KFC ประกาศเลิกจ้าง พนักงาน Area Coaches (KFC)

แรงงานKFCร้องกระทรวงแรงงาน ถูกนายจ้างประกาศเลิกจ้าง ระหว่างยื่นข้อเรียกร้อง อ้างข้อเรียกร้องไม่สมบูรณ์
 
นายจ้าง ยัมเรสเทอรองตส์อินเตอร์เนชั่นแนล ( ประเทศไทย ) จำกัด  เป็นผู้ให้บริการ ผู้บริหาร และ ผู้ให้สิทธิแฟรนไชส์ร้านอาหารบริการด่วน KFC และ PIZZA HUT ในประเทศไทย เพื่อให้บริการในร้านอาหารเคเอฟซีรวมกว่า 306 สาขา และร้านพิซซ่าฮัทกว่า 75 สาขา ทั้งในกรุงเทพฯ และอีกกว่า 56 จังหวัดทั่วประเทศไทย
 
ประกาศเลิกจ้าง ผู้แทนคนงาน  3 คน ประกอบด้วย นายกฤษ สรวงอารนันท์ ,นางสาว ศิวพร, สมจิตร และนาง อภันตรี เจริญศักดิ์  ในวันนี้ (9 พฤษภาคม 2554) หลังจากเมื่อวันที่ 26 เม.ย. 54   พนักงานบริษัทฯ ในเขต กรุงเทพฯ,สมุทรปราการ และปทุมธานี จำนวน 200 กว่าคน จากพนักงาน 900 กว่าคน  ได้ร่วมกันลงชื่อและลายมือชื่อ ยื่นข้อเรียกร้อง เพื่อเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างต่อบริษัท ตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 13 พร้อมแต่งตั้งผู้แทนเจรจา 7 คน โดยมีคนงานทั้ง 3 คนดังกล่าวเป็นผู้แทนเจรจาด้วย 
 
โดยมีข้อเรียกร้องทั้งหมด 10 ข้อ ดังนี้ 
 
1. ขอให้บริษัทฯ ปรับเงินเดือนขึ้นประจำปี 2555 ให้กับพนักงานทุกคน ไม่น้อยกว่าร้อยละ10 ของฐานเงินเดือน (10 %)
   1.1 ขอให้บริษัทฯ ยกเลิกเพดานเงินเดือน และปรับปรุงหลักเกณฑ์การปรับเงินเดือนประจำปี ในแบบปัจจุบัน
 
2. ขอให้บริษัทฯ จ่ายเงินโบนัส หรือเงินพิเศษ ประจำปี 2554 ให้กับพนักงานทุกคนไม่น้อยกว่า 3 เท่าของฐานเงินเดือน
    2.1 ขอให้บริษัทฯ ยกเลิกหลักเกณฑ์ วิธีการจ่ายเงินโบนัสที่ปฏิบัติอยู่ในปัจจุบัน และให้กลับไปใช้หลักเกณฑ์เดิม
 
3. ขอให้บริษัทฯ ปรับปรุงสวัสดิการ ค่าตอบแทนพนักงานที่ทำงานครบ 5 ปี 10 ปี 15 ปี และ 20 ปี เป็นดังต่อไปนี้ 1. อายุงานครบ 5 ปี จากเดิม ทองคำ 0.25 บาท .เปลี่ยนเป็นเงิน 10,000 บาท 2. อายุงานครบ 10 ปี จากเดิม ทองคำ 0.50 บาท เปลี่ยนเป็นเงิน 30,000 บาท 3. อายุงานครบ 15 ปี จากเดิม ทองคำ 0.75 บาท เปลี่ยนเป็นเงิน 50,000 บาท 4. อายุงานครบ  20 ปี จากเดิม ทองคำ 1.00 บาท เปลี่ยนเป็นเงิน 100,000 บาท 5. อายุงานครบ 25 ปี จ่ายเงินรางวัล 150,000 บาท
 
4. ขอให้บริษัทฯ จัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ในปี 2554 โดยพนักงานหักเงินสะสม ในอัตรา 5 % และบริษัทฯจ่ายเงินสมทบในอัตรา 5 %   
 
5. ขอให้บริษัทฯ จัดให้พนักงานได้หยุดงานในวันหยุดตามประเพณี ที่บริษัทฯ ประกาศ 15 วัน ต่อปี และปฏิบัติให้ถูกต้องตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 หากบริษัทฯ มีความจำเป็นไม่สามารถให้พนักงานหยุดงานในวันหยุดประเพณีดังกล่าวได้ให้บริษัทฯจ่ายค่าทำงานในวันหยุด ให้กับพนักงานที่มาปฏิบัติงาน
 
6. ขอให้บริษัทฯ ปรับปรุงสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลของพนักงานให้สอดคล้องกับความเป็นจริงดังต่อไปนี้
    6.1 กรณีพนักงานเจ็บป่วย ต้องเข้ารับการรักษาเป็นผู้ป่วยใน ขอให้บริษัทฯ จ่ายค่ารักษาพยาบาลตามคำวินิจฉัยของแพทย์ หรือตามแพทย์สั่ง รวมค่าห้อง   และค่าอาหาร 100 %
    6.2 กรณีพนักงานเจ็บป่วย ทั่วไป ขอให้บริษัทฯ เพิ่มวงเงินค่ารักษาพยาบาลของพนักงาน จากเดิม 40, 000 บาท / คน / ปี เป็น 150,000 บาท/คน/ปี
    6.3 ขอให้บุคคลในครอบครัวของพนักงาน (บิดา, มารดา, คู่สมรส และบุตร) เบิกค่ารักษาพยาบาลครอบครัวพนักงานได้ ในวงเงิน 50, 000 บาท ต่อปี
    6.4 กรณีพนักงานต้องรักษาโรคทันตกรรม (ขูดหินปูน, อุดฟัน, ถอนฟัน, โรคเหงือก, คลอบฟัน, รักษารากฟันและใส่ฟัน) ขอให้บริษัทจ่ายค่ารักษาพยาบาล 100 %
 
7.  ขอให้บริษัทแก้ไขปรับปรุง การเบิกเงินค่าพาหะนะ ในการเดินทางปฏิบัติหน้าที่ของพนักงาน เป็นดังต่อไปนี้
     7.1 ขอให้บริษัทฯ ยกเลิกเพดานเงินค่าพาหะนะในการเดินทางของทีมผู้จัดการร้านที่มีอยู่ในปัจจุบัน      
     7.2 ขอให้บริษัทฯ จ่ายเงิน ค่าพาหะนะเดินทาง ไปประชุม ทั้งขาไป และขากลับ
     7.3 ขอให้บริษัทฯ จ่ายเงินค่าพาหะนะเดินทาง มาปฏิบัติงานของพนักงานในช่วงเวลา 21.00 น. ไปจนถึงเวลา 05.00 น. ของวันถัดไป 200 บาท / คน / วัน
 
8. ขอให้บริษัทฯ จัดอาหารฟรีให้กับพนักงานที่มาปฏิบัติงาน 1 มื้อ ในวงเงิน 119 บาท / คน / กะ
 
9. ขอให้บริษัทฯ ปรับปรุงแก้ไข วันหยุดพักผ่อนประจำปีของพนักงาน ที่ใช้ไม่หมดในปีปัจจุบัน ขอให้บริษัทฯจ่ายเป็นเงินสด ภายใน วันที่ 25 มกราคม ของปีถัดไป ในอัตราค่าจ้างของปีที่จ่าย เท่ากับจำนวนวันหยุดพักผ่อนประจำปี ที่เหลือ 100 %
 
10. ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีประกาศวันหยุดราชการเพิ่มเติม ขอให้บริษัทฯ จ่ายค่าตอบแทนการปฏิบัติงานในวันดังกล่าว เป็น 2 เท่าของค่าจ้าง / ชั่วโมง หรือต่อวัน
แหล่งข่าวกระทรวงแรงงานกล่าวว่า ทั้งนี้เมือครบกำหนด 3 วัน บริษัทฯ ไม่มีการแต่งตั้งผู้แทนเจรจาผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง จึงยื่นหนังสือ พิพาทแรงงาน ต่อพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงาน เมื่อวันที่ 29 เม.ย. 54 และพนักงานประนอมข้อพิพาท ฯ ทำหนังสือเชิญทั้ง 2 ฝ่าย มาเพื่อไกล่เกลี่ยข้อพิพาท วันที่  3  พ.ค. 54  ที่สำนักแรงงานสัมพันธ์  แต่นายจ้างไม่มา แจ้งเป็นหนังสือไม่ส่งผู้แทนเข้าเจรจา ทำให้ไม่มีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท และขณะนี้อยู่ระหว่างการนัดหมายไกล่เกลี่ยข้อพิพาทอีกครั้งในวันที่ 20 พฤษภาคม 2554 ที่กระทรวงแรงงานอีกครั้ง และขณะนี้คนงานได้มีการยื่นจดทะเบียนสหภาพแรงงานแล้ว วันนี้หลังจากที่คนงานได้ร้องเรียนที่สำนักงานแรงงานสัมพันธ์ กระทรวงแรงงาน กรณีการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม เจ้าหน้าที่รัฐได้เสนอให้มีการร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ (ครส.)ภายใน 60 วัน
 
นายชัยสิทธิ์ สุขสมบูรณ์ รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าวว่า การเลิกจ้างครั้งนี้ เป็นการละเมิดสิทธิคนงาน เนื่องจากอยู่ระหว่างการลงลายมือชื่อยื่นข้อเรียกร้อง และจัดตั้งสหภาพแรงงาน ซึ่งคิดว่านายจ้างคงไม่ต้องการให้เกิดสหภาพแรงงาน เพราะทั้ง 3 คนเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง การเลิกจ้างครั้งนี้ นายจ้างอ้างว่า การเรียกร้องไม่สมบูรณ์ เนื่องจากมีผู้ลงชื่อยื่นข้อเรียกร้องเพียง 200 กว่าคน จากพนักงานนับหมื่นคน อันนี้คนงานเองเพียงล่าลายมือชื่อคนงานจากจังหวัดสมุทรปราการ กรุงเทพ และปทุมธานีซึ่งมีคนงานประมาณ 900 คนเท่านั้น อย่างไรก็ตามคงจะนำเรื่องเข้าสู่การประชุมคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ให้หาทางช่วยเหลือแก้ไขปัญหา เนื่องจากเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
 
ทั้งนี้ นายจ้างได้ประกาศเลิกจ้างโดยแจ้งผ่านทางอีเมล์ถึง พนักงานทั้ง 3 คน โดยมีข้อความประกาศถึง Bangkok-All KFC Restaurants; Bangkok-All RSCs; Bangkok-All Pizza Hut Restaurants ถึงพนักงานทุกท่าน บริษัทขอแจ้งให้พนักงานทุกคนทราบว่า ในวันนี้บริษัทได้เลิกจ้าง Area Coaches (KFC) ดังต่อไปนี้แล้วนายกฤษ สรวงอารนันท์ นางสาวศิวพร สมจิตร และนางอภันตรี เจริญศักดิ์ โดยการเลิกจ้างมีผลโดยทันทีเนื่องจากได้กระทำผิดระเบียบวินัยของบริษัท 
 
บุคคลดังกล่าวทั้งหมดไม่ได้เป็นพนักงานของบริษัทอีกต่อไปแล้ว  บริษัทจึงไม่อนุญาตให้บุคคลทั้งสามคนเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการทำงานในร้าน และไม่อนุญาตให้ใช้อำนาจสั่งการใดๆแก่พนักงานของบริษัท นอกจากนี้ บริษัทไม่อนุญาตให้บุคคลทั้งสามคนกระทำการใดๆในนามของบริษัทอีกต่อไป
 
จึงแจ้งมาเพื่อทราบ และขอให้ปฏิบัติตามประกาศฉบับนี้โดยเคร่งครัด
แอนโทนี่ ลีออง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ฝ่ายปฏิบัติการ
 
นักสื่อสารแรงงาน โครงการการพัฒนาสื่อ รายงาน 
///////////////////////////////////////////