ยื่นค้านแรงงานข้ามชาติสมทบ 180 เดือน -อายุ 55 ปีรับสิทธิชราภาพ เสนอหากประสงค์อยู่ในไทยรับสิทธิ

คณะทำงานพัฒนากลไก ยื่นค้านผลการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกันสังคมฯมาตรา 36 กรณีให้ผู้ประกันตนส่งเงินสมทบ 180 เดือน มีอายุ 55 ปีรับสิทธิบำนาญ เสนอให้ประกันตนที่ไม่มีสัญชาติไทย เมื่อความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง และประสงค์ที่จะไม่พำนักในไทย มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จชราภาพได้

Untitled-10

22 ธันวาคม 2557 คณะทำงานพัฒนากลไกและกลยุทธ์การเข้าถึงนโยบายประกันสังคมที่เหมาะสมสำหรับกลุ่มแรงงานข้ามชาติ ได้ยื่นหนังสือต่อ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่..) พ.ศ…. สภานิติบัญญัติแห่งชาติ เรื่อง ขอคัดค้านผลการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่..) พ.ศ…. มาตรา 36

นายบัญฑิต แป้นวิเศษ กรรมการปฏิบัติการแรงงานข้ามชาติ (AMM)กล่าวว่า คณะทำงานพัฒนากลไกและกลยุทธ์การเข้าถึงนโยบายประกันสังคมที่เหมาะสมสำหรับกลุ่มแรงงานข้ามชาติ อันประกอบด้วย หอการค้าจังหวัดสมุทรสาคร กลุ่มสหภาพแรงงานย่านอ้อมน้อยอ้อมใหญ่ องค์กรพัฒนาเอกชนด้านแรงงานและด้านแรงงานข้ามชาติ นักวิชาการด้านแรงงาน และกลุ่มงานประสานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้มีการพัฒนาความร่วมมือในการทำงาน เรื่องการพัฒนากลไกและกลยุทธ์การเข้าถึงนโยบายประกันสังคมที่เหมาะสมสำหรับกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติแล้วและต้องเข้าสู่ประกันสังคม มาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2554 จนถึงปัจจุบัน

จากกระบวนการทำงานมากว่า 3 ปี พบว่าเมื่อแรงงานข้ามชาติเข้าสู่การประกันสังคมแล้ว ในทางปฏิบัติก็ยังพบปัญหามากมายที่เป็นช่องว่างสำคัญ ในการที่จะต้องดำเนินการเพื่อแสวงหาแนวทางในการทำให้แรงงานข้ามชาติสามารถเข้าถึงสิทธิประโยชน์ได้จริง โดยเฉพาะในกรณีของการกำหนดหลักเกณฑ์เงื่อนไขการใช้สิทธิประโยชน์ มีความเคร่งครัด ขาดความยืดหยุ่นเหมาะสม

ดังที่พบในกรณีของการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ทดแทนชราภาพ ที่ได้กำหนดไว้ในมาตรา 77 ทวิ ใน พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ว่า “ในกรณีที่ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยแปดสิบเดือนให้มีสิทธิได้รับเงินบำนาญชราภาพตั้งแต่เดือนถัดจากเดือนที่อายุครบห้าสิบห้าปีบริบูรณ์ ในกรณีที่ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบไม่ครบหนึ่งร้อยแปดสิบเดือนและความเป็นผู้ประกันตนได้สิ้นสุดลงตามมาตรา 38 และ 41 ให้ผู้นั้นได้รับเงินบำเหน็จ” ดังนั้นจะเห็นได้ว่าในกรณีของผู้ประกันตนที่เป็นกลุ่มแรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะจากประเทศพม่า ลาว กัมพูชา ซึ่งมีเงื่อนไขเรื่องระยะเวลาการจ้างงานในประเทศไทยเพียง 4 ปี และจะต้องถูกส่งกลับประเทศต้นทาง จึงขาดโอกาสในการเข้าถึงสิทธิดังกล่าว เนื่องจากต้องรอให้อายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ก่อนจึงจะสามารถรับเงินสะสมดังกล่าวนั้นได้

จากสถานการณ์ดังกล่าวจึงมีการผลักดันจากเครือข่ายคนทำงานด้านแรงงานและแรงงานข้ามชาติมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการแก้ไขถ้อยคำในวรรคดังกล่าวใหม่เป็นดังนี้ “ผู้ประกันตนที่ไม่มีสัญชาติไทยที่ความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง ไม่ว่าจะส่งเงินสมทบครบ 180 เดือนหรือไม่ก็ตาม และไม่ประสงค์จะทำงานในประเทศไทยต่อไป หรือไม่มีสิทธิพำนักในไทยต่อไป ถ้าส่งเงินสมทบมาไม่ครบ 180 เดือนมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ” ดังปรากฏในร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับที่..) พ.ศ… ที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่..) พ.ศ…. สมัยอดีตนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อเดือนมิถุนายน 2556 รวมถึงในงานวิจัยของสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงานโดยตรง ที่ได้มอบหมายมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ให้ศึกษาเรื่องประกันสังคมที่เหมาะสมกับแรงงานข้ามชาติ ซึ่งผลการศึกษาได้เสนอให้สำนักงานประกันสังคมเร่งดำเนินการจัดทำข้อตกลงระหว่างประเทศ สำหรับประเทศที่มีแรงงานข้ามชาติเข้ามาทำงานในประเทศไทย และประเทศที่มีแรงงานไทยไปทำงานยังประเทศต่างๆ เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนทุกสัญชาติ และไม่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

อย่างไรก็ตามจากผลการประชุมของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่..) พ.ศ…. สภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2557 พบว่า “นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ ได้มีการเสนอขอแปรญัตติในมาตรา 36 ทั้งมาตรา โดยระบุว่า การให้บำเหน็จแรงงานข้ามชาติทำให้มีความแตกต่างกับแรงงานไทยที่ไม่สามารถขอรับได้ จะขอรับได้ก็ต่อเมื่ออายุ 55 ปี ซึ่งทำให้เห็นว่าจะทำให้แรงงานข้ามชาติจะได้รับสิทธิที่ดีกว่าแรงงานไทย” กล่าวได้ว่านี้จึงเป็นหลักการที่ขัดแย้งกับเรื่อง “คนทำงานทุกคนบนผืนแผ่นดินไทยที่มีรายได้ ควรจะได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานของการมีหลักประกันสังคมที่เท่าเทียมและเป็นธรรม แต่ทั้งนี้เงื่อนไขในการเกิดสิทธิควรมีความแตกต่างกันตามความเหมาะสมกับเงื่อนไขการจ้างงานและการมีระยะเวลาพำนักในประเทศไทยระหว่างการจ้างงานจนสิ้นสุดการจ้างงาน” เป็นสำคัญ

ทางคณะทำงานฯจึงทำหนังสือเรียนมายังประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราช บัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่..) พ.ศ…. สภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อขอคัดค้านผลการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่..) พ.ศ…. มาตรา 36 และเสนอให้กลับไปใช้ถ้อยคำเดิมที่บรรจุไว้ในร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่..) พ.ศ…. ฉบับที่ผ่านการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2557 ที่ได้ระบุไว้ว่า “ผู้ประกันตนที่ไม่มีสัญชาติไทย เมื่อความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลง ไม่ว่าจะส่งเงินสมทบครบ 180 วัน หรือไม่ก็ตาม และประสงค์ที่จะไม่พำนักในประเทศไทย มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จชราภาพตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในกฎกระทรวง”

นักสื่อสารแรงงาน รายงาน