รมว.แรงงานลงพื้นที่อ้อมน้อยฯ เจอร้องเรียนปัญหาเพียบ

   นายเผดิมชัย  สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้เดินทางไปที่ทำการกลุ่มสหภาพแรงงานอ้อมน้อย–อ้อมใหญ่  ซอยหมอศรี ต.อ้อมใหญ่ อ.สามพราน จ.นครปฐม เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน  2554 ที่ผ่านมา  เพื่อนำสิ่งของยังชีพไปมอบให้กับศูนย์ช่วยเหลือแรงงานอ้อมน้อยฯ ประกอบด้วย ข้าวสาร 100 กระสอบ น้ำดื่ม 800 ชุด บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 50 ชุด  น้ำปลา 5 ลัง  ปลากระป๋อง 4 กล่องใหญ่  เครื่องกรองน้ำ 50 ชุด  ยา 300 ชุด  โดย น.ส.วิไลวรรณ  แซ่เตีย รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ซึ่งเป็นผู้จัดการศูนย์ช่วยเหลือแรงงานอ้อมน้อยฯได้กล่าวขอบคุณ รมว.แรงงานฯ  และให้คำมั่นว่าจะจัดการนำสิ่งของที่ได้รับบริจาคส่งให้ถึงมือพี่น้องผู้ใช้แรงงานและผู้ที่กำลังประสบภัยต่อไป ซึ่งนางสาววิไลวรรณได้ขอการสนับสนุนรถ 10 ล้อเพื่อใช้ในการขนส่งสิ่งของบรรเทาทุกข็ไปแจกจ่ายในที่น้ำท่วมสูงในครั้งต่อๆไป ซึ่งรัฐมนตรีก็ขอให้ประสานได้เลย

   น.ส.อรัญญา  ไชยมี กรรมการกลุ่มสหภาพแรงงานอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ ได้เป็นตัวแทนแรงงานในการมอบหนังสือร้องเรียนเรื่องแรงงานได้รับผลกระทบจากเหตุน้ำท่วมในกรณีปัญหานายจ้างไม่ยอมจ่ายค่าจ้าง รณีนายจ้างสั่งหยุดแบบไม่มีกำหนด รวมทั้งกรณีให้ลูกจ้างเขียนใบลากิจโดยไม่ได้รับค่าจ้าง รวมทั้งมีกรณีที่นายจ้างสั่งให้พนักงานไปทำงานโดยไม่คำนึงถึงสภาพความเป็นจริงในภาวะน้ำท่วมซึ่งพนักงานมีความยากลำบากในการเดินทางไปทำงาน  มีบางบริษัทใช้รถ  10  ล้อรับส่ง ซึ่งคนงานก็ต้องนั่งเรือออกมาต้องปีนรถ 10  ล้อขึ้นเพื่อไปทำงาน  บริษัทน่าจะเห็นใจพนักงานบ้างเพราะก็มีคนท้องอยู่ด้วย  และมีประเด็นแรงงานข้ามชาติที่ไม่ได้รับการช่วยเหลือ  เนื่องจากทางเทศบาลไม่ยอมแจกของบริจาคให้เพราะไม่มีที่อยู่ตามทะเบียนบ้าน จึงอยากให้รัฐมนตรีช่วยเหลือในกรณีนี้ด้วย

   รมว.แรงงานฯ กล่าวว่า  ขอรับปากกับพี่น้องผู้ใช้แรงงานว่าพี่น้องต้องมีข้าวปลาอาหารกินอิ่มโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น ขอให้กลุ่มสหภาพแรงงานช่วยแจกของให้แก่พี่น้องผู้ประสบภัยกลุ่มอื่นด้วย  เพราะน้ำท่วมทุกบ้าน  ไม่ว่าจะเป็นคนรวยคนจนก็ต้องช่วยกันให้หมด  พวกท่านรู้อยู่ว่าบ้านหลังไหนอยู่ตรงไหนๆ ก็ขอให้พวกท่านช่วยเป็นกำลังหลัก และหากว่าน้ำยังไม่ลดถ้าต้องการสิ่งของก็ให้ช่วยติดต่อมาก่อนที่ของจะหมด

ส่วนประเด็นปัญหาที่ยังมีเกิดขึ้นกับผู้ใช้แรงงานนั้น  รมว.แรงงานฯ กล่าวว่า  “แสดงว่าข้อมูลประชาสัมพันธ์ของเราไม่ดีพอนะ  ทางเราก็สั่งว่าถ้าน้ำท่วมแล้วให้หยุดงานโดยอัตโนมัติโดยไม่ถือเป็นความผิด  ประเด็นที่คุณวิไลวรรณพูดเนี่ย ให้ทำข้อมูลมาเลย ทางเรามีกฎหมายรองรับอยู่แล้ว ซึ่งถ้าเราตรวจสอบพบว่ามีโรงงานไหนเลิกจ้าง ไม่จ่ายค่าจ้าง อยู่ตรงไหน  เราก็มีหน่วยงานราชการรองรับปัญหาอยู่แล้ว”  

   ระหว่างการให้สัมภาษณ์นักข่าว รมว.แรงงานฯกล่าวถึงนโยบายการช่วยเหลือนายจ้างลูกจ้างว่า  ถ้านายจ้างจ่าย 75%หรือเท่าไหร่ก็แล้วแต่ รัฐจะจ่ายสมทบ 2,000 บาทให้นายจ้างแต่ละราย  วันนี้ก็ตั้งเป้าไว้ที่ 100,000 คนก่อนทุกราย  ซึ่ง ครม.รัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็ให้ความเห็นชอบแล้ว  แต่ที่ตนกลัวที่สุดก็คือกลัวขาดแรงงาน เพราะเราต้องพึ่งแรงงาน  2 ประเภท  คือ 1.  แรงงานในระบบ  และ 2.  แรงงานต่างชาติ  ซึ่งก็ไม่น่าจะต้องห่วงเรื่องการว่างงาน
 
     น.ส.วิไลวรรณ  กล่าวสรุปความต้องการของฝ่ายแรงงานว่า 1.ขอให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างที่ค้างจ่าย  2.ขอให้กระทรวงแรงงานทำหนังสือแจ้งไปยังบริษัทที่ปิดกิจการหรือน้ำท่วมให้ประกาศให้ชัดเจนว่าจะจ่ายค่าจ้างหรือไม่จ่าย ถ้าจ่ายจะจ่ายให้เท่าไหร่  และ 3. หลังน้ำลดขอให้รับคนงานกลับเข้าทำงานตามปกติ   ส่วนเงินกู้ยืมหรือเงินช่วยเหลือต่าง ๆ ก็ขอให้ลูกจ้างได้เข้าถึงจริงตามนโยบายของรัฐบาลที่ได้เสนอผ่านสื่อมวลชนต่างๆ
 
 
รายงานโดย นางสาวอรัญญา ไชยมี และ
นางสาวชนญาดา  แก้วจันทร์
ศูนย์สื่อสารแรงงานอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่