวเล็ก และเป็นความขัดแย้งระหว่างนายจ้างลูกจ้าง บางครั้งข่าวนั้นไม่ค่อยสะท้อนความเป็นที่น่าสนใจ อย่างข่าวชาวบ้าน แต่เนื่องจากตนเองทำงานอยู่ประชาไท สนใจประเด็นของคนเล็กคนน้อยอยู่แล้วประเด็นแรงงานทางประชาไทให้ความสำคัญในการร่วมทำข่าวตลอดเวลา

สถานการณ์สื่อตอนนี้ประเด็นที่สนใจกันมากคือเรื่องความขัดแย้งไทยกับกัมพูชา ข่าวนายกประกาศปรับค่าจ้าง ส่วนข้อเสนอของแรงงานอาจมีแทรกมาบ้าง ซึ่งก็จะเป็นข่าวส่วนกลางมากกว่าข่าวภูมิภาค เช่นผู้นำแรงงาน ผู้นำประเทศ ส่วนคนที่อยู่ตามต่างจังหวัดภูมิภาคอาจมีปัญหาเรื่องการมีพื้นที่ข่าวบ้าง

คุณประยูร ปันธิ หนังสือพิมพ์ไทยนิวส์ กล่าวว่า สื่อมีความสนใจข่าวแรงงาน ปัญหาแรงงานไม่มีศูนย์ข้อมูลให้สื่อได้เข้าไปใช้ ตนและคุณสุกิจ จันทรวงค์  คุณนันทกร หมื่นประจำ ทำข่าวส่งให้กับทั้งหนังสือพิมพ์ส่วนกลาง และยังมีทีมทำข่าวทีวีด้วย หากมีข่าวส่งมามีข้อมูลเพียงพอให้ทำข่าวได้ เนื่องจากนักข่าวภูมิภาคข่าวที่ทำต้องส่งส่วนกลาง ต่อน่าสนใจจริงๆ หากไม่ได้ลงข่าวเราก็ไม่ได้รับค่าจ้าง เป็นการเหมางานรายชิ้น ข่าวจึงต้องสด แรง น่าสนใจ ส่งผลสะเทือนต่อสังคมหรือผู้คนส่วนใหญ่ไม่เช่นนั้นก็ไม่ได้เป็นข่าว เพราะข่าวส่วนใหญ่จะรวมศูนย์อยู่ส่วนกลางทั้งหมด ทั้งการบริหารจัดการข่าว งานบริหารบ้านเมือง ทำให้ข่าวภูมิภาคเป็นข่าวที่ต้องคอยช่วงชิงพื้นที่ข่าว หากไม่น่าสนใจจริงๆก็สอบตก

คุณวิสุทธิ์ มโนวงศ์   ผู้นำสหภาพแรงงาน จังหวัดลำพูน กล่าวว่า การให้ข่าวของแรงงานบางครั้งอาจถูกฟ้องร้องขอเลิกจ้างได้ แม้พูดเรื่องจริง

คุณ สุกิจ  จันทรวงค์ นักข่าวภูมิภาคกล่าว่า ปัญหาการทำข่าวต้องมีความชัดเจน มีข้อมูลความน่าเชื่อถือ มีหลักฐานที่ชี้ชัดว่าเป็นข้อเท็จจริง เพราะข่าวแต่ละวันมีทั้งข่าวเศรษฐกิจ การเมือง ข่าวแรงงานมักมาท้ายสุดของความสำคัญ ประเด็นถูกฟ้อง ถูกเลิกจ้าง หากมีหลักฐานที่ชัดเจนไม่กลัวสู้ได้

ธรรมชาตินักข่าวท้องถิ่นจะตามผู้ใหญ่ที่สุด ซึ่งเป็นคนสำคัญ เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัด ไม่มีใครตามผู้นำแรงงานหรอก วันนี้ผู้ว่ามีหมายไปไหนบ้างต้องรู้ และตามทำข่าว ไปทำข่าวแรงงาน มีการชุมนุม ไปจวนผู้ว่า หากผู้ว่าไม่มารับหนังสือ หรือไม่แรงพอก็ไม่เป็นข่าว หลักสำคัญคือข้อมูล ขัอเท็จจริง มีให้สื่อมวลชนหรือไม่

คุณดวงเดือน คำไชย เครือข่ายแรงงานนอกระบบ กล่าวว่า แรงงานนอกระบบส่วนใหญ่ทำงานกับสื่อส่วนกลาง เพราะสื่อท้องถิ่นไม่ค่อยสนใจข่าวแรงงานนอกระบบ แรงงานในระบบที่ภาคเหนือยังไม่ได้ทำงานร่วมกันมากนัก การเป็นข่าวของแรงงานนอกระบบบางทีต้องพ่วงไปกับแรงงานในระบบที่กรุงเทพมหานครทุกครั้ง ให้แรงงานในระบบ เช่น คุณวิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยเวลาไปที่ไหนออกข่าวจะนำประเด็นแรงงานนอกระบบไปพูดถึงในฐานะที่เป็นสมาชิกทำให้มีข่าวแรงงานนอกระบบสู่สังคมให้รับรู้ว่าแรงงานนอกระบบมีตัวตนอยู่ เรามีเครือข่ายแรงงานนอกระบบ มีคุณสุจิน รุ่งสว่าง ที่ไปเป็นตัวแทนออกสื่อตลอด แต่ส่วนท้องถิ่นไม่มีข่าวแรงงานนอกระบบ มีแต่ข่าวOTOP ทั้งที่เขาคือแรงงานนอกระบบแต่เมื่อไม่มีการสื่อให้เขารู้ มีประเด็นปากท้องชาวบ้านเท่านั้น

คุณสุกิจ จันทรวงค์ ตอบว่า นักข่าวภูมิภาคมีทั้งหมด 30 คนทำข่าว 8 จังหวัด ทำตั้งแต่ ข่าวอาชญากรรม เศรษฐกิจ การเมือง บันเทิง สังคม แรงงาน หากเป็นไปได้มีการส่งข่าวให้เราก็คงดี แนวคิดที่มีการสร้างคนเขียนข่าวเพื่อส่งข่าวให้กับสื่อมวลชน เป็นเรื่องที่น่าสนใจเป็นเรื่องที่ดี เพราะนักข่าวมีน้อย ไม่สามารถลงไปทำข่าวได้ทุกที่หากมีข่าวส่งมาให้ถือเป็นข้อมูลสามารถปรับเพียงเล็กน้อยส่งได้เลยจะช่วยพวกเราได้มาก

คุณสุชาติ ตระกูลหูทิพ มูลนิธิเพื่อนหญิง กล่าวว่า การเสนอข่าวให้กับสื่อกระแสหลักข่าวต้องเป็นข่าวที่คนอ่าน ต้องมีการจัดรณรงค์บ้างมีกรณีศึกษาสื่อจะดูช่องทางจังหวะก้าวของทุนที่ต้องการขายข่าวแบบไหน แรงงานต้องทำใจหากข่าวไม่อยู่ในกระแสที่สื่อให้ความสนใจ

แรงงานต้องหันมาพึ่งตนเอง โดยจัดทำสื่อของตนเอง แรงงานในลำพูนเคยมีการทำสื่อจดหมายข่าวแรงงาน มีการจัดทะเว็บไซต์ ขณะนี้หยุดไปต้องสร้างสื่อของตนเองขึ้นมาก่อนเพื่อสร้างกระแสสื่อของแรงงาน ถามว่าใครบ้างที่อ่านจดหมายข่าวแรงงานปริทัศน์ของมูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน ตนอ่าน สหภาพแรงงานควรอ่าน และนำมาวิเคราะห์ มีข้อมูลที่ดีๆสำหรับแรงงาน ตอนนี้สื่อใหม่โซเชี่ยนมีเดี่ยกำลังเป็นที่สนใจของสังคมแรงงานควรนำมาใช้ในการขับเคลื่อนสังคม ในอนาคตสื่อเก่าก็จะต้องหมดไป

คุณสุทิตย์ มาลา แรงงานบริษัทยูโทเปีย นิคมอุตสาหกรรมลำพูน เล่าว่า แรงงานไม่ค่อยสนใจอ่านข่าวตัวเอง หากจะสนใจก็มีข่าวเรื่องค่าจ้าง ประกันสังคม หากสหภาพแรงงานต้องการให้สมาชิกอ่านได้รับความรู้ ก็ต้องดูเนื้อหาที่เหมาะสมกับกลุ่ม

คุณชาญศิลป์ เรือนยายกาศ สหภาพแรงงานโฮยา เล่าว่าแรงงานสนใจข่าวที่เกี่ยวกับชีวิตตัวเอง ข่าวเศรษฐกิจสนใจบางเรื่องที่เกี่ยวกับแรงงาน เกี่ยวกับเรื่องปากท้อง พอมีข่าวเกี่ยวกับแรงงาน เรื่องค่าจ้างจะสนใจอ่าน หากไม่มีก็ไม่สนใจ การทำสื่อสาระออกมาดี แรกๆให้ความสนใจ แต่พอบ่อยๆก้เบื่อไม่อ่านอีก  

คุณสุกิจ จันทรวงค์ กล่าวว่า แรงงานถือเป็นตลาดขอหนังสือพิมพ์ไทยนิวส์ เพราะหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นสนใจขายให้ตลาดล่าง ถึงกลาง กลุ่มแรงงานมีจำนวนมาก แรงงานอยู่ทุกจุด แรงงานคือชาวบ้าน แรงงานคือแรงงานในระบบ แรงงานนอกระบบ อาศัยอยู่ในชุมชน

คุณอรรคพล  สาตุ้ม การเขียนข่าวส่งให้สื่อมวลชน ทำให้ข่าวแรงงานมีความใกล้ชิดสื่อมากขึ้น การที่สหภาพแรงงานเป็นผู้เขียนข่าวเองส่งให้สื่อ เป็นการตอบสนองความต้องการสื่อประเด็นของแรงงานให้สังคมได้รับรู้ และแรงงานเองติดตามอ่านเพื่อให้รู้ความเคลื่อนไหว สื่อสนใจเพราะถือว่าเป็นการสื่อจากข้อมูลข้อเท็จจริงของแรงงาน

คุณวิชัย นราไพบูลย์ สรุปว่า การที่แรงงานต้องการสื่อสารต่อสังคมเรื่องความต้องการของแรงงาน คือ 1. แรงงานควรมีการสร้างสื่อ เขียนสาร ส่งข่าว ให้กับสื่อมวลชน ซึ่งแต่ละสื่อมีช่องทางให้ส่งข่าวได้ โดยผ่านบรรณาธิการสื่อ หรือสื่อมวลชนโดยตรง ซึ่งสื่อภูมิภาคส่วนใหญ่จะทำงานประจำอยู่ที่จังหวัด หรือ 2.  วิธีการสร้างกระแสรณรงค์ เคลื่อนไหว แต่ก็ต้องมีข้อมูลให้สื่อสาร สื่อมวลชนก็จะมาทำข่าว แต่อันนี้ก็เป็นบางครั้งเท่านั้น เรื่องต้องเป็นเรื่องที่ร้อน น่าสนใจ และมีความแรงที่สังคมอยากรู้ และ 3. แรงงานควรมีการจัดทำสื่อของตนเอง ทั้งรูปแบบจดหมายข่าว เว็บไซต์ เพื่อสื่อสารทั้งภายในและภายนอกให้สังคมได้รับรู้ความเคลื่อนไหว ประเด็นข้อเสนอความต้องการ เป็นกระแสที่ส่งให้สื่อกระแสหลักใช้เป็นข้อมูลกระจายสารต่อไป
 

สรุปโดยวาสนา ลำดี