ILO หนุน คนรถไฟเรียกร้องระบบความปลอดภัย – ถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรม

องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ย้ำ การเกิดอุบัติเหตุในการทำงาน เพราะผู้ประกอบการละเลยระบบความปลอดภัย วันนี้คนงานยังต้องเรียกร้องทั้งที่มีกฎหมาย – เน้นต้องขอบคุณสหภาพแรงงานรถไฟที่ปกป้องดูแล เรียกร้องให้การรถไฟดูแลระบบให้เกิดความปลอดภัย พร้อมติงกระทรวงแรงงานไม่ดูแลปล่อยให้เกิดการเลิกจ้างสหภาพ

ในการเสวนา เรื่องการปรับปรุงด้านความปลอดภัยและสิทธิแรงงานในกิจการรถไฟ เมื่อวันพุธที่ 20 มิถุนายน 2555 ณ ห้องประชุมราชา โรงแรมรัตนโกสินทร์ กรุงเทพมหานคร ที่ผ่านมา Mr. Pong-Sul Ahn ตัวแทนองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) กล่าวว่า การที่เกิดอุบัติเหตุ ความไม่ปลอดภัยในการทำงาน เป็นเพราะความละเลยของผู้ประกอบการที่ไม่มีความสนใจในประเด็นความปลอดภัย การอบรมด้านความปลอดภัย การมีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัย (จป.) ที่ทำหน้าที่ในการตรวจสอบดูแล และอบรมการทำงานที่ปลอดภัย ซึ่งจป.มีจำนวนจำกัดไม่เพียงพอต่อการดูแลสถานประกอบการที่มีจำนวนมาก และสถานประกอบการก็ไม่มีความสนใจที่จะมีระบบ มีคนมาดูแลเรื่องความปลอดภัยในการทำงาน

ความปลอดภัยไม่ใช่เพียงการทำงานยังมีการดูแลถึงผู้บริโภคด้วย เช่นกรณีการเรียกร้องของสหภาพแรงงานรถไฟต่อการพัฒนาระบบการเดินรถที่ปลอดภัย เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค วันนี้พวกเขาถูกเลิกจ้าง ผิดหรือที่เขาต้องการความปลอดภัยในการทำงาน

ส่วนของILO ได้มีการทำหนังสือส่งถึงกระทรวงแรงงาน ให้ดูแล ถึงกรณีการเลิกจ้างสหภาพแรงงานฯดังกล่าว ซึ่งการเรียกร้องของสหภาพแรงงานเป็นการเรียกร้องเพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาเรื่องความปลอดภัยในการทำงานเป็นผลดีต่อการบริการที่ปลอดภัยในชีวิตของประชาชน และการที่คนงานจะปฏิเสธที่จะทำงานที่รู้สึกถึงความไม่ปลอดภัยในชีวิตคิดว่าไม่น่าจะร้ายแรงถึงขนาดเลิกจ้างเพราะทุกคนมีครอบครัวมีคนที่ตนเองรัก ต้องการที่ทำงานที่ปลอดภัย

ประเทศไทยออกพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดลอมในการทำงานพ.ศ.  2554 แต่ในทางปฏิบัติการรถไฟได้มีการแก้ไขปรับปรุงหรือไม่ และภาครัฐได้มีการตรวจ หรือผลักดันให้มีการปฏิบัติตามกฎหมาย เพราะเป็นการบริการขั้นพื้นที่ และเกี่ยวกับชีวิตผู้คน กรณีความประมาทเลินเล่อของมนุษย์อาจเป็นไปได้ หากมีระบบดูแลความปลอดภัย ความประมาทนั้นก็จะไม่รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต  อุบัติเหตุที่มาบตาพุดก็เป็นเหตุการณ์ที่ร้ายแรงส่งผลกระทบทั้งชีวิตคนงาน และชุมชน ด้านสิ่งแวดล้อม หากมีระบบดีปัญหาที่เกิดก็ไม่หนัก เช่นเดียวกับอุบัติเหตุรถไฟตกรางที่เขาเต่า หากระบบป้องกันความปลอดภัยมีความพร้อม ทุกอย่างคงไม่เกิด เพราะระบบDead Man และ vigilance ระบบเบรกอัตโนมัติที่ไม่ทำงานจึงนำไปสู่ความสูญเสีย

ส่วน นายสาวิทย์ แก้วหวาน ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย  และเลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์(สรส.)ได้สรุปสถานการณ์ การต่อสู้ของคนงานรถไฟ ในหัวข้อ “สหภาพรถไฟ ใครสั่งหยุดรถ” โดยสรุปได้ดังนี้ เหตุการณ์วันที่ 5 ตุลาคม 2552 ขบวนรถไฟสายใต้ขบวนที่ 84 กันตัง – กรุงเทพฯเกิดอุบัติเหตุตกรางที่สถานีเขาเต่า อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ มีผู้เสียชีวิต 7 ราย บาดเจ็บ 84 ราย สาเหตุเกิดจากพนักงานขับรถ ช่างเครื่องหมดสติ และระบบห้ามล้ออัตโนมัติ (vigilance)ใช้การไม่ได้  ทางสหภาพแรงงานรับวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย(สร.รฟท.)เรียกร้องให้การรถไฟปฏิบัติตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง “ก่อนนำรถจักร รถพ่วง ออกให้บริการรถต้องอยู่ในสภาพสมบูรณ์ปลอดภัย”และให้สมาชิกปฏิบัติตามข้อบังคับและระเบียบการเดินรถโดยเคร่งครัด ตรวจสอบรถให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์เพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสาร ทำให้รถบางขบวนงดเดิน และล่าช้า เพราะอุปกรณ์ไม่สมบูรณ์ สถานการณ์วิกฤตที่โรงรถจักรหาดใหญ่ ซึ่งเป็นพื้นที่เดินรถในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) ได้ฟ้องขออำนาจศาลขอคุ้มครองพื้นที่ ไม่ให้ สร.รฟท.และกรรมการเข้าพื้นที่ในเขต รฟท. พร้อมส่งเจ้าหน้าที่ชุดพร้อมรบตรึงพื้นที่โรงรถจักรหาดใหญ่ ประหนึ่งว่าพนักงานรถไฟคือผู้ก่อการร้าย ส่วนสร.รฟท.ได้ร้องอนุกรรมการสิทธิพลเมือง(นพ.นิรันดร พิทักษ์วัชระ) ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กรณี รฟท.ละเมิดสิทธิสหภาพแรงงาน และอนุกรรมการเรียกผู้บริหาร รฟท. และสร.รฟท.สอบ พร้อมลงพื้นที่ตรวจสอบจริงในกรุงเทพและหาดใหญ่ ซึ่งต่อมาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีคำสั่งให้การรถไฟรับกรรมการ สร.รฟท.หาดใหญ่กลับเข้าทำงานเพราะเห็นว่าสภาพการทำงานและหัวรถจักรอยู่ในสภาพไม่สมบูรณ์จริงตามที่ สร.รฟท.ได้รณรงค์ และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้เสนอให้ รัฐบาลและ รฟท.ปรับปรุงเรื่องความปลอดภัย

วันที่ 27 ตุลาคม 2552 รฟท.มีคำสั่งไล่ออกกรรมการ สร.รฟท.สาขาหาดใหญ่ 6 คนข้อหาประพฤติชั่วอย่างไร้แรง  ซึ่งสร.รฟท/สรส.พบนายกรัฐมนตรีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ทำเนียบรัฐบาล เรียกร้องให้ทบทวนการไล่ออกกรรมการ สร.รฟท.หาดใหญ่ อย่างไม่เป็นธรรม เพราะรถไฟไม่ปลอดภัยจริง ทั้งยังขออำนาจศาลขอเลิกจ้างกรรมการ สร.รฟท.ส่วนกลางซึ่งเป็นคณะกรรมการกิจการสัมพันธ์(ทวิภาคี : กรรมการลูกจ้าง)อีก 7  คน ทางกรรมการ สร.รฟท.สาขาหาดใหญ่ อุทธรณ์คำสั่งต่อคณะกรรมการรถไฟ(บอร์ด) กรณีเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรม บอร์ดยืนตามที่ รฟท.ออกคำสั่ง และกรรมการ สร.รฟท.สาขาหาดใหญ่ ร้องคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์(ครส.) ซึ่งเป็นคณะกรรมการไตรภาคี 15 มกราคม 2553 ครส.มีคำสั่งให้รฟท.รับทั้ง 6 คน กลับเข้าทำงานภายใน 30 วันเพราะเลิกจ้างไม่ชอบด้วยกฎหมาย

แม้ว่าครส.จะสั่งให้รับคนงานทั้ง 6 คนกลับเข้าทำงาน แต่การรถไฟไม่ยอมรับและทำตามคำสั่ง ครส.โดยยื่นร้องต่อศาลขอเพิกถอนคำสั่ง ครส.และขอให้คุ้มครองกรณีไม่รับกรรมการ สหภาพแรงงานฯกลับ จนกว่าคดีจะถึงที่สุด และหากไม่รับคนงานกลับจะมีความผิดทางอาญา แม้ว่าศาลไม่รับคุ้มครองแต่ รฟท.ก็ยังคงปฏิเสธไม่รับทั้ง 6 คนกลับเข้าทำงานทั้งๆที่ผิดกฎหมายก็ตาม

ส่วนกรณีผู้เสียหายจากเหตุการณ์อุบัติเหตุรถตกรางที่สถานีเขาเต่า ฟ้องศาลอาญา จ.ประจวบคีรีขันธ์ กรณีพนักงานขับรถ (พขร.) ช่างเครื่อง ขับรถโดยประมาททำให้ผู้อื่นได้รับความเสียหายถึงแก่ชีวิต ศาลพิพากษาให้พนักงานขับรถ ช่างเครื่องมีความผิดจริงและสั่งลงโทษ 2 ปี 6 เดือน โดยไม่รอลงอาญา และยังถูกฟ้องศาลแพ่งเรียกค่าเสียหายจาก พขร.ช่างเครื่องและ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ซึ่งศาลมีคำพิพากษาให้ พขร. ช่างเครื่อง และ รฟท.จ่ายเงินแก่ผู้เสียหายรายละ 5,000 บาทเป็นเวลา 10 ปี ส่วน รฟท.ให้ชดใช้แก่ผู้เสียหายเพิ่มเติมอีก 1,000,000 บาท เพราะมีช่องทางหารายได้หลายทางแต่ไม่นำรายได้มาพัฒนาเรื่องความปลอดภัย

ต่อมาด้วยศาลแรงงานมีคำพิพากษาให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เลิกจ้างกรรมการสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟส่วนกลาง 7 คนได้แต่ต้องเป็นไปตามข้อบังคับระเบียบ พร้อมให้ชดใช้ค่าเสียหาย 15 ล้านบาท ซึ่งรฟท.ได้ออกคำสั่งเลิกจ้างกรรมการส่วนกลาง 7 คน ซึ่งหนึ่งในนั้นมีนายเหลี่ยม โมกงาน ที่เกษียณอายุก่อนหน้า แต่ก็มีคำสั่งไล่ออกและไม่ยอมจ่ายเงินชดเชยใดๆให้ ซึ่งคำสั่งเลิกจ้างไม่ได้อ้างข้อบังคับข้อใดๆแต่อ้างทั้งฉบับ สหภาพแรงงานได้อุทธรณ์ต่อบอร์ด แต่ผู้ว่าการรถไฟไม่นำเรื่องเข้าสู่บอร์ด โดยอ้างว่ามีอำนาจและมอบให้รองผู้ว่า การรถไฟลงนามในคำสั่ง กรรมการสหภาพแรงงานที่หาดใหญ่อีก 6 คน ศาลแรงงานมีคำพิพากษาฟ้องเพิกถอนคำสั่ง ครส. และยกเลิกความผิดให้แก่ รฟท.กรณีไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง ครส.ที่ให้รับทั้ง 6 คนกลับเข้าทำงานก่อนหน้านี้ และเพิ่มความผิดว่าทุจริตต่อหน้าที่ให้เลิกจ้าง

เรื่องการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.)ฟ้องสหภาพแรงงานฯ เรียกค่าเสียหาย 80 ล้านบาท ศาลมีคำพิพากษาว่า สหภาพแรงงานฯได้กระการทำในสิ่งที่ถูกต้องเพื่อประโยชน์สาธารณะให้ยกฟ้อง

ในส่วนขบวนการขับเคลื่อนทางสังคม คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย(คสรท.)และสมัพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.)ได้เข้ายื่นหนังสือนายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม เพื่อชลอการเลิกจ้าง จนกว่าคดีถึงที่สุด  ได้เข้าพบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานนายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ และเข้าพบ รัฐมนตรีช่วยคมนาคม พล.ต.ท.ชัจน์ กุลดิลก เพื่อให้รับกรรมการ สร.รฟท.กลับเข้าทำงาน และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย จัดเวทีเสวนาเรื่องการละเมิดสิทธิแรงงานและการเลิกจ้างกรรมการ สร.รฟท.โดยเชิญผู้แทน ILO คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน นักกฎหมาย นักวิชาการ และผู้นำแรงงานร่วมเวทีอภิปราย คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.)เรียกสอบสมาชิกและกรรมการ สร.รฟท.ในข้อหาพนักงานของรัฐ ทุจริตละทิ้งหน้าที่ ทำให้การรถไฟเสียหายตามคำร้องของ รฟท. และนี่คือกระบวนการล้มสหภาพแรงงาน? ทั้งนี้สหภาพแรงงานฯได้ร้องต่อสหพันธ์แรงงานขนส่งระหว่างประเทศ(International Transport workers’ Federation : ITF) เพื่อส่งกรรมการลงมาตรวจสอบ ซึ่ง ITF ส่งชุดมาสอบสวน ซึ่งพบสภาพความไม่ปลอดภัยมีอยู่จริง และสภาพการทำงานที่เลวร้าย และได้มีการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ITF จัดแถลงข่าวกรุงเทพฯและที่หาดใหญ่ พร้อมแจ้งเครือข่ายสหภาพแรงงานสากลเพื่อส่งจดหมายประท้วงรัฐบาลไทยผ่านสถานทูตแต่ละประเทศ กรณีละเมิดสิทธิแรงงาน และการเลิกจ้างผู้นำ สร.รฟท. มีการรณรงค์ผ่าน www. Labour start เพื่อให้สหภาพทั่วโลกประท้วงรัฐบาลไทยกรณีละเมิดสิทธิแรงงาน และITUC ส่งหนังสือร้องเรียน ILO ซึ่งคิดว่า มาตรฐานความปลอดภัยจะเกิดขึ้นได้ต้องร่วมกันระหว่างสหภาพ และผู้บริหาร สหภาพไม่มีส่วนร่วมความปลอดภัยก็น้อยลง

นายทิม เดอ เมเยอร์ ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสด้านมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศ และกฎหมายแรงงานองค์การแรงงานระหว่างประเทศไทยกล่าวว่า หน่วยงานองค์การแรงงานระหว่างประเทศ(ILO) ได้กำหนดสิทธิขั้นพื้นฐานแรงงานไว้ เช่นสิทธิในการรวมตัว เจรจาต่อรอง ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของรัฐธรรมนูญไทย และแรงงานมีสิทธิที่จะปกป้องตนเองให้ได้รับความปลอดภัยในการทำงาน สิทธิต่างๆที่กำหนดไว้ หากนายจ้างไม่ยอมปฏิบัติตามที่ได้มีการยื่นข้อเรียกร้อง คนงานก็มีสิทธิที่จะหยุดงาน เพื่อแสดงความต้องการ การเสนอความคิดเห็นเพื่อกดดันนายจ้างโดยสุจริต

การบังคับใช้กฎหมายแรงงาน รัฐก็มักจะละเลยในการที่จะปฏิบัติ ประเทศไทยเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ร่วมให้ปฏิญญาสากล ประเทศไทยต้องเคารพปฏิญญานี้ หลักการองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ที่ประเทศไทยยังไม่ยอมให้สัตยาบันซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานอนุสัญญาฉบับที่ 87 และ98 แม้ว่าจะไม่มีการให้สัตยาบัน ประเทศไทยก็ต้องปฏิบัติในสิทธิขั้นพื้นฐานนี้และควรมีการรณรงค์เรียกร้องให้รัฐบาลให้สัตยาบันโดยเร็ว เพื่อการปกป้องคุ้มครองสิทธิขั้นพื้นฐานของคนงานในการสมาคม รวมตัวกันเป็นองค์กร และสิทธิในการเจรจาต่อรองร่วมซึ่งก็มีการรณรงค์มากว่า 10 ปีแล้ว

สหภาพแรงงานถือ เป็นระบบประชาธิปไตยการที่จะมีการประท้วง การนัดหยุดงาน เป็นที่ยอมรับได้ในทั่วไปทางสากล องค์กรรัฐเองก็ควรมีการรวมตัวและมีสิทธิเท่ากันกับองค์กรคนงานอื่นๆ แต่การชุมนุมประท้วงก็ต้องอยู่ในกรอบที่ยอมรับได้ คือหากกรณีฉุกเฉิน เกิดเหตุการณ์อุทกภัย ภัยพิบัติ การให้บริการที่เป็นการบริการสาธารณชน ต้องให้การบริการที่ปลอดภัยให้กับประชาชน

กรณีการต่อสู้ของสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟฯเป็นการเรียกร้องระบบความปลอดภัยต่อชีวิต และการกระทำการต่อสู้เป็นเพียงพื้นฐานเท่านั้น และเป็นการบริการขั้นพื้นฐานที่ต่ำสุด มีรถเมล์ หากประท้วง ต้องจัดการบริการพื้นฐานให้บริการขนส่งเพื่อเป็นทางเลือกอยู่บ้างไม่ใช่หยุดเสียเลย

การที่สหภาพแรงงานมีการหยุดงาน เพื่อเรียกร้องให้มีการจัดการด้านความปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นการหยุดงานประท้วงแบบถูกกฎหมายหรือไม่ถูกกฎหมาย แต่เป็นการเรียกร้องเพื่อประโยชน์ของคนส่วนใหญ่ไม่ควรถูกลงโทษ ถึงการเลิกจ้าง เมื่อการประท้วงการหยุดงานของคนงานไม่ได้ทำลายล้างยังคงอยู่ภายใต้กฎหมายด้วยการชุมนุมอย่างสงบ บนหลักการความเท่าเทียมด้านความปลอดภัยในชีวิตไม่ควรต้องฟ้องร้องคดีอาญา การปลดออกเลิกจ้างควรจะเป็นข้อหาที่รุนแรงแต่นี่มองอย่างไรก็เป็นประโยชน์ต่อการให้บริการ และสังคมส่วนใหญ่ รัฐควรให้ความเป็นธรรม

นายสมศักดิ์  โกศัยสุข อดีตประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เรื่องระบบความปลอดภัยในการ ยังไม่มีความคืบหน้า ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานเคเดอร์ และขบวนการแรงงานได้ทำงานเคลื่อนไหวเรียกร้องเพื่อให้เกิดระบบความปลอดภัย ซึ่งไม่ขอโทษเพียงกฎหมาย รัฐ แต่คนงานเองก็มีปัญหายังไม่ให้ความสำคัญของระบบความปลอดภัยในการทำงาน มองเป็นเรื่องไกลตัว ซึ่งทำให้เกิดค่าใช้จ่ายที่สูงมากหลายแสนล้านกับการจ่ายชดเชย โดยไม่สนใจการสร้างระบบเพื่อป้องกัน

ปัญหาความไม่ปลอดภัยในหการทำงานนั้นเกิดขึ้นกับทุกคน ทุกระดับ และมีคนงานที่ต้องสูญเสียชีวิต อวัยวร่างกาย พิการทุกครั้ง ทุกวัน การที่ขบวนการแรงงานรณรงค์เรื่องความปลอดภัยในการทำงาน แต่ยังไม่สามารถทำให้เกิดระบบป้องกันได้

การมีอุปกรณ์ที่ป้องกันด้านความปลอดภัย ให้อยู่ในระบบที่ทำงานได้แบบสมบูรณ์ เช่นกรณีที่เกิดขึ้นกับคนงานรถไฟ ที่เมื่อระบบไม่ทำงานความสูญเสีย ความเสียหายก็เกิดกับคนทำงาน องค์กร และผู้ใช้บริการ ด้วยความจริงคือเมื่อไม่มีระบบป้องกันด้านความปลอดภัยในการทำงาน ก็ไม่ควรที่จะนำรถออกมาให้บริการ

นักสื่อสารแรงงาน รายงาน