เครือข่ายแรงงานยื่นหนังสือชะลอร่างการจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ

เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2554 โดยคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย  สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย  เครือแรงงานนอกระบบ เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน ร่วมกับ กลุ่มผู้ใช้แรงงาน สภาองค์การลูกจ้าง นักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชนด้านแรงงาน และ  เครือข่ายภาคประชาชนประมาณ 40 คน ได้ร่วมกันยื่นหนังสือเรียกร้องต่อนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เรื่องขอให้มีการชะลอการพิจารณาร่างพระราชกฤษฎีกาการจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย สภาพแวดล้อมในการทำงาน(องค์กรมหาชน) พ.ศ. ….

นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ได้แถลงว่า ตามที่เครือข่ายแรงงานและภาคประชาชนได้มีมติร่วมกัน ในการขับเคลื่อนผลักดันการจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน ที่จะเป็นองค์กรอิสระในการทำงานด้านการส่งเสริม ป้องกัน และแก้ไขปัญหาด้านความปลอดภัยในการทำงาน ซึ่งผลักดันมากว่า 17 ปี และได้ประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันในงานเวทีสาธารณะ วันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ 10 พฤษภาคม 2554  ที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันรำลึก 18 ปี ของเหตุการณ์โศกนาฏกรรมเคเดอร์ กับสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยในฝันของผู้ใช้แรงงาน ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้

1) ในบทบัญญัติ มาตรา 52 ของพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 ได้กำหนดให้กระทรวงแรงงานจัดตั้ง สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ โดยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรี ทั้งนี้ ภายในหนึ่งปี นับแต่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ  คืออยู่ในช่วงระหว่างวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 ถึง 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 ซึ่งเป็นกรอบของข้อกฎหมายในการให้กระทำการในการจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ  และไม่เห็นด้วยกับกระทรวงแรงงาน ที่มีการเร่งรีบแต่งตั้งคณะอนุกรรมการในยกร่างกฎหมายการจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ ดังกล่าวก่อนซึ่งเป็นการพิจารณายกร่างแบบรีบเร่งเกินไป จึงขาดการรับฟังความต้องการของผู้ใช้แรงงาน

โดยมีข้อสังเกตและไม่เห็นด้วยกับสัดส่วนของคณะอนุกรรมการยกร่างการจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ 19 คน ที่กระทรวงแรงงานได้แต่งตั้งขึ้นนั้น เพราะอนุกรรมการยกร่างฯ ส่วนใหญ่จะเป็นฝ่ายราชการ ซึ่งมีสัดส่วนมากกว่าผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยเฉพาะตัวแทนของเครือข่ายแรงงานและภาคประชาชนที่ร่วมกันขับเคลื่อนมากว่า 17 ปี รวมทั้งภาคีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องจึงส่งผลต่อการรับรองและรับฟังข้อเสนอผู้ใช้แรงงาน

2) เนื่องด้วยความแตกต่างทางความคิดและความต้องการของแต่ละฝ่ายโดยเฉพาะฝ่ายราชการ กับ ตัวแทนฝ่ายแรงงานและภาคประชาชนที่เป็นขบวนการขับเคลื่อนมาอย่างยาวนาน จึงทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งในการตีความ และความเข้าใจ ในสาระสำคัญในหลายประเด็น ในชั้นการพิจารณาของคณะอนุกรรมการในการยกร่างการจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน ที่เป็นประเด็นปัญหาที่หาข้อยุติไม่ได้ ซึ่งได้แก่ วัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่ของสถาบันฯ โครงสร้างและการได้มาซึ่งคณะกรรมการของสถาบันฯ รวมถึงที่มาของรายได้ที่สถาบันฯจะได้รับ เพื่อให้เกิดความเป็นอิสระในการบริหารและการจัดการที่มีความคล่องตัว มีประสิทธิภาพ และมีความมั่นคง

เครือข่ายแรงงานและภาคประชาชนจึงมีข้อเสนอต่อ ดังนี้

1)  ให้ชะลอการยกร่างกฎหมายการจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยอาชีอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน ออกไปก่อน เพื่อกระทำการให้สอดคล้องตามกฎหมายว่าด้วยความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 ตามบทบัญญัติมาตรา 52

2) ให้ทำประชาพิจารณ์ เพื่อรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย (นายจ้าง ลูกจ้าง แรงงานที่เจ็บป่วยที่เป็นผู้ผลกระทบ นักวิชาการ ภาคประชาชน ภาคีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง) เพื่อทำให้เกิดกระบวนการการมีส่วนร่วมที่มีความรอบด้านเสียก่อน ก่อนออกกฎหมายจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ

3) ให้มีการพิจารณาทบทวนการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการยกร่าง และพิจารณาสัดส่วนของคณะอนุกรรมการยกร่างกฎหมายการจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน ที่มีสัดส่วนที่มีความเหมาะสมและเป็นธรรม

นางสมบุญ สีคำดอกแค ประธานสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานฯ และหนึ่งในอุนกรรมการยกร่างฯกล่าวว่า การมายื่นหนังสือต่อ นางอัมพร นิติสิริ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน  ประธานอนุกรรมการยกร่างพ.ร.ฏ.สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ โดยเครือข่ายแรงงานได้ขอเข้าไปนั่งฟังสังเกตุการณ์ในที่ประชุม ปรากฏว่าทางอธบิดีกรมสวัสดิการแสดงความไม่พอใจ และไม่อนุญาติให้นั่งฟัง ย้ายห้องประชุมใหม่ เปิดการประชุมพิจารณากฏหมายสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยต่อ โดยให้เหตุผลว่าทำตามกฏหมายชะลอยังไม่ได้ ต้องคอยการสั่งการจากท่านรัฐมนตรีกระทรวงแรงงานนายเฉลิมชัย ศรีอ่อนก่อน ผลการประชุมพิจารณาไปจนจบมาตรามาตรา46 ซึ่งเป็นบทเฉพาะการ ในมาตราที่ยังตกลงกันไม่ได้ ก็ยังแขวนไว้อยู่ คุณอัมพร นิติสิริ ยังกล่าวอีกว่าชุดอนุกรรมการชุดนี้ เป็นชุดทำงานชุดเล็ก การพิจารณากฎหมายต้องให้แล้วเสร็จก่อนวันที่ 16กรกฏาคม 2554 เพื่อนำกฏหมายเข้าที่ประชุมคณะกรรมการความปลอดภัยแห่งชาติ และเสนอผ่านการพิจารณาของสำนักกฤษฎีกาต่อไป ทั้งนี้ได้นัดประชุมอีกครั้งในวันที่ 7 มิถุนายน 2554 เวลา 13.30น.
 

นักสื่อสารแรงงาน โครงการการพัฒนาสื่อ รายงาน