คนงานไทยเรยอนจัดศึกษาย้อนอดีตการต่อสู้ที่พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย

20140206_141024

มูลนิธิสหภาพแรงงานไทยเรยอน จัดทัศนศึกษาให้สมาชิกสหภาพแรงงานไทยเรยอน หลังคนงานส่วนหนึ่งยังไม่ได้กลับเข้าทำงาน นายจ้างอ้างยังเปิดการผลิตไม่เต็มที่ กลุ่มลูกจ้างหวั่นหลังกลับเข้าทำงานถูกโยกย้ายงาน ส่วนที่รอกลับกลัวเลิกจ้าง เจอกระแสครอบครัว สังคมบีบ เครียดรอกลับเข้าทำงาน

วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2557 มูลนิธิสหภาพแรงงานไทยเรยอน ได้จัดทัศนศึกษาให้กับสมาชิกสหภาพแรงงานไทยเรยอนประมาณ 30 คน เพื่อสร้างขวัญกำลังใจ ได้ผ่อนคลาย และเรียนรู้ประวัติศาสตร์การต่อสู้ของผู้ใช้แรงงานตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยมีการพาไปวัดพระแก้วมรกต เพื่อไหว้พระ จากนั้นก็เดินทางมาที่พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย ที่มักกะสัน เขตราชเทวี กรุงเทพ

นางสาวไข่มุก จันทโคตร์ รองประธานสหภาพแรงงานไทยเรยอน กล่าวว่า หลังจากทางสหภาพแรงงานฯกับทางบริษัทไทยเรยอน จำกัดได้ทำข้อตกลงกันและมีคนงานส่วนใหญ่กลับเข้าทำงานแล้วประมาณ 600 กว่าคน และมีอีกส่วนหนึ่งกว่า 100 คนยังไม่ได้กลับเข้าทำงาน แต่ได้รับค่าจ้างและสวัสดิการเท่ากับคนที่เข้าทำงานแล้ว

20140206_14095720140206_140845

ส่วนที่ยังไม่ได้กลับเขาทำงานนายจ้างอ้างเรื่องความไม่พร้อมของเครื่องจักร ตอนนี้ได้เปิดผลิตเพียง 2 เครื่อง จากทั้งหมด 5 เครื่อง ซึ่งกำลังจะเปิดเพิ่มอีกเครื่อง ช่วงนี้คนงานที่เข้ามาทำงานก็มีการโยกย้ายงานแผนกอื่น มีการปรับเปลี่ยนสภาพการทำงานใหม่ คนงานที่เข้ามาตอนนี้ยังล้นงาน ซึ่งตรงนี้เองที่ทำให้คนงาน หรือสมาชิกสหภาพแรงงานที่ยังไม่ได้เข้าทำงาน หรือแม้กระทั้งคนที่เข้าทำงานแล้ว ที่รู้สึกสับสน ไม่เข้าใจบริษัทว่าทำไมถึงไม่ได้เข้าทำงานพร้อมกัน

กลัวว่าจะมีการเลิกจ้าง มีคำถามมากมาย ทางสหภาพแรงงานจึงได้มีการจัดการประชุมชี้แจง และการนำมาทัศนศึกษาครั้งนี้ก็ได้ไปไหว้พระแก้วมรกตเพื่อสร้างขวัญกำลังใจ ส่วนที่มาพิพิธภัณฑ์แรงงานไทยเพื่อให้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ที่ยาวนานของผู้ใช้แรงงาน ซึ่งคุณวิชัย นราไพบูลย์ ผู้จัดการพิพิธภัณฑ์ฯ ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับความเป็นมาของพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย การก่อตั้งโดยแนวคิดเพื่อเชิดชูคุณค่าผู้ใช้แรงงานผู้ที่มีคุณูปราการในการสร้างบ้านเมือง เศรษฐกิจ สังคมให้เจริญเติบโต แต่กลับไม่มีใครพูดถึง พิพิธภัณฑ์ฯทำหน้าที่บอกให้สาธารณชน และคนรุ่นต่อไปได้รับรู้ถึงคุณค่านั้นด้วย มีการพูดถึงความเป็นแรงงานตั้งแต่ยุคไพร่ ทาส แรงงานรุ่นแรกที่ได้ค่าจ้างอย่างแรงงานจีนที่อพยพเข้ามา ซึ่งเป็นแรงงานข้ามชาติรุ่นแรกๆ การได้มาของสิทธิ สวัสดิการต่างๆ ที่ได้มาจากการเรียกร้องการต่อสู้ของขบวนการแรงงาน ที่ต่อสู้ตั้งแต่ระบบเผด็จการจนถึงระบบทุนอย่างกล้าหาญ การคุกคามสิทธิการรวมตัวการของผู้ใช้แรงงาน กว่าจะมีสิทธิ สวัสดิการแบบทุกวันนี้ก็ผ่านความยากลำบากมายาวนาน พร้อมทั้งได้มีการเดินชมพิพิธภัณฑ์ฯกันด้วย ซึ่งเสียดายที่การสื่อสารน้อยไปทำให้เพื่อนสมาชิกมาร่วมน้อย แต่คิดว่าจะจัดมากันอีก

นางละออ แก้วสาระ สมาชิกสหภาพแรงงานฯกล่าวว่า หลังจากที่เข้าทำงานก็มีความสับสนเรื่องหน้าที่งาน ถูกย้ายจากโรงใหม่มาทำโรงเก่าโดยหัวหน้าอ้างว่าอายุมากจะได้ไม่ต้องเดินไกล ซึ่งตนเองไม่เคยรู้สึกว่า อายุมากแล้วเป็นปัญหาเรื่องเดินไกลแม้แต่น้อย มีความวุ่นวายเรื่องการโยกย้ายงานมาก และรู้สึกถึงการทำงานที่ค้อนข้างผิดปกติระหว่างหัวหน้างานหลายคนที่บอกว่ากลัวคนงานจะเฉื่อยงาน ไม่ทำงานให้เต็มที กลัวว่าจะมีปัญหาเรื่องการคุมงาน ซึ่งตรงนี้เองในส่วนของคนที่ได้กลับเข้าทำงาน หรือเพื่อนที่ยังไม่ได้กลับเข้าทำงานก็คุยกันถึงความแปลกของแต่ละแผนก และพวกเราก็ไม่มีใครคิดอะไร เมื่อเข้าทำงานแล้วก็ตั้งใจทำงานกันเต็มที่ ตอนนี้ที่ผลผลิตออกมาไม่เต็มอัตราการผลิตก็เพราะยังเปิดทำงานผลิตไม่เต็มที่ ตอนนี้ทางนายจ้างก็มีการนำเครื่องจักรใหม่เข้ามา ซึ่งเท่าที่รู้ก็จะเป็นเครื่องจักรที่ใช้กำลังคนน้อยลง แม้ว่ากรรมการสหภาพแรงงานจะยืนยันว่า นายจ้างได้ตกลงว่าจะไม่มีการกลั่นแกล้ง หรือเลิกจ้างคนงานหลังจากกลับเข้าทำงาน วันนี้มีการโยกย้ายงานกันไปมา ส่งผลให้บางคนขอเกษียณอายุงานก่อนกำหนดเกษียณเพราะรับไม่ได้

“แม้ว่าพวกเราจะรู้สึกน้อยใจนายจ้างที่กระทำต่อพวกเรา เช่นข้อตกลงโบนัสที่น้อยลง แต่เพื่อแลกกับอนาคตการทำงานที่มั่นคงสวัสดิการหลายอย่าง ความสัมพันธ์ที่ทำงานร่วมกันมาหลายสิบปี พวกเราก็ก้มหน้าทำงานเพื่อสร้างผลผลิต โดยไม่ได้คิดแบ่งแยกว่ามีพี่น้องคนไหนที่กลับเข้าทำงานก่อนหรือไม่ แม้กระทั้งช่วงเราหยุดงานนายจ้างมีการนำคนงานรับเหมามาทดลองทำงานแทน เมื่อเข้าทำงานก็ทำงานเต็มที่ อย่าคิดแบ่งแยกคนงานออกจากกัน และให้ทำงานกันตามปกติเหมือนเดิมอย่าระแวงกัน” นางละออ กล่าว

หนึ่งในสมาชิกสหภาพแรงานที่ยังไม่ได้กลับเข้าทำงานกล่าวว่า ในกลุ่มคนที่ยังไม่ได้กลับเข้าทำงาน มี 2 แนวคิด คือ 1. ไว้ใจนายจ้างไม่กังวลกรณีที่นายจ้างรับปากรับกลับเข้าทำงาน และจ่ายค่าจ้าง สวัสดิการให้ซึ่งจะได้รับครั้งแรกวันที่ 7 ก.พ.นี้ เชื่อว่านายจ้างยังไม่พร้อมจริงจึงยังไม่รับเข้าไปทำงาน 2. กลุ่มที่กังวลว่าจะถูกนายจ้างเลิกจ้าง กลุ่มนี้จะถูกกดดันจากครอบครัว ชุมชน นักการเมืองท้องถิ่น ครอบครัว และชุมชนจะถามถึงว่าเมื่อไหร่จะได้กลับเข้าทำงาน คนอื่นๆเข้าไปทำงานแล้วทำไมจึงไม่ได้เข้าทำงาน ส่วนการเมืองท้องถิ่นกล่าวหาว่าเป็นกลุ่มที่หัวแข็ง หัวรุนแรง คุมไม่ได้นายจ้างเลยยังไม่ให้เข้าเป็นต้น กลุ่มที่สองจะเครียดมาก เพราะมีแรงเสียดทานสูง บางคนแค่ร้องเพลงช่วงชุมนุมมีคนไปฟ้องหัวหน้างาน ฟ้องฝ่ายบุคคลส่งผลให้เลื่อนเรียกเข้าทำงานเป็นต้น ซึ่งสหภาพแรงงานก็มีการช่วยเหลือนอกจากชี้แจงยังมีการจัดพัฒนาฝีมือให้กับสมาชิกด้วย ทั้งสอนทำอาหาร ขนม เย็บปักถักร้อย จักสานแต่ก็มีบางส่วนที่เข้ามาร่วมอบรมพัฒนาฝีมือ แต่อย่างไรก็ตามกลุ่มคนงานส่วนนี้ก็ยังรอนายจ้างเรียกกลับเข้าทำงาน แต่ที่แปลกใจกัน และสงสัยนายจ้างมากคือ ทำไมต้องเป็นพวกเราร้อยกว่าคนที่ไม่ได้เข้าทำงานคัดจากอะไร และนายจ้างให้กรรมการสหภาพแรงงานเข้าทำงานพร้อมกลุ่ม 600กว่าคน นายจ้างต้องการสร้างแนวคิดแตกแยกให้สมาชิกรู้สึกสงสัยกรรมการสหภาพหรือไม่เพราะมีข่าวลือว่า กรรมการสหภาพแรงงานรับเงินนายจ้างด้วย

นักสื่อสารแรงงาน รายงาน