เสวนาวิชาการ LCC. ชี้ ใช้ ม.75 ต้องเหตุจำเป็น น้ำท่วมเป็นเหตุสุดวิสัยลูกจ้างไม่ผิด นายจ้างต้องจ่ายเต็ม

เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2554 ศูนย์ช่วยเหลือและจัดการวิกฤติแรงงาน (LCC) ร่วมกับกลุ่มผู้ใช้แรงงานอยุธยา ได้จัดเวทีเสวนาเรื่อง สิทธิแรงงานกับการเข้าถึงสิทธิและความเป็นธรรมในภาวะพิบัติน้ำท่วม ณ ห้องประชุมเทศบาลตำบลปราสาททอง อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา โดยมีผู้ที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่อยุธยา ผู้นำแรงงาน นักกฎหมาย และทีมทนายความของศูนย์ช่วยเหลือฯ เข้าร่วมเวทีเสวนากว่า 30 คน

นายชฤทธิ์ มีสิทธิ์ ผู้จัดการศูนย์ช่วยเหลือและจัดการวิกฤติแรงงาน กล่าวว่า ได้ติดตามข่าวของพี่น้องคนงานที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติน้ำท่วมครั้งนี้มาตั้งแต่เริ่มเกิดวิกฤติแล้ว และเฝ้าติดตามว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของรัฐบาลจะให้ความช่วยเหลืออย่างไรบ้าง ซึ่งถึงขณะนี้เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า คงไม่ได้รับความช่วยเหลือไปมากกว่า มาตรการที่กระทรวงแรงงานได้ออกมาแล้ว ซึ่งยังมองว่าแรงงานได้รับผลกระทบอย่างมากมายนั้น และยังเข้าไม่ถึงสิทธิ ไม่เฉพาะแต่พื้นที่อยุธยาเท่านั้น พื้นที่อื่นเช่นอ้อมน้อย-อ้อมใหญ่ก็ได้รับผลกระทบไม่ต่างกัน และศูนย์ฯก็ได้ประสานมายังพื้นที่อยุธยาในการร่วมกันหาทางออกในประเด็นข้อกฎหมายและประเด็นสิทธิแรงงานว่าจะมีทางใดบ้างในการให้ความช่วยเหลือคนงานให้ได้รับสิทธิอย่างเป็นธรรม

ด้านนายอุดม ไกรยราช ประธานกลุ่มผู้ใช้แรงงานอยุธยาและใกล้เคียง เปิดเผยว่า นับตั้งแต่เกิดภาวะน้ำท่วมในพื้นที่อยุธยา ซึ่งเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมที่ใหญ่อันดับต้นๆของประเทศไทย โดยมีนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่อยุธยาถึง  5 แห่งคือนิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร, นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ, นิคมอุตสาหกรรมบ้านหว้า (ไฮเทค) , นิคมอุตสาหกรรมบางประอินและเขตประกอบการอุตสาหกรรมแฟคตอรี่แลนด์ วังน้อย โรงงานจำนวนมากได้รับผลกระทบไม่สามารถเดินเครื่องได้ ทำให้คนงานไม่ได้ทำงานและต้องตกงาน ซึ่งจากการติดตามคนงานได้รับผลกระทบเป็นหมื่นคน บางโรงงานจ่ายค่าจ้างเพียง 75 เปอร์เซ็นต์ หรือ 50 เปอร์เซ็นต์ และมีบางส่วนที่ไม่จ่ายเลยก็มี และที่เจ็บปวดที่สุดก็คือการเลิกจ้างคนงานและล้มสหภาพแรงงานซึ่งกลุ่มฯได้ได้พยายามหาทางช่วยเหลืออย่างเต็มที่

ขณะที่นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ รศ.ดร.พอพันธ์ อุยยานนท์ ศูนย์เศรษฐกิจชุมชนศึกษา มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมมาธิราช (มสธ.) ให้ความเห็นว่า ในความคิดของรัฐผ่านแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาตินั้นจะเห็นได้ว่า มีการส่งเสริมการลงทุนด้านอุตสาหกรรมเป็นด้านหลัก โดยมีข้อมูลว่า รายได้ส่วนใหญ่เกิดจากภาคอุตสาหกรรม มิใช่ภาคเกษตรอีกต่อไป นั้นหมายความว่า กำลังแรงงานส่วนใหญ่ก็จะไปทำงานในภาคอุตสาหกรรม โดยมีชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน และถูกละเมิดสิทธิ เพื่อให้สามารถมีชีวิตอยู่ได้ในระบบทุนนิยม โดยทุนจะมองคนงานเป็นเพียงต้นทุนการผลิต 

รศ.ดร.พอพันธ์ อุยยานนท์ ยังกล่าวอีกว่าในมุมมองในด้านแรงงานในปัจจุบันนั้น มองว่า สิ่งที่ขาดหายไปด้านแรงงานคือ ขาดรายได้ , ขาดโอกาส , ขาดสิทธิ , ขาดอำนาจและขาดศักดิ์ศรี และระบบทุนเอาเปรียบแรงงาน โดยเฉพาะรัฐส่งเสริมให้มีการใช้แรงงานราคาถูกมาอย่างยาวนาน ซึ่งความสามารถในการผลิตของแรงงานไทยสูงกว่าค่าจ้างมาก และจากภาวะวิกฤตน้ำท่วมในครั้งนี้ สิ่งที่รัฐควรจะทำในเชิงรุกนั้นคือการสร้างระบบอัตโนมัติ ในการช่วยเหลืออย่างเป็นระบบเหมือนต่างประเทศ ซึ่งเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่เป็นผลกระทบขึ้นมา ระบบก็จะทำงานโดยอัตโนมัติ โดยไม่ต้องมานั้นออกมาตรการเฉพาะหน้าอีก และไม่ควรผลักภาระค่าจ้างให้เป็นการต่อรองของนายจ้าง-ลูกจ้าง แต่ควรเป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องเข้ามาดูแล

ด้านนักกฎหมายอย่าง ผศ.จตุพล หวังสู่วัฒนา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ให้ความเห็นว่า จากกระแสข่าวจะเห็นว่ามีบางสถานประกอบการที่ใช้มาตรา 75 โดยจ่ายค่าจ้างให้ 75 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถ้าหากพิจารณาในมาตรานี้แล้วจะเห็นว่า การที่จะใช้มาตรา 75 นั้น จะต้องเป็นเหตุจำเป็นที่มิใช่เหตุสุดวิสัย ที่จะต้องหยุดกิจการชั่วคราวหรือบางส่วน ดังนั้นการที่นายจ้างจะใช้มาตรา 75 นั้นจะใช้ได้ในกรณีเดียวคือเหตุจำเป็นเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับเหตุสุดวิสัย และในวิกฤติน้ำท่วมในครั้งนี้เมื่อเป็นเหตุสุดวิสัยซึ่งมิใช่ความผิดหรือการกระทำของลูกจ้างจึงยังเป็น “หน้าที่”ของนายจ้างที่จะต้องจ่ายค่าจ้างให้กับลูกจ้างเต็มจำนวน ส่วนการจะมีงานให้ลูกจ้างทำหรือการมอบหมายงานให้ทำหรือไม่นั้น เป็น “สิทธิ”ที่นายจ้างจะให้ทำหรือไม่ให้ทำ และศาลได้มีแนวคำพิพากษาไว้แล้วว่า การมอบหมายงานให้ลูกจ้างนั้นเป็นสิทธิที่นายจ้างจะมอบงานให้ทำหรือไม่ก็ได้ แต่หน้าที่ของนายจ้างก็คือการ จ่ายค่าจ้างให้กับลูกจ้าง ซึ่งจะเห็นว่ามีหลายบริษัทที่จ่ายค่าจ้างให้แต่ไม่ให้เข้าทำงานอย่างนี้เป็นต้น

ผศ.จตุพล หวังสู่วัฒนา หวังสู่วัฒนา ยังกล่าวต่ออีกว่า เมื่อเทียบเคียงกับเหตุการณ์น้ำท่วมในครั้งนี้ก็จะเห็นว่า แม้จะเป็นสัญญาต่างตอบแทน ลูกจ้างไม่ได้ทำงานให้นายจ้างจึงไม่จำต้องจ่ายค่าจ้างนั้น ไม่น่าจะถูกต้อง เนื่องจากการจ่ายค่าจ้างเป็นหน้าที่ของนายจ้างที่จะต้องจ่ายให้กับลูกจ้างอยู่แล้วในเมื่อสัญญาจ้างระหว่างนายจ้าง-ลูกจ้างยังไม่สิ้นสุด นายจ้างจึงยังมี “หน้าที่”ในการจ่ายค่าจ้างอยู่ตลอดเวลา และค่าจ้างที่เป็นเงินนั้น ศาลก็เคยได้วินิจฉัยไว้ว่าไม่เป็นการพ้นวิสัยที่นายจ้างจะจ่ายได้ และยังมีคำพิพากษาศาลฎีกาในปี 2525 กรณีน้ำท่วมโรงงานเช่นกัน ศาลก็สั่งให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างให้กับลูกจ้างเต็มจำนวน และฎีกาปี 2529 กรณีไฟไหม้โรงงาน ก็มีคำพิพากษาคล้ายกันที่สนับสนุนและเทียบเคียงกับการเกิดเหตุอุทกภัยครั้งนี้ เพราะฉะนั้น การที่จะใช้มาตรา 75 นั้นจะต้องเป็นเหตุจำเป็นเท่านั้น ซึ่งถ้าหากเป็นเหตุสุดวิสัยก็ยังต้องจ่าย 100 เปอร์เซ็นต์

พรนาราย ทุยยะค่าย นักสื่อสารแรงงานศูนย์พื้นที่สระบุรี รายงาน