คสรท.และสรส. แถลงเสนอ 9 ข้อ ปรับค่าจ้างแรงงาน

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ร่วมกับสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) จัดเสวนาพร้อมแถลงข่าวเสนอรัฐบาล เรื่อง ประเทศไทยถึงเวลาที่จะต้องปรับค่าจ้าง

                คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์(สรส.)ได้รวบรวมประเด็นปัญหาและความต้องการของคนงานในเรื่องการปรับค่าจ้างและได้จัดเวทีเสวนา เรื่อง “ประเทศไทย..ถึงเวลาหรือยังที่จะปรับค่าจ้าง” โดยมีนักวิชาการและผู้นำแรงงานเข้าร่วม เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2564 ที่ห้องประชุมสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) มีความเห็นร่วมกันว่าด้วยสภาวการณ์เศรษฐกิจโดยรวมทั้งอัตราเงินเฟ้อทั้งของประเทศไทย และทั่วโลก อีกทั้งช่องว่างทางรายรายได้นำไปสู่ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ สังคม ซึ่งประเทศไทยมีอัตราที่สูงที่สุดในโลก

หลายประเทศได้ให้น้ำหนักและความสำคัญกับคนงาน เนื่องจากเป็นตัวชี้วัดการเติบโตของระบบเศรษฐกิจ ที่กล่าวเช่นนั้นเหตุผลเชิงประจักษ์ ก็คือ การที่รัฐบาลสนับสนุนการลงทุน และมีการจ้างงาน อัตราการว่างงานสามารถควบคุมได้ย่อมเป็นสัญญาณการเติบโตของประเทศ แล้วการที่ประเทศใด ๆ สามารถสร้างงานย่อมหมายถึง การสร้างคน สร้างเศรษฐกิจของประเทศให้เกิดการหมุนเวียน เกิดการผลิต มีการจ้างงาน เกิดรายได้ มีการจับจ่าย เพราะท้ายที่สุดแล้ว รายได้ของแรงงานย่อมหมายถึงภาษี

ที่รัฐสามารถจัดเก็บได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งนั่นคือ เป้าหมายที่แท้จริงของการสร้างความมั่งคั่ง มั่นคง ให้กับประเทศอย่างยั่งยืน

                ครั้งสุดท้ายของการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเกิดขึ้นเมื่อ 1มกราคม 2563 โดยอัตราค่าจ้างขั้นต่ำได้ถูกแบ่งออกเป็น 10ราคา ตามเขตพื้นที่ คือ 313, 315, 320, 323, 324, 325, 330, 331, 335 และ 336 บาท แต่หลังจากนั้นจนถึงปัจจุบันปลายปี 2564 ค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเรื่องที่ไม่มีใครพูดถึงอาจเป็นเพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-๑๙ ที่รัฐบาลและผู้ประกอบการบางแห่งอ้างว่า ระบบการผลิต การจ้างงาน รวมทั้งระบบเศรษฐกิจอยู่ในสภาวะตกต่ำ ธุรกิจ สถานประกอบการ ร้านค้า ต้องลดการผลิต บางแห่งต้องปิดกิจการไปเลย ทำให้เกิดการเลิกจ้างแต่ความเป็นจริงอีกด้านหนึ่งสถานประกอบการจำนวนไม่น้อยเช่นกัน ที่อาศัยสถานการณ์โรคโควิด ปลด เลิกจ้างคนงาน โดยไม่จ่ายเงิน

ใด ๆ ทำให้คนงานเป็นจำนวนมากขาดรายได้ ไร้อาชีพ รัฐบาลพยายามยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือด้วยมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ และแจกจ่ายเงินให้แก่ประชาชนในโครงการต่าง ๆ รวมทั้งมาตรการของระบบประกันสังคม แต่ก็ไม่ได้ทำให้คนงานมีชีวิตที่ดีขึ้นเพราะการช่วยเหลือเป็นเพียงระยะสั้น ๆ และเงินที่นำมาแจกก็ล้วนเป็นเงินที่กู้มา ซึ่งจะเป็นหนี้สาธารณะในอนาคต ที่ประชาชนคนไทยทุกคนจะต้องร่วมชดใช้ แต่ในอีกด้านหนึ่งในขณะที่ประชาชนทุกข์ยากอย่างหนักแต่รัฐบาลเองกลับไม่สามารถควบคุมราคาสินค้าอุปโภค บริโภคให้อยู่ในระดับที่ประชาชนสามารถซื้อหาได้โดยไม่เดือดร้อน ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ความทุกข์ยากของประชาชนที่มีอยู่แล้วกลับเพิ่มสูงมากขึ้น

                จนถึงเวลานี้ สถานการณ์เริ่มคลี่คลายรัฐบาลประกาศเปิดประเทศประกอบกับค่าจ้างขั้นต่ำไม่ได้รับการปรับมาเป็นเวลาถึง 2 ปี ในขณะที่ดัชนีค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง การปรับค่าจ้างควรถึงเวลาที่จะปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งหากดูในหลายประเทศก็ใช้วิธีการปรับค่าจ้างเพื่ออนาคตที่มั่นคงของคนงานสวนทางกับรัฐบาลไทย ทั้ง ๆ ที่อัตราเงินเฟ้อ และการปรับขึ้นของสินค้าอุปโภคบริโภคต่าง ๆ ปรับตัวสูงขึ้นตลอดเวลา เช่น พลังงาน น้ำมัน ก๊าซหุงต้ม และอื่น ๆ อีกทั้งอัตราการว่างงานของคนงาน และแรงงานในตลาดแรงงานใหม่ (นักศึกษาจบใหม่) ไม่มีตำแหน่งงานรองรับ ข้อมูลทั้งจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และจากธนาคารแห่งประเทศไทย ต่างมีข้อมูลวิเคราะห์ที่สอดคล้องกัน คือ ภาวะอัตราเงินเฟ้อได้ส่งผลกระทบด้านแรงงานอย่างมีนัยยะสำคัญต่อการดำเนินชีวิตและการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนงาน

                ก่อนหน้านี้ รัฐบาลโดยพรรคพลังประชารัฐซึ่งเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ได้เคยแถลงนโยบายต่อสาธารณะว่า จะปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอย่างน้อยวันละ 425 บาท จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่ดำเนินการตามที่ได้หาเสียงไว้แต่ประการใด และที่ผ่านมา คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และ สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ได้เคยยื่นนำเสนอหลักการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 360 บาท 421 บาท และ 700 บาท โดยปรับเท่ากันทั่วประเทศ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 ถึง 2560 เหตุผลในการขอปรับเพิ่มนั้นมาจากการสำรวจความคิดเห็นจากผู้ใช้แรงงานในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ ซึ่งล้วนแสดงถึงความต้องการถึงความเดือดร้อนค่าจ้างไม่พอที่จะเลี้ยงตนเองและครอบครัว แม้กระทั่งลูกจ้างในภาครัฐ

ที่รัฐเป็นผู้จ้างงานเองแต่กลับไม่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำตามที่รัฐประกาศโดยอ้างว่าลูกจ้างภาครัฐไม่อยู่ภายใต้กฎหมายคุ้มครองแรงงานซึ่งเป็นการเลือกปฏิบัติขัดต่อหลักปฏิญญาสากล ขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และหลักการขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO)

                คสรท. และ สรส. จึงมีข้อเสนอต่อรัฐบาลต่อการการปรับค่าจ้างตามหลักการ ดังต่อไปนี้

1.             รัฐบาลต้องปรับค่าจ้างให้เป็นธรรม ครอบคลุมผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วน โดยค่าจ้างขั้นต่ำต้องเพียงพอต่อการเลี้ยงชีพตนเอง และครอบครัวได้ 3 คน ตามหลักปฏิญญาสากลของสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และหลักขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO)

2.             รัฐบาลต้องปรับค่าจ้างขั้นต่ำให้เท่ากันทั้งประเทศและให้มีผลกับลูกจ้าง คนทำงาน ในทุกภาคส่วน รวมทั้งลูกจ้างภาครัฐ และรักษาการจ้างงานเอาไว้เพื่อความยั่งยืนในการพัฒนาฟื้นฟูประเทศ รวมทั้งยกเลิกการจ้างงานที่ไม่มั่นคง คือ สัญญาการจ้างงานระยะสั้น ชั่วคราว

3.             รัฐบาลต้องกำหนดโครงสร้างค่าจ้าง  และให้ปรับค่าจ้างทุกปี

4.             รัฐบาลต้องกำหนดมาตรการในการควบคุมราคาสินค้าไม่ให้แพงเกินจริง

5.             รัฐบาลต้องตั้งคณะกรรมการค่าจ้างระดับชาติ จากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยมีผู้แทนผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วน ทีมวิชาการที่เป็นอิสระ และมีองค์ประกอบมากกว่าไตรภาคี ในการพิจารณาและกำหนดอัตราค่าจ้าง

6.             เพื่อหลักประกันเพื่อความมั่นคงในอนาคตของคนงานต้องปฏิรูประบบประกันสังคมให้ครอบคลุมแรงงานทุกภาคส่วน และควรปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์แต่ละกองทุนของประกันสังคมให้เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะชราภาพต้องให้เพียงพอต่อการดำรงชีพขั้นต่ำต้องไม่น้อยกว่าร้อยละห้าสิบของค่าจ้างรายเดือน เดือนสุดท้าย

7.             ต้องขยายอัตราขั้นสูงสุดของค่าจ้างที่ใช้คำนวณเพื่อจ่ายเงินสมทบประกันสังคมซึ่งปัจจุบันกำหนดไว้ 15,000บาท เป็น 30,000 บาท

8.             รัฐบาลต้องจ่ายเงินสมทบกองทุนประกันสังคมในอัตราส่วนที่เท่ากัน 3ฝ่าย และจ่ายเงินสมทบที่ค้างจ่ายอยู่ทันที อันเป็นหน้าที่ของรัฐในการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 หมวดที่ 5 หน้าที่ของรัฐ มาตรา 53

9.             ในส่วนของแรงงานนอกระบบรัฐต้องกำหนดมาตรการในการคุ้มครอง ดูแล ทั้งเรื่องค่าจ้าง สวัสดิการ หลักประกันทางสังคมต้องไม่แตกต่างจากแรงงานในระบบ

ข้อเสนอทั้งหมดดังกล่าว คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ได้รวบรวมข้อมูลความเป็นจริง จากแรงงานในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ประกอบกับข้อมูลเชิงประจักษ์จากหน่วยงานรัฐ ทั้งจากธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงพาณิชย์ และจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และในสถานการณ์ของประเทศไทย ถึงภาวะการดำรงชีพของคนงานและประชาชนที่มีความยากลำบากมากยิ่งขึ้น ดังนั้น ในช่วงของการฟื้นฟูและพัฒนาประเทศจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาลจะต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาและปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศให้เท่ากัน ทั้งในระยะยาวรัฐบาลต้องสร้างมาตรฐานและหลักประกันที่มั่นคงแก่คนงาน เพื่อสร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม