แอมเนสตี้เรียกร้องไทยคุ้มครองสิทธิ กรณีศาลพิพากษาจำคุกนักสิทธิแรงงานข้ามชาติ

%e0%b8%ad%e0%b8%b2%e0%b8%99%e0%b8%94%e0%b8%b5%e0%b9%89

องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนแสดงความคิดเห็นกรณีคำพิพากษาตัดสินจำคุกนักสิทธิแรงงานข้ามชาติ แถลงเรียกร้องให้ทางการไทยดูแลปกป้องคุ้มครองนักสิทธิ เสนอทบทวนกฎหมาย 

ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ห้อง 405 เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2559 คดีที่บริษัทเนเชอรัล ฟรุต ซึ่งส่งออกสับปะรดกระป๋อง ฟ้อง นายอานดี้ ฮอลล์ นักสิทธิแรงงานข้ามชาติ ร่วมกับเว็บ finnwatch.org ข้อหาหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 328 และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ด้วยข้อมูลอันเป็นเท็จ 14(1) จากการจัดทำวิจัยและนำเข้าสู่เว็บไซต์ฟินวอชท์ซึ่งทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ซึ่งศาลตัดสินว่า อานดี้ ฮอลล์ มีความผิดตามฟ้อง โดยให้จำคุก 4 ปี ปรับ 200,000 บาท แต่เนื่องจากให้การเป็นประโยชน์และทำงานด้านสิทธิ เชี่ยวชาญด้านแรงงานข้ามชาติ เป็นประโยชน์และไม่เคยจำคุกมาก่อน ศาลจึงลดโทษหนึ่งในสี่เนื่องจากอานดี้ ฮอลล์ให้การเป็นประโยชน์ จึงลดโทษเป็นจำคุก 3 ปี ปรับ 150,000 บาท และให้รอลงอาญาเป็นเวลา 2 ปี และปรับ 150,000 บาท รวมถึงให้โฆษณาคำพิพากษาโดยย่อให้เว็บฟินวอชท์ เว็บไซต์มหาวิทยาลัยมหิดล เว็บไซต์ประชาไท เป็นเวลา 30 วัน และในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ บางกอกโพสต์และหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น ขนาด 4*5นิ้ว ติดต่อกัน 7 วัน นับแต่มีคำพิพากษา โดยให้จำเลยเป็นผู้ชำระค่าโฆษณาทั้งหมด

องค์กรด้านสิทธิร่วมแสดงความคิดเห็นหลังศาลตัดสินจำคุกอานดี้ ฮอลล์

คุณแชมพา พาเทล (Champa Patel) ที่ปรึกษาอาวุโสด้านงานวิจัยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวกับหนังสือพิมพ์ข่าวสดออนไลน์ว่า คำพิพากษาในวันนี้เป็นเรื่องที่น่าตกใจของคดีที่ในความจริงแล้วไม่ควรเกิดขึ้นเลยด้วยซ้ำ ประเทศไทยต้องให้ความสำคัญอย่างจริงจังต่อพันธกรณีที่จะต้องคุ้มครองผู้ทำงานเพื่อสิทธิมนุษยชน มากกว่าที่จะปล่อยให้กฎหมายถูกใช้โดยบริษัทเอกชนที่ต้องการปิดปากผู้เปิดโปงการละเมิดสิทธิ คดีอานดี้ ฮอลล์ เป็นเพียงหนึ่งในคดีหมิ่นประมาททางอาญาหลายคดีที่นักปกป้องสิทธิมนุษยชนต้องเผชิญจากการทำงานที่สำคัญเพื่อช่วยเหลือบุคคลและชุมชนที่เสี่ยงอันตราย ปัจจุบันมีการใช้กฎหมายหมิ่นประมาททางอาญาปิดปากผู้ที่ทำงานเปิดโปงความอยุติธรรม เพื่อประโยชน์สาธารณะ ทางการไทยจำเป็นต้องพิจารณาอย่างจริงจังเกี่ยวกับกฎหมายที่ถูกใช้เพื่อทำลายมากกว่าเพื่อส่งเสริมความยุติธรรม

คุณซอนญา วาร์เทียร์ลา ผู้อำนวยการบริหาร องค์กรฟินน์วอทช์ กล่าวว่า “เรารู้สึกตกใจมากที่ศาลพิพากษาให้ฮอลล์มีความผิด องค์กรฟินน์วอทช์เป็นผู้เขียนและตีพิมพ์รายงานฉบับนี้ ดังนั้นองค์กรจึงเป็นผู้ที่ต้องมีความรับผิดชอบต่อรายงานฉบับนี้ อานดี้ ฮอลล์เป็นเพียงแพะรับบาป เพื่อปิดปากผู้ที่พยายามออกมาเปล่งเสียงโดยชอบธรรมเพื่อสนับสนุนสิทธิแรงงานข้ามชาติ และเป็นวันที่น่าเศร้าสำหรับเสรีภาพในการแสดงออกในประเทศไทย เราเกรงว่านักปกป้องสิทธิมนุษยชนคนอื่นๆ และเหยื่อการละเมิดของบรรษัทจะหวาดกลัวจนไม่กล้าเปล่งเสียงเพราะคำพิพากษานี้ ซึ่งกฎหมายไทยที่อนุญาตให้มีการลงโทษความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยโทษทางอาญาและแม้กระทั่งการโทษจำคุกเป็นการละเมิดพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศของไทยอย่างชัดเจน เป็นการเปิดโอกาสให้บรรษัทฟ้องคดีนักปกป้องสิทธิมนุษยชนด้วยข้อหาหมิ่นประมาททางอาญา”

ทั้งนี้ องค์กรด้านสิทธิมนุษยชน “แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้ออกแถลงการณ์ก่อนการตัดสินคดี อานดี้ ฮอลล์ เพื่อ“เรียกร้องทางการไทยคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน จากการคุกคามโดยใช้อำนาจศาลของหน่วยงานของรัฐและเอกชน” โดยมีเนื้อหาดังนี้

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกังวลอย่างมากในการใช้กฎหมายหมิ่นประมาททางอาญาและข้อหาอาญาอื่นๆ เพื่อคุกคามนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและเรียกร้องทางการไทยรับประกันว่า จะไม่ใช้ข้อหาเช่นนี้เพื่อจำกัดสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก ในวันที่ 20 กันยายนนี้ศาลอาญากรุงเทพใต้จะมีคำพิพากษาในคดีหมิ่นประมาททางอาญาที่มีต่ออานดี้ ฮอลล์(Andy Hall)นักปกป้องสิทธิมนุษยชนและผู้นำการรณรงค์เพื่อสิทธิของแรงงานข้ามชาติในไทย

การฟ้องคดีต่ออานดี้ ฮอลล์ พลเมืองชาวอังกฤษ เป็นผลมาจากการมีส่วนร่วมของเขาในการจัดทำรายงานเมื่อเดือนมกราคม 2556 ของกลุ่มฟินน์วอชต์(Finnwatch) ซึ่งเป็นเอ็นจีโอจากฟินแลนด์ รายงาน “สินค้าถูกมีราคาสูง”(Cheap Has a High Price)บรรยายถึงการละเมิดสิทธิแรงงานนานัปการของบริษัทสามแห่งในไทย รวมทั้งบริษัทเนเชอรัลฟรุต จำกัด ซึ่งเป็นโรงงานแปรรูปผลไม้ในฐานะที่ปรึกษาด้านงานวิจัยให้กับฟินน์วอชต์อานดี้ ฮอลล์ได้สัมภาษณ์คนงานในโรงงานเนเชอรัลฟรุต ประจวบคีรีขันธ์ ภาคใต้ของไทย ซึ่งได้บรรยายถึงสภาพการทางานที่เสี่ยงอันตราย ได้รับค่าจ้างต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด บังคับให้ทำงานล่วงเวลา มีการยึดหนังสือเดินทาง และมีการเลือกปฏิบัติโดยใช้เหตุผลด้านชาติพันธุ์ รวมทั้งการละเมิดสิทธิแรงงานแบบอื่น

คำพิพากษาที่ศาลอาญากรุงเทพใต้มีกำหนดอ่าน เป็นผลมาจากคดีอาญาที่ฟ้องร้องโดยบริษัท เนเชอรัลฟรุต จำกัด ไม่นานหลังมีการตีพิมพ์เผยแพร่รายงานของฟินน์วอชต์บริษัทเนเชอรัลฟรุตกล่าวหาว่า อานดี้ ฮอลล์จงใจทำให้ภาพลักษณ์ของบริษัทเสียหาย และระบุว่ารายงานให้ข้อมูลเท็จเกี่ยวกับสภาพการทางานในโรงงาน อานดี้ ฮอลล์ถูกฟ้องตามมาตรา 328 ของประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาททางอาญา และมาตรา 14(1) ของพระราชบัญญัติการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ซึ่งห้ามการเผยแพร่ “ข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ…ที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน” ทั้งสองข้อหาอาจทำให้เขาได้รับโทษจำคุกสูงสุดไม่เกินเจ็ดปี และอาจถูกปรับเป็นเงินจานวนมาก

ในเดือนตุลาคม 2557 มีการตัดสินคดีอีกหนึ่งคดี ศาลยกฟ้องข้อหาหมิ่นประมาททางอาญาต่ออานดี้ ฮอลล์ เป็นการฟ้องคดีของบริษัท เนเชอรัลฟรุต จำกัด โดยเป็นผลมาจากการให้สัมภาษณ์ของเขากับสำนักข่าวอัลจาซีรา (Al Jazeera) คดียังอยู่ระหว่างการอุทธรณ์ บริษัท เนเชอรัลฟรุต จำกัดยังฟ้องคดีแพ่งอีกสองคดีต่ออานดี้ ฮอลล์ เรียกค่าเสียหายถึง 400 ล้านบาท โดยมีการสั่งเลื่อนการพิจารณาคดีแพ่งออกไปเพื่อรอผลการพิจารณาคดีอาญา

การใช้ข้อหาหมิ่นประมาททางอาญาเพื่อคุกคามนักปกป้องสิทธิมนุษยชน เป็นการละเมิดพันธกรณีของไทยที่จะคุ้มครองและเคารพสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก รวมทั้งข้อ 19 ของกติกา ICCPR ซึ่งไทยเป็นรัฐภาคี กฎหมายควรอนุญาตให้ผู้เสียหายฟ้องเฉพาะความผิดหมิ่นประมาทที่เป็นคดีแพ่งเท่านั้น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้เคยแถลงว่า กฎหมายต้อง “ร่างขึ้นด้วยความระมัดระวังเพื่อประกันว่า…กฎหมายนั้นจะไม่ส่งผลในทางปฏิบัติให้เกิดการคุกคามเสรีภาพของการแสดงออก” คณะกรรมการยังกระตุ้นให้รัฐบาลต่าง ๆ พิจารณาลดการเอาผิดทาง

อาญากับความผิดหมิ่นประมาทโดยสิ้นเชิง คณะกรรมการยังระบุด้วยว่า หากจำเป็นต้องมีกฎหมายหมิ่นประมาททางอาญา ให้ใช้เฉพาะกับคดีร้ายแรงสุดเท่านั้น ทั้งนี้ในการพิจารณาคดีให้ศาลรับฟังข้อต่อสู้ของจำเลยในแง่ความจริงและประโยชน์ต่อสาธารณะของข้อมูลด้วย และไม่ควรอนุญาตให้ใช้บทลงโทษที่รุนแรงเกินไป

อานดี้ ฮอลล์ เป็นหนึ่งในนักปกป้องสิทธิมนุษยชนหลายคนในประเทศไทยที่ถูกดำเนินคดีฐานหมิ่นประมาททางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา ตัวอย่างเช่น มีนักปกป้องสิทธิมนุษยชนสามคนรวมทั้งอดีตและประธานคนปัจจุบันของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลประเทศไทย ซึ่งถูกแจ้งความในข้อหาหมิ่นประมาททางอาญาโดยหน่วยงานของทหาร เป็นผลสืบเนื่องมาจากการตีพิมพ์เผยแพร่รายงานเกี่ยวกับการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายอื่น ๆ ของเจ้าหน้าที่ทหาร บริษัทเหมืองทองคำก็ได้ฟ้องคดีในลักษณะเดียวกันอีกสิบกว่าคดี เพื่อเอาผิดกับนักกิจกรรม ผู้สื่อข่าว และชาวบ้าน รวมทั้งเด็กผู้หญิงอายุ 15 ปี อันเป็นผลมาจากการเคลื่อนไหวต่อต้านการทำเหมืองแร่ในภาคเหนือของไทย

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ขอกระตุ้นรัฐบาลไทยให้ดำเนินมาตรการทุกประการที่จำเป็น เพื่อให้เกิดสภาพแวดล้อมที่ช่วยให้บุคคลและกลุ่มสามารถแสดงความเห็นได้อย่างสงบ และทำงานปกป้องสิทธิมนุษยชนโดยไม่ต้องหวาดกลัวกับการคุกคาม การข่มขู่หรือการตอบโต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เรียกร้องทางการไทยให้คุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนเพื่อไม่ให้ถูกจับกุม ไม่ให้ถูกดำเนินคดีและถูกจำคุก โดยการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา และให้ตัดความผิดทางอาญาของการหมิ่นประมาทออกไป

ข้อมูลพื้นฐาน

ข้อ 19 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights) ซึ่งประเทศไทยเป็นรัฐภาคี คุ้มครองสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก รวมทั้งสิทธิที่จะเผยแพร่ข้อมูล คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติยังชี้แจงเพิ่มเติมว่า สิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออกครอบคลุมการแสดงออกในทุกรูปแบบ รวมทั้งสิทธิที่จะสื่อสารข้อมูลเกี่ยวกับข้อกังวลด้านสิทธิมนุษยชน การจำกัดสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออกใด ๆ ต้องรองรับด้วยกฎหมาย และให้ทำเท่าที่จำเป็นเพื่อคุ้มครองสิทธิหรือชื่อเสียงของบุคคลอื่น เพื่อปกป้องความมั่นคงของรัฐ หรือความเป็นระเบียบเรียบร้อย การสาธารณสุขหรือศีลธรรมอันดี และต้องเป็นมาตรการจำกัดสิทธิในขั้นต่ำและมีสัดส่วนเหมาะสมต่อการบรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าวเท่านั้น

ปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยนักปกป้องสิทธิมนุษยชน (UN Declaration on Human Rights Defenders) เน้นย้ำพันธกรณีของรัฐที่จะต้องคุ้มครองบุคคลและกลุ่มซึ่งปกป้องสิทธิมนุษยชนให้ปลอดพ้นจาก “ความรุนแรง การคุกคาม การตอบโต้ การเลือกปฏิบัติทั้งในทางนิตินัยหรือพฤตินัย แรงกดดันหรือการกระทำโดยพลการใด ๆ” ในปี 2558 ประเทศไทยลงมติในที่ประชุมสมัชชาใหญ่เรียกร้องให้รัฐต่าง ๆ “ใช้มาตรการทั้งปวงที่จำเป็นเพื่อประกันสิทธิและความปลอดภัยของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ใช้สิทธิที่จะมีเสรีภาพด้านความเห็น การแสดงออก การชุมนุมและการสมาคมอย่างสงบ”

ในเดือนพฤษภาคม 2559 หน่วยงานสิทธิมนุษยชนและหน่วยงานระดับชุมชน 12 แห่งเผยแพร่แถลงการณ์ แสดงข้อกังวลเกี่ยวกับจำนวนคดีหมิ่นประมาททางอาญาที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเรียกร้องให้เพิ่มการคุ้มครองให้กับนักปกป้องสิทธิมนุษยชน