ชี้พรรคแรงงานไม่จำเป็น ต้องรวมตัวสร้างอำนาจต่อรองการเมือง มองปัญหาสังคมกว้าง

DSCN9413

รายงาน กลุ่มศึกษามุมมองใหม่ ครั้งที่ 3
เรื่อง แรงงานกับการเมือง กรณีศึกษาเรื่องสหภาพแรงงานกับพรรคการเมืองในเยอรมนี
12 ตุลาคม 2557 ณ ห้องประชุมศุภชัย ศรีสติ พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย มักกะสัน กรุงเทพฯ
จัดโดย มูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย ร่วมกับ มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท

ความเป็นมา
ในการปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย เป็นที่ยอมรับโดยทั่วกันว่า ผู้ใช้แรงงานและสหภาพแรงงานเป็นกลุ่มผลประโยชน์ที่สำคัญกลุ่มหนึ่ง และต้องมีส่วนร่วมทางการเมือง เพื่อร่วมต่อรองผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมืองของตน

ประเด็นที่เป็นคำถามสำคัญเกี่ยวกับการมีส่วนร่วม นั่นคือ ควรมีส่วนร่วมอย่างไร จึงจะทำให้สามารถต่อรองผลประโยชน์ได้อย่างแท้จริงและอย่างยั่งยืนเช่น องค์กรแรงงานควรยึดถืออุดมการณ์ทางการเมืองแบบไหน รวมทั้งควรจัดวางความสัมพันธ์กับพรรคการเมืองต่างๆ อย่างไร มีความใกล้ชิดแค่ไหน จึงจะประสบความสำเร็จในการต่อรองผลประโยชน์

บทเรียนจากต่างประเทศ น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับการเรียนรู้และนำมาประยุกต์ใช้ แม้ว่าบริบทของแต่ละประเทศจะแตกต่างกัน แต่บางประเด็นถือว่าเป็นข้อสรุปที่ตกผลึกเป็นหลักการแล้วในระดับหนึ่ง ขณะที่บางประเด็นอาจยังแปรผันอยู่บ้างตามสภาพสังคม

ขบวนการแรงงานเยอรมัน มีบทบาทสำคัญทางการเมืองมานับตั้งแต่ก่อตั้ง เมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว โดยยึดถืออุดมการณ์ที่เรียกว่า“สังคมประชาธิปไตย” (social democracy) รวมทั้งมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับพรรคสังคมประชาธิปไตย(SPD) แต่เมื่อผ่านประสบการณ์อันยาวนานมาถึงปัจจุบัน ขบวนการแรงงานได้ปรับความสัมพันธ์กับพรรคการเมืองให้มีระยะห่างมากขึ้น

ผู้เข้าร่วม        ผู้นำจากสหภาพแรงงานต่างๆจำนวน 35 คน

หัวข้อศึกษา   สหภาพแรงงานกับพรรคการเมืองในเยอรมนี

ผู้บรรยาย      นายมาร์ค ซักเส่อร์ ผู้อำนวยการมูลนิธิฟรีดริคเอแบร์ท

DSCN9384 DSCN9394

นายทวีป กาญจนวงศ์ ประธานมูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย กล่าวถึงการจัดกลุ่มศึกษาในหัวข้อ “ แรงงานกับการเมือง กรณีศึกษาเรื่องสหภาพแรงงานกับพรรคการเมืองในเยอรมนี” ว่าสหภาพแรงงานในเยอรมณีมีบทบาทที่เข้มแข็งในการต่อสู้ทางการเมือง การศึกษาแลกเปลี่ยนจะทำให้รู้ว่าผู้ใช้แรงานรวมทั้งคนในสังคมเยอรมัน มีสวัสดิการ มีความเป็นอยู่ที่ดีจาการมีส่วนร่วมทางการเมืองได้อย่างไร เป็นการสานต่อเจตนารมณ์ตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย ในด้านการส่งเสริมการเรียนรู้ของสหภาพแรงงาน เพื่อประโยชน์ต่อภารกิจการสร้างสภาพความเป็นอยู่ที่ดีให้กับแรงงานไทย

นายมาร์ค ซักเส่อร์ ผู้อำนวยการมูลนิธิฟรีดริคเอแบร์ท กล่าวถึงการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ว่า ไม่ใช่เรื่องแค่ชื่อหรือองค์กร แต่ต้องเรียนรู้เนื้อหาความหมายว่าจะเอาอะไรมาใช้ประโยชน์ได้บ้าง ซึ่งประวัติศาสตร์ก็เป็นเรื่องที่มีความเป็นมายาวนาน และมีการถกเถียงโต้แย้งกันได้มากมาย
สำหรับประวัติศาสตร์ด้านการเปลี่ยนแปลงทางสังคมก็มี 2 แนวคิดคือการปฏิวัติ และการปฏิรูป แนวคิดปฏิวัติมองว่าทุนนิยมมีปัญหามากต้องแก้ด้วยการปฏิวัติถอนรากถอนโคน

ส่วนแนวคิดปฏิรูป ใช้การแก้ปัญหาทีละขั้นตอน ค่อยเป็นค่อยไป เริ่มจากภายใน ซึ่งในส่วนของพรรคการเมืองในเยอรมันก็มีทั้งสายปฏิวัติ คือพรรคคอมมิวนิสต์พรรคสังคมนิยม และการปฏิรูป คือพรรคสังคมประชาธิปไตย (SPD) ซึ่งในส่วนของสหภาพแรงงานเองก็มีทั้ง 2 แนวคิด และมีการโต้แย้งกันมานานกว่า 50 ปีแล้วว่า การเปลี่ยนแปลงแก้ปัญหาอย่างถอนรากถอนโคน หรือแบบค่อยเป็นค่อยไปทีละขั้นตอน แบบใดจะเป็นไปได้มากกว่ากัน และมีคำถามว่าในการเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นตัวแทนของใคร ของผู้ใช้แรงงานหรือของประชาชนทั้งหมด

สำหรับกลุ่มที่เชื่อในสังคมนิยม (คอมมิวนิสต์) มีอยู่ประมาณ 10% ผลลัพธ์ก็คือพรรคคอมมิวนิสต์ไม่ชนะการเลือกตั้ง หลายประเทศแนวสังคมนิยม จึงต้องชนะ ได้อำนาจด้วยการใช้กำลัง และปกครองโดยใช้อำนาจเด็ดขาด และแบ่งแยกคนซึ่งก็เป็นปัญหาย้อนแย้งในตัวเอง เพราะขณะที่ประกาศว่าต้องการปลดปล่อย แต่กลับใช้กำลังอำนาจบังคับ

ส่วนยุทธศาสตร์ของสายปฏิรูป (สังคมประชาธิปไตย) ซึ่งมีอยู่ประมาณ 40% คือต้องชนะใจคนส่วนใหญ่เพื่อชนะการเลือกตั้ง โดยใช้การประนีประนอม สร้างแนวร่วมแม้กับกลุ่มที่มีแนวคิดต่างกัน ซึ่งก็รวมทั้งมีประเด็นที่ต่างกันด้วย โดยฝ่ายสหภาพแรงงานมักมีประเด็นเรื่องค่าจ้าง สิทธิสวัสดิการแรงงาน ส่วนพรรคการเมืองก็จะมองปัญหาที่กว้างกว่าทั้งเรื่องเศรษฐกิจ สุขภาพ การศึกษา นโยบายต่างประเทศ ฯลฯ สำหรับพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ในช่วง 150 ปีที่ผ่านมา เป็นยุคเริ่มต้นทางการพัฒนาอุตสาหกรรมในอังกฤษแล้วขยายไปสู่ยุโรปเปลี่ยนจากเศรษฐกิจแบบเกษตรไปเป็นแบบอุตสาหกรรม คนเคลื่อนย้ายไปทำงานในโรงงานซึ่งมีสภาพเลวร้ายมาก นายจ้างมีอำนาจมาก ขณะที่ลูกจ้างใช้อำนาจต่อรอง ปี ค.ศ. 1848 เป็นจุดเริ่มต้นของสังคมนิยมในยุโรป เมื่อคาร์ล มาร์กซ และเฟรเดอริค แองเกลส์ เขียนหนังสือ “ แถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์” ที่ชี้ว่าเรื่องการต่อสู้ทางชนชั้นเป็นเรื่องหลักที่สำคัญและต้องก้าวข้ามทุนนิยมด้วยการปฏิวัติเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม
DSCN9419 DSCN9436
ช่วงเวลาเดียวกัน ในเยอรมันเริ่มมีการรวมกลุ่มทางการเมือง มีพรรคคนงานสังคมนิยม ซึ่งเป็นรากฐานของพรรคสังคมประชาธิปไตย เกิดขึ้น และมีการจัดตั้งสหภาพแรงงานแห่งแรก โดยนักเสรีนิยมที่มีแนวคิดเชิงอุปถัมภ์ที่ต้องการปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ของคนงาน แต่ไม่ได้คิดไปถึงการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงสังคม โดยข้อเรียกร้องของขบวนการแรงงานเยอรมันในช่วงนั้น เช่น การเลือกตั้งอย่างเสรี เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เรื่องค่าจ้างขั้นต่ำ การคุ้มครองทางสังคมกรณีเจ็บป่วย พิการและว่างงาน กำหนดเวลาทำงานวันละ 8 ชม. 5 วัน ต่อสัปดาห์ ส่งเสริมการรู้หนังสือ เป็นต้น ซึ่งค่อยๆประสบความสำเร็จเป็นลำดับ

อุปสรรคในการต่อสู้ทางการเมืองคือ ชนชั้นสูงในระบอบการปกครองแบบรัฐธรรมนูญที่มีกษัตริย์เป็นประมุข ซึ่งมีอำนาจมากจะกีดกันคนส่วนใหญ่ที่เป็นผู้ใช้แรงงานออกไปจากการมีส่วนร่วมทางการเมือง มีช่วงหนึ่งที่พรรคแนวสังคมประชาธิปไตยถูกปิดกั้น มีกฎหมายต่อต้านสังคมนิยม นักสังคมประชาธิปไตย จำนวนมากถูกประหารชีวิต แต่การคุกคามปิดกั้นก็ทำให้ช่วงปี 1869 – 1919 สหภาพแรงานเสรีมีสมาชิกเพิ่มและเข้มแข็งมากขึ้น เข้าร่วมการต่อสู้จนรัฐบาลขณะนั้นจำต้องเลิกนโยบายกีดกันทางการเมือง สถานการณ์ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ได้สร้างความขัดแย้งและท้าทายต่อคำขวัญ “คนงานจงรวมกันเข้า” (Worker Unite) ที่เป็นสากลและข้ามพรมแดน แต่สงครามก็ทำให้เกิดปัญหาเรื่องความเป็นชาติ ซึ่งความขัดแย้งคือจะทำสงครามกับคนชาติอื่นหรือไม่ และสงครามก็ทำให้เกิดการสูญเสียทรัพยากรทางเศรษฐกิจ และสังคมรวมถึงชีวิตของผู้คนจำนวนมาก แต่ผลกระทบก็ทำให้ระบบการปกครองแบบกษัตริย์เป็นประมุขล้มไป และเกิดกระแสปฏิวัติไปทั่วยุโรป ทว่าก็เกิดประเด็นโต้เถียงว่า จะสร้างระบบการเมืองใหม่ขึ้นมาอย่างไร โดยต่อมาในรัสเซียเกิดการปฏิวัติ ของฝ่ายเสรีนิยมล้มระบอบกษัตริย์และเกิดปฏิวัติสังคมนิยมในปี 1917 และเป็นความคาดหวังของประเทศต่างๆว่าจะทำให้เกิดการปฏิวัติสังคมนิยมขึ้นในประเทศตนบ้าง

ส่วนในเยอรมันที่แพ้สงคราม เกิดความอดอยากคนล้มตาย ทหารจากสงครามเข้ายึดสถานที่ต่างๆ เกิดความวุ่นวายมาก ช่วงนั้นมีนายเฟดริค เอแบร์ท ขึ้นเป็นผู้นำเยอรมนี และใช้แนวทางปฏิรูปเพื่อชนะใจคนส่วนใหญ่ ให้สนับสนุนการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เพื่อหลีกเลี่ยงสงครามกลางเมือง
ในยุคสงครามเย็น ยุโรปตะวันออก (นำโดยรัสเซีย) เชื่อในแนวทางสังคมนิยม ส่วนยุโรปตะวันตก เชื่อในแนวทางปฏิรูป และนับเป็นโอกาสทองที่ฝ่ายทุนเกรงว่าหากไม่ตอบสนองต่อชนชั้นแรงงาน อาจเกิดการปฏิวัติสังคมนิยมแบบยุโรปตะวันออกได้ จึงหันมาสร้างรัฐสวัสดิการ สร้างสิทธิแรงงาน จากเหตุที่กลุ่มที่เกิดปฏิวัติสังคมนิยม ต้องรักษาอำนาจโดยใช้รัฐตำรวจ ทหารเพื่อกดทับอำนาจของประชาชน จึงทำให้ช่วงปี 1940–1973 ถือเป็นยุคทองของแนวสังคมประชาธิปไตยทั้งในยุโรปและอเมริกา ซึ่งทำให้คนจนมีโอกาสทางสังคมสูง ลูกๆของคนงานได้รับการศึกษา มีโอกาสยกระดับฐานความเป็นอยู่ให้ดีขึ้นได้

แต่เมื่อหมดยุคสงครามเย็น (สหภาพโซเวียตล่มสลาย) ฝ่ายทุนตะวันตกก็เลิกหวาดหวั่นภัยคุกคามจากคอมมิวนิสต์ จึงยุตินโยบายให้สวัสดิการทางสังคม เป็นยุคทองของเสรีนิยมใหม่ที่ มากาเร็ต โชเช่อร์ ของอังกฤษเป็นหัวหอก มีนโยบายลดสวัสดิการ เน้นการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ สหภาพแรงงานก็อยู่ในภาวะถดถอย การต่อสู้ได้รับการสนับสนุนน้อยลง การโต้กลับของทุนนิยมทำให้เกิดความไม่เท่าเทียม เกิดช่องว่างทางสังคมมากขึ้น โอกาสเลื่อนฐานะของคนจนน้อยลง ผลจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียตทำแนวคิดปฏิวัติสูญไป สหภาพแรงงานอ่อนแอลง รัฐทุนเข้ามาคุกคามมากขึ้น แม้แต่สายปฏิรูปแบบพรรคสังคมประชาธิปไตย (SPD) ก็อ่อนแอ จึงเลือกเดินทางสายกลางมากขึ้น ซึ่งทำให้ฝ่ายสหภาพแรงงานไม่พอใจ เพราะมีการลดสวัสดิการของแรงงาน และนั่นก็ทำให้ทั้งพรรค SPD และสหภาพแรงงานสูญเสีย คือ สหภาพแรงงานไม่มีพรรคการเมืองเป็นพันธมิตร ขณะที่พรรค SPD ก็สูญเสียคะแนนเสียงทำให้แพ้การเลือกตั้ง ประเทศเยอรมนีในช่วง 5 ปี ที่ผ่านมาจึงเห็นการปรับตัวของพรรคสังคมประชาธิปไตย (SPD) ที่ต้องถอยกลับมาทางแนวซ้าย ให้ความสนใจกับความต้องการของแรงงานมากขึ้น ขณะที่สหภาพแรงงานก็ปรับนโยบายการต่อสู้ให้กว้างขึ้น คือไม่เพียงอยู่กับประเด็นแรงงาน แต่มองเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องทางสังคม เช่น สุขภาพ การศึกษามากขึ้น ซึ่งก็มีแนวโน้มที่ดี คือจำนวนสมาชิกของสหภาพแรงงานเพิ่มขึ้น

DSCN9473 DSCN9466
ในช่วงของการแสดงความคิดเห็นมีประเด็นที่หลากหลายแลกเปลี่ยนคือ
– ชนชั้นแรงงานในแบบดั้งเดิมเปลี่ยนไปแล้ว คนงานในโรงงานลดลง ส่วนใหญ่ทำงานนอกโรงงาน และจ้างงานระยะสั้น
– ในเยอรมัน พรรคการเมืองมีรายได้จาก 1.) เงินสนับสนุนจากรัฐตามสัดส่วนคะแนนเสียงที่ได้รับ 2.) จากสมาชิกพรรค 3.) จากการบริจาคซึ่งมีน้อยมาก
– การเคลื่อนย้ายของทุนตะวันตกส่งผลให้ขบวนการแรงงานในประเทศตะวันตกอ่อนแอลงด้วย
– เยอรมันกับไทยมีความแตกต่างกันมาก
1. เยอรมันมีประชาธิปไตยที่ดี แต่ไทยไม่มี
2. เยอรมันมีระบบนิติรัฐที่เข้มแข็ง แต่ไทยไม่มี
3. เยอรมันมีความมั่งคั่งสูง แต่ไทยไม่มี
4. การพัฒนาอุตสาหกรรมอยู่ในจุดสูงสุด แต่ไทยเพิ่งเริ่มต้น
– ขบวนการแรงงานไทยยุคก่อนก็ต่อสู้ในประเด็นทางสังคมด้วย เช่น เรื่องข้าวสาร น้ำมัน และสินค้าราคาแพง แต่ปัจจุบันเห็นแต่สู้เรื่องของตัวเอง
– นับแต่เกิดแผนพัฒนาอุตสาหกรรม คนงานไทยยังต้องต่อสู้เรื่องสิทธิพื้นฐานในการรวมตัว ทำให้รวมตัวกันยาก ต่อสู้ลำบาก คงตั้งพรรคการเมืองไม่ได้
– ต้องมีพรรคแรงงานในไทยหรือไม่ ?
• ขบวนการแรงงานอาจไม่จำเป็นต้องมีพรรคการเมืองเอง เพราะสหภาพแรงงานมีสมาชิกเพียง 1-2 % ของประชากร
• อาจมีพันธมิตรพรรคการเมือง (แบบพรรค SPD ในเยอรมัน) จะมีแนวร่วมกว้างขวางในสังคม มีโอกาสได้คะแนนเสียงเลือกตั้งสูง และมีโอกาสเป็นรัฐบาลเพื่อผลักดันนโยบายแรงงาน แต่ต้องมีเอกภาพที่ฝ่ายการเมืองเห็นพลัง
• มีพรรคแรงงานเอง อาจกำหนดนโยบายแรงงานได้ทั้งหมด แต่จะไม่ได้อำนาจรัฐเพื่อผลักดันนโยบายให้เป็นจริง
– ขบวนการแรงงานไทยจะมีอำนาจต่อรองทางการเมืองได้ ก็ต้องทบทวนตัวเอง ประเมินสถานการณ์ ปรับเปลี่ยนแนวทาง ให้บทบาทงานวิชาการและการสื่อสารมากขึ้น เพื่อสื่อสารประเด็นแรงงานอย่างเป็นเหตุเป็นผลต่อสังคม

มาร์คสรุปว่า ผลสำเร็จทางการเมือง เป็นผลมาจากการต่อสู้ ถ้าจะให้ได้รับความสำเร็จต้องให้ความสำคัญกับการวางยุทธศาสตร์เพื่อหาวิธีการที่จะทำให้ได้มาซึ่งกฎหมายและนโยบายที่ดีต่อแรงงาน การเรียนรู้จากเยอรมันจะช่วยในการกำหนดยุทธศาสตร์ได้ดีเพราะเคยผ่านประสบการณ์มาก่อน และเพื่อให้บรรลุเป้าหมายทางการเมือง ต้องมีความร่วมมือแบ่งงานกันทำระหว่างสหภาพแรงงานกับพรรคการเมือง ขบวนการแรงงานต้องปรับมุมมองทางสังคมให้กว้างขึ้น ให้ไกลไปกว่าแค่เรื่องผลประโยชน์ของตัวเอง และต้องสร้างเอกภาพในขบวนการแรงงาน