ILOร่วมสหภาพแรงงานไทย ผลักดันให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับที่ 87 และ 98 เพื่อยกระดับมาตรฐานแรงงาน

   

วันที่ 29-30 สิงหาคม 2555 ที่โรงแรมอามารี วอเตอร์เกต ประตูน้ำ กรุงเทพฯ จัดโดยองค์การแรงงานระหว่างประเทศ(ILO) ร่วมกับเครือข่ายองค์กรแรงงานต่างๆ ในนามของคณะทำงานผลักดันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 อันประกอบด้วย สภาองค์การลูกจ้าง , สหพันธ์แรงงาน , กลุ่มสหภาพแรงงาน , คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย , สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ได้มีการจัดประชุมเพื่อผลักดันรัฐบาลให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ(ILO) ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวจัดตั้งองค์กร และเจรจาต่อรอง เพื่อสิทธิและคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ใช้แรงงาน

 
นายจียวน หวัง ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย กัมพูชา และลาว องค์การแรงงานระหว่างประเทศกล่าวว่า องค์การแรงงานฯได้มีการทำงานร่วมกันกับองค์กรแรงงานไทย ในการรณรงค์ว่าด้วยงานที่มีคุณค่า ซึ่งจะมีการจัดทำแผนงานการให้สัตยาบันอนุสัญญาILOทั้ง 3 ฉบับ คือ ฉบับที่ 87 ฉบับที่ 98 และฉบับที่ 111 ด้วยจะมีการเตรียมความพร้อมจัดทำแผนตั้งแต่ปี2012-2016 เพื่อการให้สัตยาบันว่าด้วยงานที่มีคุณค่า ซึ่งมีการกล่าวถึงการคุ้มครองการจ้างงาน และสวัสดิการ ซึ่งประเทศไทยจะมีการเปิดเสรีอาเซี่ยนในอีก 5 ปี
ประเทศไทยได้มีการให้สัตยาบันสำคัญๆแล้ว 5 ฉบับ ยังเหลืออีก 3 ฉบับที่ยังไม่ได้ให้สัตยาบัน การให้สัตยาบันของประเทศไทยเป็นการรับรองว่า ประเทศไทยเคารพและยอมรับสิทธิและเสรีภาพของลูกจ้างในการรวมตัวเจรจาต่อรอง ซึ่งจะส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม เนื่องจากภาพลักษณ์การคุ้มครอง และดูแล การให้สิทธิแรงงาน 
 
การทำงานร่วมกันของ 12 องค์กรแรงงานกับองค์การแรงงานILO การขับเคลื่อนรณรงค์ให้รัฐบาลให้สัตยาบัน ด้วยการสนับสนุนการทำงานวิชาการให้รัฐ นายจ้าง ลูกจ้างเพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกัน
นายชินโชติ์ แสงสังข์ ประธานสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานแห่งประเทศไทยกล่าวว่า การเคลื่อนไหวรณรงค์ผลักดันให้รัฐบาลให้สัตยาบันอนุสัญญาILO ฉบับที่ 87 และ 98 ขบวนการแรงงานได้รณรงค์มา 20 ปี ผ่านวันแรงงานแห่งชาติ และวันสำคัญๆต่างๆ ซึ่งน่าผิดหวังว่า รัฐบาลยังไม่มีการให้สัตยบาบันอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับ 
ภาพรวมของประเทศไทยเรื่อสิทธิในการรวมตัวเจรจาต่อรองตามกฎหมายแรงงานนั้น ประเทศไทยมีสถานประกอบการทั้งหมดราว 4 แสนแห่ง มีการตั้งสหภาพแรงงาน 1,400 แห่ง แต่มีการทำงานดำเนินกิจกรรมประมาณ 400 แห่งเท่านั้น ซึ่งมีเพียงน้อยนิดหากดูจากสถสานประกอบการทั้งหมด เนื่องจากไม่มีการส่งเสริม และคุ้มครองการรวมตัวเจรจาต่อรองของผู้ใช้แรงงาน ฉะนั้นอนุสัญญาILO ฉบับที่ 87 และ98 ทั้ง 2 ฉบับที่จะให้การคุ้มครองสิทธิว่าด้วยการรวมตัวเจรจาต่อรองจึงถีอเป็นหัวใจของผู้ใช้แรงงาน 
ประเทศไทยไม่สามารถที่จะปฏิเสธการใช้แรงงานข้ามชาติได้ ต้องยอมรับว่าประเทศไทยขาดแรงงานข้ามชาติไม่ได้ การที่รับรองอนุสัญญาILO ทั้ง 2 ฉบับจะทำให้แรงงานข้ามชาติมีสิทธิในการรวมตัวเจรจาต่อรองด้านสิทธิสวัสดิการ การคุ้มครองแรงงานทุกกลุ่ม
 
นายแดน คุนนวย ผู้อำนวยการสำนักงานกิจกรรมลูกจ้างองค์การแรงงานระหว่างประเทศ(ILO) เจนีวา กล่าวว่า การใหสัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 87 และ98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวเจรจาต่อรอง นั้นถือเป็นการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง และเป็นการช่วยพัฒนาเศรษฐกิจประเทศ ด้วยทั่วโลกให้การยอมรับในสินค้าที่ผลิตในประเทศไทยโดยถือว่า เป็นประเทศที่ยอมรับในสิทธิเสรีภาพของแรงงาน และมีการส่งเสริมระบบประชาธิปไตยด้วยส่งเสริมสิทธิในการรวมตัวเจรจาต่อรองของลูกจ้าง 
จากการที่ได้มีการเข้าพบกับทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อสอบถามแนวทางในการให้สัตยาบันอนุสัญญาILO ทั้ง 3 ฉบับนั้น รัฐมนตรีฯได้ให้คำมั่น พร้อมรายงานความคืบหน้าของอนุสัญญาฉบับที่ 87 และ 98 ว่าอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ก่อนส่งเข้าสู่การประชุมคณะรัฐมนตรี มีมติรับรองก่อนส่งเข้าสู่ประชุมรัฐสภา เพื่อให้สัตยาบันต่อไป จึงคิดว่าคงบไม่ช้านานทางรัฐบาลไทยคงให้สัตยาบันองค์อนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับ และรวมถึงอนุสัญญาฉบับที่ 111 ซึ่งเป็นการคุ้มครองงานที่มีคุณค่าด้วย
  
 
นางสิริวัน ร่มฉัตรทอง เลขาธิการสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทยกล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ถือเป็นความคาดหวังในการที่จะให้รัฐบาลให้สัตยาบันILO ฉบับที่ 87 และ98 ด้วยเห็นว่า จะได้รับสิทธิในการคุ้มครองการรวมตัวเจรจาต่อรอง และมีความเห็นด้วยที่ลูกจ้างจะได้รับสิทธิดังกล่าว แต่การทำความเข้าใจในประเด็นการให้สัตยาบันอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับทางนายจ้างส่วนหนึ่งยังไม่มีความเข้าใจ และยังกลัวจึงมีการคัดค้านไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐจะให้สัตยาบัน ซึ่งนายจ้างมีข้อเสนอให้สัตยาบันฉบับเดียวคือฉบับที่ 98 โดยให้ชลอการให้สัตยาบันฉบับที่ 87 ไปก่อน จึงอยากให้ทางกระทรวงแรงงานจัดประชุมทำความเข้าใจกับนายจ้างส่วนใหญ่ด้วย จัดรูปแบบเดียวกันกับที่ทางลูกจ้างจัดขึ้นในวันนี้ก็ได้ เพื่อเป็นการให้ความรู้กับนายจ้างว่า การให้สัตยาบันอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับนั้น นายจ้างเองก็มีสิทธิในการรวมตัวได้เช่นเดียวกันกับลูกจ้าง และสิทธิดังกล่าวเพื่อเป็นการสร้างความเข้มแข็ง ส่งเสริมให้เกิดการยอมรับทางเศรษฐกิจให้กับประเทศในด้านเศรษฐกิจ ทางกระทรวงแรงงานจะทำอย่างไรให้นายจ้างเห็นด้วย และยอมรับสิทธิของลูกจ้างในการรวมตัวเจรจาต่อรอง ด้วยมองเห็นว่า สิทธิดังกล่าวไม่ได้น่ากลัว และนายจ้างเองจะได้ประโยชน์ต่อการรวมตัวดังกล่าวนั้นด้วย
 
นาย อนุสรณ์ ไกรวัฒนุสรณ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานกล่าวว่า ความร่วมมือของขบวนการแรงงานในการขับเคลื่อนผลักดันให้รัฐบาลให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ(ILO)ทั้ง 2  ฉบับ เป็นการส่งเสริมสิทธิในระบบไตรภาคี ระหว่างนายจ้าง ลูกจ้าง รัฐบาล เพื่อการสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบเศรษฐกิจไทย ทำให้ทั่วโลกยอมรับว่า ประเทศไทยได้มีการให้ส่งเสริมสิทธิขั้นพื้นฐานของแรงงาน ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยได้ใหสัตยาบันอนุสัญญาILO สำคัญๆด้านสิทธิแรงงานแล้ว 5 ฉบับ จากทั้งหมด 8 ฉบับ และอีก 2 ฉบับ ได้มีการกำหนดแล้วว่า จะมีการให้สัตยาบัน โดยได้มีการจัดทำประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอเสร็จเรียบร้อยแล้ว ส่วนที่ทางนายจ้างติงเรื่องการรับฟังความคิดเห็น ว่าควรมีการจัดส่วนของนายจ้างเพื่อไม่ให้เกิดข้อขัดแย้ง และคัดค้านการให้สัตยาบันอนุสัญญาILOทั้ง 2 ฉบับ 
ในระดับสากลการให้สัตยาบันอนุสัญญา 2 ฉบับดังกล่าว บางประเทศให้สัตยาบันฉบับที่ 87 และบางประเทศให้สัตยาบันฉบับที่ 98 ซึ่งเป็นการเลือกให้สัตยาบันเพียงฉบับใดฉบับหนึ่งเท่านั้น และมีบางประเทศที่ให้สัตยาบันทั้ง 2 ฉบับแต่ว่า แม้ให้สัตยาบันแล้วก็ไม่ได้มีการปฏิบัติตามอนุสัญญาก็มีเช่นกัน และเห็นว่าประเทศไทยคงไม่น้อยหน้าประเทศต่างๆที่ให้สัตยาบันแน่นอน เพราะแนวโน้มก็จะมีการให้สัตยาบันทั้ง 2 ฉบับพร้อมทั้งมีการออกกฎหมายมาบังคับใช้  
 
นายพองชู อัน  ผู้เชี่ยวชาญอาวุโสด้านกิจกรรมแรงงาน สำนักงานแรงงานฯ ในเดือนเมษายน 2552 ได้มีการทำงานร่วมกับองคืกรแรงงานในประเทศไทย ระหว่าง 3 สภา และ 1 สมาพันธ์แรงงาน ได้มีการเข้าไปยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี และได้มีการตั้งเป็รนกลุ่มประสานงานในการขับเคลื่อนผลักดันให้รัฐบาลให้สัตยาบัน จุดมุ่งหมายเพื่อการให้ความรุ้ความเข้าใจ มีการจัดการให้ความรู้กับนิคมอุตสาหกรรม มีการล็อบบี้ และผลักดันให้รัฐบาลให้สัตยาบัน มีการกำหนดระยะเวลาการทำงานขับเคลื่อน ในวันกรรมกรสากล วันแรงงานที่มีคุณค่ามีการนำเสนอเรื่องของการรับรองอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับ ปี 2553 หลังจากเกิดสถานการการณ์ทางการเมืองทำให้ขบวนการแรงงานต้องมีการแถลงข่าว เรื่องการรณรงค์ผ่านสื่อเพื่อให้สังคมให้ความสนใจประเด็นนี้ เมื่อการเมืองเข้าสู่ภาวะปกติก็ได้มีการรณรงค์กันต่อ กับรัฐบาล และครั้งนี้ก็ยังมีการรณรงค์เพื่อให้มีกิจกรรมในการรณรงค์เพื่อการกระตุ้นให้รัฐบาลให้สัตยาบัน การรณรงค์ในปี 2555 มีการแยกขบวนแรงงานเป็น 3 กลุ่ม การร่วมมือกับองค์กรอื่นๆ ในการขับเคลื่อนก็เพื่อให้เกิดพันธมัตรในการร่วมกันผลักดัน เป็นการรณรงค์เพื่อให้ขบวนการแรงงานเข้มแข็งมากขึ้น ในอนาคตตั้องมีการขยายการรวมตัวไปในจังหวัดอื่นๆ ต้องมีการพัฒนาโครงการเพื่อให้เน้นการทำงานร่วมมือกันมากยิ่งขึ้น และคงต้องมีการร่วมมือกันกับนายจ้างด้วยในการช่วยลดมุมมองที่นายจ้างต่อต้านการให้สัตยาบันทั้งสองฉบับ การพัมนาต้องมี 2 ช่วงคือ ช่วงการขับเคลื่อนรณรงคืก่อนให้มีหการให้สัตยาบัน และหลังจากมีการให้สัตยาบัน มีการทำงานโยงกับสถานการปัจจุบันด้วย สหภาพแรงงานต้องนึกถึงกฎหมาย และกฎระเบียบปัจจุบันด้วยที่ขัดขว้างสิทธิต่างๆของแรงงานในการที่จะทำให้สิทธิในการรวมตัวของผู้ใช้แรงงานด้วย
  
 
ทั้งนี้โดยสรุปนายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.)กล่าวว่า ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมานี้ คณะทำงานผลักดันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ได้มีการรณรงค์ต่อกระทรวงแรงงานและรัฐบาลอย่างต่อเนื่องเพื่อให้รัฐบาลให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ทั้ง 2 ฉบับ
อนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว พ.ศ. 2491 และฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและการร่วมเจรจาต่อรอง พ.ศ. 2492 เป็นอนุสัญญาหลักขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ โดยที่ประเทศภาคีสมาชิกองค์การแรงงานระหว่างประเทศ จำนวน 183 ประเทศ ได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาฯ ฉบับที่ 87 จำนวน 150 ประเทศ และให้สัตยาบันอนุสัญญาฯ ฉบับที่ 98 จำนวน 160 ประเทศ 
 
ปัจจุบันประเทศไทยในฐานะภาคีที่เข้าร่วมก่อตั้งองค์การแรงงานระหว่างประเทศมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2462 และเป็นประเทศภาคีสมาชิกยังไม่มีการให้สัตยาบันอนุสัญญาทั้งสองฉบับ แม้ว่าการประชุมใหญ่องค์การแรงงานระหว่างประเทศ ประจำปีสมัยที่ 99 เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2553 กระทรวงแรงงานได้กล่าวถึงอนุสัญญาทั้งสองฉบับอย่างมีนัยสำคัญว่า ประเทศไทยตระหนักในคุณค่าแห่งความเป็นมนุษย์ และกำลังจัดทำแผนงานระดับชาติว่าด้วยงานที่มีคุณค่า ด้วยความเคารพต่อสิทธิในการรวมตัวและการร่วมเจรจาต่อรอง ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานด้านแรงงาน นอกจากนี้กระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะประเทศไทยได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ได้กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมในการเป็นภาคีอนุสัญญาทั้งสองฉบับ
รวมทั้งในขณะนี้กระทรวงแรงงานก็ได้มีการจัดทำโครงการประชาพิจารณ์เพื่อเตรียมความพร้อมในการให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และฉบับที่ 98 ของสำนักแรงงานสัมพันธ์ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงานเช่นเดียวกัน
 
ที่ผ่านมาพบว่าสถานการณ์ด้านการรวมตัวของขบวนการแรงงานไทยยังพบปัญหาดังนี้
1) เสรีภาพการรวมตัวถูกจำกัด นายจ้างมักจะไล่ออกผู้ก่อตั้งสหภาพแรงงาน มีการกลั่นแกล้งกรรมการสหภาพแรงงาน บทลงโทษนายจ้างกรณีนายจ้างเลิกจ้างไม่เป็นธรรมไม่ทำให้นายจ้างต้องเคารพสิทธิแรงงาน การจัดตั้งสหภาพแรงงานมีจำนวนน้อย 
2) กลไกรัฐและกฎหมายขาดการส่งเสริมการรวมตัวของแรงงาน การยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งสหภาพแรงงาน การจัดทำข้อบังคับ/การประชุมใหญ่อยู่ในกรอบที่รัฐกำหนด รัฐมีอำนาจตรวจสอบสำนักงานสหภาพแรงงาน ปลดกรรมการสหภาพแรงงาน และยุบเลิกสหภาพแรงงาน พนักงานรัฐวิสาหกิจห้ามหยุดงาน การจัดตั้งสหภาพแรงงานไม่ครอบคลุมข้าราชการพลเรือน กลุ่มแรงงานนอกระบบ แรงงานข้ามชาติ กลุ่มวิชาชีพ 
3) การแบ่งแยกแรงงานภาครัฐวิสาหกิจออกจากแรงงานภาคเอกชน จากการประกาศใช้พระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 ทำให้แรงงานภาคเอกชนมีอำนาจต่อรองลดลง เนื่องจากผู้ใช้แรงงานภาคเอกชนมีจำนวนน้อย มุ่งเน้นการทำงานเพื่อให้ได้ค่าตอบแทนเนื่องจากค่าจ้างแรงงานต่ำและสวัสดิการต่ำ 
4) กระบวนการยุติธรรมด้านแรงงานและกลไกศาลแรงงานขาดประสิทธิภาพ กรอบคิดและวิธีปฏิบัติในการไกล่เกลี่ยข้อขัดแย้งด้านแรงงานหรือคดีแรงงานขาดหลักประกันในสิทธิแรงงานขั้นพื้นฐาน ศาลแรงงานมีหน้าที่หาข้อเท็จจริงให้ครบถ้วนเพื่อวินิจฉัยข้อกฎหมายหรือแก้ไขปัญหา มิใช่ไกล่เกลี่ยโดยไม่คำนึงข้อเท็จจริง และประนีประนอมเพื่อลดภาระคดีในทางศาล 
5) การจ้างบริษัทเหมาช่วงแรงงาน นายจ้างต้องการกำกับควบคุมแรงงาน ในมิติจำนวนแรงงานที่ไม่สามารถสร้างอำนาจต่อรองกับนายจ้าง ความพยายามหลีกเลี่ยงการจัดตั้งสหภาพแรงงาน หรือลดจำนวนสมาชิกสหภาพแรงงาน 
ดังนั้นการให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และ ฉบับที่ 98 จึงเป็นการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของผู้ใช้แรงงานอย่างแท้จริง 
ข้อดีของการให้สัตยาบันอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 ประกอบด้วย
1. เป็นการช่วยลดปัญหาด้านแรงงานสัมพันธ์ที่มีอยู่ปัจจุบันและมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น ซึ่งมีรากฐานมาจากการที่สังคมมีทัศนคติในทางลบต่อสิทธิและเสรีภาพในการรวมตัวและเจรจาต่อรองร่วม ทำให้ช่องทางในการพูดคุยอย่างเท่าเทียมโดยใช้หลักความเป็นเหตุเป็นผลมีไม่เพียงพอ เมื่อลูกจ้างและนายจ้างเกิดความขัดแย้งจึงมีแนวโน้มจะขยายเป็นความรุนแรงได้ง่าย การให้สัตยาบันจะทำให้ประเทศไทยมีภาระผูกพันในการดำเนินการตามอนุสัญญา ต้องส่งเสริมและพัฒนาอย่างจริงจังให้ทุกฝ่ายยอมรับและปฏิบัติตามมาตรฐานดังกล่าว ซึ่งจะส่งผลให้ทั้งนายจ้างและลูกจ้างสามารถเจรจาและอยู่ร่วมกันอย่างสันติ อันเป็นการส่งเสริมบรรยากาศการลงทุนที่แท้จริง
2. การให้สัตยาบัน เป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทยในชุมชนระหว่างประเทศ
2.1. ปรับสถานะประเทศไทยออกจากรายชื่อประเทศสมาชิกส่วนน้อยขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ที่ยังไม่ยอมให้สัตยาบันอนุสัญญาสองฉบับนี้ ซึ่งเหลืออยู่ไม่มากและถูกหยิบยกเป็นตัวอย่างไปทั่วโลก
2.2. เป็นการแสดงว่าประเทศไทยยอมรับมาตรฐานแรงงานสากล ซึ่งจะช่วยส่งเสริมความสามารถในการแข่งขันทางการค้าในยุคโลกาภิวัตน์ ที่กำลังนำเรื่องมาตรฐานแรงงานมาใช้เป็นเหตุผลในการกีดกันทางการค้า
3. การให้สัตยาบัน จะเป็นพื้นฐานในการส่งเสริมเสรีภาพในการรวมกลุ่มและการเจรจาต่อรองร่วม และแก้ไขกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ในประเทศให้สอดคล้องตามหลักการของอนุสัญญาดังกล่าว ที่สำคัญได้แก่
3.1. การส่งเสริมเสรีภาพในการรวมกลุ่ม เช่น ข้าราชการและพนักงานเจ้าหน้าที่ของรัฐมีสิทธิจัดตั้งสหภาพแรงงาน สหภาพแรงงานภาคเอกชนกับสหภาพแรงงานภาครัฐวิสาหกิจสามารถเข้าร่วมเป็นองค์กรเดียวกันได้
3.2. การคุ้มครองจากการแทรกแซงจากนายจ้าง เช่น คนงานที่ริเริ่มจัดตั้งสหภาพแรงงานและรวมตัวเจรจาต่อรองต้องได้รับการคุ้มครองจากการถูกเลิกจ้างและการปิดงานเฉพาะกลุ่ม
3.3. การคุ้มครองจากการแทรกแซงจากเจ้าหน้าที่รัฐ เช่น การสั่งให้กรรมการสหภาพออกจากตำแหน่ง การบังคับให้ลูกจ้างและนายจ้างที่จัดตั้งองค์กรต้องจดทะเบียนกับเจ้าหน้าที่รัฐ การบังคับให้ที่ปรึกษาของนายจ้างและลูกจ้างต้องจดทะเบียนกับทางการ
4. การให้สัตยาบัน ในระยะยาว จะช่วยสร้างสังคมที่มีการแบ่งปันผลประโยชน์กันอย่างเป็นธรรม และช่วยลดช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจน
5. การทำให้สิทธิและเสรีภาพในการรวมตัวและเจรจาต่อรองร่วมได้รับการส่งเสริมและพัฒนาอย่างจริงจังในประเทศไทย ย่อมเกิดผลดีต่อทั้งคนทำงานและนายจ้าง ความพึงพอใจของทั้งสองฝ่ายจะมีส่วนกระตุ้นให้ผลิตภาพขยายตัวในที่สุด ซึ่งจะเป็นผลดีต่อภาคอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจไทยโดยรวม
 
ดังนั้นเพื่อให้ผู้ใช้แรงงานในประเทศไทยสามารถเข้าถึงสิทธิในการรวมตัวและเจรจาต่อรองร่วม อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่จะทำให้คนทำงานทุกภาคส่วนสามารถรักษาสิทธิและผลประโยชน์อันพึงมีพึงได้ และเพื่อส่งเสริมความเป็นธรรมทางสังคมและการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ คนทำงานทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ ลูกจ้างรัฐ ลูกจ้างเอกชน แรงงานนอกระบบและแรงงานข้ามชาติ รวมทั้งประชาชนทั่วไป จึงสนับสนุนให้รัฐบาลไทยรับรองอนุสัญญาอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 และ 98 โดยเร็ว เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ใช้แรงงานทุกคนในประเทศไทย
 
นักสื่อสารแรงงาน รายงาน