สั่งหยุดมาตรา 75 ไม่จ่ายค่าชดเชยใช้วิธีเลี่ยง

1421746721593

ลูกจ้างโรงงานย้อมผ้าร้องทุกข์ นายจ้างไม่เลิกจ้าง เลี่ยงจ่ายค่าชดเชยแรงงานไทย อ้างส่งหางานใหม่คนละนิติบุคคล จ่ายชดเชยร้อยละ55 ส่วนของแรงงานข้ามชาติ 34 คน

วันที่ 14 มกราคม 2558 กลุ่มสหภาพแรงงานอ้อมน้อย – อ้อมใหญ่ รับเรื่องร้องทุกข์ลูกจ้างในเขตพื้นที่ ซึ่งบริษัทแห่งนี้ที่ตั้งอยู่เขต ต.บางปลา อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ประกอบกิจการย้อมผ้า มีลูกจ้างราว 200 คน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานข้ามชาติ สาเหตุที่ลูกจ้างมาขอคำปรึกษา คือ นายจ้างสั่งหยุดมาตรา 75 ในแผนกย้อมผ้าโดยให้หยุดเป็นช่วงแต่หยุดติดต่อกันโดยเริ่มสั่งหยุดตั้งแต่ 24 พฤศจิกายน 2557 เรื่อยมา จนถึงวันที่ 16 มกราคม 2558 และจ่ายค่าจ้างให้กับลูกจ้างร้อยละ 50 และวันที่ 9 มกราคม 2558 นายจ้างมีประกาศคำสั่งให้ไปทำงานที่แห่งใหม่ภายในวันที่ 12 มกราคม 2558 โดยแบ่งลูกจ้างให้ไปทำงาน 2 บริษัทคนละนิติบุคคลกัน โดยให้ลูกจ้างทุกคนไปเขียนใบสมัครใหม่ และไม่พูดถึงการจ่ายเงินค่าชดเชยตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ลูกจ้างจึงไม่ยินยอมไปทำงานที่แห่งใหม่

วันที่ 12 มกราคม 2558 ลูกจ้างแผนกย้อมผ้าจำนวน 41 คน เป็นแรงงานไทย 7 คน แรงงานข้ามชาติ (เมียนมาร์ ) 34 คน ได้ร้องเรียนกับเจ้าหน้าที่สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรสาคร เพื่อให้นายจ้างจ่ายเงินค่าจ้างค้างจ่ายตั้งแต่มีการสั่งหยุดมาตรา 75 และหากบริษัทไม่ประสงค์จะให้ทำงานต่อลูกจ้างขอค่าชดเชยตามอายุงาน
หลังจากที่ลูกจ้างไปร้องเรียนเจ้าหน้าที่สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรสาคร นายจ้างได้มีคำสั่งให้ลูกจ้างกลับเข้าไปทำงานในวันที่ 15 มกราคม 2558 ลูกจ้างจึงมาขอคำปรึกษาต่อฝ่ายรับเรื่องราวร้องทุกข์ของกลุ่มสหภาพแรงงานอ้อมน้อย-อ้อมใหญาว่าต้องเข้าไปทำงานตามคำสั่งหรือไม่

ด้านนางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่าคนงานควรกลับเข้าไปทำงานตามคำสั่งของนายจ้าง โดยให้ลงบันทึกเวลาเข้าออก พร้อมทั้งตนจะได้ประสานไปยังเจ้าหน้าที่สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรสาครเพื่อให้เข้ามาแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับลูกจ้างโดยเร่งด่วน
ลูกจ้างให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า บริษัทได้จ่ายเงินค่าชดเชยให้กับลูกจ้างที่เป็นแรงงานข้ามชาติจำนวน 34 คน โดยมีการตกลงยินยอมรับเงินค่าชดเชยเพียงร้อยละ 55 ของเงินค่าชดเชยตามกฎหมายที่ลูกจ้างควรได้รับ และมีคำสั่งให้ลูกจ้างคนไทย 7 คน ให้ไปทำงานในตำแหน่งงานหน้าเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ซึ่งลูกจ้างไม่เคยปฏิบัติมาก่อน เดิมลูกจ้างทำงานในฝ่ายผลิตเท่านั้น

ทั้งนี้ในส่วนของฝ่ายรับเรื่องราวร้องทุกข์กลุ่มฯ ได้ตั่งข้อสังเกตุต่อประเด็นลูกจ้างกลุ่มนี้ว่า เป็นกลุ่มที่ไปร้องเรียนเจ้าหน้าที่สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรสาคร การปรับเปลี่ยนหน้าที่การทำงานจากงานฝ่ายผลิตเป็นงานที่ต้องใช้ทักษะด้านคอมพิวเตอร์ซึ่งเป็นทกัษะที่ต้องเรียนและพัฒนาก่อนปฏิบัติงานซึ่งอาจสุ่มเสี่ยงต่อการกระทำผิด หรือลูกจ้างอาจทำไม่ได้ เป็นการกลั่นแกล้งให้ทนต่อการทำงานไม่ได้ และต้องลาออกจากงานไปเองหรือไม่

นักสื่อสารศูนย์แรงงานอ้อมน้อย – อ้อมใหญ่ รายงาน