องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) นำเสนองานวิจัย สำรวจความคืบหน้าเกี่ยวกับสภาพการทำงานของแรงงานประมงและอาหารทะเลในประเทศไทย พบมีแนวโน้มที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม กรณีการละเมิดยังคงปรากฎในภาคอุตสาหกรรมประมงและอาหารทะเล รวมถึงลักษณะการละเมิดร้ายแรง อาทิ การทำงานโดยไม่สมัครใจและการบังคับข่มขู่ซึ่งก่อให้เกิดสภาวะแรงงานบังคับ
วันที่ 10 มีนาคม พ.ศ 2563 โครงการสิทธิจากเรือสู่ฝั่ง ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO Ship to Shore Rights Project) ได้เสนอข้อมูลที่ได้จากการวิจัยเพื่อสำรวจความคืบหน้าเกี่ยวกับสภาพการทำงานของแรงงานประมงและอาหารทะเลในประเทศไทย (Endline Research Findings on Fishers and Seafood Workers in Thailand) ที่ห้องอยุธยา ชั้น 8โรงแรมอมารีวอเตอร์เกท กรุงเทพมหานคร หลังจากการวิจัยพื้นฐานครั้งแรกเมื่อสองปีที่แล้ว
องค์การแรงงานระหว่างประเทศ(ILO ได้เปิดเผยข้อมูลหลักฐาน รายงานฉบับใหม่ของILO ที่แสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับสภาพการทำงานของแรงงานในภาคอุตสาหกรรมประมงและอาหารทะเลในประเทศไทยที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ 2560 และข้อมูลประมาณการณ์สถานการณ์แรงงานบังคับ จากการสำรวจแรงงานใน 11 จังหวัดชายฝั่งทะเล จากงานวิจัยชิ้นนี้เป็นการติดตามความคืบหน้าหลังจากที่ได้เผยแพร่ผลงานวิจัยข้อมูลพื้นฐาน ในปี พ.ศ 2561 ของโครงการสิทธิจากเรือสู่ฝั่ง (สนับสนุนโดยสหภาพยุโรป) โดยทำการสำรวจแรงงานประมง 219 คน และแรงงานโรงงานแปรรูปอาหารทะเล 251 คน เพื่อหาหลักฐานการเปลี่ยนแปลงในด้านการจัดหางาน สัญญาจ้าง การจ่ายค่าจ้าง ชั่วโมงทำงาน ความปลอดภัยและการจัดตั้งของแรงงาน
โดยรายงานวิจัยข้อมูลพื้นฐานของ ILO แสดงให้เห็นถึงภาพของสภาพการทำงานในอุตสาหกรรมประมงและแปรรูปอาหารทะเลในประเทศไทย 2 ปีผ่านไป ข้อมูลจากงานวิจัยวัดผลความก้าวหน้า แสดงให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของสภาพการทำงานโดยรวมที่เคลื่อนไปในทิศทางที่ถูกต้อง มีการจ่ายค่าจ้างที่สูงขึ้นในอุตสาหกรรมทั้งสองประเภท โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มีโครงสร้างของการจ้างงานอย่างเป็นทางการ การขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนี้ ส่วนหนึ่งเกิดขี้นจากการปรับปรุงกรอบกฎหมาย ภายหลังที่ประเทศไทยให้สัตยาบันอนุสัญญาของ ILO ว่าด้วยการทำงานในภาคประมง (ฉบับที่ 188 ปี พ.ศ 2550) และพิธีสารว่าด้วยแรงงานบังคับ (ฉบับที่ 29) ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากการทำงานวิจัยข้อมูลพื้นฐานปี พ.ศ 2561
แม้ว่าจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม กรณีการละเมิดยังคงปรากฎในภาคอุตสาหกรรมประมงและอาหารทะเล รวมถึงลักษณะการละเมิดร้ายแรง อาทิ การทำงานโดยไม่สมัครใจและการบังคับข่มขู่ซึ่งก่อให้เกิดสภาวะแรงงานบังคับ รายงานฉบับนี้ให้ข้อเสนอแนะเพื่อการเปลี่ยนแปลงต่อรัฐบาลไทย องค์กรนายจ้าง องค์กรลูกจ้าง สหภาพและผู้ซื้ออาหารทะเลไทยในต่างประเทศ ข้อเสนอแนะของ ILO รวมถึง ให้เจ้าหน้าที่ของไทยทำการกักเรือในกรณีที่มีการละเมิดที่ร้ายแรงตามกฎหมายและระงับการยื่นขอใบอนุญาตทำงานใหม่สำหรับนายจ้างที่ละเมิดกฎหมายแรงงานที่ยังไม่แก้ไข
นอกจากนี้ ILO ขอให้สหภาพและองค์กรภาคประชาสังคม รวมถึงผู้ให้ทุนสนับสนุนจากต่างประเทศ ปรับทิศทางการดำเนินงานเพื่อให้เกิดการจัดตั้งและสนับสนุนแรงงานให้ทำงานผลักดันประเด็นต่างๆได้ด้วยตัวเอง และสุดท้าย เพื่อให้การรับรองมาตรฐานการทำงานที่มีคุณค่า (decent work) ของผู้ซื้อและผู้จ้ดหาสินค้าของไทยนำไปสู่การปฎิบัติ ไอแอลโอ เรียกร้องต่อผู้นำอุตสาหกรรมด้านต่างๆ ในประเทศไทยและผู้ซื้อในต่างประเทศ ให้ตัดทอนห่วงโซ่อุปทานให้สั้นลง เพื่อเพิ่มความรับผิดชอบต่อการปฎิบัติด้านแรงงานของผู้จัดหาสินค้า (Supplier) และเสริมสร้างความรับผิดชอบของผู้ซื้อ (buyer) ในการยึดมั่นในมาตรฐานของตนเอง
นายจูเซปเป้ บูซินี่ รองหัวหน้าคณะผู้แทนสหภาพยุโรป ประจำประเทศไทยกล่าวว่า “งานสำรวจวิจัยนี้แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มเชิงบวกและความก้าวหน้าที่เป็นรูปธรรม ขณะเดียวกัน ยังแสดงให้เห็นถึงความจำเป็นที่ต้องมีความพยายามอย่างต่อเนื่องเพื่อจัดการกับความท้าทายที่ยังเหลืออยู่อย่างเป็นองค์รวม สหภาพยุโรปมีความตั้งใจและมุ่งมั่นที่จะทำงานกับประเทศไทยเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องของโครงการสิทธิจากเรือสู่ฝั่งและจะพยายามยกระดับงานให้ขยายขอบเขตไปในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมุ่งเน้นที่การย้ายถิ่นของแรงงานในภาคประมง”
นายสุทธิ สุโกศล ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า “งานวิจัยวัดผลความก้าวหน้านี้แสดงถึงความสำเร็จในการบูรณาการร่วมกันระหว่างภาครัฐ นายจ้าง ลูกจ้างและภาคประชาสังคมซึ่งมีวัตถุประสงค์ร่วมกันเพื่อป้องกันปัญหาการละเมิดด้านแรงงานที่ร้ายแรงในอุตสาหกรรมประมงและแปรรูปอาหารทะเลในประเทศไทย รายงานฉบับนี้เปิดเผยให้เห็นถึงความสำเร็จของประเทศไทย อาทิเช่น จำนวนแรงงานที่เข้ามาทำงานผ่านช่องทางปกติและค่าจ้างที่เพิ่มสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังคงมีช่องว่างและความท้าทายที่ภาคีทุกฝ่ายในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านจำเป็นต้องทำงานร่วมกันเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดอุตสาหกรรมอาหารทะเลที่เป็นธรรมและยั่งยืนในห่วงโซ่อุปทานโลก”
นายแกรม บัคลีย์ ผู้อำนวยการ ILO ประจำประเทศไทย กัมพูชาและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว อธิบายว่า “รายงานฉบับนี้แสดงให้เห็นผลแห่งความพยามยามร่วมกันของรัฐบาลไทย นายจ้าง สหภาพและ ไอแอลโอ ในช่วงสองปีที่ผ่านมา อาทิเช่น เราเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นของสภาพที่อยู่อาศัยในช่วงห้าปีที่ผ่านมา และมุมมองของแรงงานจากทั้งสองประเภทอุตสาหกรรมที่เห็นว่าเปลี่ยนแปลงเป็นไปในทิศทางที่ถูกต้อง”
นายบัคลีย์ แสดงความคิดเห็นต่อดังนี้ “ข้อมูลในรายงานฉบับนี้ยังชี้ให้เห็นว่ายังคงมีสิ่งที่ต้องดำเนินการต่อไปอีกมาก การประเมินสภาวะปัญหาแรงงานบังคับในอุตสาหกรรมซึ่งเป็นประเด็นที่ทำให้ทั่วโลกให้ความสนใจต่อภาคการแปรรูปอุตสาหกรรมของไทย พบว่าร้อยละ 7 ของแรงงานแปรรูปอาหารทะเล และร้อยละ 14 ของแรงงานประมงที่ให้สัมภาษณ์ประสบกับสภาวะการทำงานโดยไม่สมัครใจและบังคับข่มขู่ ซึ่งเป็นองค์ประกอบของแรงงานบังคับ ILO มุ่งมั่นที่จะทำงานในประเด็นต่างๆ เหล่านี้ต่อไปในประเทศไทย และจะต่อยอดในระดับภูมิภาค”
*****
ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการสิทธิจากเรือสู่ฝั่ง
โครงการสิทธิจากเรือสู่ฝั่งของILOภายใต้การสนับสนุนของสหภาพยุโรป มีเป้าประสงค์เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาแรงงานบังคับ การใช้แรงงานเด็กและลักษณะงานที่ไม่เป็นที่ยอมรับของอุตสาหกรรม และขจัดการแสวงประโยชน์กับแรงงาน โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานข้ามชาติ ในอุตสาหกรรมประมงและแปรรูปอาหารทะเล โดยร่วมมือกับกระทรวงแรงงาน หน่วยงานภาครัฐต่างๆ และภาคีทางสังคม รายงานฉบับเต็มและรายละเอียดเกี่ยวกับโครงการฯ สามารถดูเพิ่มเติมได้จากเวบไซด์ www.shiptoshorerights.org
สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ วสุ ธีระศักดิ์ เจ้าหน้าที่ประสานงานโครงการ ที่หมายเลขโทรศัพท์ +66 (0)98 592 9565 หรืออีเมล: thirasak@iloguest.org