นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย รองประคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ให้สัมภาษณ์ว่า ล่าสุด เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2555 ทางกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ได้เชิญให้เข้าไปให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ DSI เพื่อเป็นประโยชน์ในการตรวจสอบการบริหาร การทำงาน การใช้งบประมาณของทางสำนักงานประกันสังคม
โดยที่ผ่านมาคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ได้มีการตั้งข้อสังเกตเห็นความไม่โปร่งใสด้านการบริหารงานของสำนักงานประกันสังคม ในการนำเงินไปใช้ซึ่งอาจผิดต่อวัตถุประสงค์ของการประกันสังคมในหลายเรื่อง เช่นการทำสัญญาเช่าจัดหาและดำเนินการระบบงานเทคโนโลยีสารสนเทศ(คอมพิวเตอร์)แรงงานของสำนักงานประกันสังคม มูลค่า 2,800 ล้านบาทเมื่อปี 2549 ซึ่งอาจทำให้เกิดความเสียหาย ต่อกองทุนประกันสังคมได้ หรืออาจมีประโยชน์แอบแฝงหรือไม่ ทำให้คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย นำเรื่องไปร้องเรียนกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ( ปปช. ) เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2550 เพื่อให้มีการตรวจสอบหาข้อเท็จจริง และผลการตรวจสอบเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2552 พบว่า การกระทำของนายไพโรจน์ สุขสัมฤทธิ์ อดีตเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม(สปส.) มีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง และมีมูลเป็นความผิดทางอาญา ฐานเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 15 และมีการส่งเรื่องให้กระทรวงแรงงานซึ่งเป็นหน่วยงานต้นสังกัดที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อ ส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดให้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย รวมทั้งได้นำเรื่องไปยื่นข้อมูลให้คณะกรรมาธิการการแรงงานวุฒิสมาชิก ในเดือนกรกฎาคม 2552 ให้มีการตรวจสอบการใช้เงินของสำนักงานประกันสังคม และวุฒิสภาได้ส่งเรื่องต่อให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) สอบสวนตรวจสอบ
สาเหตุที่ต้องมีการยกร่าง พ.ร.บ. ประกันสังคม พ.ศ. ….(ฉบับ 14,264 รายชื่อ)
นางสาววิไลวรรณ แซ่เตีย กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาเห็นข้อจำกัดการบริหารงานของสำนักงานประกันสังคม ที่ขาดการมีส่วนร่วมจากผู้ประกันตนอย่างแท้จริง การใช้อำนาจการตัดสินใจหลายอย่าง เช่น การนำเงินกองทุนประกันสังคมไปลงทุนยังขาดขบวนการตรวจสอบ การรับรู้ข้อมูล ข้อเท็จจริง การบริหารจัดการของสำนักงานประกันสังคม ของผู้ประกันตน และที่มาของคณะกรรมการบริหารสำนักงานประกันสังคม ยังมีที่มาที่ไม่ใช่ตัวแทนของผู้ประกันตนอย่างแท้จริง
ร่าง พระราชบัญญัติประกันสังคมพ.ศ. …. (ฉบับ 14,264 รายชื่อ) ได้มีการกำหนดเรื่องการขยายการคุ้มครองของกฎหมายไปยังลูกจ้างชั่วคราวทุกประเภทของส่วนราชการ,นักเรียนนักศึกษาที่เป็นลูกจ้างของโรงเรียน -มหาวิทยาลัย , ลูกจ้างทำงานบ้าน,ลูกจ้างผู้รับงานไปทำที่บ้าน มาตรา 40 ซึ่งรัฐต้องจ่ายสมทบร่วม รวมทั้งมาตรา 39 ที่รัฐต้องจ่ายแทนส่วนของนายจ้าง รวมถึงการเพิ่มสิทธิประโยชน์ตามอายุการส่งเงินสมทบของผู้ประกันตน ให้เข้าถึงการรักษาพยาบาลกับทุกโรงพยาบาลที่ทำข้อตกลงไว้กับประกันสังคม
องค์ประกอบที่มาของคณะกรรมการบริหารกำหนดให้ผู้ประกันตนมีส่วนร่วมในการเลือกตั้งตัวแทนเข้ามาเป็นกรรมการ และมีขบวนการมีส่วนร่วมในการสรรหาผู้ที่มีความรู้ความ มีประสบการณ์ในด้านต่างๆ มาดำรงตำแหน่งประธาน คุณสมบัติเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ต้องไม่ใช่ข้าราชการ ต้องทำงานเต็มเวลา และมีความรู้ความสามารถ มีประสบการณ์ ข้อเสนอปฏิรูปประกันสังคมครั้งนี้ของขบวนการแรงงาน เพื่อการขับเคลื่อนและผลักดันให้สำนักงานประกันสังคม ให้เป็นองค์กรอิสระ และผู้ประกันตนที่มีส่วนได้ส่วนเสียมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในการบริหารจัดการ
หมายเหตุ : พระราชบัญญัติประกันสังคมพ.ศ. 2533 ถือ เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่จัดเป็นสวัสดิการดูแลลูกจ้าง ที่ทำงานในสถานประกอบการตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป โดยการมีส่วนร่วมส่งเงินสมทบจาก 3 ฝ่าย ประกอบด้วย ลูกจ้างส่งสมทบร้อยละ 5 นายจ้างร้อยละ 5และรัฐส่งสมทบเพียงร้อยละ 2.5 โดยได้รับชุดสิทธิประโยชน์ 7 กรณี คือ กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย เสียชีวิต คลอดบุตร สงเคราะห์บุตร ทุพลภาพ ว่างงาน และชราภาพ
นางสาวดาวเรือง ชานก นักสื่อสารศูนย์แรงงานอ้อมน้อย – อ้อมใหญ่ รายงาน