สื่อสารแรงงาน ทันสื่อ ทันโลก

รายงานการเสวนา “สื่อสารแรงงาน ทันสื่อ ทันโลก”

    เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ.2554 ที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ กรุงเทพฯ โครงการ การพัฒนาสื่อสนับสนุนขับเคลื่อนขบวนการแรงงาน ดำเนินการโดยมูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย  ภายใต้การสนับสนุนของแผนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน สสส. จัดเวทีเสวนาเรื่อง “สื่อสารแรงงาน ทันสื่อ ทันโลก” และ “เวทีทบทวนย่างก้าว นักข่าววอยซ์เลเบอร์”  เนื่องในโอกาสครอบรอบ 1 ปี ของการสร้างนักสื่อสารแรงงาน
ในช่วงเสวนา “สื่อสารแรงงาน ทันสื่อ ทันโลก” วิทยากรมีทั้งผู้ที่เชี่ยวชาญในด้านสื่อสารมวลชนและด้านแรงงาน
 
 
ศักดินา  ฉัตรกุล ณ อยุธยา  นักวิชาการอิสระผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์แรงงานไทย กล่าวว่า 
ขบวนการแรงงานตระหนักถึงการใช้สื่อเป็นเครื่องมือมาตั้งแต่อดีตเพื่อสื่อสารกันเองและสื่อสารกับสังคมในการบอกเล่าและต่อสู้กับความอยุติธรรม  ยุคแรกๆเป็นแบบใต้ดินโดยแรงงานจีนใช้ใบบลิวที่ทำขึ้นเอง ต่อมาเมื่อสามารถเคลื่อนไหวได้อย่างเปิดเผย  ถวัติ ฤทธิเดช ผู้นำกรรมกรรถรางก็ได้ทำหนังสือพิมพ์ “กรรมกร” ขึ้นมาในช่วงก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475  ต่อมาช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2  ยุคสมาคมสหอาชีวะกรรมกรแห่งประเทศไทย ก็ทำหนังสือพิมพ์ร่วมกับขบวนการคอมมิวนิสต์  หลัง 14 ตุลา 2516 ก็มีวารสาร “ข่าวคนงาน” ของสภาแรงงานฯ  และ “แรงงานปริทัศน์” ของมูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน  
แต่ที่ผ่านมา สื่อมักจะอยู่ในมือรัฐและนายทุน ไม่ค่อยเปิดพื้นที่ให้แรงงาน  แม้ว่าปัจจุบันจะมีพื้นที่มากมายจากสื่อทางเลือก  สื่อสังคมออนไลน์ (Social media)  แต่ก็ขึ้นอยู่กับแรงงานว่าจะใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างไร  ถือเป็นเรื่องดีที่มีการสร้างนักสื่อสารแรงงานเตรียมรับสถานการณ์ที่โลกเปลี่ยน สื่อเปลี่ยน  แรงงานจึงต้องเปลี่ยนตามให้ทันในฐานะทั้งผู้ส่งสารและผู้รับสาร  ขบวนการแรงงานต้องมีผู้เชี่ยวชาญเรื่องสื่อเพื่อเชื่อมโยงประสาน วันนี้ถือว่ามาไกลพอสมควร  แต่ก็ต้องทำบทบาทเชิงรุกสอดรับกับการเปลี่ยนด้านการสื่อสารทั้งเรื่องอุปกรณ์และช่องทางใหม่ๆ  รวมทั้งทำให้โครงการสื่อสารยั่งยืนเป็นเนื้อในของขบวนการแรงงานต่อไป
 
สมเกียรติ  จันทร์สีมา  ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารสาธารณะ  หัวหน้าโต๊ะข่าวพลเมือง ไทยพีบีเอส  กล่าวว่า  
สื่อหลักอย่างหนังสือพิมพ์มีการปรับตัวอย่างรุนแรง  ปรากฎการณ์คือการถูกตรวจสอบในประเด็นจริยธรรม และในอีก 10 ปีข้างหน้า หนังสือพิมพ์อาจหมดบทบาทไป  สื่อใหม่อย่าง Internet  เชื่อมคน เชื่อมข้อมูลข่าวสารได้หลากหลาย มีคนดู  TV (on demand) จาก Internet มากขึ้น การทำข่าว VDO ก็เป็นเรื่องจำเป็นมาก ยิ่งเมื่อมีการใช้ดาวเทียมมากขึ้น  การปิดกั้นข้อมูลข่าวสารก็ทำได้ยาก  แต่การเปลี่ยนแปลงคงไม่ใช่เรื่องอุปกรณ์เครื่องมืออย่างเดียว  แต่ต้องเปลี่ยนวิธีคิดด้วย  ต้องเป็นวิธีคิดแบบใหม่อย่าง  citizen journalist,  citizen reporter  ซึ่งต้องไม่ใช่เพียงแค่การโฆษณาหรือโฆษณาชวนเชื่อ
เห็นปรากฏการณ์แรงงานใช้สื่อใหม่  ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะแรงงานเป็นกลุ่มที่มีการจัดตั้งมากที่สุดแต่เรื่องการสื่อสารเป็นจุดอ่อนมากกว่ากลุ่มอื่น  เห็นได้จากนโยบายรัฐบาลยิ่งลักษณ์  ตอบโจทย์แรงงานแค่เรื่องเร่งด่วน  สะท้อนว่าแรงงานยังมีเป้าหมายที่ต้องสื่อสารกับสังคมให้เห็นว่ายังมีปัญหาอื่นที่แรงงานต้องการให้แก้ไขอยู่  ซึ่งอาจไปทำประเด็นร่วมกับกลุ่มอื่นๆ ก็จะทำให้เกิดพันธมิตรเกิดพื้นที่สื่อได้มากขึ้น
 
สุภิญญา  กลางณรงค์  นักวิชาการอิสระด้านการสื่อสาร มีความเห็นว่า 
สื่อเดิมอย่างหนังสือพิมพ์ วิทยุ ทีวี ยังมีบทบาทเข้าถึงครัวเรือนถึง 95 % แต่ยังต้องรอการปฏิรูปเพื่อให้เกิดความหลากหลาย เกิดการแข่งขันที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภค  ซึ่งการมี คณะกรรมการกิจการสื่อสารและโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จะเข้ามาช่วยกำกับให้เกิดประโยชน์ได้  อย่างสถานีวิทยุ 500 กว่าแห่งยังเป็นของรัฐ  ทีวี 6 ช่องเป็นของรัฐและนายทุน  ถ้ามีการปรับให้ดีขึ้นก็เชื่อว่าจะเกิดประโยชน์ต่อประชาชนที่สามารถเข้าไปมีส่วนกำกับและมีส่วนร่วมได้ 
 
ในส่วนเครื่องมือและระบบสื่อสารแม้จะทันสมัย แต่ยังมีราคาแพง  ทั้ง Internet โทรศัพท์มือถือ  เห็นว่าตัวชี้วัดการพัฒนาสื่อคือ  คนที่มีรายได้น้อยสุดสามารถเข้าถึงได้  และควรถือเป็นนโยบายสาธารณะ  อย่างเรื่อง 3 G ที่เกิดยากเพราะมีคนไม่อยากให้เกิดการแข่งขันที่จะทำให้ราคาถูกลง  ที่จริงควรปล่อยให้เอกชนแข่งขันกันไป  ส่วนรัฐวิสาหกิจก็มาทำราคาบริการให้ต่ำเพื่อให้ทุกคนที่มีรายได้ต่ำสามารถเข้าถึงได้
 
ส่วนปัญหาที่คุกคามเสรีภาพในการสื่อสารทุกวันนี้คือ  พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์  คดีที่มีอยู่ในศาลมากสุดคือหมิ่นประมาท  ไม่ใช่กฎหมายหมิ่นฯ (ม.112)  ซึ่งระบุผู้รับผิดกว้างขวางมาก ทั้งผู้โพสต์  คนดูแลเว็บไซต์  หรือผู้ให้บริการเว็บไซต์   แม้ว่าจะมีหน่วยงานที่ดูแลช่วยเหลือด้านกฎหมาย  แต่ยังขาดแคลนทนายเฉพาะด้านอยู่มาก  ส่วนทางแก้ปัญหาเห็นว่าต้องมีการแก้กฎหมายทบทวน  พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์  และมีกลไกที่ช่วยคลี่คลาย ไม่ให้มีคดีขึ้นสู่ศาลมากเกินไป
 
การสื่อสารในส่วนของแรงงาน  ต้องมีส่วนช่วยขับเคลื่อนให้เกิดนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ  เกิดเสรีภาพในการสื่อสาร  การสื่อสารกันเองอาจใช้ภาษากันเองได้  แต่การสื่อสารต่างกลุ่มก็เป็นเรื่องจำเป็น ซึ่งต้องมีการฝึกฝน  เปลี่ยนแปลงพัฒนาตัวเองโดยเรียนรู้จากมืออาชีพ
 
ชาลี  ลอยสูง  ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.)  กล่าวว่า 
ที่ผ่านมา  แรงงานมักมองหาการพึ่งพาสื่อเพื่อให้ทำข่าวให้  และจะทำสื่อเฉพาะเมื่อมีปัญหา  รู้สึกยินดีเมื่อมีการสร้างนักสื่อสารแรงงาน  ซึ่ง 1 ปีที่ผ่านมาพัฒนาขึ้นมาก  voicelabour  เป็นที่รู้จักมากขึ้น  ทำให้คนงานรู้ทั้งปัญหาและเรื่องดีๆ ที่เกิดขึ้น  เป็นช่องทางให้สื่อมวลชนนำไปขยายต่อได้  อย่างไทยพีบีเอส  ก็มีส่วนช่วยเสนอข่าวแรงงานมาก ปัญหาการสื่อสารของแรงงานคือ  เขียนข่าวทำประชาสัมพันธ์ไม่เป็น  สื่อสารกับสมาชิกให้รับรู้เรียนรู้ไม่ได้  เมื่อมีนักสื่อสารแรงงานเกิดขึ้น  ถือเป็นพัฒนาการที่ต้องก้าวต่อไปเรื่อยๆ  ต้องลงมือทำสื่ออย่างจริงจังให้เข้มแข็งเข้มข้นในเรื่องข้อมูลข่าวสารของแรงงาน  ต้องสร้างบุคคลากรเพิ่มขึ้น  พัฒนาอุปกรณ์เครื่องมือให้ทัน  รวมทั้งพัฒนาการทำข่าวให้ต่อเนื่องในเชิงลึก  และมีการขยายเครือข่ายให้มากขึ้น
 
สาวิทย์  แก้วหวาน  เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) กล่าวว่า ขบวนการธงเขียวหลังยุค รสช.  จนกระทั่งเกิดรัฐธรรมนูญ2540  ถือเป็นจุดเริ่มต้นเสรีภาพของสื่อ  แต่บทบาทของสื่อที่ผลิตซ้ำๆทำให้เกิดการชี้นำครอบงำได้  มีสื่อก็มีอำนาจชี้ถูกชี้ผิดได้ จึงมีความสำคัญต่อการแก้ปัญหาของแรงงาน   ปัจจุบันมีสื่ออยู่มากมาย อยู่ที่ว่าแรงงานจะใช้ความรู้ข้อมูลซึ่งมีอยู่มากมายนำเสนอได้อย่างไร  ซึ่งสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟ ก็มีวารสาร “ส่องทาง” ที่ปีหน้าจะครบ 20 ปี  และมีสถานีวิทยุ “เสียงกรรมกร” แต่ก็เห็นว่าเป็นเรื่องไม่ง่ายในแง่รายได้รายจ่าย และคนผลิตข่าวผลิตรายการ
 
แง่การทำสื่ออาจไม่ใช่เพียงวางตัวเป็นกลาง  แต่ต้องมีเป้าหมายด้วย  สื่อมีความสำคัญต่อการทำงานขององค์กรแรงงาน  การสร้างนักสื่อสารแรงงานเพิ่มขึ้นจึงเป็นความท้าทายและน่าชื่นชมที่จะนำไปสู่เป้าหมายเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงให้แรงงาน 
 
สิ่งสำคัญคือ  แรงงานจำเป็นต้องมีสื่อเอง และมีพันธมิตรสื่อมวลชน  การขยายเครือข่าย กำหนดเป้าหมายชัดเจน  สื่อเนื้อหาเชิงบวกมากขึ้นเพื่อให้คนส่วนใหญ่เข้าถึงได้  จัดงบประมาณลงทุนด้านสื่อ  เหล่านี้ล้วนเป็นภารกิจของขบวนการแรงงาน
 
สำหรับช่วงของการเสวนา “ทบทวนย่างก้าว นักข่าววอยซ์เลเบอร์” มีนักข่าวซึ่งเคยทำหน้าที่เป็นครูฝึกอบรมให้นักสื่อสารแรงงาน มาเป็นวิทยากร
 
ภาสกร  จำลองราช  จากหนังสือพิมพ์มติชน  (ได้เขียนใบลาออกก่อนหน้างานเสวนา) ให้ความเห็นว่า 
เห็นพัฒนาการในเรื่องการรวมกลุ่มทำข่าว แม้จะยังมีปัญหาเรื่องการทำข่าวให้สมดุล ยังเห็นการทำข่าวประเด็นเดียวจากคนๆเดียว  อยากให้มีการเคลื่อนประเด็นข่าวที่ไม่ใช่ทำกันเองอ่านกันเอง   ควรมีเป้าหมายทำข่าวจากกรณีปัญหา (case)  ที่อยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแก้ไข ทำต่อเนื่องเป็นซีรี่ส์  ถามผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย  มีการสัมภาษณ์เจาะลึก   และอยากให้ตีโจทย์คำว่า “ข่าว” ให้มากกว่าเรื่องของ “ปัญหา”  เพราะยังมีเรื่องดีๆ เช่น วิถีชีวิตของแรงงานที่คนข้างนอกยังไม่รู้  ควรถ่ายทอดออกมาเพื่อวันหนึ่งจะเป็นข้อมูลสนับสนุนการขับเคลื่อนต่อสู้ปัญหา  แม้แต่เรื่องใกล้โรงงานที่ไม่เกี่ยวกับโรงงาน  ควรมีภาพกว้างที่เชื่อมโยงไปสู่สังคมส่วนอื่นบ้าง  ซึ่งจะทำให้เรารอบรู้ขึ้นด้วย
 
ส่วนการเลี่ยงปัญหาถูกฟ้องร้อง  ก็ต้องยึดการเสนอข้อเท็จจริง  เลี่ยงการใส่ความเห็น  ซึ่ง 1 ปีที่ผ่านมาของนักข่าววอยซ์เลเบอร์ก็มีพัฒนาการระดับหนึ่ง  ก้าวข้ามความยากลำบากมาได้  ให้ยึดหลักการถ่ายทอดง่ายๆ  ใกล้ตัว  รู้จริง  ก็จะสามารถปรับตัวและอยู่ต่อไปได้
 
ชัยภัทร  ธรรมวงษา  จากหนังสือพิมพ์แนวหน้า  เห็นว่า  
เมื่อผ่านการฝึกอบรมเป็นนักสื่อสารแรงงานแล้ว  ส่วนใหญ่ก็ทำกันได้ดี  ที่ต้องปรับปรุงคือเรื่องเนื้อหาที่ยังวนเวียนอยู่ไม่กี่ประเด็น  ยังมีข่าวซ้ำๆ จากบางพื้นที่เท่านั้น  หลายพื้นที่อย่างภูเก็ตหรือภาคเหนือยังไม่มี  การเขียนข่าวอย่ากังวลว่าจะผิดแบบแผน  เพียงเขียนออกมาให้ข้อมูลถูกต้องครบถ้วน  ประเด็นข่าวเล็กๆก็สามารถเอามารวมเป็นสกู๊ป เป็นบทความเชิงลึกได้  หากกลัวถูกฟ้องก็อาจมีนักกฏหมายช่วยเหลือหรือคุยกับนักข่าวอาชีพก็ได้  เข้าใจว่าแรงงานมีภาระมาก  แต่การส่งข้อมูลประเด็น หรือข้อความสั้นๆ ให้นักข่าวก็จะช่วยได้มากให้เกิดการสื่อเรื่องแรงงาน
 
ความเห็นต่อหนังสือพิมพ์วอยซ์เลเบอร์  ดูหน้าแรกรู้สึกหนัก มีตัวหนังสือมาก  อาจไม่ดึงดูดให้คนอ่าน  ส่วนเว็บไซต์เห็นความหลากหลาย  มี content (เนื้อหา) เพิ่มมากขึ้น
 
โกวิท  โพธิสาร  จากนักข่าวพลเมือง ไทยพีบีเอส  แสดงความเห็นว่า  
ถือเป็นพัฒนาการอย่างมากที่แรงงานลุกขึ้นมาสื่อสารเรื่องของตัวเอง ที่เดิมมีซ่อนอยู่เพียงในซอกหลืบของหนังสือพิมพ์หรือสื่อต่างๆ  คงไม่ต้องกังวลว่าข่าวจะหนักหรือไม่มีบทความ สิ่งสำคัญคือได้ส่งเสียงเรื่องราวของตัวเองก็เพียงพอแล้ว  เราเป็นคนรู้ข้อมูล มีความรู้สึกต้องการสื่อ จึงต้องฝึกคิดประเด็น อ่านให้มาก  เขียนให้มาก เก็บข้อมูล  เขียนข่าว  ต่อไปจึงค่อยพัฒนาไปเขียนสกู๊ป เขียนบทความ
ปัจจุบันและอนาคต  ผู้บริโภคจะเป็นทั้งผู้รับสื่อและทำสื่อในคนๆเดียวกัน   การถ่ายโอนข้อมูลมีมากมายจากการมีสื่อใหม่  ช่องทางสื่อแม้มีมากแต่เนื้อหายังไม่ค่อยแตกต่าง  สื่อสารแรงงานจะหาจุดเด่นอะไรเพื่อไม่ให้เป็นเศษซากในกองเว็บไซต์หรือกองหนังสือพิมพ์ขนาดใหญ่  เห็นว่าเว็บไซต์ voicelabour.org ที่ขณะนี้มีผู้เข้าชมเกินแสน  ที่ดูประจำ 5 หมื่น  ถือว่าเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจมาก
 
เพ็ญจันทร์  เจริญสุทธิพันธ์  จากหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์  กล่าวว่า
เห็นการพัฒนาขึ้นมากของนักสื่อสารแรงงาน  อยากเพิ่มเติมจาก ทันสื่อ ทันโลก เป็นเปลี่ยนแปลงโลกด้วย  แรงงานมีโลกของการเขียนข่าวที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากขึ้น  ดูจากเว็บไซต์  เห็นความพยายาม  ความอดทนในการร้อยเรียงเขียนข่าว  มีความมั่นใจในการก้าวออกไปสู่การสื่อสารภายนอก  เห็นทักษะในการเขียนข่าวที่ระมัดระวังลดความเสี่ยง
ก้าวต่อไปก็คงต้องใช้เวลาเพิ่มในการปรับปรุงตัวเอง  ฝึกฝนให้มากขึ้นในแง่เขียนข่าวเชิงคุณภาพ ให้เห็นผลกระทบ  เห็นความต้องการเปลี่ยนแปลง
 
การแบ่งกลุ่มสานเสวนา ในช่วงบ่ายเรื่อง “บทบาทนักสื่อสารแรงงานกับขบวนการแรงงาน”  โดยการวิเคราะห์สถานการณ์การสื่อสารของแรงงาน จุดอ่อน จุดแข็ง โอกาส และอุปสรรค รวมทั้งข้อเสนอเพื่อการพัฒนาสื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนขบวนการแรงงาน ซึ่งมีนายโกวิท โพธิสาร ทีมนักข่าวพลเมือง ไทยพีบีเอส และนางสาวเพ็ญจันทร์ เจริญสุทธิพันธ์ หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ร่วมสรุปและรับฟังความคิดเห็น
 
กลุ่มที่ 1 สรุปได้ดังนี้
 
จุดอ่อน คือ 1. ข้อจำกัดของรายได้ (โอทีน้อย) 2. ขาดความรู้ในด้านทักษะในการทำงาน, ประสบการณ์, เทคโนโลยี  3. ข้อจำกัดด้านเวลาที่ต้องทำงานมากกว่า 8 ชั่วโมงต้องทำงานล่วงเวลา ปัญหาครอบครัว และสมาชิกสหภาพแรงงานไม่สนับสนุน 
 
จุดแข็ง คือ 1.  สามารถเข้าถึงข้อมูล แหล่งข่าว เพราะอยู่ใกล้ตัวอยู่แล้ว 2. มีภาวะความเป็นผู้นำ มุ่งมั่น มีการทำงานเป็นทีม 3. มีความพร้อมด้านอุปกรณ์ ทั้งกล้องถ่ายรูป กล้องวีดิโอ และคอมพิวเตอร์เป็นต้น
 
โอกาส ประกอบด้วย 1. มีช่องทางในการสื่อสารของตนเอง เช่นสื่อจดหมายข่าวในพื้นที่ เว็บไซต์ หนังสือพิมพ์ ทีวี ไทยพีบีเอส 2. มีองค์กรคอยสนับสนุนและส่งเสริมให้ความรู้ 3. ได้รับการตอบรับจากสังคม มีการเปลี่ยนแปลง พัฒนาตนเอง และขบวนการสื่อสารเรื่องของแรงงานมากขึ้น
 
อุปสรรค์ ประกอบด้วย 1. มีความเสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้องดำเนินคดี/เลิกจ้างจากนายจ้าง หากมีการเขียนข่าวพาดพิง  2. นายจ้างไม่สนับสนุน/ขัดขวาง มีการเรียกไปสอบถามพูดคุยบ้าง 3. รัฐไม่ให้ความสนใจมากเท่าที่ควรต่อข้อมูลที่นำเสนอ(ด้านนโยบายแรงงาน)
 
ข้อเสนอแนะมีดังนี้ 1. ควรมีกฎหมายคุ้มครอง/งบประมาณ, ค่าตอบแทนในการดำเนินงาน มีทนายความหรือนักกฎหมายคอยดูแล 2. มีการจัดอบรมเพิ่มทักษะอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดความมั่นใจในการทำงานมากขึ้น  3. ออกบัตร หรือประกาศให้กับนักสื่อสารแรงงาน โดยต้นสังกัด 
 
กลุ่มที่ 2 สรุปได้ดังนี้
 
จุดอ่อน คือ 1. กลัว, ขาดความรู้เรื่องกฎหมาย ด้านการสื่อสาร 2. มีคนทำงานน้อย 3. คนเดียวต้องทำงานหลายหน้าที่
 
จุดแข็ง คือ 1. มีความพยายาม 2. เกิดการยอมรับ  3. มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
 
โอกาส ประกอบด้วย 1. ได้เรียนรู้ช่องทางในการสื่อสารประเด็นแรงงานให้สังคม และภายในขบวนการแรงงานได้รับรู้ 2. มีพื้นที่ในการทำงานด้านการสื่อ ผ่านช่องทางสื่อสาธารณะ และเว็บไซต์ วอยซ์เลเบอร์ จดหมายข่าวในพื้นที่  3. มีแนวคิด เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่หลากหลาย กับทั้งสื่ออาชีพ และนักสื่อสารกลุ่มพื้นที่ต่างๆ
 
อุปสรรค์ ประกอบด้วย 1. กลัวถูกฟ้องร้อง 2. ปัญหาเรื่องงบประมาณ/อุปกรณ์การเรียนรู้ ครอบครัวและองค์กรต้นสังกัดไม่ค่อยให้การสนับสนุน
 
กลุ่มที่ 3 สรุปได้ดังนี้ 
 
จุดอ่อน คือ 1. คน…นักสื่อสารมีน้อย ขาดทักษะ ขาดการเรียนอย่างต่อเนื่อง 2.  การบริหารจัดการ…ไม่เข้าใจบทบาทหน้าที่ และเข้าไม่ถึงกลุ่มเป้าหมาย 3. ขาดงบประมาณ…อุปกรณ์ไม่เพียงพอ ขาดทุ่นสนับสนุน 
 
จุดแข็ง คือ 1. แรงงานทุกพื้นที่ให้การสนับสนุน 2. มีช่องทางในการนำเสนอสื่อ 3. มีข้อมูลจริงในการนำเสนอ เพราะอยู่กับแหล่งข่าวและข้อมูลในพื้นที่แรงงานอยู่แล้ว
 
โอกาส ประกอบด้วย 1. มีหน่วยงานภายนอกสนับสนุนจากสื่อกระแสหลัก แผนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน 2. มีช่องทางในการนำเสนอปัญหาแรงงาน 3. มีสื่อกระแสหลักให้ความสนใจทั้งหนังสือพิมพ์ ทีวี เว็บไซต์
 
อุปสรรค์ ประกอบด้วย  1. เกิดการคุกคามผ่านสื่อ  2. มีการครอบงำสื่อ 3. มีนโยบายรัฐที่ไม่ส่งเสริมเสรีภาพด้านสื่อ มีกฎหมายควบคุมทำให้เกิดการฟ้องร้อง
 
ข้อเสนอแนะ คือ 1. อยากให้สื่อกระแสหลักสนับสนุนสื่อสารด้านแรงงาน 2. อยากให้มีการพัฒนาการสื่อสารอย่างต่อเนื่อง 3. อยากให้มีการนำเสนอข่าวที่หลากหลายมุมมากขึ้น 
 
ในส่วนของทีมสื่อกระแสหลักที่ได้สรุป ทั้ง 3 กลุ่มมีจุดอ่อนคล้ายกัน คือ เรื่องกลัวไม่กล้า แต่จุดแข็งคือ มีช่องทางสื่อสารหลายช่องทาง ซึ่งหมายความว่า กลัวเพราะไม่ลงมือทำ บางกลุ่มจุดอ่อน คือนักสื่อสารมีน้อย ต้องการเพิ่มทักษะ ขาดงบประมาณ องค์กรไม่สนับสนุน แต่จุดแข็งคือ ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภายนอก มีสื่อคอยสนับสนุน อยากมีบัตรประจำตัวนักสื่อสาร อันนี้เห็นว่า หากมีอาจไม่เป็นประโยชน์ก็ได้ อาจเข้าถึงแหล่งข่าวได้ยากขึ้น อยากให้นักสื่อสารแรงงานใช้ความเป็นเพื่อน เป็นพี่น้องสัมภาษณ์ และเขียนข่าว อาจได้ข้อมูลลึกกว่านักข่าวที่ไม่คุ้นเคยกัน การทำงานอาจต้องมีการสื่อสารกับทางทีมบรรณาธิการกลางมากขึ้น 
 

ในส่วนของเรื่องความเสี่ยงจากการเขียนข่าว ถ้ากลัวก็ทำงานไม่ได้ เสนอว่าให้ลงมือเขียนส่งมาให้คุณวาสนา ลำดี เป็นผู้ตรวจดูความถูกต้อง ความเสี่ยง หากเห็นว่าเป็นประเด็นที่เสี่ยง คงมีการปรับ หรือส่งต่อให้ผู้เชี่ยวชาญได้ช่วยดู ซึ่งคิดว่าไม่จำเป็นต้องมีทนายมานั่งช่วยดูเว็บไซต์ ช่วยกันทำงานแบบระวัง ซึ่งตอนนี้เอง ก็มีการระวังอยู่แล้ว ข่าวที่เขียนเป็นข้อเท็จจริง ตรวจสอบได้ ไม่ได้มีการบิดเบือน อันนี้ไม่มีปัญหา เรื่องการถูกฟ้อง สื่อกระแสหลักเองก็โดนฟ้องเหมือนกัน ฉะนั้นตัดเรื่องความกลัวออกไป แล้วช่วยกันสร้างงาน ทำข่าวแรงงาน นำเสนอประเด็นปัญหาแรงงาน ทั้งเรื่องดีๆการทำงานร่วมกันในองค์กร ทั้งนายจ้าง ลูกจ้าง ภาพแรงงานไม่ได้มีแต่ความขัดแย้งอย่างเดียว เรื่องครอบงำสื่อ แทรกแซงสื่อ อันนี้น่าจะเป็นสื่อกระแสหลัก เพราะวอยซ์เลเบอร์คงไม่มีการแทรกแซง ครอบงำสื่อ เพราะข่าวทุกข่าวเขียนอย่างอิสระอยู่แล้ว กำหนดโดยกองบรรณาธิการที่มีการประชุมทุกเดือน การทำงานของนักสื่อสารแรงงานที่มีการประชุม และพัฒนาทักษะกันจนเป็นที่ยอมรับต่อสื่อมวลชน และขบวนการแรงงานขอให้ช่วยกันพัฒนาไปอีกให้อยู่ได้ตลอดไป
 
นายนิติรัตน์   ทรัพย์สมบูรณ์   แผนงานพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน กล่าวว่า การมีนักสื่อสารถือเป็นนวัตกรรมใหม่ ที่แรงงานลุกขึ้นมาทำข่าวนำเสนอเรื่องราวของตนเองในรอบกี่ทศวรรษ ถือเป็นความสำเร็จของขบวนการแรงงาน เป้าหมายของการทำงานของนักสื่อสารต่อไปต้องสร้างความเปลี่ยนแปลง ให้เกิดความเข้มแข็งของขบวนการแรงงาน รวมทั้งเป็นผู้เสริมสร้างให้ข้อมูล สร้างกระบวนการเรียนรู้ ให้กับขบวนการแรงงาน นี้เป็นความหวังของขบวนการแรงงาน