รัฐให้เด็กรอ 2-3 ปี แจ้งเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า

            เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2565 คณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ (กดยช.) ได้แจ้งข่าวประชาสัมพันธ์ถึงสื่อมวลชนว่า คณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ (กดยช.) ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรี (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์) เป็นประธานกรรมการได้ตระหนักถึงความสำคัญในการช่วยเหลือและจัดสวัสดิการเงินอุดหนุนฯ ให้ครอบคลุมเด็กที่อยู่ในครอบครัวยากจนมาอย่างต่อเนื่อง และให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ นำเสนอแนวทางการจัดสวัสดิการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดแบบถ้วนหน้า ต่อคณะรัฐมนตรี ซึ่งกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดย กรมกิจการเด็กและเยาวชน ได้มีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นระยะ แต่เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ส่งผลให้ประเทศไทยมีการเติบโตทางเศรษฐกิจลดลงอย่างมาก และรัฐบาลมีภาระค่าใช้จ่ายสูงขึ้น จึงอาจจะยังไม่ใช่ช่วงเวลาที่รัฐบาลจะผลักดันนโยบายการจัดสวัสดิการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดแบบถ้วนหน้า แต่ยืนยันว่าไม่ละทิ้งแนวคิดขับเคลื่อนการจัดสวัสดิการเด็กเล็กให้เป็นแบบถ้วนหน้า 

ทั้งนี้ อาจจะใช้ระยะเวลา  2 – 3 ปี เมื่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น  อย่างไรก็ดีเพื่อเป็นการเตรียมการรองรับนโยบายการจ่ายเงินอุดหนุนฯ แบบถ้วนหน้า และให้สอดคล้องกับการพัฒนาเทคโนโลยีในปัจจุบันและอนาคต กรมกิจการเด็กและเยาวชน ได้มีการปรับปรุงการดำเนินงานโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด ดังนี้ 

1.การพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพฐานข้อมูลโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด รองรับการให้บริการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งสามารถรองรับกลุ่มเป้าหมายเด็กแรกเกิด – 6 ปี ทุกคน จุดเด่นคือ ผู้ปกครองสามารถยื่นขอรับสิทธิผ่าน Mobile Application ซึ่งเชื่อมโยงกับข้อมูลทะเบียนราษฎร กรมการปกครอง เพื่อยืนยันตัวตนของผู้รับสิทธิ ลดความผิดพลาดในการนำเข้าข้อมูล ลดจำนวนเอกสาร ลดระยะเวลาการดำเนินการเงินอุดหนุนเข้าบัญชี โดยผู้ปกครองลงทะเบียนได้โดยตรงผ่านบริการ Prompt Pay และได้รับการแจ้งเตือนผ่าน Application ตลอดจนเชื่อมโยงฐานข้อมูลกับฐานข้อมูลสวัสดิการอื่น เพื่อการพัฒนาศักยภาพและคุ้มครองสิทธิของเด็กและครอบครัวให้เข้าสู่บริการของภาครัฐได้อย่างทั่วถึง 

2.การเชื่อมโยงฐานข้อมูลเด็กที่ได้รับเงินอุดหนุนฯ กับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อติดตามการเข้าสู่การคัดกรองพัฒนาการของเด็ก ภาวะโภชนาการ การฉีดวัคซีน การดื่มนมแม่ และการเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขด้านอื่น ๆ ซึ่งในอนาคตหากมีการปรับนโยบายเงินอุดหนุนเป็นแบบถ้วนหน้า จะทำให้เป็นภาพรวมของการเข้าสู่บริการด้านสุขภาพของเด็กตั้งแต่แรกเกิด – 6 ปี ได้อย่างเป็นรูปธรรม 

3.การเชื่อมโยงฐานข้อมูลเด็กที่ได้รับเงินอุดหนุนฯ อายุ 3 ปีขึ้นไป กับกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อติดตามการเข้าสู่ระบบการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลขึ้นไป ที่อยู่ในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ โรงเรียนสาธิตในสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษาฯ และที่เข้ารับบริการสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย  

4.การปรับปรุงระเบียบกรมกิจการเด็กและเยาวชน ว่าด้วยการจ่ายเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด พ.ศ. 2562 และคู่มือการปฏิบัติงานโครงการฯ ซึ่งใช้อยู่ในปัจจุบันให้รองรับการดำเนินงานโครงการผ่านระบบดิจิทัล

ทั้งนี้      เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2565 แถลงการณ์ คณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า 340 องค์กร. ได้แถลงข้อเสนอต่อนายกรัฐมนตรีซึ่งได้มีการยื่นหนังสือมาแล้วหลายฉบับตั้งแต่ปี 2559 จนฉบับสุดท้าย ผ่านรัฐมนตรีอนุชา นาคาศัย   ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อ17 พฤษภาคม 2565 โดย คณะทำงานขับเคลื่อนนโยบายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า ประกอบด้วย องค์กรภาคประชาสังคมที่ขับเคลื่อนงานในประเด็นเด็ก เยาวชน สตรี ผู้พิการ เครือข่ายแรงงานทั้งใน/นอกระบบ และนักวิชาการทั่วประเทศ  ได้มีข้อเรียกร้องให้มีนโยบายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า ซึ่งกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ โดยมติคณะรัฐมนตรีได้ดำเนินโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดตั้งแต่ปี 2558 และขยายความคุ้มครองแก่เด็กเล็กเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ จากมติคณะรัฐมนตรีปี2559  ถึงมติคณะรัฐมนตรีปี 2562 ที่ดำเนินการมาถึงปัจจุบัน โดยจัดเงินอุดหนุนเด็กเล็ก 0-6 ปี คนละ 600 บาท ให้ครอบครัวคนจนที่มีรายได้เฉลี่ยไม่เกิน 100,000 บาท/ปี  ทั้งที่ควรและจำเป็นอย่างยิ่งจะต้องจัดเป็นระบบสวัสดิการถ้วนหน้าจากแรกเกิด ต่อเนื่องเป็นระบบสวัสดิการที่สังคมไทยที่มีนโยบายถ้วนหน้ามาแล้วแม้จะยังไม่สมบูรณ์ อาทิ การเรียนฟรี หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า   เบี้ยคนพิการ จนถึงเบี้ยยังชีพคนชรา แต่มีช่องว่างสวัสดิการละเลยเด็กเล็กมาตลอด ทั้งที่ยอมรับกันทั่วโลกว่าช่วงเด็กเล็ก 0-6 ปี เป็นช่วงเวลาสำคัญที่สุดของชีวิตในการพัฒนาทั้งร่างกาย สมอง จิตใจ อารมณ์   ซึ่งในปี 2563 มีมติคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ (กดยช.) 2 ครั้ง ให้รัฐบาลจัดสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กแบบถ้วนหน้า  เริ่มในปีงบประมาณ 2565 แก่เด็กเล็กอายุ 0-6ปี คนละ 600 บาท/เดือน  แต่รัฐบาลก็ไม่ดำเนินการตามมติ กดยช.ในพ.ร.บ.งบประมาณปี 2565  และในร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2566 ที่กำลังพิจารณาโดยคณะกรรมาธิการงบประมาณวันนี้ ทั้งที่ กดยช.เป็นคณะกรรมการที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง  แต่งตั้งโดยนายกรัฐมนตรี  มีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน มีรัฐมนตรีกระทรวงพัฒนาสังคมฯเป็นรองประธาน  รวมทั้งหน่วยงานสำคัญและผู้ทรงคุณวุฒิอีกจำนวนมาก   กระทรวง พ.ม ยังตั้งวงเงินอุดหนุนเด็กเล็กเพียงประมาณ 16,000 ล้านบาท  ทั้งที่เพิ่มวงเงินอีกประมาณ 15,000 ล้านบาท ก็จะสามารถจัดเงินอุดหนุนเด็กเล็ก 0-6 ปีเดือนละ 600 บาทได้ถ้วนหน้า 4.2 ล้านคนตามมติ กดยช.

 แม้จะมีผลการประเมินชัดเจนว่า นโยบายคัดกรองนี้มีคนจนไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ตกหล่นเข้าไม่ถึง ยิ่งสถานการณ์โควิด 19 ก่อเกิดคนจนใหม่ และปัญหาเศรษฐกิจสังคมอย่างกว้างขวางรุนแรง เพิ่มปัญหาคุณภาพชีวิต และความเหลื่อมล้ำ ยิ่งจำเป็นต้องเร่งรัดนโยบายสวัสดิการเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า แต่รัฐบาลกลับไม่สนใจ วันนี้คณะทำงานเด็กเล็กฯ ร่วมกับคณะกรรมาธิการเด็กฯ. คณะกรรมาธิการการแรงงาน คณะกรรมาธิการการสวัสดิการสังคม   สภาผู้แทนราษฎร  UNICEF (ประเทศไทย) และ สสส.  ได้จัดโครงการเสวนาเรื่อง ” ร่าง พ.ร.บ.งบฯ 2566 ทำอย่างไรให้บรรลุมติ กดยช. เพื่อสวัสดิการเด็กเล็กถ้วนหน้า” สภาผู้แทนราษฎร   ด้วยความคาดหวังว่า สภาผู้แทนราษฎร โดยคณะกรรมาธิการงบประมาณ และคณะกรรมาธิการชุดต่างๆจะช่วยกันผลักดันให้มีการแปรญัตติ  และที่สำคัญที่สุด คือการตัดสินใจของรัฐบาลที่จะต้องดำเนินการเปลี่ยนแปลงงบประมาณเพื่อเด็กเล็กถ้วน