เวทีรำลึก 18 ปี เคเดอร์ เสนอรัฐชะลอ ร่างพ.ร.ฎ.จัดตั้งสถาบันฯ หวังให้เป็นอิสระแท้จริง

เวทีสาธารณะ “18 ปีโศกนาฏกรรมเคเดอร์  กับ การจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ” ในฝันของผู้ใช้แรงงานจะเป็นจริงหรือไม่?  ในวันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ วันที่ 10 พฤษภาคม 2554 ณ ห้องราชา โรงแรมรัตนโกสินทร์ กรุงเทพมหานคร จัดโดย สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงาน และสภาพแวดล้อมจาการทำงานแห่งประเทศไทย คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย เครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน เครือข่ายแรงงานนอกระบบ เครือข่ายแรงงานข้ามชาติ ผู้ถูกผลกระทบจากการทำงาน นักวิชาการ และองค์กรพัฒนาเอกชนด้านแรงงาน ร่วมจัดงานรำลึก 18 ปี โศกนาฏกรรมเคเดอร์ มีกิจกรรมฉายวีดิทัศน์เส้นทาง 18 ปีกรณีไฟไหม้โรงงานเคเดอร์จนถึงสภาบันความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน ร้องเพลงคิดถึงตุ๊กตากับวงดนตรีภราดร  ซึ่งมีผู้เข้าร่วมเกือบ 200 คน
 
โดยมี นายชาญ สะทองแป้น และนางสาวกชกร เจียมตัว ผู้แทนครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์โศกนาฏกรรมเคเดอร์ กล่าวรำลึก สรุปได้ดังนี้ วันนี้ครบรอบ 18 ปีการสูญเสียของครอบครัว สูญเสียภรรยา สูญเสียแม่  ซึ่งถือเป็นหลักในการหารายได้เลี้ยงครอบครัว  การที่คนงานเคเดอร์ต้องเสียชีวิต 188 ศพ กับการได้รับบาดเจ็บ พิการอีก 469 คน จนถึงวันนี้มีการสร้างระบบเข้ามาดูแลคนงานให้ได้รับความปลอดภัยในอนาคต 18 ปีแห่งการสูญเสียของครอบครัวคนงานเคเดอร์ คือการสูญเสียทั้งคนที่รัก และเศรษฐกิจคุณภาพชีวิตที่ไม่แน่นอน เมื่อขาดเสาหลักของครอบครัว เกิดผลกระทบมากมายกับครอบครัว และคนงานเคเดอร์ คนงานที่ต้องพิการ ทุพพลภาพ ที่ต้องแบกภาระการดำเนินชีวิตและครอบครัวให้ดำเนินไปอย่างมีความสุข วันนี้มีการจัดงานรำลึกถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และได้มีความก้าวหน้าในการจัดทำนโยบายแก้ไข โดยหวังว่าเหตุการณ์นั้นจะไม่เกิดขึ้นอีก
 
ทั้งนี้เครือข่ายแรงงานนำโดย นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ,นางสมบุญ สีคำดอกแค ประธานสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยเนื่องจาการทำงาน แห่งประเทศไทย ,นายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย, นางสุจิน รุ่งสว่าง ผู้ประสานงานเครือข่ายแรงงานนอกระบบ ,เครือข่ายแรงงานข้ามชาติ และผู้นำแรงงานกลุ่มสหภาพแรงงานย่านอุตสาหกรรมต่างๆ 
 

ได้ร่วมกันแถลงข่าว 18 ปี 188 ศพ โศกนาฏกรรมเคเดอร์ กำลังจะสูญเปล่า??? สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานไม่เป็นดั่งฝันของผู้ใช้แรงงาน
 
นายชาลี ลอยสูง กล่าวว่า กรณีไฟไหม้โรงงานเคเดอร์จนเป็นเหตุให้มีคนงานวัยหนุ่มสาวต้องสังเวยชีวิต 188 ศพ บาดเจ็บ 469 ราย ถือเป็นโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ของผู้ใช้แรงงานและสังคมไทยที่กล่าวขานไปทั่วโลก ที่ได้นำมาสู่การเคลื่อนไหวเรียกร้องรณรงค์เรื่องสุขภาพความปลอดภัยในการทำงาน 18 ปีผ่านมา สถานการณ์สุขภาพความปลอดภัยไม่ดีขึ้น สถิติการประสบอันตราย ของคนงาน ที่ต้องแขน ขาขาด มือ เท้า ด้วน พิการ จากการทำงาน เพราะเครื่องจักรอันตราย  “ปี พ.ศ.2553 สูงถึง  146,511 ราย  ตกเดือนละ 12,209.25 ราย วันละ406.96 ราย และ เสียชีวิตปีละ619 ราย นับเป็นการเสียชีวิตของคนงานถึงเดือนละ 51.58 ราย ถ้านับเป็นวันคนงานเสียชีวิตเกือบ 2 คนต่อวัน นี่ยังไม่ได้นับรวมถึงสถิติของคนงานที่ป่วยด้วยโรคจากสารเคมีมลพิษในโรงงาน และตายจากการทำงาน ซึ่งเป็นตัวเลขที่ขาดหายไปอีกนับไม่ถ้วนเพราะไม่สามารถเข้าถึงสิทธิกองทุนเงินทดแทนได้ และนี่คือต้นทุนที่ไม่มีใครมองเห็น กับการพัฒนาอุตสาหกรรม”
 
กว่า 18 ปีของการผลักดันเคลื่อนไหวของเครือข่ายแรงงาน การคลอดออกมาของพระราชบัญญัติความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน ซึ่งกฎหมายฉบับนี้จะถูกบังคับใช้ในวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ.2554 ในที่ หมวด 7.มาตรา 52 พ.ร.บ.ความปลอดภัยฯฉบับนี้ จะนำมาสู่การจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ
 
ในโอกาสครบรอบ 18 ปี โศกนาฏกรรมเคเดอร์ เราขอแถลงจุดยืนและเจตนารมณ์ในการจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย และมีความเห็นต่ออนุกรรมการยกร่างกฎหมายสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากคณะกรรมการความปลอดภัยฯ ที่ 1/54 ลงวันที่ 11 มกราคม พ.ศ.2554 โดยมีนางอัมพร นิติศิริ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเป็นประธาน ดังต่อไปนี้
 

1. การมีส่วนร่วมของผู้ใช้แรงงานในอนุกรรมการยกร่างสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ มีจำนวนน้อยมากเพียง 3 คน จากจำนวน 19 คน 
 
2. เมื่อพิจารณาจากการประชุมยกร่างกฎหมาย สะท้อนให้เห็นว่าฝ่ายผู้ใช้แรงงานและฝ่ายรัฐมีมุมมองที่ต่างกันอย่างชัดเจน ฝ่ายรัฐมองว่าสถาบันฯ ที่จะจัดตั้งขึ้นควรเป็นเพียงหน่วยงานระดับกองภายใต้กรมสวัสดิการ ซึ่งต่างจากความต้องการของผู้ใช้แรงงานที่ต้องการให้สถาบันฯ ที่เรียกร้องมายาวนานจะต้องเป็นองค์กรอิสระ ในการบริหารจัดการ  ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการยกร่างฯ มีที่มาจากการแต่งตั้งของคณะกรรมการความปลอดภัยแห่งชาติ และมีภารกิจในการยกร่างพระราชกฤษฎีกา ที่ใช้ พ.ร.บ.องค์กรมหาชน พ.ศ.2552 ให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี หลังกฎหมาย พ.ร.บ.ความปลอดภัย ฯ ถูกบังคับใช้ 
 
3. การจัดตั้งสถาบันความปลอดภัยฯ ควรมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมป้องกันแก้ไขปัญหาสุขภาพความปลอดภัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน มีศูนย์ข้อมูลและรับเรื่องราวร้องทุกข์ เพื่อจะได้ข้อมูลสดเป็นองค์ความรู้ ในการติดตามการแก้ไขปัญหาต่อหน่วยงานภาครัฐโดยตรงและสามารถเข้าไปในสถานประกอบการ เพื่อทำการศึกษาวิจัยวิเคราะห์และให้คำแนะนำด้านความปลอดภัย ทำการเผยแพร่รณรงค์ และเพื่อสร้างมาตรฐานด้านความปลอดภัยและพัฒนาบุคลากร รวมทั้งการต้องได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐเป็นทุนประเดิมอย่างเพียงพอและรับโดยตรงจากดอกผลของกองทุนเงินทดแทนเป็นร้อยละ 20 ต่อไป  
 
4. การจัดตั้งสถาบันความปลอดภัยฯ มีหลักการสำคัญในประเด็นที่มาของคณะกรรมการบริหารสถาบันฯ ที่มีสัดส่วน 11 คน แบ่งเป็น ประธาน 1 คน เป็นกรรมการฝ่ายลูกจ้าง 2 คน นายจ้าง 2 คน และผู้ทรงคุณวุฒิ 3คน ต้องมาจากการสรรหาและต้องไม่ใช่ราชการมีเงินเดือนประจำ กรรมการที่มาโดยตำแหน่ง 2 คน คือ ผู้แทนกระทรวงแรงงาน ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข  ( ผู้อำนวยการสถาบันฯและเลขานุการต้องได้รับการคัดเลือกจากกรรมการสถาบันฯ )
 
เมื่อพิจารณาจากการประชุมยกร่างสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ ที่ผ่านมา จะมีข้อเห็นแย้งหลายประเด็นระหว่างฝ่ายตัวแทนภาครัฐและและตัวแทนผู้ใช้แรงงาน ซึ่งฝ่ายตัวแทนภาครัฐที่เป็นฝ่ายเสียงข้างมากจะมีความเห็นที่ต่างและเป็นอุปสรรคต่อการบรรลุหลักการของฝ่ายแรงงานฯ เกี่ยวกับรูปแบบ โครงสร้าง อำนาจหน้าที่ และที่มาของกรรมการสถาบันฯ รวมถึงงบประมาณ โดยให้เหตุผลต่างๆ เช่น 
 
•  การระบุอำนาจหน้าที่ในการมีศูนย์ข้อมูลและรับเรื่องราวร้องทุกข์ เป็นการขัดต่อกฎหมาย
 
•  เป็นการซ้ำซ้อนที่จะให้มีรายได้จากกองทุนเงินทดแทนโดยตรง ต้องผ่านการพิจารณาของกรมสวัสดิการฯ ก่อน 
 
•  รัฐมนตรีจะเป็นผู้ออกระเบียบในการสรรหากรรมการ หรือต้องการเปิดช่องให้ข้าราชการเข้ามาเป็นประธานสถาบันฯได้
 
•  การพยายามจะใช้วิธีตัดสินด้วยการลงมติโดยการถามความเห็นกรรมการทีละคน  
 
•  ซึ่งนั่นจะเป็นไปไม่ได้เลยที่ข้อเสนอของผู้ใช้แรงงานจะผ่านด่านอนุกรรมการยกร่างชุดนี้ไปได้ด้วยสัดส่วนที่ไม่เท่าเทียมกันและทัศนคติต่อสถาบันฯที่ต่างกัน  
 
นายชาลี กล่าวว่า เป็นการกระทำที่มิอาจยอมรับได้  สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย สมัชชาคนจน  คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย  สภาองค์การลูกจ้างแรงงานสัมพันธ์แห่งประเทศไทย สภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย เครือข่ายผู้ใช้แรงงานในพื้นที่อุตสาหกรรมต่างๆ เครือข่ายแรงงานนอกระบบ เครือข่ายชุมชนกทม. เครือข่ายแรงงานข้ามชาติ องค์กรพัฒนาเอกชนด้านแรงงาน นักวิชาการ และเครือข่ายพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน จึงมีมติว่า   “ขอให้ชะลอการประชุมเพื่อยกร่าง พ.ร.ฎ. การจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย สภาพแวดล้อมในการทำงาน(องค์กรมหาชน) พ.ศ. …. และให้กระทรวงแรงงาน ดำเนินการจัดเวทีประชาพิจารณ์ร่วมกับผู้ใช้แรงงานทั่วประเทศ  เพื่อรับฟังความคิดเห็น และนำมาเป็นแนวทางในการยกร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวต่อไป”   เราเครือข่ายผู้ใช้แรงงาน  จะขอยืนหยัดต่อสู้จนถึงที่สุด เพื่อให้การจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ เป็นองค์กรที่ทำหน้าส่งเสริมป้องกันแก้ไขปัญหา สุขภาพความปลอดภัย ของผู้ใช้แรงงานอย่างแท้จริง            
 
นางสุจิน รุ่งสว่าง กล่าวว่า การจัดตั้งสถาบันฯที่จะเกิดขึ้น ต้องไม่ใช่เพื่อแรงงานในระบบเท่านั้น ควรมีการมองแรงงานให้ครบทุกมิติ ซึ่งมีทั้งแรงงานนอกระบบ แรงงานข้ามชาติ แรงงานเกษตรพันธสัญญา แรงงานเหมาช่วง เหมาค่าแรง ต้องมีความครอบคลุมแรงงานทุกกลุ่ม ไม่เลือกปฏิบัติ
 
นางสมบุญ สีคำดอกแค กล่าวว่า การที่มีการตั้งอนุกรรมการยกร่างกฎหมายจัดตั้งสถาบันขึ้นมา ขณะนี้มีการประชุมร่วมกันผ่านไป 3 ครั้ง ซึ่งยังมีข้อโต้แย้งของฝ่ายแรงงาน กับกระทรวงแรงงานที่มิได้ข้อยุติ คือประเด็นอำนาจ หน้าที่ ภารกิจ การได้มาของคณะกรรมการ และความเป็นองค์กรอิสระในการบริหาร ซึ่งยังมีคำถามว่าการยกร่างกฎหมายนี้ไม่ตรงตามเจตนารมณ์ ของผู้ใช้แรงงานที่เคลื่อนไหวเรียกร้องมาเป็นเวลานาน
 
ทั้งนี้ ยังมีการจัดเวทีเสวนา กรณีคนงานที่มีผลกระทบการเจ็บป่วย พิการ จาการทำงาน ทั้งแรงงานในระบบ แรงงานนอกระบบ แรงงานข้ามชาติ  และเวทีวิชาการในการวิเคราะห์ร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัยและ สภาพแวดล้อมในการทำงาน ด้วย
 
นักสื่อสารแรงงาน โครงการการพัฒนาสื่อ รายงาน
//////////////////////////////////////////////