เครือข่ายสลัม 4 ภาคแถลงสถานการสูญเสียที่อยู่อาศัยของคนจน นัดเคลื่อนไหว 5 ตุลาคม ยื่น 4 ข้อเสนอในวันที่อยู่อาศัยโลก พร้อมเริ่มต้นจัดตั้งกองทุนธนาคารที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัย
เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2558 เครือข่ายสลัม 4 ภาคได้แถลงข่าว สถานการณ์การสูญเสียที่อยู่อาศัยของคนจนเมือง และ กำหนดการ การจัดงานรณรงค์เนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลก ได้มีข้อเสนอต่อรัฐบาล และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ ให้ดำเนินการแก้ปัญหาใน 4 เรื่อง คือ
- ให้มีการแต่งตั้งกลไกคณะกรรมการแก้ปัญหาชุมชนที่ถูกไล่รื้อ เพื่อทำหน้าที่ประสานงาน ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท และร่วมกันหาแนวทางในการแก้ปัญหา เพื่อเป็นกลไกในการลดความรุนแรง และคลี่คลายปัญหาในเบื้องต้น
- โครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐบาลที่กระทบต่อคนจน และคนจำนวนมาก รัฐบาลต้องเปิดให้ผู้ได้รับผลกระทบมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ในการกำหนดการพัฒนา และการแก้ปัญหา และต้องมีการอนุมัติงบประมาณในการแก้ปัญหาสำหรับผู้ได้รับผลกระทบจากการพัฒนา
- ต้องมีการแต่งตั้งคณะกรรมการโฉนดชุมชน และเดินหน้าทำงานตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีเพื่อจัดโฉนดชุมชนให้ชาวบ้านที่ต้องการแก้ปัญหาเพื่อสร้างหลักประกันในด้านที่อยู่อาศัย และการพัฒนาคุณภาพชีวิต
- กรณีคนเร่ร่อนไร้บ้าน ในการจัดระเบียบพื้นที่ทำให้คนกลุ่มนี้ต้องอยู่ในภาวะยากลำบากในการใช้ชีวิต เครือข่ายสลัม 4 ภาค จึงเสนอให้รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนที่อยู่อาศัยสำหรับคนไร้บ้าน ใน 2 ระยะ คือศูนย์พักชั่วคราว และบ้านมั่นคงสำหรับคนไร้บ้าน ที่ดำเนินการโดยภาคประชาชน
ทั้งหมดนี้ กระทรวงการพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ แจ้งว่ากำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินการ ซึ่งเครือข่ายสลัม 4 ภาค จะใช้โอกาสเนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลก ซึ่งปีนี้ตรงกับวันจันทร์ที่ 5 ตุลาคม จัดขบวนรณรงค์ จำนวน 2,000 คน ในการติดตามข้อเสนอ เพื่อให้รัฐบาลประกาศแนวทางการแก้ปัญหาที่ชัดเจน ในวันที่ 5 ตุลาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล เวลา 09.00 น. นอกจากนั้น ในวันจันทร์ที่ 12 ตุลาคม เครือข่ายสลัม 4 ภาค จะจัดงานรณรงค์ในภูมิภาคพร้อมกันที่ จังหวัดขอนแก่น และสงขลา เพื่อเป็นส่วนหนึ่งการการผลักดันให้เกิดการแก้ปัญหา และที่สำคัญในวันนี้ 24 กันยายน 2558 ภาคประชาชนโดยเครือข่ายสลัม 4 ภาค ได้เริ่มต้นจัดตั้งกองทุนธนาคารที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัย สำหรับสมทบจัดซื้อที่ดินให้กับชุมชนที่ประสบปัญหาด้านที่อยู่อาศัย เพราะไม่สามารถรอการแก้ปัญหาของรัฐบาลได้
ในการจัดเวทีวิชาการ “มองไปข้างหน้า สิทธิ ความเป็นธรรมของการอยู่ร่วมกันในเมือง” ของเครือข่ายสลัม 4 ภาค ร่วมกับ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯ และคณะทำงานวาระทางสังคม เพื่อสะท้อนความรุนแรงของปัญหาการสูญเสียที่อยู่อาศัยของคนจนเมือง ที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ในปัจจุบัน เครือข่ายสลัม 4 ภาค พบว่าสถานการณ์ปัญหาการสูญเสียที่อยู่อาศัยดังกล่าว เป็นผลมาจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐบาล ทำให้คนจนต้องประสบกับภาวการณ์ไร้ที่อยู่อาศัย ครอบครัว และชุมชนต้องล่มสลาย และไม่มีกลไก มาตรการ หรือนโยบายของรัฐบาลที่ชัดเจนในการแก้ปัญหา
ข้อมูลที่เครือข่ายสลัม 4 ภาค ได้รวบรวมมา ในเบื้องต้น มีชุมชนที่กำลังถูกไล่รื้อ จำนวน 86 ชุมชน ผู้ได้รับผลกระทบจำนวนกว่า 8,100 ครอบครัว ราว 34,000 คน อันเนื่องมาจากโครงการพัฒนาการขนส่งระบบราง ทั้งรถไฟฟ้า รถไฟความเร็วสูง การขยายทางคู่ขอบข่ายทั่วประเทศ ทั้งกรุงเทพมหานคร ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ โครงการการจัดการน้ำ ที่เริ่มใน 9 คลองหลักในกรุงเทพมหานคร และในพื้นที่เอกชนที่อยู่ใกล้บริเวณโครงการพัฒนาของรัฐ ที่ได้รับอานิสงค์ทำให้พื้นที่เปิด เหมาะกับการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ เช่น คอนโดมิเนียม และไม่เว้นแม้กระทั่งที่ดินของวัด ที่ประชาชนอยู่อาศัยมาเป็นเวลานาน ก็ถูกวัดไล่รื้อ เพื่อจะนำที่ดินไปทำประโยชน์อื่น
ตัวอย่างของพื้นที่ที่กำลังต่อสู้กับการไล่รื้อ กรณีแรก ที่ จ. ขอนแก่น ชาวบ้านชุมชนแออัดข้างทางรถไฟ ต้องถูกไล่รื้อออกจากพื้นที่ ที่จะใช้สร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูง และยังไม่มีที่ดินที่เหมาะสมรองรับชาวบ้าน ในขณะที่การรถไฟนำที่ดินของรถไฟบริเวณใกล้เคียงให้นายทุนเช่าที่ดินทำสนามฟุตบอล กรณีที่สอง ชุมชนโรงช้าง ซอยรามคำแหง60 แยก3 จำนวน 80 ครอบครัว กำลังถูกทีมรับจ้างไล่รื้อ นำรถแม็คโครเข้ามารื้อบ้าน ใช้วิธีการที่รุนแรง โดยไม่มีการเจรจาหาแนวทางในการแก้ปัญหา ไม่สนใจชีวิตผู้คน และไม่คำนึงถึงเรื่องสิทธิมนุษยชน กรณีที่สามชุมชนวัดใต้ อยู่ในที่ดินวัดใต้ ย่านอ่อนนุช อยู่มากว่า 40 ปี กำลังถูกฟ้องร้องดำเนินคดีจากทางวัดใต้ เพื่อให้ชาวบ้านโยกย้ายออกจากชุมชนที่อยู่อาศัยมาดั้งเดิม กรณีที่สี่ชุมชนริมคลอง 4 ชุมชน เป็นชุมชนนำร่องในเขตเมือง ที่ยื่นขอโฉนดชุมชน ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยเรื่องการจัดโฉนดชุมชน เพื่อจะเป็นทางออกของการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยของชุมชนริมคลอง ยังไม่มีความคืบหน้าใด ๆ จากรัฐบาล และอาจจะเสี่ยงต่อการถูกไล่รื้อตามนโยบายการจัดการน้ำของรัฐบาล
////////////////