จับตาร่างประกันสังคมฉบับรัฐบาล คืนความสุขให้แรงงาน จริงหรือ

 

PA090762

บัณฑิต แป้นวิเศษ มูลนิธิเพื่อนหญิง

ในช่วงนี้สถานการณ์การเมือง กับรัฐบาลใหม่ของท่านนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังคงเป็นสถานการณ์ที่ลุ่มร้อนไปด้วยการจัดสรรวางตำแหน่งทั้งใน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)และในสภาปฏิรูปการเมือง(สปช.) กับการเลือกผู้แทนเข้าไปเป็นชุดร่างรัฐธรรมนูญ แต่สิ่งสำคัญของบ้านเมืองอีกส่วนหนึ่งคือการแก้ปัญหาคุณภาพชีวิต การสร้างระบบสวัสดิการทางสังคม ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลต้องไปกลปลดล๊อคกลไกทางกฎหมายที่เป็นอุปสรรคปัญหา และถ้าเราได้ติดตามการทำงานของกระทรวงต่างๆที่มีรัฐมนตรี เข้าไปเป็นคณะรัฐมนตรี(ครม.)เพื่อบริหารจัดการประเทศ ก็ต้องทำหน้าที่นำเอาร่างกฎหมายที่ ทางคสช.ได้ตั้งเป้าไว้ว่าจะต้องมีการแก้ไขภายใต้รัฐบาลใหม่เกือบ 500 เรื่อง หนึ่งในร่างกฎหมายที่รัฐบาลใหม่ถือเป็นร่างฯเร่งด่วน คือร่างพรบ.ประกันสังคม ที่ค้างเติ่งมาจากรัฐบาลการเลือกตั้งใน 2 ชุดรัฐบาลที่ผ่านมา ซึ่งร่างพ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. …มีการนำเสนอกันในหลายฉบับ ไม่ว่าจะเป็นฉบับผู้ใช้แรงงาน เข้าชื่อเสนอสภา หนึ่งหมื่นสองพันกว่ารายชื่อ ฉบับร่างฯของพรรคประชาธิปัตย์ ฉบับรัฐบาล และสำคัญคือร่างกำหมายประกันสังคมฯทุกฉบับได้ถูกนำเข้าไปปรับแต่งในชั้นกรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม ในสมัยพรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล แต่สุดท้ายเหมือนฟ้าแกล้งให้มีอันต้องถูกแช่แข็งจากการมีอุบัติเหตุทางการเมือง เมือมีการเปลี่ยนรัฐบาลใหม่เป็นพรรคเพื่อไทย ก็กลับถูกหลอกให้หลงดีใจในการดึงร่างเข้ามาบรรจุไว้ในลำดับร่างกฎหมายที่จะนำไปสู่การพิจาณากฎหมายของสภาผู้แทน แต่สุดท้ายฝันผู้ใช้แรงงาน ก็สลายสิ้นรัฐบาลเพื่อไทยไม่ยกชงนำเสนอร่างเข้าสภาฯทำให้ตกไป และยังมาเกิดการรัฐประหารครั้งใหม่ จนได้รัฐบาลของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ(คสช.)ขึ้นมาบริหารประเทศอีกครั้ง ภายใต้ คำพูดที่ว่า”เราจะคืนความสุขให้ประชาชน”

PA300371

เมื่อสถานการณ์ออกมาในรูปแบบนี้ จึงนับเป็นอีกความหวังหนึ่งของผู้ใช้แรงงานแรงงานกว่า30 ล้านคน ที่ ณ วันนี้เข้าเป็นสมาชิกประกันสังคม รวมทั้งสิ้น 12.43 ล้านคน (มาตรา 33+-39+40) มีเงินในกองทุนประกันสังคมรวมมากถึง 1.1 ล้านๆบาท แต่เห็นชัดจาการสะท้อนของผู้ใช้แรงงานที่เป็นสมาชิกประกันสังคมทั้งสามมาตรา ฯยังมองว่ามีปัญหาการใช้สิทธิยังไม่ครอบคลุมผู้ประกันตนทั้งหมด รวมถึงมาตรฐานการในการใช้สิทธิประโยชน์กับการบริการในด้านบริหารจัดการยังไม่ได้ทำให้อยู่ในมาตรฐานเดียวกัน แต่หัวใจสำคัญคือปัญหาในเชิงโครงสร้างการบริหารในเชิงการออกและกำกับนโยบายประกันสังคม อาทิ บอร์ดสำนักงานประกันสังคม การจัดการในการนำเงินไปลงทุน การบริหารสำนักงานและการดำเนินโครงการต่างๆในสำนักงานที่ขาดความโปร่งใส และมีส่วนร่วม จากสมาชิกประกันสังคมโดยตรง
การเร่งเสนอร่างประกันสังคม ฉบับรัฐบาลโดยกระทรวงแรงงาน ที่กำลังเข้าสู่การพิจารณา ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)ในวันที่ 31 ตุลาคม 2557 ที่มีสาระสำคัญ ในเรื่องการขยายการคุ้มครองลูกจ้างทำงานบ้านอันมิได้ประกอบธุรกิจรวมอยู่ด้วย และลูกจ้างชั่วคราวทุกประเภทของส่วนราชการ การให้ปรับคำนิยาม คำว่าว่างงาน คำนิยามคำว่าภัยพิบัติ การเพิ่มสัดส่วนในคณะกรรมการประกันสังคมเป็นฝ่ายละ 6 คนที่มาจากนายจ้าง ลูกจ้าง และฝ่ายผู้ประกันตนที่มาจาการเลือกตั้งตามระเบียบที่รัฐมนตรีประกาศ กำหนด การกำหนดคุณสมบัติที่ปรึกษาให้ดูโปร่งใส ไม่มีประโยชน์ทับซ้อนกับประกันสังคม การแสดงบัญชีทรัพย์สินของคณะกรรมการประกันสังคม สำนักงานต้องทำรายงานการประเมินสถานะของกองทุนในการรับ – จ่าย รัฐบาลจ่ายเงินสมทบไม่เกินกึ่งหนึ่งของผู้ประกันตนมาตรา 40 ประโยชน์ทดแทนกรณีอันตราย หรือเจ็บป่วย รวมถึงการส่งเสริมสุขภาพและป้องกัน และสุดท้ายการการให้ผู้ประกันตนที่ไม่มีสัญชาติไทย เมื่อความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุดลงฯ และมีความประสงค์ไม่พักพำนักในเมืองไทยต่อไปมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จชราภาพตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในกระทรวง ถ้ามองโดยมิได้เจาะลึกถึงหัวใจของการแก้ไขปัญหาประกันสังคมอย่างถูกจุด จะดูเสมือนว่าร่างกฎหมายประกันสังคมฉบับรัฐบาลปรับแล้วนั้น ครอบคลุมทั่วถึง แก้ไขปัญหาความไม่โปร่งใส แต่ในมุมมองของผู้ใช้แรงงานส่วนใหญ่ที่เข้าไปใช้ระบบประกันสังคม และองค์กรสหภาพแรงงาน หรือกลุ่มนักวิชาการด้านแรงงาน กลับพบว่าการนำเสนอร่าง พรบ.ฯฉบับรัฐบาลนี้ ไม่ได้เป็นการแก้ไขปัญหาอย่างตรงจุดความต้องการของแรงงานอย่างแท้จริงโดยเฉพาะปัญหาเชิงโครงสร้างการบริหารและการตัดสินใจในการกำหนดนโยบายจนทำให้ประกันสังคมกลายเป็นเมืองลับแล

1สิทธิ1เสียง

ส่งผลให้องค์กรแรงงาน นักวิชาการแรงงาน ต้องรวมตัวกันเป็นเครือข่ายประกันสังคมของคนทำงาน 14 องค์ ได้ร่วมกันยกร่างประกันสังคมของคนทำงาน โดยมีหลักการ 4 เรื่องใหญ่ กล่าวคือ หนึ่ง หลักการครอบคลุม ทั้งกลุ่มเป้าหมายคนทำงานและพื้นที่ รวมถึงครอบคลุมสิทธิประโยชน์ต่างๆที่สมาชิกพึงจะได้รับอย่างเท่าเทียม สอง หลักความเป็นอิสระและบูรณาการของระบบบริหารในเชิงโครงสร้าง อาทิ คณะกรรมการประกันสังคม สาม หลักการความโปร่งใสและมีส่วนร่วมของผู้ประกันตน เช่นเรื่องสมาชิกกับการมีส่วนร่วมเลือกตั้งคณะกรรมการบอร์ดประกันสังคม และสี่ หลักการยืดหยุ่นเป็นธรรม สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจสังคม นี่คือหลักการที่ผู้ใช้แรงงาน เขาต้องการให้บูรณาการประเด็นเหล่านี้เข้าไปในร่าง พรบ.ประกันสังคมฉบับที่รัฐบาลเสนอต่อสนช.ในวันที่ 31 ตุลาคม 2557 และผมอยากทวนคำกล่าวของคุณสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)ที่ได้กล่าวในที่รัฐสภาในการออกมารับหนังสือของเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน 14 องค์กร เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2557 กล่าวว่า “การประกันสังคมนั้นแนวคิดแท้จริงถือว่าเป็นรัฐสวัสดิการ แต่ให้ผู้ประกันตนมีส่วนร่วมจ่ายเงินสมทบ เพื่อรับสวัสดิการ ซึ่งคนคิดว่ายังจัดสวัสดิการน้อยมาก ควรต้องมีการเพิ่มสวัสดิการได้อีก และคิดว่าต้องมองการมีส่วนร่วมของผุ้ประกันตนให้มากกว่านี้ เรื่องการบริหารจัดการควรให้เจ้าของเงิน หรือผ็ประกันตนเข้ามาดูแล ตรวจสอบเพื่อสร้างความโปร่งใส กรณีข้อกังวลใจเรื่องร่าง พรบ.ประกันสังคม ฉบับ กระทรวงแรงงาน จะเสนอต่อที่ประชุม สนช.ให้ชะลอเพื่อรอร่างประกันสังคม ฉบับคนทำงานถ้วนหน้า และถ้าเครือข่ายฯส่งร่างมาก็จะเรียกมานำเสนอพร้อมๆกับทางกระทรวงแรงงาน เพื่อเปรียบเทียบข้อแตกต่างของทั้ง 2 ร่าง” ซึ่ง ณ วันนี้ร่างฉบับ กระทรวงแรงงานได้เข้าสู่ สนช.วาระ 1 และมีการตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณาร่าง พรบ.ประกันสังคม พ.ศ. …ฉบับรัฐบาลโดยกระทรวงแรงงานเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และจะมีการประชุมคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างฯครั้งที่ 1 ในวันที่ 7 พ.ย. 2557 นี้แล้วด้วย

ดังนั้นประชาชนคนทำงานทั้งประเทศ 36 ล้านคน และเป็นสมาชิกประกันสังคม 12.43 ล้านคน จะต้องจับตาดูและติดตามการพิจารณาร่าง พรบ.ประกันสังคม ฉบับรัฐบาลโดยกระทรวงแรงงานให้ดีว่า สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และภาคประชาชนทั้งปีกลูกจ้าง นายจ้าง องค์กรเอกชน ที่ถูกเสนอแต่งตั้งเข้าไปทั้ง 18 คน จะร่วมกันพิจารณาปรับปรุงหลักการ สาระสำคัญอย่างไรให้ได้มาซึ่งการปฏิรูปประกันสังคม ปฏิรูปประเทศไทย ผมเคยเห็นบทเรียนของการออกกฎหมายหลายฉบับดีๆมีประโยชน์แก้ปัญหาประชาชนได้จริง กับรัฐบาลคืนความสงบประเทศในหลายครั้ง ซึ่งครั้งนี้ผมก็ยังมีความหวังว่า กฎหมายประกันสังคมที่กำลังเข้าการพิจารณา จะนำเอาเนื้อหาหลักการสำคัญเข้าไปปรับร่วมด้วย และหมายถึงการนำหลักการสำคัญของหลักการภาคประชาชน(ฉบับของคนทำงาน)เข้าไปปรับแก้ในรายมาตราที่เกี่ยวข้อง สุดท้ายคงต้องบอกว่า “ท่านทั้งหลายทั้งที่เป็นรัฐบาล สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) คณะกรรมาธิการพิจารณาร่าง พรบ.ประกันสังคมฯ จะให้พี่น้องประชาชน60 กว่าล้านคน เป็นผู้ใช้แรงงาน 36 ล้านคน และเป็นสมาชิกประกันสังคม 12.43 ล้านคน จดจำท่านแบบไหน และจะคืนความสุขให้ประชาชน ลดความเหลื่อมล้ำได้จริงหรือไม่ คงไม่มีใครตอบได้ดีไปกว่าท่านทั้งหลายที่กล่าวมาแล้วล่ะครับ