คนงานรถไฟ จี้คืนที่ดินเขากระโดง 5 พันกว่าไร่

คนงานรถไฟ ทวงคืนที่ดินเขากระโดง 5 พันกว่าไร่ ตามคำพิพากษาศาลฎีกา ขอให้พิจารณาสั่งการให้อธิบดีกรมที่ดินดำเนินการเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทับซ้อนพื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย บริเวณเขากระโดง อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ 

25 มีนาคม 2564 สมาพันธ์คนงานรถไฟ (สพ.รฟ.) โดย นายสุวิช ศุมานนท์ ประธานสมาพันธ์คนงานรถไฟ (สพ.รฟ.) ได้เข้ายื่นหนังสือถึง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พลเอกอนุพงษ์  เผ่าจินดา เรื่อง ขอให้พิจารณาสั่งการให้อธิบดีกรมที่ดินดำเนินการเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทับซ้อนพื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย บริเวณเขากระโดง อ.เมือง จ.บุรีรัมย์  โดยมี รองอธิบดีกรมที่ดิน  นายเสวี  จิระเสวี มาเป็นตัวแทนรับหนังสือ

ตามที่ได้มีการอภิปรายเพื่อลงมติไม่วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลเมื่อวันที่ 18 – 19 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งมีการอภิปรายประเด็นกรณีรัฐมนตรี และเครือญาติพวกพ้อง บุกรุกที่ดินพิพาทบริเวณเขากระโดง อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ ซึ่งที่ดินแปลงดังกล่าวมีความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น คำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกา เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2541 / มติคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2554 เป็นข้อยุติแล้วว่าเป็นที่ดินของการรถไฟฯ ซึ่งได้มาโดย พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตร์สร้างทางรถไฟหลวงต่อจากนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2462 ที่ให้กรมรถไฟหลวง ตรวจและวางแนวทางรถไฟ ตั้งแต่นครราชสีมาไปยังบุรีรัมย์จนถึง อุบลราชธานี โดยได้แต่งตั้งข้าหลวงพิเศษจัดการที่ดิน ดำเนินการปักหลักเขตที่ดินไว้ให้เห็นว่าเป็นเขตที่ดินของกรมรถไฟ และจัดทำแผนที่ไว้เป็นหลักฐาน ซึ่งที่ดินที่เป็นที่รกร้างว่างเปล่าห้ามผู้หนึ่งผู้ใดจับจองเป็นเจ้าของ ส่วนที่ดินที่มีการครอบครองก่อน  8 พฤศจิกายน 2462 ห้ามมิให้เจ้าของนำที่ดินที่อยู่ในเขตที่ดินรถไฟตามที่ปรากฏในแผนที่ไปยกให้หรือขายซื้อ แลกเปลี่ยนกับผู้หนึ่งผู้ใด ห้ามมิให้สร้างบ้านเรือน ปลูกต้นไม้ หรือทำไร่ ก่อนได้รับอนุญาตจากข้าหลวงพิเศษ  และกรมรถไฟหลวงเห็นว่าการก่อสร้างทางรถไฟมีความจำเป็นต้องใช้หินโรยทางจึงวางแนวและดำเนินการก่อสร้างทางรถไฟเข้าไปลำเลียงหินที่บริเวณเขากระโดงและบ้านตะโก อันเป็นแหล่งระเบิดและย่อยหิน มีระยะทาง 8 กิโลเมตร ในช่วง 4 กิโลเมตรแรก มีผู้เป็นเจ้าของที่ดินจำนวน 18ราย มีความกว้างจากแนวกึ่งกลางทางรถไฟข้างละ 15 – 20 เมตร ส่วนอีก 4 กิโลเมตรต่อไปจนถึงบริเวณที่มีการระเบิดและย่อยหิน เป็นป่าไม้เต็งรังโปร่ง ไม่มีเจ้าของหรือผู้ครอบครอง โดยในช่วง 4 กิโลเมตรหลัง มีความกว้างจากแนวกึ่งกลางทางรถไฟข้างละ 1,000 เมตร มีการจัดทำแผนที่และจัดทำบัญชีรายชื่อเจ้าของที่ดินระบุไว้ในแผนที่ด้วย  ตามแผนที่แสดงเขตที่ดินของกรมรถไฟแผ่นดิน   สายนครราชสีมา ถึงอุบลราชธานี ตอนแยกไปยังที่ย่อยศิลาตำบลเขากระโดง จังหวัดบุรีรัมย์ กิโลเมตร 375+ 650 โดยข้าหลวงพิเศษจัดการที่ดินได้จัดทำแผนที่ไว้เป็นหลักฐาน ซึ่งถือได้ว่าที่ดินของการรถไฟที่เป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดิน ไม่มีเอกชนรายใดอ้างสิทธิ์ครอบครองได้

ต่อมาเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2560 ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาที่ 842 –876 /2560 กรณีราษฎร 35ราย เป็นโจทก์ฟ้องการรถไฟฯเพื่อขอออกโฉนด (ตามอ้างถึง 1)  และเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2561 ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาที่ 8019 / 2561 กรณีราษฎร 2 ราย เป็นโจทก์ฟ้องการรถไฟฯเพื่อขอออกโฉนด (ตามอ้างถึง 2)   โดยทั้ง 2 คดี ศาลฎีกามีคำเป็นแนวเดียวกันพิพากษาว่า ที่ดินเป็นของการรถไฟฯ ไม่สามารถออกโฉนดได้ ให้โจทก์รื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง และขนย้ายสิ่งของทรัพย์สินและบริวารออกจากที่ดิน ทั้งให้ชำระค่าเสียหายกับการรถไฟฯ  ซึ่งแนวของคำพิพากษาเป็นลักษณะชี้ให้เห็นว่าพื้นที่ตามแผนที่ทั้งแปลงจำนวน 5,083 ไร่ 80 ตารางวา เป็นพื้นที่ของการรถไฟฯ ห้ามผู้ใดเข้ามาบุกรุกและออกเอกสารสิทธิ์ได้ โดยถือเป็นข้อยุติทางกฎหมายแล้วผู้ที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการให้เป็นตามกระบวนการ โดยตามพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายที่ดิน (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2551 (ตามอ้างถึง 3) กำหนดให้ผู้ที่เกี่ยวข้องดำเนินการดังนี้

มาตรา 61  เมื่อความปรากฏว่าได้ออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ หรือได้จดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ หรือจดแจ้งเอกสารรายการ จดทะเบียนอสังหาริมทรัพย์ให้แก่ผู้ใดโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้อธิบดีหรือผู้ซึ่ง อธิบดีมอบหมายซึ่งดำรงตำแหน่งรองอธิบดีหรือผู้ตรวจราชการกรมที่ดินมีอำนาจหน้าที่สั่งเพิกถอน หรือแก้ไขได้

…………………………………………………………………

ในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดให้เพิกถอนหรือแก้ไขอย่างใดแล้ว ให้เจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นตามวิธีการที่อธิบดีกำหนด

มาตรา 62บรรดาคดีที่เกิดขึ้นเกี่ยวด้วยเรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดินที่ได้ออกโฉนดที่ดินแล้ว เมื่อศาลพิจารณาพิพากษาคดีถึงที่สุดแล้ว ให้ศาลแจ้งผลของคำพิพากษาอันถึงที่สุดหรือคำสั่งนั้นต่อเจ้าพนักงานที่ดินแห่งท้องที่ซึ่งที่ดินนั้นตั้งอยู่ด้วย

จากข้อยุติที่เป็นข้อกฎหมายตามคำพิพากษาของศาลฏีกา และข้อเท็จจริงต่างๆ ที่สรุปว่าที่ดินบริเวณพื้นที่เขากระโดง อ.เมือง จ.บุรีรัมย์ จำนวน 5,083 ไร่ 80 ตารางวา เป็นที่ดินของการรถไฟฯ โดยชอบตามกฎหมาย และตามพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 ที่อธิบดีกรมที่ดินหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายต้องดำเนินการสั่งเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ทั้งหมดที่ออกโดยไม่ชอบ

ดังนั้น สมาพันธ์คนงานรถไฟ (สพ.รฟ.) จึงขอเรียนมายังท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พลเอกอนุพงษ์  เผ่าจินดา ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมดูแลงานของกรมที่ดิน เพื่อโปรดพิจารณาให้กรมที่ดินดำเนินการตามกฎหมายเพิกถอนเอกสารสิทธิกับผู้บุกรุกในพื้นที่บริเวณเขากระโดง อ.เมือง         จ.บุรีรัมย์ทั้งหมด เพื่อรักษาไว้ซึ่งสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ที่สงวนหวงห้ามไว้ เพื่อประโยชน์ของกิจการรถไฟฯและประชาชนคนไทยต่อไป

หมายเหตุ อ้างถึง

1.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 842 –876 /2560 ลงวันที่  6 กุมภาพันธ์ 2560

2.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8019/2560 ลงวันที่ 22 พฤศจิกายน 2561

  1. พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไข

เพิ่มเติมประมวลกฎหมายที่ดิน (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2551 มาตรา 61 , 62

1.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 842 –876 /2560 ลงวันที่  6 กุมภาพันธ์ 2560

2.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8019 /2560 ลงวันที่ 22 พฤศจิกายน 2561